นิยาม

กองทุนสื่อเพื่อความยุติธรรมในสังคม เป็นกลไกยกระดับมาตรฐานจริยธรรมสื่อ ผ่านการตกลงใช้มาตรฐานร่วมกัน ได้แก่ หลักความจริงและความถูกต้อง ความเป็นอิสระ ไม่มีผลประโยชน์ขัดกับความเป็นธรรมและความตรงไปตรงมา โดยเป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิเพื่อคนไทยกับบริษัท เช้นจ์ เวนเจอร์ จำกัด กองทุนนี้มีเป้าประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานและศักยภาพของสื่อมวลชนให้เกิดความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลที่ดี แสวงหาความจริง สร้างผลเชิงบวกต่อสังคมได้จริง เปิดโอกาสให้เกิดนักข่าวรุ่นใหม่และสื่อใหม่ๆ พัฒนาความสามารถ ในการขยายผลจากข่าวให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริงเป็นวงกว้างต่อยอดไปสู่กระบวนการทางสังคมได้ (Social Movement) พัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืนขององค์กร

วิสัยทัศน์

"การลงทุนเพื่อสนับสนุนระบบนิเวศสื่อที่ยั่งยืน"

พันธกิจ

กองทุนสื่อเพื่อความยุติธรรมในสังคมสนับสนุนและลงทุนในการสร้างระบบนิเวศสื่อเพื่อการแสวงหาความจริง ความถูกต้อง และสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยมุ่งให้เกิดสื่อคุณภาพในประเทศไทยที่มีความแข็งแรง สามารถนำเสนอความจริง ติดตามตรวจสอบประเด็นทางสังคมที่สำคัญ และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

นักข่าวและองค์กรสื่อ
โดยสนับสนุนในลักษณะโครงการพัฒนาเนื้อหา (Issues Reporting) และพัฒนาศักยภาพ (Capacity Development)

องค์กรตัวกลางด้านสังคม
ในฐานะผู้สรรหา คัดเลือก พัฒนา ประสานงาน ติดตามความก้าวหน้าและผลลัพธ์ของโครงการที่เข้ารับการสนับสนุนจากกองทุนฯ

โครงการและองค์กรที่ทำงานด้านการยกระดับมาตรฐานจริยธรรมสื่อ
ในฐานะผู้รับการสนับสนุนเงินทุนในการดำเนินโครงการจากกองทุน

ประชาชนผู้รับประโยชน์ปลายทาง
มีส่วนร่วมในการให้และรับข้อมูลข่าวสารเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความโปร่งใสในสังคม

ผลผลิต - ผลลัพธ์ กองทุนสื่อเพื่อความยุติธรรมในสังคม ปี 2566

ในปี 2566 การดำเนินงานของกองทุนสื่อเพื่อความยุติธรรมในสังคมมีการขยายความร่วมมือกับภาคีต่างๆทำให้เกิดการยกระดับมาตรฐานและศักยภาพของสื่อมวลชนให้เกิดความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลที่ดี แสวงหาความจริง สร้างผลเชิงบวกต่อสังคม โดยมีโครงการระดับประเทศที่ได้รับการสนับสนุนและขับเคลื่อนร่วมกันต่อเนื่อง นับแต่ปี 2562-2566 จำนวน 4 โครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. โครงการ Big Open Data เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน

- โครงการพัฒนาฐานข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันผ่านการสร้างความโปร่งใสในสังคมและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐ (สิ้นสุดการดำเนินโครงการระยะที่ 1)

ความก้าวหน้าโครงการ และผลกระทบทางสังคม :

  • จากการเก็บรวบรวมข้อมูลปี 2566 มีผู้เข้าใช้งานระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม ACT Ai 44,199 Users โดยมีผู้ใช้งานสะสมตั้งแต่ทำระบบจำนวน 116,107 Users จากการใช้งานเรียกเปิดเอกสาร (Pageview) 215,927 ครั้ง รวมสะสมตั้งแต่ทำระบบจำนวน 588,103 ครั้ง (ข้อมูลวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566)
  • พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้าง และปรับโครงสร้างพื้นฐาน ฐานข้อมูลระบบ ACT Ai ปัจจุบันมีข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างในระบบจำนวน 31,483,474 โครงการ และมีข้อมูลผู้ค้าที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างจำนวน 2,559,920 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566)
  • รวบรวมชุดข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการดำเนินโครงการส่งเสริมความโปร่งใสอื่น ๆ ได้แก่ ชุดข้อมูลบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน, ชุดข้อมูลการบริจาคแก่พรรคการเมือง, ชุดข้อมูลรายนามผู้บริหารกระทรวงและข้าราชการระดับสูง, ชุดข้อมูลคำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, ชุดข้อมูลคำชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช., ชุดข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายของ กลต., ชุดข้อมูลโครงการก่อสร้าง (CoST), ชุดข้อมูลโครงการภายใต้ พรก. กู้เงินโควิด19, ชุดข้อมูลงบประมาณรายจ่ายประจำปีขององค์การบริหารส่วนจังหวัด, ชุดข้อมูลโรงเรียนสังกัด สพฐ. และชุดข้อมูลเบาะแสทุจริตจากภาคประชาชน
  • เกิดระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับสังคมในการร่วมติดตาม ตรวจสอบ และมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชัน ด้วยเครื่องมือสู้โกง 9 ฟังก์ชัน ได้แก่ จับโกงจัดซื้อจัดจ้าง, จับโกงเครือข่ายความสัมพันธ์, จับโกงงบ COVID, จับโกงงบ อบจ., Build Better Lives by CoST, โรงเรียนโปร่งใส, ฟ้องโกงด้วยแชตบอต, ฐานข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง และ ฐานข้อมูลเปิดเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน
  • เกิดเครือข่ายดำเนินงาน 29 หน่วยงาน (รวมสื่อ 16 แห่ง) อาทิ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน), บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.), โรงเรียนนายร้อยตำรวจ, สถาบันพระปกเกล้า, กรุงเทพมหานคร, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.), สถาบัน Change Fusion, Wevis เทคโนโลยีภาคประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, สำนักข่าวอิศรา, สำนักข่าวประชาไท, สำนักข่าว ThaiPBS, สำนักข่าวช่อง7, สำนักข่าวเนชั่น, สำนักข่าวออนไลน์ The MATTER ฯลฯ 
  • ขยายผลการใช้งาน การประชาสัมพันธ์และแนะนำเครื่องมือ ผ่านการบรรยายเชิงปฏิบัติการร่วมกับองค์กร/หน่วยงานที่มีภารกิจในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน และสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สถาบันพระปกเกล้า, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ, กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.), กรมการปกครอง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Private Sector Collective Action against Corruption : CAC), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร และหลักสูตรอบรมพิเศษเพื่อการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันของภาคเอกชนอื่น

2. โครงการ Crowdsourcing Platform

- โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มสร้างการมีส่วนร่วมในการรวบรวมข้อมูลเบาะแสหรือเหตุสงสัยการทุจริตคอร์รัปชันหรือความไม่ชอบมาพากลในสังคมอื่นๆ โดยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคีสื่อในการแก้ปัญหา และยังให้ความรู้เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันอีกด้วย โดยขณะนี้แพลตฟอร์มดังกล่าวจะประกอบไปด้วย

1) เพจต้องแฉ (Must share)

- เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มภาคีหลากหลายองค์กร สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของภาคประชาชน ด้วยกระบวนการ Crowdsourcing โดยการร่วมกันส่งข้อสงสัยและข้อมูลให้เครือข่ายภาคประชาชนร่วมตรวจสอบ สำนักข่าวต่าง ๆ ร่วมกันเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อให้เกิดการติดตาม และผลักดันให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหา

ความก้าวหน้าโครงการ และผลกระทบทางสังคม :

  • จำนวนผู้ถูกใจ (Like) 56,845 Likes
    เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 2,074 Likes
  • จำนวนผู้ติดตาม (Follower) 82,004 Followers เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 4,315 Followers
  • เปิดเผยและสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคมในประเด็นทุจริตคอร์รัปชันจำนวน 270 เรื่อง
  • จัดทำ Infographic, clip video, สื่อต่าง ๆ ให้ข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนักรู้ทุจริตคอร์รัปชันจำนวน 9 เรื่อง 
  • เกิดการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย ภาครัฐ กลุ่มท้องถิ่นและสื่อต่าง ๆ หน่วยงานภาครัฐ 38 หน่วยงาน สำนักข่าว 22 สำนักฯกลุ่มท้องถิ่น 128 กลุ่มเพจเฟซบุ๊ก 32 เพจ  และมีอาสาสมัคร 337 คน มีจำนวนประเด็นที่สร้างผลการเปลี่ยนแปลง ภาคีเครือข่ายและอาสาสมัครผู้ส่งเบาะแสในเพจต้องแฉ 65 ประเด็น เช่นโครงการปรับปรุงทางเท้าฯ 12.9 ล้านบาทจ.อุดรธานีส่อไม่ได้มาตรฐานใช้วัสดุไม่ตรงตามสเปก, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจ.สมุทรปราการสร้างทิ้งร้าง, อาคารจอดรถแห่งใหม่สนามบินกระบี่ภายใต้วงเงิน 2 พันล้านบาทก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน, โรงเรียนการบินทอ. จัดซื้อวัสดุราคาแพงเกินจริง, ข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรมส่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนได้รับงานโครงการจ้างทำเครื่องเกียรติยศประกอบศพในภารกิจพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานมูลค่า 400 ล้านบาท, เสาไฟตรุษจีน 8.4 ล้านบาทจ.ลำปางส่อราคาสูงเกินจริงและติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน,โครงการติดตั้งเสาไฟส่องสว่างแบบ High-mast 8.8 แสนบาทจ.อุดรธานีติดตั้งโดยไม่ขออนุญาตและตั้งในจุดเสี่ยงก่อให้เกิดอุบัติเหตุ, โครงการปรับปรุงคลองส่งน้ำ 10 ล้านบาทจ.ยโสธรส่อไม่ได้มาตรฐาน, เจ้าหน้าที่อบต. แห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรีใช้รถหลวงเพื่อประโยชน์ส่วนตน, โครงการตู้น้ำหยอดเหรียญและโรงสีข้าวประชารัฐจากงบกองทุนหมู่บ้านละ 5 แสนบาทถูกพบทิ้งร้างในหลายพื้นที่เป็นต้น

2) Line Chat Bot จับตาไม่ให้ใครโกง (Corruption Watch)

- เครื่องมือสนับสนุนภาคประชาชนในการร่วมกันจับตา ส่งเบาะแสเหตุสงสัยทุจริตคอรร์รัปชันในแต่ละพื้นที่ ได้อย่าง “ปลอดภัย” เช่น การจัดซื้อจัดจ้างช่วงโควิด-19, การทุจริตในสถานศึกษา, เจ้าหน้าที่รัฐร่ำรวยผิดปกติ เป็นต้น และสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ สื่อมวลชนและภาคประชาชน ในการร่วมกันรักษาผลประโยชน์สาธารณะ แก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันและสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในสังคม (อยู่ระหว่างการพัฒนา)

ภาพรวมความก้าวหน้า

  • จัดทำ Line Chat Bot สำหรับผู้ต้องการรายงานเหตุสงสัยทุจริตคอร์รัปชัน ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
  • จัดทำข้อมูลสำหรับผู้ดูแล เพื่อใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ
  • จัดทำเว็บไซต์สำหรับสาธารณะและสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการร่วมกันรักษาผลประโยชน์สาธารณะ 
  • มีจำนวนเหตุสงสัยทุจริตคอร์รัปชัน ที่ได้รับแจ้งผ่านระบบ ในปี 65 จำนวน 75 เรื่อง 
  • เกิดการขยายความร่วมมือกับสื่อออนไลน์ เพจต้องแฉ โดยถูกนำประเด็นไปเผยแพร่ต่อจำนวน 5 เรื่อง และประสานร่วมมือส่งต่อประเด็นกับสำนักงาน ป.ป.ช. จำนวน 8 เรื่อง

3. โครงการ Newsworthy

- โครงการ Newsworthy ตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาข่าวลวงเชิงรุก โดยปรับจากการตรวจสอบข่าวลวงรายชิ้นเป็นการเลือกกลุ่มเนื้อหาข่าวลวงที่มีความสำคัญต่อสังคม โดยเฉพาะประเด็นที่มีผลต่อนโยบายสาธารณะหรือการต่อต้านความเข้าใจผิด อคติ นำมาตรวจสอบและพัฒนาวิธีการสื่อสารเพื่อกำหนดประเด็น และกำหนดวาระทางสังคมที่สามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้

ภาพรวมความก้าวหน้า : 

  • มีการปรับปรุงแพลตฟอร์มเพื่อตรวจสอบข่าวลวงทางเว็บไซต์โคแฟค หรือ www.cofact.org ซึ่งปัจจุบันเป็นคลังข้อมูลเกี่ยวกับข่าวลวงมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ จำนวน 10,880 ข้อความ และอินโฟกราฟฟิก จำนวน 351 ชิ้น ทั้งนี้ มีผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ cofact.org จำนวน 574,570 ยูสเซอร์ ผู้ติดตามเฟซบุ๊ก Cofact โคแฟค จำนวน 6,121 บัญชี ไลน์แชทบอท @Cofact มีผู้แอดไลน์จำนวน 11,391 บัญชี ทวิตเตอร์ @CofactThailand มีผู้ติดตาม จำนวน 1,609 บัญชี และติ๊กต็อก @CofactThailand มีผู้ติดตาม 1,281 บัญชี มียอดถูกใจ 12,991 ครั้ง 
  • สร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคและชุมชนใน 8 พื้นที่ ได้แก่ จ.พะเยา จ.เชียงใหม่  มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยบูรพา จ.อุบลราชธานี จ.มหาสารคาม จ.ปัตตานี จ.สงขลา ตรวจสอบข่าวโดยเน้นประเด็นข่าวลวงที่เกี่ยวกับการเมือง และการเลือกตั้ง  นอกจากนี้ยังคงมีประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ  การหลอกลวงทางออนไลน์  มีข่าวรวมกันทั้งสิ้น 182 ชิ้นงาน                                                                        
  • ประสานความร่วมมือกับเอกชน เจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์นานาชาติ ด้วยการจัดฝึกอบรมการตรวจสอบข้อมูลกับ Google News Initiative (GNI)  ประสานความร่วมมือกับ TikTok รณรงค์ ‘โปรดใช้วิจารณญาณในการไถฟีด’  ร่วมมือกับ Facebook รณรงค์การใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัย ทำงานร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีจากไต้หวันอย่าง Whoscall และ Gogolook เชื่อมโยงฐานข้อมูลของโคแฟคไปยังผู้ใช้บริการของ Whoscall เพื่อตรวจสอบข่าวลวง โดยทางบริษัท  ที่ช่วยแก้ปัญหาผู้บริโภคในการคัดกรองเบอร์โทรแปลกปลอมของมิจฉาชีพ ได้ผนวกฐานข้อมูลการตรวจสอบข่าวลวงของโคแฟคให้กับผู้ใช้บริการด้วย และได้เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลแชทบอท “แม่รู้ดี” กับ “โคแฟค” ทำให้ฐานข้อมูลของโคแฟคได้รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
  • ความร่วมมือสำคัญกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มในปี พ.ศ. 2566 โดยร่วมทำแคมเปญรณรงค์การตรวจสอบข้อมูลการเลือกตั้งทั่วไปกับทาง TikTok Thailand ในประเด็น Election Integrity รวมทั้งในรับเกียรติในการร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์การลงนามความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง และตัวแทนพรรคการเมือง พร้อมองค์กรพัฒนาเอกชน ในการรณรงค์หาเสียงอย่างมีจริยธรรมบนพื้นฐานข้อเท็จจริง โดยสนับสนุนแคมเปญการรณรงค์ของโคแฟค และให้โคแฟคได้มีช่องทางในการรายงานปัญหาและร้องเรียนเนื้อหาที่เข้าข่ายหลอกลวง 
  • มีการจัดเวทีในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิด้านข้อมูลข่าวสาร ระบบนิเวศสื่อ อย่างต่อเนื่อง
  • ผลิตรายการ Cofact โดยร่วมกับภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จัดรายการ Zoom สื่อ ทาง Chularadio plus F.M. 101.5 MHz. จำนวน 12 ครั้ง

เป้าหมายการดำเนินงาน :

มุ่งเป้าสู่การยกระดับให้ประเทศไทยมีเครือข่ายองค์กรสื่อที่ได้รับมาตรฐานการรับรองความถูกต้องของการตรวจสอบข้อมูลตามกรอบของ IFCN – International Fact-Check Network เพี่อยกระดับความเชื่อมั่นในการทำงานของสื่อออนไลน์และสื่อดั้งเดิมในภาพรวมไปด้วยเช่นกัน ท่ามกลางสภาพปัญหาความสับสนอลหม่าน การลดทอนคุณภาพของการสื่อสารที่ถดถอยลงทุกขณะ และ เป็นปรากฎการณ์ร่วมของทั่วโลก จึงเป็นโจทย์ท้าทายที่ต้องทำงานร่วมกันทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ สู่ระดับสากลต่อไป

นอกเหนือจากความร่วมมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและข้อมูลระดับโลกแล้ว ในรอบปีที่ผ่านทางภาคีโคแฟคได้ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพิ่มเติม เช่นการทำงานร่วมกับกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในการมอนิเตอร์ รายงาน และตรวจสอบข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและกระทบความเกลียดชังกันระหว่างประเทศไทย โดยงานที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี