เราอยากอยู่ในสังคมที่มีแต่การคอร์รัปชันหรือไม่ ? แน่นอนก็คงไม่มีใครอยากอยู่ เช่นเดียวกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอกชนกว่า 60  คนที่เข้าร่วมโครงการ “ผู้นำนักศึกษารุ่นใหม่ไร้คอร์รัปชัน” โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ฝ่ายกิจการนักศึกษา สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเเห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชน และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

นายขจร จิตสุขุมมงคล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชันถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความเสียหายจำนวนมหาศาล เเต่ที่น่าเป็นห่วงคือปัญหานี้หยั่งลึกลงไปในสังคมเเละวัฒนธรรมผ่านระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นค่านิยมที่ก่อให้เกิดคอร์รัปชันเเละเเก้ไขยาก คณะผู้จัดจึงตระหนักว่าการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะนักศึกษาที่จะเป็นพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น ของการเเก้ปัญหาที่เรื้อรังมานานเเละเป็นโอกาสของผู้นำนักศึกษาที่จะได้ประสบการณ์ การเรียนรู้ เเละถูกบ่มเพาะให้เป็นคนที่สามารถคิด วิเคราะห์ ข้อมูล เกี่ยวกับการป้องกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เเละสามารถนำกลับไปขยายผลไปยังมหาวิทยาลัยที่ตนเองศึกษาอยู่

คาดหวังว่าผู้นำนักศึกษา จะต้องนำเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันกลับไปดำเนินการในมหาวิทยาลัยของตนเองให้ได้ โดยใช้ทักษะการเป็นผู้นำ กำหนดเป้าหมายชี้นำ เชิญชวนเพื่อน ๆให้เห็นความสำคัญเเละเดินไปข้างหน้าเพื่อมหาวิทยาลัยเเละประเทศ โดยขอให้ทุกคนตระหนักว่า จะช่วยกันสร้างสังคมที่จะไม่ทนต่อการทุจริตคอรัปชัน” รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กล่าว

วัตถุประสงค์ของการจัดโครงการนี้ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และประสบการณ์ความสามารถให้กับผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนเกี่ยวกับคอร์รัปชัน สร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับคอร์รัปชัน สร้างเครือข่ายให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชน เพื่อสร้างการร่วมมือในการดำเนินงานในอนาคต เเละเพื่อให้ผู้นำนักศึกษานำผลที่ได้จากการอยู่ร่วมกันในโครงการกลับไปต่อยอดในมหาวิทยาลัยของตนเอง โดยมีการคัดเลือกผู้นำนักศึกษาจาก 30 สถาบัน จำนวน 60 คน ในการสร้างให้เยาวชนเหล่านี้มีจิตสำนึกที่ดีในการต่อต้านคอร์รัปชัน

ตลอดระยะเวลา 1 คืน วัน 2 วัน ระหว่างวันที่ 17-18 กรกฎาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้นำนักศึกษา ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การทำกิจกรรมปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรมและจริยธรรม กิจกรรมสัมพันธ์ที่ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนาน โดยทีมวิทยากรจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าววว่า โครงการนี้นับเป็นโครงการที่ดี ที่เยาวชนซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชัน

“เป็นเรื่องเท่ห์มาก ที่ผู้นำนักศึกษา ซึ่งวันข้างหน้าจะเป็นคนที่เก่งเเละสามารถแนะนำให้เพื่อน คนใกล้ตัว หรือคนที่บ้านได้รู้ว่า อะไรคือการทำความดี อะไรคือการเอารัดเอาเปรียบ หลักสูตรทั้ง 2 วัน ทุกคนจะได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน จะได้รับทั้งความสนุกสนานเเละได้ความรู้ติดตัวกลับไปใช้เเละบอกต่อในมหาวิทยาลัย และย้ำเตือนตนเองตลอดให้มีความสุจริตในใจ เพื่อในวันข้างหน้าหากมีสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจเลือก จิตใต้สำนึกที่เราได้เรียนรู้นั้น จะช่วยเราตัดสินใจว่าเราจะโกงหรือเราจะหยุดยั้งสถานการณ์คอร์รัปชันนั้น หรือช่วยกันทำให้การโกงหมดไป “ดร.มานะ กล่าว

โครงการ “ผู้นำนักศึกษารุ่นใหม่ไร้คอร์รัปชัน” เน้นการทำกิจกรรมที่สอดแทรกความรู้และเรื่องราวของการคอร์รัปชัน เพื่อให้นักศึกษามีส่วนร่วม ที่สำคัญพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนที่มี “ความรู้และคุณธรรม”

ปลูกฝังคุณค่าหลัก ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้

ความพิเศษของโครงการ คือเลือกหยิบยกการปลูกฝังคุณค่าหลัก 6 ประการ ที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต  การมีจิตสาธารณะ  ความเป็นธรรมทางสังคม  การเป็นอยู่อย่างพอเพียง  ภาวะผู้นำ  การปฏิเสธคอร์รัปชัน โดยทุกกิจกรรมจะสอดแทรกคุณค่าหลัก เช่น การฉายหนังสั้น “ต้านโกง” (พ่อหนู) มีเป้าหมายให้ผู้เข้าร่วมโครงการร่วมกันจับประเด็นข้อคิดที่ได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้เห็นว่า การโกงเป็นเรื่องใกล้ตัว

ถ้าเป็นคุณคุณจะทำอย่างไร

จำลองสถานการณ์ โดยยกตัวอย่าง ตัวละครและสถานการณ์สมมุติ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการ ได้ฝึกทักษะในการประเมินสภาวะทางจิตใจและความคิดของตนเอง รวมทั้งการตัดสินใจในสถานการณ์ที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชัน  กิจกรรมนี้จะทำให้เห็นมุมมองที่มีต่อการคอร์รัปชันและตอบโจทย์ความสนุกของนักศึกษาได้

เสิร์ฟ “เมนูคอร์รัปชัน”

“เมนูคอร์รัปชัน” หนึ่งในกิจกรรมที่เน้นคุณค่าหลักเรื่องการปฏิเสธคอร์รัปชัน และความซื่อสัตย์สุจริต โดยมีการจำลองสถานที่ให้เหมือนนั่งรับประทานอาหารในภัตตาคาร ผู้เข้าร่วมโครงการต้องเลือกเมนูคอร์รัปชันที่นำมาเสิร์ฟ เช่น เมนูโฮปเวลล์  น้ำเน่าคลองด่าน ฮั้วนมโรงเรียน จำนำข้าว ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ศึกษารายละเอียดการปรุง เช่น ใครเป็นคนโกง โกงอย่างไร ความเสียหายที่เกิดขึ้น และนำมาสู่ออกแบบแนวทางป้องกันว่าจะสามารถทำได้อย่างไร กิจกรรมนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมได้รู้จักสำรวจ วิเคราะห์ วิธีการโกงและการแสวงหาผลประโยชน์อื่นๆ เพื่อเกิดความรู้ความเข้าใจและปลูกฝังค่านิยมการต่อต้านคอร์รัปชันลงไปในจิตสำนึก และร่วมกันทำหน้าที่พลเมืองที่มีส่วนร่วมในการสอดส่องพฤติกรรมการคอร์รัปชันในสังคมชุมชนของตนเอง

มุมมองจาก “ผู้นำนักศึกษารุ่นใหม่” พลังต้านโกง

“ในมุมมองของนักศึกษาคนหนึ่งคิดว่า เรื่องคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่น่าห่วงเเละทุกคนควรให้ความสำคัญเพราะการที่เราไปโกงคนอื่นหรือมีคนมาโกงเรา มันไม่ได้เป็นเรื่องของคนสองคน มันเกี่ยวข้องกับคนอื่นๆที่ได้รับผลกระทบด้วย อยากให้ทุกคนรู้จักการคอร์รัปชันให้ดี เเละรู้จักการหยุดยั้ง ต่อต้าน สังคมก็จะน่าอยู่ขึ้น”

กาตั้ว -สุระวุธ ศรีอรุณ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เข้าร่วมโครงการ “ผู้นำนักศึกษารุ่นใหม่ไร้คอร์รัปชัน” สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน

หลายคนอาจคิดว่าการเรียนรู้ปัญหาเรื่องคอร์รัปชันและการต่อสู้กับการคอร์รัปชันเป็นเรื่องยาก เหมือนกับความคิดของ “กาตั๊ว”ในตอนเเรก เเต่พอได้เข้าร่วมกิจกรรม จะรู้เลยว่า การต่อต้านคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องยาก

“ตอนเเรกผมกังวลว่าจะเป็นโครงการที่ให้มานั่งฟังเเบบน่าเบื่อ เครียด เเต่พอได้เข้ามาก็มีกิจกรรมสนุกๆ ได้ทั้งความรู้ที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชันและวิธีการที่จะป้องกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน รวมถึงได้รู้จักเพื่อนๆต่างสถาบัน”

“กาตั๊ว”เล่าว่าในมหาวิทยาลัยที่ศึกษาอยู่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ปัญหาคอร์รัปชัน และนำมาสู่การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม โดยจะสอดเเทรกในกิจกรรมเเละการเรียนการสอน เขาอยากให้ทุกมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เเละจะดีมากถ้าสามารถนำเข้ามาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังเยาวชนให้รู้ถึงผลกระทบของการคอร์รัปชันมากขึ้น

“ดีครับถ้าเเต่ละมหาลัยจะตั้งเป็นชมรม เพราะว่า เวลามีเรื่องราวเกี่ยวกับการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในสังคม เราก็สามารถนำมาให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เเลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้และได้ช่วยกันคิดต่อว่าจะมีส่วนร่วมการแก้ปัญหาอย่างไร”

ความรู้ที่ได้จากโครงการนี้ จะถูกนำไปปรับใช้ในการเรียนตลอดจนในชีวิตการทำงานด้วย

“ผมจะเอาไปปรับใช้ในการติดต่อระหว่างคณะ เช่น เรื่องงบประมาณในการจัดกิจกรรมให้เกิดความโปร่งใส ไม่มีการคอร์รัปชัน รวมทั้งชีวิตการทำงานที่ต้องเจอผู้คน เเละสถานการณ์ที่อาจเสี่ยงกับการคอร์รัปชัน”
สาวน้อยหน้าตาสดใส แพตตี้-อินทิรา ฮาดสม อายุ 20 ปี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันรัชต์ภาคย์  ยอมรับว่า เมื่อก่อนตอนเด็กๆ คำว่าคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ เธอรู้เเค่ว่ามันคือ “การโกง”เเต่พอเข้าร่วมโครงการนี้ เธอได้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันมากขึ้น

“เรื่องที่หนูเคยทำการคอร์รัปชันโดยไม่รู้ตัว คือ เวลาขอเงินพ่อเเม่ 20 บาท เเต่เราเอาไป 50 บาท เเล้วเราก็จะให้เหตุผลกับตัวเองว่า ก็เงินของพ่อเเม่เรา ก็คงไม่เป็นไร เเต่ที่จริงเเล้วมันเป็นการคอร์รัปชัน”

เเม้เธอจะบอกว่าการเเก้ปัญหาคอร์รัปชันนั้นจะทำได้ยาก เเต่เธอก็จะนำความรู้ที่ได้ในครั้งนี้ กลับไปต่อยอดในสถาบันของตัวเอง ด้วยการจัดค่ายในต่างจังหวัดโดยจะสอดเเทรกความรู้เเละเเนวทางเเก้ปัญหาคอร์รัปชันให้กับประชาชนในชุมชนท้องถิ่น

“เข้าร่วมโครงการทำให้มีความรู้เกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันมากขึ้น ว่า มันคือการเอาสิ่งที่มาจากการทุจริตมาเป็นของตัวเอง ปัญหานี้มันใหญ่มากเเละไม่สามารถเเก้ได้ 100 %เเต่ถ้ามีการรวมกลุ่มกันรณรงค์ก็อาจจะทำให้ปัญหาลดลงได้”

“คนโกง โกงได้ เเต่ยังไงก็ไปไม่รอด คนดีๆ เขาก็เห็นอยู่” เป็นความรู้สึกที่มีต่อปัญหาคอร์รัปชัน ของ น๊อต-กมลชนก หนูช่วย นักศึกษาปีที่ 3 คณะบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสยาม ดีกรีนักกีฬาเรือประเพณีระดับจังหวัดเเละระดับภาค

น๊อต เล่าสถานการณ์เจ็บจุกจากการคอร์รัปชันให้ฟังอย่างตั้งใจ “เคยเจอกับตัวเองตอนที่จับฉลากเพื่อจะได้เรือไปแข่ง เราจับได้เรือที่ดีที่สุด เเต่พอตรวจสอบเเล้วพบว่าไม่ใช่เรือที่เราจับฉลากได้ เรารู้สึกเสียใจมาก”

เธอเสนอวิธีการจะเเก้ปัญหาคอร์รัปชันว่า “ควรเริ่มต้นจากตัวเอง” “ถ้าจะแก้ก็ต้องแก้ที่ตัวเองก่อน เราต้องถามตัวเองว่าจะโกงไหม ถ้าคำตอบคือ “ไม่” เราถึงจะไปบอกต่อคนอื่นได้ว่าการโกงมันไม่ดีอย่างไร”

การเข้าร่วมโครงการ “ผู้นำนักศึกษารุ่นใหม่ไร้คอร์รัปชัน” ทำให้เธอเปลี่ยนมุมมองของปัญหาคอร์รัปชันว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยหลังจากนี้เธอจะนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยเเละจะสอดเเทรกความรุนเเรงเเละเเนวทางเเก้ปัญหาเพื่อให้เพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยได้มีความเข้าใจมากขึ้น

นับเป็นอีกก้าวของการต่อต้านคอร์รัปชันที่เริ่มจากกลุ่มเยาวชน ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศ การปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีและชี้แนะแนวทางให้เห็นถึงปัญหา ผลกระทบ และแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างถูกต้อง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการลดปัญหาคอร์รัปชันในสังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืน