“การที่บริษัทเอกชนไม่ได้ส่งเงินใหม่เข้าไปในกองทุนฯ แต่เปลี่ยนมาส่งเสริมอาชีพให้คนพิการโดยตรง จึงเป็นทางเลือกที่น่าจะเหมาะสมและดีกว่าเพราะจะช่วยให้คนพิการได้รับเงินโดยตรง”

คุณจินรัตน์ เทียมอริยะ ที่ปรึกษาโครงการ มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวและว่า ประเทศไทยมี “พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” ระบุให้นายจ้างที่มีลูกจ้างมากกว่า 100 คน ต้องจ้างคนพิการในอัตราส่วน 100:1 ตามมาตรา 33 หรือใช้มาตรา 34 จ่ายเงินเข้า “กองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” จำนวน 109,500 บาทต่อคน หรือใช้มาตรา 35  โดยให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้า จ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน ช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการแต่การจ้างงานคนพิการกลับไม่ได้แพร่หลายตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อาจเพราะมีข้อจำกัดทำให้สถานประกอบการเลือกที่จะไม่จ้างงานคนพิการ แต่จ่ายเงินเข้ากองทุนฯแทน

แต่ละปีบริษัทเอกชนจะส่งเงินเข้ากองทุนฯ ซึ่งบริหารจัดการโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กว่า 2,000 ล้านบาท จนมีเงินสะสมในกองทุนฯ กว่า 10,000 ล้านบาท !  และทั้งๆ ที่วัตถุประสงค์ของกองทุนฯนี้เพื่อเป็นทุน สําหรับการใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองและพัฒนาสมรรถภาพคนพิการ การศึกษาและการ ประกอบอาชีพของคนพิการ รวมทั้งการส่งเสริมและการสนับสนุนการดําเนินงานของ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ โดยจัดสรรให้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึงก็จริง แต่ในทางปฏิบัติ ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ด้วยหลายๆเหตุผล

และหากนำเงินก้อนนี้ไปใช้ตามมาตรา 33 หรือ 35 จะถึงมือคนพิการโดยตรงปีละกว่า 20,000 คน !

กว่า 3 ปี ที่มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมเเละภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันพัฒนาการจ้างงานสร้างอาชีพมิติใหม่ขึ้น ก็คือการจ้างงานคนพิการด้วยมาตรา 33 หรือ 35   ให้พวกเขาได้ทำงานในชุมชน ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นซึ่งได้รับค่าจ้างจากเอกชน

เมื่อเร็วๆ นี้  มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมและภาคีเครือข่ายได้ร่วมกับ โครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ และกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ จัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนการจ่ายสู่การจ้าง ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ” โดยเชิญองค์กรธุรกิจชั้นนำของเมืองไทยที่ได้เข้าร่วมโครงการแล้ว มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจ้างงาน สร้างอาชีพคนพิการรูปแบบใหม่ให้แก่องค์กรธุรกิจที่เข้าร่วมงานกว่า  40  แห่ง เพื่อร่วมกันขยายโอกาสให้คนพิการมีงานทำจำนวน 10,000 อัตรา ในปี 2560

 

คุณจินรัตน์ เทียมอริยะ ที่ปรึกษาโครงการ มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่าสถานการณ์การจ้างงานคนพิการแนวใหม่ทำงานเพื่อสังคมใกล้บ้านแทนการส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในปี 2560 มีบริษัทเอกชนสนใจและเข้าร่วมโครงการกว่า 400 บริษัท พลิกชีวิตคนพิการให้มีอาชีพและทำงานเพื่อสังคมใกล้บ้าน แทนการส่งเงินเข้ากองทุนฯ กว่า 7,000 คน รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประกาศเป็นนโยบายเพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายคนพิการมีงานทำ คาดว่าในปีหน้าจำนวนคนพิการที่มีงานทำจะเพิ่มขึ้น 10,000 อัตรา

“เรามาชวนบริษัทเอกชนเปลี่ยนเงินก้อนเดิมที่เคยส่งเข้ากองทุนฯฯ ตามมาตรา 34 ไปสร้างโอกาสให้คนพิการมีงานทำ มีรายได้ ขณะนี้ยังเหลือคนพิการที่จะส่งเข้าทำงานตามมาตรา 35 อีกหนึ่งหมื่นห้าพันอัตรา หากบริษัทไหนที่ยังไม่ได้เข้าร่วมและสนใจสามารถติดต่อมายังมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมหรือภาคีเครือข่ายได้” คุณจินรัตน์ กล่าว

“แทนที่จะจ้างคนร่างกายปกติให้มาเล่นดนตรีบำบัด แต่เอามาจ้างคนพิการแทน นอกจากทำให้พวกเขามีรายได้ พึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืนแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลรู้สึกผ่อนคลาย ตอบโจทย์การมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งถือว่าเป็นการจ่ายเงินที่คุ้มค่า นอกจากนั้นยังเป็นการขยายผลไปยังองค์กรอื่นๆที่ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลที่เริ่มเห็นความสำคัญและหันไปจ้างคนพิการทำงานมากขึ้น”

คุณปัจมา  จัดเจน  ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร โรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวและว่า “โรงพยาบาลสมิติเวช” เป็นหนึ่งองค์กรที่ร่วมนำร่องโครงการจ้างงานผู้พิการ ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2557  จนปัจจุบันสามารถเพิ่มโอกาสให้คนพิการมีงานทำแล้ว 65 คน  ภายใต้การปฎิบัติตามมาตรา 35 แห่ง พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยแบ่งกลุ่มงานเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผู้ปกครองเด็กออทิสติก กลุ่มนวดจากคนพิการทางสายตาและกลุ่มดนตรีบำบัดจากคนพิการ ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดนโยบายซีเอสอาร์ของโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี

ภายในงานนอกจากภาคธุรกิจที่ร่วมขึ้นเวทีในฐานะผู้จ้างหรือผู้สนับสนุนการประกอบอาชีพแล้ว ยังมีคนพิการและตัวแทนจากองค์กรสาธารณประโยชน์หลายคนที่มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม อย่างเช่น

คุณธีรยุทธ สุคนธวิท ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงชีวิตอิสระคนพิการจังหวัดนนทบุรี  ผู้นำคนพิการที่เป็นต้นแบบการช่วยเหลือแบบ”เพื่อนช่วยเพื่อน” กล่าวว่า  ที่ผ่านมามีความพยายามในการผลักดันการจ้างงานคนพิการในชุมชนมาโดยตลอด กระทั่งมีโอกาสเข้าร่วมงานกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมและภาคีเครือข่ายช่วยกันขับเคลื่อนโครงการจนสามารถพิสูจน์ว่าคนพิการสามารถทำงานได้จริง

เช่นเดียวกับศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการจังหวัดนนทบุรี  ที่เน้นให้การช่วยเหลือเพื่อนคนพิการเหมือนกัน ให้มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีทักษะในการใช้ชีวิต เข้าใจสภาพความพิการของตนเอง และเรียนรู้วิธีการดำรงชีวิตอิสระด้วยตนเองในสังคม รวมไปถึงชุมชนรอบข้าง  ซึ่งส่วนใหญ่ได้ก้าวผ่านการฟื้นฟูและสามารถที่ทำงานช่วยเหลือตนเองและครอบครัวได้

“ถ้าบริษัทเอกชนมีข้อจำกัดในการจ้างงานคนพิการหรือคนพิการทำงานไม่ได้ ก็ไม่ต้องจ้างเข้าไปทำงานในสถานประกอบการ แต่เปลี่ยนเป็นจ้างทำงานใกล้บ้าน ในชุมชน หรือ องกรค์สาธารณะประโยชน์แล้วบริษัทเอกชนก็เป็นผู้จ่ายเงิน เป็นการสร้างโอกาสให้คนพิการหนึ่งคน แต่สร้างประโยชน์ให้คนพิการในชุมชนได้อีกเยอะ” คุณธีรยุทธ กล่าว

ไม่ต่างจาก คุณกรรณิการ์ สรวยสุวรรณ์  ผู้อำนวยการ มูลนิธิพิทักษ์ดวงตา จ.ลำปาง ผู้หญิงที่ทำงานเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการมาตลอดชีวิตจนผลักดันให้เกิดการคิดต่อยอดโครงการใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมให้คนพิการดูแลตัวเองได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงการมีอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของตนเองและชุมชน  เน้นย้ำว่า การจ้างงานคนพิการเชิงสังคมถือเป็นการหยิบยื่นโอกาสให้คนพิการมีอาชีพ เพราะคนพิการทุกคนสามารถทำงานในบริษัทได้แต่ขาดโอกาสเพราะมีอุปสรรคหลายอย่าง

“การที่เรายื่นโอกาสให้คนพิการถือเป็นความสุขทางใจ เป็นการให้เพียงหนึ่งคนแต่ต่อยอดไปถึงครอบครัว ชุมชนของเขาได้ ยืนยันว่าจะเดินหน้าเป็นกระบอกเสียงทำให้เกิดการจ้างงานคนพิการมากขึ้นเรื่อยๆ” คุณกรรณิการ์ กล่าว

คนพิการทางด้านสายตาเป็นประเภทความพิการที่ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนแล้วราว 2 แสนคน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ยังมีศักยภาพในการทำงานได้ปกติ

เช่นเดียวกับคุณเสาวลักษณ์ ส่งเจริญ อายุ 41 ปี ผู้พิการทางด้านสายตา ปัจจุบันได้รับการจ้างงานจาก บริษัท ดีเคเอสเอช ประเทศไทย ภายใต้การปฎิบัติตามมาตรา 35 แห่ง พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทำหน้าที่นวดแผนโบราณ เป็นเวลากว่า 2 ปี

คุณเสาวลักษณ์  เล่าให้ฟังว่า เธอพิการทางสายตาตั้งแต่อายุ 12 ปี และได้เข้าเรียนในศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีความรู้ด้านการนวดแผนโบราณจนสามารถเปิดร้านเป็นของตัวเอง แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจทำให้ต้องเลิกกิจการไป กระทั่งได้รับโอกาสจากมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมสนับสนุนให้มีงานทำในบริษัทเอกชน มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวเดือนละ 9,125 บาท

“รู้สึกดีใจที่ได้รับโอกาสให้มีงานทำ มีเงินเดือนใช้จ่ายของตัวเองและครอบครัว ไม่เป็นภาระใคร ที่ผ่านมาสังคมเริ่มเข้าใจคนพิการทางสายตาที่ให้บริการนวดแผนโบราณมากขึ้น ทำให้ยืนหยัดในสังคมได้ดี คนที่มานวดก็ชอบ เพราะทำให้เขาหายปวดเมื่อย” คุณเสาวลักษณ์ กล่าว

จากตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนว่าการจ้างงานหรือสร้างอาชีพให้คนพิการมีงานทำนั้น เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการจ้างงานผู้พิการสำหรับองค์กรต่างๆ ที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมช่วยลดความเหลื่อมล้ำผู้พิการและเป็นผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งไม่ได้เป็นแค่การจ่ายเงินช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ยังเป็นการคืนสถานภาพทางสังคมทำให้พวกเขากลับมามีตัวตนทั้งในครอบครัวและสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งประเทศไทยยังมีคนพิการที่ไม่มีงานทำและรอโอกาสเช่นนี้อีกกว่า 5 แสนคน

คุณสามารถร่วมเปิดประตูแห่งโอกาสสำหรับผู้พิการได้ ติดตามข้อมูลได้จากมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมwww.sif.or.th/  และ www.facebook.com/socialinnovationfoundation/ หรือเฟซบุ๊ค คนพิการต้องมีงานทำ www.facebook.com/konpikanthai/