ฟังด้วยใจ

“เราพูดคุยกับน้องคนหนึ่งซึ่งเป็นคนเก็บตัวจนเขายอมเปิดใจ เป้าหมายในการคุย คือเรื่องเรียนต่อ น้องบอกว่าอยากเป็นหมอ แต่พอคุยก็รู้ว่า จริงๆแล้วน้องอยากเป็นแอร์โฮสเตส เราดีใจที่มีส่วนได้ช่วยน้องค้นหาตัวตน”

ประโยคสั้นๆ จากพี่เลี้ยงอาสาโครงการ“ฟังน้องคุย ชวนน้องคิด ทางโทรศัพท์” รุ่นที่ 1  “น้ำหวาน-งามสิริ อาศิรเลิศสิริ” นักจิตวิทยาเด็ก ที่ไม่เพียงบอกเล่าความรู้สึกแต่ยังสะท้อนให้เห็น “คุณค่า” ของ “การฟังด้วยหัวใจ”

ด้วยอาชีพที่ต้องทำงานกับเด็กและอุปนิสัยที่รักเด็ก ทำให้อาสาสมัครผู้นี้ตัดสินใจเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงอาสาฯ รุ่นที่ 1 เพราะต้องการใช้ความรู้ความสามารถช่วยเหลือเด็กขาดโอกาสทางการศึกษา

ปัญหาการเรียน ครอบครัว เพื่อน เป็นปัญหาลำดับต้นๆ ที่เจอในขณะพูดคุยกับเด็กๆ การสร้าง“ความไว้วางใจ” จึงถือเป็นความท้าทาย แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เป็นปัญหาเพราะสิ่งที่ได้กลับมาก็ “คุ้มค่า”

“โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ทำให้เราหลุดจากกรอบเดิมๆ เช่น หลายคนบอกว่าเรามาให้ความรู้คำแนะนำ แต่จริงๆเราได้รับสิ่งที่ดีกลับมา เราได้แบ่งปันมุมมองซึ่งกันและกัน อีกอย่างเราเป็นลูกคนเล็ก ไม่มีน้อง แต่พอมาคุยกับเด็กๆซึ่งเป็นความท้าทายว่าน้องจะคุยกับเราไหม แต่สุดท้ายทำให้เรารู้สึกว่าเรามีน้อง และเราก็เป็นพี่สาวที่คุยได้ทุกเรื่องจนเขาสามารถคิดและแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง”

เป็นคำอธิบายจากอาสาสมัครผู้นี้ ที่สะท้อนว่า เมื่อเราเปิดหัวใจรับฟัง น้องๆที่ขาดโอกาสรับรู้ได้ว่ายังมีคนที่อยู่กับเขา คอยให้คำแนะนำ แนะแนวทาง ให้น้องรู้จักตั้งเป้าหมายในชีวิต

ความจริงที่ทุกคนช่วยได้

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ทุนการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กนักเรียน แต่ไม่เพียงพอกับความต้องการของเด็กด้อยโอกาสประมาณ 4.8 ล้านคน ณ ปี 2550-2557 มีเด็กนักเรียนออกจากระบบกลางคัน 3 แสนคน

จริงอยู่ที่มนุษย์มีศักยภาพในการเผชิญหน้ากับปัญหาแต่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กฐานะยากจน ที่มีสภาพครอบครัวเปราะบาง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีผู้คอยแนะแนวทางที่ถูกต้อง

“ที่ผ่านมา เราอาจจะเคยคิดว่าเด็กขาดโอกาส ยากจน การให้ทุนก็น่าจะเรียนจบ แต่ก็ยังมีเด็กที่เลิกเรียน เราจึงมาคิดกันว่าตัวช่วยน้องๆ ก็คือต้องมีคนให้คำปรึกษา แนะกระบวนการให้น้องคิด ตั้งเป้าหมาย และแนะนำการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง” คุณอรัญญา ลือประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิยุวพัฒน์ สะท้อนสาเหตุเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

จากข้อเท็จจริงที่ว่า “เงิน” อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่เด็กขาดโอกาสจะเรียนจนจบ “มูลนิธิยุวพัฒน์” ซึ่งมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กทั่วประเทศมาเป็นเวลากว่า 24 ปี จึงพัฒนาระบบงานอาสาร่วมกับ “เครือข่ายจิตอาสา” จัดทำโครงการ “พี่เลี้ยงอาสา ฟังน้องคุย ชวนน้องคิด ทางโทรศัพท์”  เพื่อเปิดรับอาสาสมัครที่สนใจรับฟัง ให้คำปรึกษาในการใช้ชีวิตที่ถูกต้องกับเด็กในโครงการ  โดยหวังว่าเมื่อพวกเขารู้สึกมีที่พึ่งทางใจ มีแบบอย่างที่ดี จะสามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่หลุดออกจากระบบและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต

“ด้วยความเชื่อของ มูลนิธิฯ ว่าถ้าน้องมีพี่เลี้ยงอาสาที่สามารถรับฟัง ชวนน้องคิด ชวนน้องคุย และแนะแนวทาง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาการเรียน เพื่อน และครอบครัว ก็น่าจะช่วยให้น้องมีทางเลือกที่หลากหลายและตั้งเป้าหมายของชีวิตได้ หรืออย่างน้อยเราก็อยากทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาก่อนที่น้องจะเลิกเรียน”คุณอรัญญา กล่าว

“อาสาสมัคร”ต้นทุนแห่งการเปลี่ยนแปลง

โครงการ“พี่เลี้ยงอาสา ฟังน้องคุย ชวนน้องคิด ทางโทรศัพท์” ริเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2559 ดำเนินโครงการต่อเนื่องมาถึงรุ่นที่ 3 ขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครรุ่นที่ 4 ขณะนี้มีน้องนักเรียนทุนที่ได้รับการดูแลจากพี่เลี้ยงแล้วจำนวนกว่า 700 คน

“เราอยากสร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ในแง่คนสมัครมีคนสนใจมาเป็นอาสา เสียงสะท้อนจากพี่เลี้ยงบอกว่าจะเป็นพี่เลี้ยงแต่กลายเป็นเหมือนเพื่อน บางวันรู้สึกแย่ การคุยกับน้องกลับสร้างแรงบันดาลใจ” คุณอรัญญา กล่าว

“ผลตอบรับดีมาก น้องนักเรียนทุนรู้สึกดีที่มีคนคุยด้วย น้องบางคนเห็นช่องทางในการประกอบอาชีพมากขึ้น เพราะพี่เลี้ยงอาสามาจากคนหลายกลุ่ม เช่น นักจิตวิทยา หมอ นักการตลาด น้องบางคนอยากเป็นหมอ พี่เลี้ยงอาสาที่เป็นหมอก็ให้คำแนะนำได้” คุณนันทินี มาลานนท์ ผู้จัดการเครือข่ายจิตอาสากล่าว

สำหรับพี่เลี้ยงรุ่นที่ 4 ที่กำลังเปิดรับสมัครในขณะนี้ บทบาทของพี่เลี้ยงอาสาฯ 1 คน จะดูแล พูดคุย ให้คำแนะนำทางโทรศัพท์ แก่น้องนักเรียนทุนมูลนิธิยุวพัฒน์ที่กำลังเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา จำนวน 8 คน เป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ 1 กันยายน – 31 ธันวาคม 2560 โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 31 กรกฎาคม 2560 ผ่านเว็บไซต์ของเครือข่ายจิตอาสา www.volunteerspirit.org เพื่อคัดเลือกเป็นพี่เลี้ยงอาสาฯ

“เราจะพัฒนาระบบพี่เลี้ยงอาสารุ่นที่ 4 เพราะการทำงาน 4 เดือน พี่เลี้ยงอาสาอาจเจอปัญหา เราจึงจัดให้มีการกลับมาทบทวนงาน และปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานช่วง 2 เดือนแรก เพื่อให้ 2 เดือนที่เหลือมีคุณภาพ” คุณนันทินี กล่าว

คนที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงอาสาของโครงการนี้จะได้รับการฝึกทักษะการฟัง เพื่อให้สามารถรับฟังโดยไม่ใช้ประสบการณ์ของตนเองตัดสินเรื่องราวต่างๆ ว่า “ถูก”หรือ “ผิด” มากไปกว่านั้นยังได้ยกระดับ “การพัฒนาตนเอง”

“เราต้องการคนที่มีมีทักษะการฟังที่ดี ไม่มีอคติ เรามีกระบวนการสัมภาษณ์เพื่อคัดกรอง เพราะเวลาคุยจริง น้องบางคนเป็นเด็กพูดน้อย จึงต้องใช้ความอดทน แต่สิ่งที่อาสาจะได้ คือ บางคนอาจมีปัญหา แต่พอได้คุยกับน้องซึ่งอาจมีชีวิตลำบากแต่ก็ยังพยายามทำชีวิตให้ดีขึ้น ก็เหมือนเขาได้รับพลังจากน้องๆ บางคนได้พัฒนาเรื่องวินัย เพราะเวลาทำงานประจำก็ต้องดูแลน้องๆ ด้วย รวมทั้งการเพิ่มทักษะ เช่นน้องอยากรู้เรื่องที่อาสาไม่รู้ ก็ต้องไปหาข้อมูลมาเล่าให้น้องฟัง” คุณนันทินี กล่าวทิ้งท้าย

นี่คือเรื่องราวของโครงการเพื่อสังคมดีๆ เป็นประตูที่เปิดให้ “คุณ”ได้มีส่วนทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น แค่ร่วมเป็นพี่เลี้ยงอาสากับโครงการและเปิดหัวใจรับฟัง “คุณ”ก็จะกลายเป็นคนที่มี “คุณค่า”และช่วยแก้ปัญหาการศึกษาไปพร้อมกัน