ในห้วงการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เกิดขึ้น การเสริมสร้าง “พลังพลเมือง” ถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ โดยจุดคานงัดที่จะพิสูจน์พลังดังกล่าว ก็คือ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมไทย ดังที่เกิดขึ้นใน งานปาฐกถาไพบูลย์วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ 6 หัวข้อ “พลังพลเมือง…พลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย” เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วัตถุประสงค์การจัดงานเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ในการสร้างสังคมไทยให้น่าอยู่ สร้างความร่วมมือขององค์กรที่ทำงานเพื่อสังคมร่วมกัน และให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เข้าถึง มีส่วนร่วม และเกิดแรงบันดาลใจในงานพัฒนาสังคม  ตลอดจนเห็นช่องทาง กลไก และต้นแบบของงานพัฒนาสังคมที่มีประชาชนคนไทยช่วยกันขับเคลื่อน

aoms5526

งานนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จํากัดและองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมและอดีตเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คุณชินวุฒิ อาศน์วิเชียร เลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี และคุณณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสมาชิกภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership – TEP) เป็นองค์ปาฐก

aoms5530

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  นักวิชาการที่มองภาพรวมการขับเคลื่อนสังคมไทย กล่าวถึงการเกิดประชาธิปไตยในประเทศไทยว่า การเป็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องไม่ยาก รัฐควรมีความยืดหยุ่นให้เหมือนกับภาคประชาสังคมเเละภาคธุรกิจ มีจินตนาการเเละความคิดสร้างสรรค์ ลดความยากในการทำงาน ซึ่งปัจจุบันเป็นการทำงานแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางเพียงอย่างเดียว และมีแนวคิดแบบ One Size Fits All ซึ่งหมายถึงการออกมาตรการหรือวิธีการแก้ปัญหาแบบเดียวแต่นำไปใช้กับทุกปัญหา รวมถึงยังขาดการประสานงานกันระหว่างกระทรวงต่างๆ ทั้งยังไม่เปิดให้สังคมมีส่วนร่วมเท่าที่ควร และอีกส่วนหนึ่งคือการที่ข้าราชการจำนวนไม่น้อยมีความตั้งใจดี แต่ระบบการทำงานยุ่งยาก และกลัวการทำผิดกฎระเบียบ

ดังนั้นภาคประชาสังคมจึงถือเป็นกลไกที่สามารถช่วยเสริมและแก้ปัญหาต่างๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ ต่อต้านคอร์รัปชัน การคุ้มครองผู้บริโภคและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

img_5501 “เรายังมีภาคประชาสังคม ซึ่งไม่ใช่ปัจเจกชน แต่มีฐานะเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งที่รวมตัวกันในรูปแบบต่างๆ เช่น ประชาคม สหกรณ์ สหภาพ และยังมีการรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการจำนวนมาก เช่น ชุมชน” ดร.สมเกียรติกล่าว

หากพูดถึงจังหวัดขอนแก่น หลายคนคงนึกถึงหัวเมืองภาคอีสานของประเทศไทยที่มีการพัฒนาอย่างก้าวหน้าในภูมิภาค ล่าสุดจังหวัดขอนแก่นได้เป็น “โมเดลการพัฒนาเมือง” ที่สำคัญให้กับจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเป็นที่น่าศึกษาและจับตามอง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่เพียงการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะระบบการขนส่งมวลชนที่เน้นความสุขและสะดวกสบายของพลเมือง แต่คือโมเดลในการร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาเมืองของผู้คนหลายส่วนฝ่ายที่ไม่ได้มีเพียงภาครัฐทำหน้าที่แต่ฝ่ายเดียว

ประธานทีดีอาร์ไอ อธิบายว่าจังหวัดขอนแก่นจัดตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนา (KKTT) จำกัด ด้วยทุนประเดิม 200 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการลงขันของครอบครัวนักธุรกิจในขอนแก่นอย่างเท่า ๆ กัน แม้เงิน 200 ล้านบาท จะไม่พอค่าขนส่งสาธารณะ แต่สิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นคือ ความมุ่งมั่นของคนที่กลายเป็นศูนย์รวมของการดึงพลังของฝ่ายต่างๆ  หน่วยงานในขอนแก่นที่เป็นประชาสังคมก็ช่วยกันวางแผนหาวิธีที่ทำให้ขอนแก่นได้รถราง ต่อมา 5 เทศบาล ตั้งแต่ในเมืองถึงรอบนอกในจังหวัดขอนแก่นตั้งบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS)  ดำเนินการสร้างรถไฟฟ้า ถึงจุดนี้จึงได้การสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง สุดท้ายจังหวัดขอนแก่นก็ได้รถราง จากการต่อสู้อันยาวนาน

“เมื่อประชาชนอยากได้อะไรอย่าหวังพึ่งรัฐ อย่าหวังพึ่งมาเฟีย ต้องพึ่งตนเองเป็นหลักด้วย และหากเราจะมีประชารัฐที่แท้จริง ภาครัฐควรให้พลังพลเมืองเข้มแข็งนำหน้า ท้องถิ่นหนุนตาม ธุรกิจเข้ามาร่วม”  ดร.สมเกียรติกล่าวทิ้งท้าย

สอดคล้องกับ ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษาผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จํากัด และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ระบุว่า สิ่งที่ทำให้ภาครัฐล้มเหลวคือแนวคิดแบบ One Size Fits All โดยเฉพาะกับนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน

แม้จะมีองค์กรที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชันจำนวนมาก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุดมากนัก จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างพลังประชาสังคมเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งต้องมาจากการสร้างสังคมให้มีความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูล ให้ความรู้ความเข้าใจเเละมีช่องทางการร้องเรียนที่ง่ายเเละปลอดภัย รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยง การประสานงานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน

ในประเทศไทยมีโครงการต่างๆ เพื่อสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น  โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption : CAC) และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดทำโครงการต้นแบบ “Citizen Feedback” ให้เอกชน ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความพึงพอใจและความโปร่งใสของการใช้บริการของหน่วยงานรัฐผ่านแบบสอบถามออนไลน์ที่พัฒนาโดยภาคเอกชนบนสมาร์ทโฟนโดยวิธีสแกนคิวอาร์โค้ด นอกจากนั้นยังมีเพจหมาเฝ้าบ้าน เพจต้องแฉ เพื่อเป็นช่องทางให้ภาคประชาชนเข้ามาเปิดเผยข้อมูลทุจริต ร่วมสร้างสังคมเปิดโปร่งใส และติดตามตรวจสอบให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

 

img_5546“ในประเทศไทยมีองค์กรที่ทำงานด้านต่อต้านคอร์รัปชันกว่า 30 องค์กรแต่ยังขาดการเชื่อมโยงกันถ้าสามารถสร้างให้เกิดโมเดลความร่วมมือได้ ผมคิดว่าจะเกิดพลังในการต่อต้านคอร์รัปชัน” ดร.ต่อภัสสร์ กล่าว

ด้านนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมและอดีตเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ผู้มีบทบาทร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพ กล่าวถึงประเด็นการสร้างสุขภาพ สุขภาวะของสังคมไทยว่า ในวันนี้หลักประกันสุขภาพของคนไทยดีขึ้นมาก เพราะการขับเคลื่อนร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคมไม่ใช่ภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว

“เมื่อเราคิดว่าภาคชุมชน ภาคสังคม มีส่วนสำคัญเราก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างขยันขันแข็ง จะปล่อยให้ภาคใดภาคหนึ่งทำโดยลำพังไม่ได้” นายแพทย์อำพลกล่าว

 

img_5561

นายแพทย์อำพลเล่าว่า ย้อนไปเมื่อ 40 ปีก่อน การแก้ปัญหาความเจ็บป่วยในยุคนั้นเกิดจากวิสัยทัศน์ของคนในกระทรวงที่เกี่ยวข้องที่มองว่าการรักษาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยได้ แต่การขับเคลื่อนการทำงานสาธารณสุขมูลฐานไปสู่ชนบทและภูมิภาคและการให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญซึ่งมีการขับเคลื่อนกันอย่างจริงจัง

นายแพทย์อำพลยกตัวอย่างความร่วมมือของคนในสังคม เช่น การวิ่งรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่โดยมูลนิธิเพื่อการไม่สูบบุหรี่ จนทำให้เกิดพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ การขับเคลื่อนเรียกร้องเรื่องเอดส์จนเกิดเครือข่ายทั่วประเทศ

ดังนั้นภาพเรื่องการผลักดันประกันเรื่องสุขภาพจึงไม่ได้อยู่ที่พรรคการเมืองหรือภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่มีการขับเคลื่อนผลักดันเรื่องการสร้างคน สร้างความรู้ และมีการเคลื่อนไหวทางสังคมเกิดเครือข่ายจนเกิดนโยบายเกิดหลักประกันสุขภาพ

“วันนี้ประเทศไทยได้รับการยกย่องว่ามีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดีและราคาไม่แพง เราพบกว่าคนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังที่ไม่สามารถไปโรงพยาบาลฟอกเลือดได้เขาสามารถใช้น้ำเกลือล้างฟอกเลือดทางช่องท้องด้วยตัวเอง คนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลสามารถดูแลสุขภาพของตนเองเบื้องต้นได้” นายแพทย์อำพลกล่าว

ด้วยความมุ่งหวังที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในสังคมเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน หรือได้รับสวัสดิการที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ที่เพียงพอ เกิดความมั่นคงและยั่งยืน ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชนและประเทศ จึงเป็นที่มาของการจัด “กองทุนสวัสดิการชุมชน”

คุณชินวุฒิ อาศน์วิเชียร เลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่าเมื่อภาครัฐเข้ามาช่วยจัดสวัสดิการให้ชุมชนแต่กลับส่งผลเรื่องความเท่าเทียม จึงมีกลุ่มคนที่มีความคิดจะจัดสวัสดิการด้วยตัวเอง เรียกว่า “สวัสดิการแบบพึ่งตัวเอง” ทำให้ชุมชนมีโอกาสคิด วางแผน ร่วมมือร่วมใจ ลงทุน หรือที่เรียกว่า “กองบุญ” โดยมีกลไก 3 เรื่องหลัก คือ การออม การจัดสวัสดิการ การเกื้อกูลกัน ซึ่งต่างจากกลไกภาครัฐที่จัดสวัสดิการแบบสงเคราะห์  ทั้งหมดมาจากพลังของชุมชนที่ร่วมกันสร้างสังคมเเห่งความเกื้อกูลได้จริง  โดยการจัดตั้งกองทุนฯ ไม่ใช่เพื่อทดแทนสวัสดิการที่รัฐจัดให้ แต่เป็นเครื่องมือในการดูแลเชื่อมความสัมพันธ์แบบพี่น้อง ซึ่งใช้ทุนขยายฐานในชุมชน สร้างพื้นที่ต้นแบบ สร้างองค์ความรู้ การจัดการความรู้ ถ้าทุกตำบลมีกองทุนกลไกจะถูกตรวจสอบโดยอัตโนมัติ ตอบโจทย์หนี้สินของคนในชุมชน พัฒนาอาชีพ หรือเกิดธุรกิจเพื่อสังคม โดยในประเทศไทยมีเครือข่ายกว่า 6,000 กองทุน สามารถสร้างมูลค่าในเรื่องของพลังชุมชนได้เพราะมีสมาชิกกว่า 5,000,000 คน

img_5590

คุณชินวุฒิกล่าวต่อว่า วันนี้บางกองทุนอาจจะมีปัญหาในเรื่องของโครงสร้างหรือกระบวนการจัดการ แต่ก็มีกลไกหนุนเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ในกระบวนการต่างๆ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น

“ถ้าทุกชุมชนมีกองทุนที่เข้มแข็ง มีธรรมาภิบาล เชื่อว่ากลไกจะตอบโจทย์เรื่องของการต่อต้านคอร์รัปชัน เรื่องของการออม เวลาทุกข์ร้อนเอาเงินไปช่วยก็ตอบโจทย์เรื่องการเกื้อกูลกัน” คุณชินวุฒิกล่าว

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม เป็น 1 ใน 8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นที่ได้รับรางวัล “ด้านการพัฒนาการประกอบอาชีพ พัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนและการแก้ปัญหาหนี้สิน” ซึ่งมีการบริหารจัดการสวัสดิการชุมชนที่มากกว่าสวัสดิการพื้นฐาน เน้นการต่อยอดและลงทุนเพิ่มรายได้จนเกิดเป็นแนวคิดของการทำ “ธุรกิจเพื่อสังคม” ที่ไม่ได้มองแค่ผลกำไรเป็นตัวตั้งแต่มองผลประโยชน์ส่วนรวมของชุมชนเป็นสำคัญ

“ปัจจุบันกองทุนบ้านท่างามทำกองทุนธุรกิจน้ำดื่ม ธุรกิจร้านกาแฟ ธุรกิจกู้ยืมเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการทำการเกษตร ซึ่งมีการจัด CSR ต่างๆ เพื่อขยายวงกว้างด้วยเพราะสวัสดิการพื้นฐานเบื้องต้นสามารถขยับไปสู่เรื่องการช่วยเหลือดูแลกันมากขึ้น และที่สำคัญในส่วนของการดำเนินงานของกองทุน มันเปลี่ยนเรื่องฐานคิดของคนในชุมชนว่าไม่ใช่รอแต่ภาครัฐ หรือรัฐบาลที่จะหนุนเสริมในกระบวนคิด” คุณชินวุฒิกล่าว

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมปฏิรูปการศึกษาไทยมากี่ครั้ง ก็ยังไม่ไปไหนไกลสักที

คุณณิชา พิทยาพงศกร  นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสมาชิกภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership – TEP) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีกว่า  21 คน ซึ่งกระทบไปถึงนโยบายการศึกษาที่ต้องเปลี่ยนตามกันเป็นว่าเล่น ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการติดตามนโยบายต่างๆ และยากที่จะนำไปปฏิบัติให้เกิดรูปธรรม เพราะต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ตั้งแต่กระทรวง เขต โรงเรียน คุณครู กว่าจะมาถึงเด็ก ทำให้ระบบการศึกษาของไทยขาดเสถียรภาพ รวมถึงระบบการศึกษาไทยยังมีวิวัฒนาการไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

คุณณิชายังกล่าวต่อว่าที่ผ่านมาได้มีความพยายามของภาครัฐ ภาคประชาสังคม มูลนิธิ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและภาคเอกชนจำนวนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปหลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือภาคีเพื่อการศึกษาไทย หรือ Thailand Education Partnership (TEP) ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันขององค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและบุคคลที่มีความเชื่อเดียวกันว่าระบบการศึกษาที่ดีเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม เกิดเป็นการสร้างเครือข่ายและพื้นที่การทำงานร่วมกันด้วยการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางสังคมให้คนทั่วไปตระหนักรู้ถึงพลังและความสามารถในการร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษาจากจุดที่ตนอยู่  ท้ายที่สุดเชื่อว่าพลังนี้จะสามารถสร้างแรงกดดันจนระบบการศึกษาไทยเกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นระบบการศึกษาเพื่อตอบโจทย์คนไทยอย่างแท้จริง

ภาคีเพื่อการศึกษาไทยมองว่า สถานการณ์และระบบการศึกษาไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูประดับพื้นที่ เนื่องจากในพื้นที่ที่มีการขยายผลของการคิดค้นนวัตกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียน มีความต้องการปรับเปลี่ยนนโยบาย กฎระเบียบที่แตกต่างจากระบบการศึกษาเดิม พร้อมทั้งต้องการให้มีการประเมินผลกระทบเพื่อหานโยบายที่เหมาะสมสำหรับประเทศ จึงเกิดเป็นข้อเสนอให้มีการจัดตั้ง “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” หรือ “Education Reform Sandbox” ขึ้น  โดยในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาดังกล่าว โรงเรียนจะมีอิสระด้านการบริหารและได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้ ประยุกต์ใช้และต่อยอดนวัตกรรมการสอนต่างๆ ตามบริบทของตน และจะไม่มีภาระการดำเนินโครงการพัฒนาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขยายผลนวัตกรรม ซึ่งเริ่มนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ศรีสะเกษและสตูล โดยฝ่ายบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถปรับกฎระเบียบและนโยบายได้อย่างคล่องตัวและสอดคล้องกันทั้งในด้านหลักสูตร สื่อการสอน บุคลากร การเงิน การสอบ การประเมินผล และอื่นๆ ซึ่งความสอดคล้องนี้เป็นปัจจัยสำคัญในปรับเปลี่ยนสู่ระบบการศึกษาใหม่ ทั้งนี้มีความคาดหวังว่าบทเรียนจากการวิจัยและพัฒนาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะเป็นปัจจัยในการปฏิรูประบบการศึกษาระดับชาติได้สำเร็จ

 

img_5592“การเเก้ปัญหาการศึกษาควรคำนึงถึงการเตรียมพร้อมเด็กรุ่นใหม่เพื่อไปสู่การเปลี่ยนเเปลงที่เกิดขึ้น รวมทั้งสร้างพลังความร่วมมือของคนในสังคมในการเเก้ปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง” คุณณิชา กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในงานนี้อาจพิสูจน์ให้เห็นว่าพลังพลเมืองที่แท้จริงต้องเกิดจากพลังแห่งการร่วมมือและลงมือทำเพื่อเป้าหมายและผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าการเป็นหน้าที่ขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น

ถ้าคุณต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมในบทบาทต่างๆ สามารถทำได้ผ่าน “มูลนิธิหัวใจอาสา” ติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.vhf.or.th/  หรือเฟซบุ๊คhttps://www.facebook.com/pg/VolunteerHeart

และถ้าคุณสนใจข่าวสารเกี่ยวกับพลเมืองที่มีส่วนร่วมกับพละกำลังที่คนเหล่านี้ช่วยเหลือสังคมและมองหาโอกาสที่จะทำงานร่วมกับพวกเขาเหล่านี้ ติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.khonthaifoundation.org/th/landing  หรือเฟซบุ๊ค www.facebook.com/KhonThaiFoundation