นิยาม

กลไกระดมทรัพยากรทางการเงินผ่านตลาดทุนในรูปแบบ “กองทุนรวม” เพื่อสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน “เงินบริจาค” ของนักลงทุนในการต่อชีวิต สร้างอนาคตแก่ผู้มีความต้องการ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด สถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิเพื่อ"คนไทย" และมูลนิธิยุวพัฒน์

วิสัยทัศน์

"การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนทั้งทางการเงินและทางสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชัน"

พันธกิจ

  • ส่งเสริมการลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชัน (ESGC) ที่ดี เพื่อให้ได้ผลตอบแทนทั้งการลงทุนและทางสังคม สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชัน
  • สนับสนุนการบริจาคเงินจากผู้ลงทุนเพื่อต่อชีวิตและสร้างอนาคตแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุน ในประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคมธรรมาภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชัน

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ผู้ลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบัน

ผู้ลงทุน ทั้งรายย่อยและสถาบัน ในฐานะผู้สนับสนุนบริษัทที่มี ESGC และสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมผ่านกลไกค่าบริหารจัดการกองทุน

บลจ. บัวหลวง

ในฐานะผู้บริหารกองทุนฯ ที่เชื่อมโยงเงินและการมีส่วนร่วมของผู้ลงทุนกับโครงการเพื่อสังคม

องค์กรตัวกลางด้านสังคม

ในฐานะผู้สรรหา คัดเลือก พัฒนา ติดตามความก้าวหน้าและผลลัพธ์ของโครงการเพื่อสังคมที่รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ

โครงการและองค์กรที่ทำงานส่งเสริมธรรมาภิบาล ต่อต้านคอร์รัปชันในสังคมไทย

ในฐานะผู้รับการสนับสนุนเงินบริจาคจากกองทุนฯ เพื่อดำเนินการการต่อชีวิต และสร้างอนาคตแก่กลุ่มเป้าหมาย

ประชาชนผู้รับประโยชน์ปลายทาง

ผลผลิต-ผลลัพธ์ กองทุนรวมคนไทยใจดี ปี 2566

ปี 2566 มี 5 โครงการเพื่อสังคมที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ มูลค่ารวม 3.9 ล้านบาท โดยมียอดสะสมจำนวนโครงการเพื่อสังคมที่ได้รับทุนสนับสนุนนับตั้งแต่ปี 2558 – 2566 จำนวน 63 โครงการเพื่อสังคม มูลค่ารวม 48 ล้านบาท

เยาวชน/สุขภาพ

การดูแลนักเรียนผ่านการบูรณาการด้านจิตวิทยาสังคม

งบประมาณสนับสนุน
994,906 บาท

Food For Good (2566)

งบประมาณสนับสนุน
550,000 บาท

สุขภาพจิต

Sati App

งบประมาณสนับสนุน
876,000 บาท

ผู้พิการ

โครงการฝึกอบรมและการสร้างชุดเครื่องมือ สำหรับผู้ดูแลผู้พิการ

งบประมาณสนับสนุน
718,860 บาท

สิ่งแวดล้อม

รักษาป่าต้นน้ำ

งบประมาณสนับสนุน
799,600 บาท

รวม 5 โครงการ

3,939,366 บาท

ที่มา: สถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน มกราคม 2567

ทั้งนี้ 5 โครงการดังกล่าวครอบคลุมประเด็นเยาวชน สุขภาพ ผู้พิการ สิ่งแวดล้อม ที่เข้าถึงผู้รับประโยชน์ 21,429 คน ประกอบด้วย บุคลากรในสถานศึกษา 182 คน เยาวชน 8,202 คน ประชาชนทั่วไป 13,045 คน นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัคร 400 คน และผู้ร่วมกิจกรรมอีก 418 คน โดยมีรายละเอียดและการสร้างผลกระทบทางสังคม ดังนี้

รายละเอียดและความก้าวหน้าของโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนรวมคนไทยใจดี ประจำปี 2566 ดังนี้

การดูแลนักเรียนผ่านการบูรณาการด้านจิตวิทยาสังคม โดย สถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม ภายใต้มูลนิธิสาธารณะสุขแห่งชาติ

พัฒนารูปแบบการดูแลนักเรียนในสถานศึกษาผ่านเครื่องมือคัดกรองภาวะซึมเศร้าและการใช้สารเสพติดของนักเรียน รวมถึงชุดเครื่องมือให้คำปรึกษาแก่นักเรียนสำหรับครูผู้ดูแล เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ และพฤติกรรม เช่น การใช้สารเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง และภาวะซึมเศร้าซึ่งนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

ความก้าวหน้าที่น่าสนใจ

  • ถอดบทเรียนจากการทำงานของคลินิกหมอครอบครัวคลองศาลา รพ.เพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ พัฒนาเป็นชุดเครื่องมือการปฏิบัติงานหลักสูตร “ครูนางฟ้า”
  • สร้างระบบ IT ช่วยโรงเรียนในการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงภาวะซึมเศร้า และกำลังพัฒนาให้กลายเป็นช่องทางการสื่อสารสำหรับนักเรียนที่ต้องการพูดคุยปรึกษาทั้งในรูปแบบรายบุคคลและนิรนาม
  • จัดการอบรม “เสริมศักยภาพครูในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษาโดยบูรณาการจิตวิทยาสังคม (ครูนางฟ้า)
  • ออกแบบและผลิตชุดเครื่องมือการปฏิบัติงานหลักสูตร “ครูนางฟ้า” ซึ่งเป็นแนวทางการดูแลนักเรียนในสถานศึกษาโดยบูรณาการจิตวิทยาสังคม ซึ่งประกอบด้วย 1) คู่มือ 2) โปสเตอร์แนวทางการดูแลนักเรียนในสถานศึกษา 3) การ์ดสะท้อนเหตุการณ์ในชีวิต (Reflection card) 4) บอร์ดทบทวนความรู้สึก (Emotional board) และ 5) ใบงานสำหรับปรับความคิดและพฤติกรรมของนักเรียน

ผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น (ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน)

  • คณะกรรมการบริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางสาธารณสุขในพื้นที่จำนวน 86 คน เกิดความเข้าใจในแนวทางการดูแลนักเรียนในสถานศึกษารูปแบบใหม่ พร้อมสนับสนุนบุคลากรในโรงเรียนในการดำเนินการ 
  • ครูในสถานศึกษาจำนวน 40 คนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดูแลนักเรียนในสถานศึกษารูปแบบใหม่ที่นำจิตวิทยาสังคมเข้ามาบูรณาการ
  • นักเรียนจำนวน 1,437 คนได้รับการคัดกรอง ทำให้เกิดความตระหนักรู้ในสภาวะจิตใจของตัวเอง และได้รับการส่งต่ออย่างทันท่วงทีในกรณีที่มีปัญหา

Sati App โดยมูลนิธิสติ แอพ

Sati App ได้รับการพัฒนาเพื่อให้เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิตที่สามารถถ่ายทอดสู่สังคมโดยรวม สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้น (Psychological First Aid – PFA) และเปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคมเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครผู้ฟังบนแพลตฟอร์ม Sati App ให้สามารถเป็นกลุ่มผู้ฟังที่ช่วยให้ทุกคนที่ทุกข์ยาก สามารถติดต่อได้ทุกเมื่อที่ต้องการความช่วยเหลือ

ความก้าวหน้าที่น่าสนใจ

  • รักษาดูแลระบบอบรมหลักสูตรการปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้น ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือและทักษะในการให้การสนับสนุนด้านจิตใจ 
  • ออกแบบเพื่อพัฒนาระบบ Sati App ให้มีความเสถียรมากยิ่งขึ้น
  • จัดงาน World Mental Health Day : Better Mind Better Bangkok ในปี 2023 เพื่อเป็นกิจกรรมวัน สุขภาพจิตของไทยและสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องของสุขภาพจิตในไทยให้มากขึ้น

ผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น (ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน)

  • ประชาชนประมาณ 5,000 คน ได้รับบริการทำให้มีสุขภาพจิตดีขึ้น
  • อาสาสมัครประมาณ 400 คนสามารถช่วยเหลือดูแลคนรอบข้างผ่านการฟังอย่างเข้าใจได้
  • ประชาชนทั่วไปประมาณกว่า 250 คนเข้าร่วมงาน World Mental Health Day : Better Mind Better Bangkok ในปี 2023 ทำให้เห็นความสำคัญของสุขภาพจิตมากขึ้น

โครงการฝึกอบรมและการสร้างชุด เครื่องมือสำหรับผู้ดูแลผู้พิการ โดยบริษัท สเตปส์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

โครงการฝึกอบรมผู้ดูแลผู้พิการโดยผู้เชี่ยวชาญ การสร้างเครือข่ายและการสร้างชุดเครื่องมือ ให้แก่ผู้ดูแลเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และ Best Practice รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้พิการ สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของตลาดแรงงานได้

ความก้าวหน้าที่น่าสนใจหลังปิดโครงการ

  • ดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการฝึกอบรมผ่านการติดต่อกับหน่วยงานจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล, มูลนิธิออทิสติกไทย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ The Rainbow Room 
  • จัดเตรียมเนื้อหาในการฝึกอบรม เช่น ทักษะการใช้ชีวิตของผู้พิการ ทักษะการพึ่งพาตนเอง การเตรียมตัวสมัครงาน เป็นต้น

ผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น (ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน)

  • เนื่องจากโครงการอยู่ในช่วงวางแผนประชาสัมพันธ์ จึงยังไม่สามารถระบุผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นได้ ข้อมูลส่วนนี้จะสามารถระบุได้เมื่อเริ่มต้นการฝึกอบรมแล้ว

Food for Good 2566 โดยมูลนิธิยุวพัฒน์

โครงการฯ สนับสนุนงบประมาณและองค์ความรู้ให้กับโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายเพื่อร่วมพัฒนาระบบการจัดการอาหารและโภชนาการเด็กในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งหวังให้โรงเรียนมีเครื่องมือและแนวทางการดูแลโภชนาการเด็กที่ถูกต้อง เป็นระบบ ครอบคลุม และเชื่อมโยงทั้งที่บ้านและโรงเรียน เด็กนักเรียนได้รับประทานอาหารที่มีพลังงานและสารอาหารครบถ้วน เหมาะสม และดูแลเฝ้าระวังติดตามภาวะโภชนาการของเด็กอย่างเป็นระบบ

ความก้าวหน้าที่น่าสนใจหลังปิดโครงการ

  • เปิดรับสมัครโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ FOOD FOR GOOD ปีการศึกษา 2566 โดยดำเนินการร่วมกับสำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) 
  • ผลิตชุดคู่มือและอุปกรณ์การอบรมการจัดบริการอาหารและโภชนาการในโรงเรียน อุปกรณ์สุขาภิบาลอาหารสำหรับแม่ครัว 3 ชุด (ผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม) อุปกรณ์การวัดส่วนสูง และปลอกแขนสำหรับกิจกรรมแกนนำนักเรียนให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ
  • ดำเนินการจัดอบรมภายใต้หลักสูตรพัฒนาศักยภาพครูโภชนาการ FOOD FOR GOOD เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการรูปแบบออนไลน์ จำนวนผู้ผ่านการอบรมทั้งสิ้น 168 คน โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมความรู้และทักษะในการดำเนินงานอาหารและโภชนาการในโรงเรียน นำไปสู่การสร้างระบบการจัดการอาหารและดูแลโภชนาการนักเรียนขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น (ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน)

  • ผู้อำนวยการโรงเรียนจำนวน 56 คน มีความรู้และแนวทาง สามารถสร้างระบบการจดัการอาหาร และโภชนาการเด็กนักเรียนที่มีประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นใน โรงเรียน 
  • คุณครูจำนวน 168 คนได้รับการพัฒนาความรู้ตามหลักสูตร และสามารถจัดบริการอาหารและดูแล โภชนาการใหก้บนักเรียนอย่างถูกต้องเหมาะสม
  • นักเรียนจำนวน 6,765 คนได้รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ถูกต้อง และเหมาะสมกับช่วงวัย

รักษาป่าต้นน้ำ โดยบริษัท เดอะ เน็กซ์ ฟอเร็ซ จำกัด

โครงการรักษาป่าต้นน้ำดำเนินการในพื้นที่บ้านแม่สาใหม่ บ้างปงไคร้ และม่อนล่อง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการดูแลรักษาผืนป่าทั้งป่าธรรมชาติผืนใหญ่ และพื้นที่ป่าที่ได้รับการฟื้นฟู ซึ่งภายใต้โครงการนี้ จะให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการดูแลรักษาพื้นที่ป่าของชุมชน และการติดตามผลบริการจากระบบนิเวศที่คนในชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้รับจากพื้นที่ป่าแห่งนี้

ความก้าวหน้าที่น่าสนใจหลังปิดโครงการ

  • ประสานงานกับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาพื้นที่ป่าเป้าหมายในโครงการ ได้แก่
    – หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (FORRU) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดูแลจัดการรักษาพื้นที่ป่าชุมชนในเขตบ้านแม่สาใหม่ และป่าฟื้นฟู บ้านปงไคร้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
    – โครงการหลวงหนองหอย ดูแลจัดการรักษาพื้นที่ ป่าในเขตม่อนล่อง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
  • กำหนดรายละเอียดและวิธีการในการติดตามผลบนพื้นที่เป้าหมายภายหลังจากกิจกรรมการดูแลรักษาพื้นที่โดยการจัดทำแนวกันไฟและจัดเวรยามเฝ้าระวังไฟสิ้นสุดลง ซึ่งจะทำการติดตามและวัดผลบริการจากระบบนิเวศ

ผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น (ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน)

  • คนในชุมชนประมาณ 1,600 คนสามารถดูแลรักษาพื้นที่ป่าชุมชนให้รอดพ้นจากไฟในช่วงฤดูแล้งได้ปีต่อปี
  • ประชากรในพื้นที่ประมาณ 6,445 คน ได้รับประโยชน์จากฝุ่น PM2.5 ที่ลดลง และได้ใช้ประโยชน์จากการรักษาป่าต้นน้ำซึ่งไหลผ่านหลายหมู่บ้านในตำบลโป่งแยง