เมื่อพูดถึง “การลงทุน” หลายคนคงนึกถึง “ผลตอบแทน”ที่มีกำไรสูง ๆ ที่เป็น ตัว “เงิน” (Financial return) ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผลตอบแทนที่คุ้มค่ายังมีรูปแบบอื่นอีกมากมาย

มีการลงทุนประเภทหนึ่งซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ของโลก เรากำลังพูดถึง “การลงทุนทางสังคม” หรือ “Social Investment” ที่หวังผลตอบแทนทางด้านสังคมและวัดผลได้จริง

เมื่อเร็วๆนี้ มีความเคลื่อนไหวที่ท้าทายต่อการพัฒนาด้านการลงทุนทางสังคมที่น่าสนใจ จากข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ทำการศึกษาและวิจัยรูปแบบของการสร้างความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์เพื่อสังคม (Social Impact Partnership – SIP Model) ได้ศึกษาปัญหา 4 ด้าน ที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจและสังคม   ประกอบด้วย การพัฒนาการศึกษา การให้บริการส่งเสริมสุขภาพหรือป้องกันโรค การเพิ่มผลิตภาพ SMEs  การฝึกอาชีพหรือส่งเสริมการจ้างงาน

ที่ผ่านมาการให้บริการทางสังคมในประเทศไทย ภาครัฐเป็นผู้มีมีบทบาทหลัก แต่ปัญหาใหญ่เกินไปและมีนโยบายแบบบนลงล่าง ในขณะที่ภาคเอกชนเน้นทำซีเอสอาร์ ด้านภาคสังคมทำงานใกล้ชิดกับปัญหาแต่ขาดทรัพยากร

“ทั้งหมดนี้ทำให้ขาดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ทั้งที่ถ้ารวมเงินที่ใช้แก้ปัญหาสังคมมีจำนวนมากแต่กระจัดกระจาย จึงยากที่จะวัดผลลัพธ์” ดร. บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าว

สอดคล้องกับผลการวิจัยของ ทีดีอาร์ไอ ก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่าประเทศไทยมีการบริจาคโดยเฉลี่ยปีละ 70,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากคนไทยใจบุญที่ถวายเงินให้วัดเพื่อสร้างกุศลแก่ตัวเองโดยไม่ได้คิดหรือหวังว่าเงินนั้นจะถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องคุ้มค่าและโปร่งใสหรือไม่

จากจุดนี้นำมาซึ่งความพยายามของหลายฝ่ายที่คิดถึงการสร้างระบบนิเวศ ในการลงทุนทางสังคมของประเทศไทย ผ่านเครื่องมือที่เน้นผลลัพธ์ทางสังคม และเป็นความร่วมมือของคนทุกฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคสังคมร่วมแก้ปัญหา

SIP Model คือ ต้นแบบความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการออกแบบ ดำเนินการ และให้ทุน สนับสนุนโครงการแก้ปัญหาสังคมที่เน้นเชิงป้องกัน (Preventive) และให้ความช่วยเหลือแต่แรกเริ่ม (Early intervention) เพื่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมทางบวกที่เป็นรูปธรรม และลดค่าใช้จ่ายงบประมาณรัฐในการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า หัวใจของการสร้างความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์เพื่อสังคม  มีแนวคิดหลัก 3 อย่าง คือ 1.เอกชนเป็นผู้กำหนดโจทย์และปฎิบัติเอง 2. เป็นการจ่ายผลตอบแทนที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด 3.สามารถติดตามวัดผลลัพธ์ได้

SIP Model มี 5 องค์ประกอบสำคัญ คือ นักลงทุน (Investor) องค์กรตัวกลาง (Intermediary) องค์กรผู้ให้บริการทางสังคม (Social Service Provider) ผู้ประเมินผล (Evaluator) เเละผู้จ่ายเงิน (Payors) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาครัฐ

5 องค์ประกอบนี้เมื่อผสานกันจะทำให้เกิดการลงทุนที่เน้นผลลัพธ์ทางสังคม โดยมีรูปแบบ คือ นักลงทุน ร่วมลงทุนระยะยาวในโครงการเพื่อสังคมที่มีเป้าหมายชัดเจน ผ่านองค์กรตัวกลาง ซึ่งจะนำเงินของผู้ลงทุน ซึ่งอาจจะเป็นภาคเอกชน หรือ อาจหมายถึงองค์กรหรือกลุ่มใดก็ได้ที่สนใจแก้ปัญหาดังกล่าวและพร้อมที่จะลงเงินไปให้องค์กรที่ให้บริการทางสังคม พร้อมกำกับติดตามโครงการ โดยระหว่างดำเนินโครงการจะมีผู้ประเมิน เข้ามาประเมินผลของโครงการ เมื่อโครงการสำเร็จตามเป้าหมาย ภาครัฐจะจ่ายเงินต้นและผลตอบแทนจากการลงทุนตามที่ตกลงไว้ให้กับนักลงทุน

สำหรับเครื่องมือแก้ปัญหาสังคมที่เป็นรูปธรรมตามแนวทางของ SIP Model มีตัวอย่าง 5 ประเภทได้แก่ 1.พันธบัตรเพื่อสังคม 2.กองทุนแก้ปัญหาสังคม 3.เงินซีเอสอาร์ของภาคเอกชน 4.งบประมาณที่รัฐจ่ายให้เอกชนในฐานะนักลงทุน 5.งบประมาณผูกพันข้ามปี

จากเครื่องมือทั้งหมดมีอุปสรรคที่ต้องฟันฝ่า เช่น การออกพันธบัตรยังไม่เกิดขึ้นจริงเพราะติดพระราชบัญญัติหนี้สาธารณะ ขณะที่งบประมาณที่รัฐจ่ายให้ภาคเอกชนในฐานะนักลงทุน ยังไม่มีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ ส่วนการใช้เงินซีเอสอาร์จะลดหย่อนภาษีได้ก็ต่อเมื่อเป็นเงินให้เปล่า แต่ถ้าให้ตาม SIP Model จะไม่ได้ลดหย่อนภาษีเพราะภาคเอกชนจะอยู่ในฐานะนักลงทุน ส่วนการจัดตั้งกองทุนแก้ปัญหาสังคม ต้องออกกฎหมายและมีการกำกับดูแล

ทั้งหมดนี้มีกฎหมายและระเบียบอีกมากที่ยังรอการแก้ไข

อย่างไรก็ตามในจำนวน 5 เครื่องมือ สังคมไทยเริ่มพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ กับ “พันธบัตรเพื่อสังคม”  หรือ “Social Impact Bond”

“พันธบัตรเพื่อสังคม” เป็นเหมือนสัญญาที่ภาครัฐ (ผู้ออกพันธบัตร) ระบุว่าจะจ่ายผลตอบแทนให้กับนักลงทุนเอกชน (ผู้ถือพันธบัตร) ซึ่งอาจหมายถึง นักลงทุน ผู้ประกอบการทั่วไป ผู้ประกอบการเพื่อสังคม องค์กรไม่แสวงหากำไร ที่สามารถสร้างผลลัพธ์เพื่อสังคมให้เป็นรูปธรรม

ผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับ คือ เงินลงทุนที่ใช้ในการดำเนินโครงการรวมกับผลตอบแทนจากการลงทุนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนต่องบประมาณภาครัฐที่ลดลงในโครงการนั้น

ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง หากนักลงทุนสามารถช่วยให้ภาครัฐลดงบประมาณในเรื่องนั้นลงได้มากเท่าไร จะยิ่งได้ผลตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น แต่หากโครงการไม่ประสบความสำเร็จนักลงทุนก็จะไม่ได้ผลตอบแทนใดๆ

“พันธบัตรเพื่อสังคม” เป็นนวัตกรรมทางการเงินที่กำลังได้รับความนิยมและทดลองใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ ตั้งแต่อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลียและประเทศอื่น 10 กว่าประเทศ

ในประเทศอังกฤษนำพันธบัตรเพื่อสังคมไปใช้กับโครงการป้องกันการกลับเข้าเรือนจำ Peterborough, UK (2010) พบว่าร้อยละ 60 ของผู้ต้องโทษจำคุกระยะสั้นจะกลับเข้าไปอีกครั้งภายใน 1 ปีด้วยคดีใหม่  การประเมินผลในปี 2559 เป้าหมาย ภายใน 1 ปี อัตราการกลับเข้าคุก ต้องลดลงไม่ต่ำกว่า ร้อยละ7.5 เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับบริการ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ อัตราการกลับเข้าคุก ลดลงร้อยละ 9

“ถ้าจะทำพันธบัตรเพื่อสังคมในตอนนี้อาจจะยาก แต่ก็มีความเป็นไปได้เพราะมีความพยายามของภาคเอกชนและภาคสังคมที่คิดค้นเครื่องมือการลงทุนทางสังคมใหม่ๆตลอดเวลา เช่น กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย กองทุนรวมคนไทยใจดี ดีกว่ารัฐให้เงินหน่วยงานไปทำโครงการที่ไม่มีผลลัพธ์ชัดเจน แต่ให้เอกชนมาลงทุนช่วยด้วยการให้ค่าตอบแทนซึ่งอาจไม่ได้เหมือนในตลาดหุ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเป็นการกุศล ที่สำคัญสามารถขยายผลโครงการต่างๆได้” ดร. เดือนเด่น กล่าว และว่า

SIP Model ในฐานะนวัตกรรมการลงทุนทางสังคมที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน และประชาสังคม เป็นผู้ปฎิบัติ จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐต้องประชาสัมพันธ์แนวคิด SIP Model ให้แพร่หลาย เพื่อมั่นใจได้ว่าคนในสังคมมีความเข้าใจเรื่องนี้ตรงกัน เพราะเป็นงานที่มุ่งเน้นความร่วมมือจากคนหลายกลุ่ม

SIP Model นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับประเทศไทยและเป็นจิ๊กซอว์ตัวใหม่ที่อาจมาเติมเต็มหนทางสู่การพัฒนาด้านความยั่งยืน

เพราะการลงทุนทางสังคม “ทุน” ไม่ใช่แค่เงิน แต่ยังหมายถึง “ทุนมนุษย์” “ทุนความรู้” ตลอดจน “ทุนทางสังคม” ที่รอการร้อยเรียงพลังเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยผู้คนในสังคม