การส่งเสริมอาชีพคนพิการ หนึ่งในแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งหลายหน่วยงานต่างพยายามส่งเสริมให้ผู้พิการมีงานทำ โดยนำเอาแนวคิดการจ้างงานรูปแบบใหม่ ด้วยการให้สถานประกอบการนำเงินที่ต้องส่งเข้ากองทุน ตามมาตรา 34 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาเป็นเงินเดือนแทน ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรม GOOD Society EXPO ทำดีหวังผล ที่จัดขึ้นเมื่อ 9-11 มิถุนายนที่ผ่านมา

เพียงลอดเข้าไปในกล่องสี่เหลี่ยม ภาพตรงหน้าถูกแทนที่ด้วยสีดำสนิท ประกอบกับเสียงคลื่นทะเล ซึ่งเป็นการจำลองสภาวะ และความรู้สึกของผู้พิการทางสายตาช่วงสั้นๆ ในงาน GOOD Society EXPO ทำดีหวังผล ที่จัดพื้นที่จำลองประสบการณ์ของผู้บกพร่องทางการมองเห็นและการได้ยิน นอกเหนือจากประเด็นหลักที่ต้องการสื่อสาร และตอกย้ำว่า ผู้พิการ “ต้องมีงานทำ”

จันทร์ทา โพธิกระสังข์ เป็นหนึ่งในผู้พิการทางสายตา ที่เคยกังวลว่า จะไม่สามารถหางานได้ หลังสายตาของเธอเริ่มเลือนลาง ประกอบกับเป็นต้อหิน จนต้องหยุดอาชีพหมอนวดชั่วคราว แต่เมื่อได้รับโอกาสเข้าทำงานในบริษัทเอกชน จึงคลายกังวลที่ไม่ต้องการเป็นภาระให้ครอบครัว
“มีคนพูดมากว่าจะทำยังไงเมื่อมองไม่เห็น จะทำงานอย่างไร พอมีคนชวนมาทำงาน และเรียนนวด ก็จะเป็นทักษะที่ติดตัวไปตลอดชีวิต สร้างอาชีพและรายได้ได้” จันทร์ทากล่าว

แม้สังคมรับรู้ และเริ่มเข้าใจผู้พิการมากขึ้น แต่การเข้าถึงงานของผู้พิการยังมีช่องว่างอยู่มาก เพราะกว่าร้อยละ 90 ขาดโอกาสทางการศึกษา ทำให้ทักษะ และคุณสมบัติที่จะทำงานในบริษัท หรือสถานประกอบมีน้อยมาก ประกอบกับงานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองเท่านั้น แม้ว่าจะมีกฎหมายรองรับการจ้างงาน แต่ผู้พิการส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิ์นี้

นอกจากนี้ เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ต่างพยายามส่งเสริมอาชีพของผู้พิการ ให้ทำงานเชิงสังคมในชุมชนของตัวเอง เช่น เป็นอาสาสมัคร ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ ทำงานเอกสาร โดยเงินเดือนที่ได้รับมาจากบริษัทเอกชน ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะนำเงินที่ต้องจ่ายเข้ากองทุน ตามมาตรา 34 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาเป็นค่าตอบแทนให้ผู้พิการ

คุณจินรัตน์ เทียมอริยะ ที่ปรึกษามูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากไม่สามารถจ้างคนพิการทำงานในองค์กรได้ สามารถโยกเงินก้อนเดิมนี้มาจ้างให้คนพิการทำงานสาธารณประโยชน์ เกิดประโยชน์ต่อชุมชน คนพิการ คนพิการมีรายได้ และเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เพิ่มรายได้ให้ครอบครัวได้ สถานประกอบการหลังจากที่เข้าใจแล้วก็ยินดีทำ

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้พิการที่สถานประกอบการสามารถจ้างตามที่กฎหมายระบุ คือ พนักงาน 100 คน ต่อผู้พิการ 1 คน ซึ่งทั่วประเทศมีอัตราจ้างงาน 60,000 ตำแหน่ง แต่ขณะนี้มีผู้พิการเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่มีงานทำ รวมถึงมีสถานประกอบการเข้าร่วมประมาณ 400 แห่ง โมเดลนี้ ถือเป็นรูปแบบที่ทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้พิการพอใจ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีคนพิการประมาณ 1 ล้าน 7 แสนคนทั่วประเทศอยู่ในกลุ่มวัยทำงาน กว่า 8 แสนคน แต่ยังมีอีกกว่า 5 แสนคน ที่ยังไม่มีอาชีพ

เพราะฉะนั้นในจำนวน 60,000 ตำแหน่ง จ้างงานจริงได้เพียง 60% ส่วนที่เหลือเป็นความพยายามที่เราจะขับเคลื่อนว่า ทำยังไงที่จะทำให้การจ้างงานให้ได้มากขึ้น ปัจจุบันการจ้างงานเชิงสังคมอยู่ประมาณเกือบ 10,000 อัตรา และยังมีการส่งเงินเข้ากองทุนอยู่อีกประมาณ 15,000 อัตรา ดังนั้นใน 15,000 อัตรานี้บริษัทเข้าใจขึ้น จะเป็นโอกาสของคนพิการ และหากเราทำงานร่วมกันทั้งหมด ทั้งภาครัฐ เอกชน สังคม คนพิการที่อยู่ชายขอบก็จะมีโอกาสได้รับการจ้างงานนี้

การเปิดรับอาสาสมัครจากคนทั่วไปที่มีความถนัดหลากหลายรูปแบบ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถช่วยให้ผู้พิการมีงานทำ เช่นเดียวกัน