บางทีเราอาจไม่ต้องนั่งรอความหวังจากหน่วยงานภาครัฐให้เข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีขึ้น ในเมื่อพวกเราทุกคนก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยกันแก้ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นได้ จึงนำมาสู่งาน 16th IAVE Asia Pacific Regional Volunteer Conference UNLOCKING THE POWER OF VOLUNTEERING (งานประชุมสมาคมอาสาสมัครระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 16) เมื่อเร็วๆ นี้

ดังที่ทราบว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development goals) เป็นหมุดหมายสำคัญของโลกในปัจจุบันซึ่งงานอาสาสมัครจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

1งานนี้เป็นเวทีที่รวบรวมองค์กรภาคสังคม ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษาจาก 29 ประเทศทั่วทวีปเอเชียแปซิฟิก มาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการอาสาสมัคร โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญกว่า 100 คนร่วมเผยแพร่ความรู้ วิเคราะห์ทิศทางของงานอาสาสมัครในอนาคต โดยงานประชุมดังกล่าวเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงอาสาสมัครที่จะมาร่วมกันพูดคุย แบ่งปัน เรียนรู้ทั้งในประเด็นระดับภาคพื้นทวีปและระดับโลกด้วยการนำเสนอด้วยแนวคิด   “ปลดล็อคพลังอาสาสมัคร”

2

ตลอด 4 วันงานมีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 400 คน และมีบุคคลสำคัญจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สะท้อนให้เห็นการตระหนักถึงความสำคัญในคุณค่าของงานอาสาสมัครอย่างแท้จริง อาทิ คุณไคลี เบทส์ ประธานสมาคมอาสาสมัครระหว่างประเทศ (IAVE) คุณจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คุณนันทินี มาลานนท์ ผู้จัดการเครือข่ายจิตอาสา คุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทพรีเมียร์และประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย

3“อาสาสมัครเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันงานอาสาสมัครยังครอบคลุมก้าวไกลไป เช่น งานอาสาสมัครในท้องถิ่นซึ่งเป็นวิธีในการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง” คุณจุติ  ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวเปิดงานโดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของงานอาสาสมัคร

4สำหรับสถานการณ์งานอาสาสมัครที่เกิดขึ้นและมีอยู่ในสังคมไทยมีแบบทางการและไม่ทางการได้เกิดขึ้นมานานและได้รับการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากหลังเหตุการณ์สึนามิในปี พ.ศ.2547 โดยหลังจากเหตุการณ์นี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ความเคลื่อนไหวด้านงานอาสาสมัครมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ต่างจากเดิม

5“หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิเราพบว่ามีจำนวนองค์กรมากมายที่ตระหนักถึงความสำคัญของงานอาสาสมัครและพยายามที่จะปฏิบัติงานอาสาสมัครในรูปแบบที่ชัดเจนและเป็นระบบระเบียบมากขึ้น” คุณนันทินี มาลานนท์ ผู้จัดการเครือข่ายจิตอาสากล่าวและว่าด้วยอนาคตทิศทางสถานการณ์งานอาสาสมัครที่มีการบริหารจัดการขั้นพื้นฐานมากขึ้น และเริ่มมีการนำระบบการบริหารจัดการเข้าไปวางในองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชนมากขึ้น แต่ในระยะยาวประเด็นสำคัญยิ่งยวดคือการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการทำงานอาสาสมัครจากที่เป็นการใช้เวลาว่างในงานช่วยเหลือเฉพาะกิจ ให้เปลี่ยนไปสู่การเน้นงานอาสาสมัครที่สร้างผลกระทบ (impact focused) มากขึ้นโดยให้ความสำคัญแก่บทบาทของอาสาสมัครกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) สร้างเครื่องมือการประเมินผลกระทบอาสาสมัครอย่างเป็นระบบ และสร้างเครือข่ายการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน

คุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทพรีเมียร์และประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย ได้สะท้อนกับที่ประชุมในหัวข้อ “Stronger together” ว่า ประเทศไทยมีความท้าทายเกี่ยวกับปัญหาสังคมที่มีขนาดใหญ่ เช่น ภัยพิบัติ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การทุจริตคอร์รัปชัน จึงจำเป็นต้องอาศัยอาสาสมัคร (Active Cititzen) เข้ามาทำงานแบบมีส่วนร่วม ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้จะต้องอาศัยเครื่องมือที่คนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมได้และมีความหลากหลาย เพื่อจะสามารถขยายผลการขับเคลื่อนงานได้

6“หัวใจสำคัญของงานอาสาสมัครคือการมีส่วนร่วมและการมีกลไกความร่วมมือให้คนที่มีความตั้งใจได้ลงมือทำ” คุณวิเชียรกล่าว พร้อมยกตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากอาสาสมัครที่เข้ามาทำงานแบบมีส่วนร่วมผ่านเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพหลากหลายในประเด็นปัญหาสังคมด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาผู้สูงวัยที่เป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ปัญหาเด็กขาดโอกาสทางการศึกษา โดยมีกรณีศึกษา ได้แก่

7โครงการข้อตกลงคุณธรรม (IP-Integrity Pact) การมีส่วนร่วมจากอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ  หรือที่เรียกว่า “ผู้สังเกตการณ์อิสระ” ร่วมทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ-เอกชน ที่มีมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมามีกว่า 104 โครงการ สามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดิน 74,893 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นของมูลค่าโครงการ มีผู้สังเกตการณ์อิสระ 244 คน จากหลากหลายความเชี่ยวชาญ เช่น การก่อสร้าง กฎหมาย บัญชี ธุรกิจ ขนส่ง บริการสาธารณะ ฯลฯ

8ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน โครงการอาสาสมัครที่ไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชัน กลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้จะได้รับการฝึกอบรมเพื่อแสวงหาเบาะแส สืบสวนเชิงลึก และนำข้อมูลที่ได้พร้อมหลักฐานมาเปิดโปงต่อสาธารณะ ปัจจุบันกลุ่มหมาเฝ้าบ้านได้เติบโตขยายกระจายออกไปทั่วประเทศ ผลการปฏิบัติงานทำให้การทุจริตคอร์รัปชันถูกเปิดโปงไปแล้วนับพันราย เรื่องที่ถูกเปิดโปงส่วนใหญ่ได้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบภาครัฐ มีอาสาสมัครเข้ามามีส่วนร่วม 161 คน และเปิดเผยปัญหาการทุจริตกว่า 178 ประเด็น ประมาณ 25% ของปัญหาที่เปิดเผยได้รับการติดตามตรวจสอบ

9โครงการ “คนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน” เกิดจากการสร้างการมีส่วนร่วมโดยข้าราชการในพื้นที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ น.พ.สันติ ลาภเบญจกุล อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ อ.ลำสนธิ         จ.ลพบุรี กับทุกภาคส่วนในพื้นที่ในการริเริ่มให้มีอาสาสมัครนักบริบาลชุมชนช่วยกันดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยติดบ้านติดเตียงและมีฐานะยากจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยดูแลผู้สูงอายุได้ครอบคลุมทั่วทั้งอำเภอ 3,000 คน และดูแลผู้ป่วยแบบใกล้ชิดอีก 200 คน ทั้งที่เป็นพื้นที่ในชนบทห่างไกล

จากปัญหาดังกล่าวทาง น.พ.สันติได้มุ่งมั่นแก้ปัญหาด้วยการระดมการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง ในช่วงแรกของโครงการมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาสา 35 คน ดูแลผู้ป่วย 200 คนในชุมชน ปัจจุบันที่นี่กลายเป็นต้นแบบการพัฒนาอาสาสมัครนักบริบาลชุมชน มีการสร้างทีมงานเข้าไปดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่ป่วยติดบ้านติดเตียงถึงบ้าน ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา เภสัชกร อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และมีการขยายผลไปยังตำบลอื่นๆ รวม 6 ตำบล โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการผลิตนักบริบาลชุมชนจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผ่านกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่น เพื่อให้นักบริบาลชุมชนผลัดเปลี่ยนเข้าดูแลผู้ป่วย ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องสุขภาพ อาหาร ตลอดจนการดำรงชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงสภาพบ้านเรือน อำนวยความสะดวกผู้ป่วยให้อยู่ที่บ้านได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม

ปี 2562 กระทรวงมหาดไทยเปิดใช้กฎระเบียบใหม่เพื่อสนับสนุนโครงการนี้และขยายไปสู่ระดับประเทศด้วยการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ 9,000 บาทต่อเดือนสำหรับผู้ดูแลที่เป็นอาสาสมัครและฝึกอบรมผู้ให้บริการในบ้านกว่า 20,000 คน ดูแลผู้ป่วยกว่า 200,000 รายทั่วประเทศ ในอนาคตคาดว่าต้นแบบของที่นี่จะนำไปสู่การขยายผลโดยมีโรงพยาบาลชุมชนเป็นศูนย์กลาง
10โครงการโรงเรียนคุณธรรม
มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการสร้างคุณงามความดีให้เกิดขึ้นในโรงเรียน และขยายผลให้เกิดโรงเรียนคุณธรรมเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีโรงเรียนในเครือข่ายจำนวน 500 โรงเรียน ใน 76 จังหวัด มีอาสาสมัครที่มาจากครูเกษียณอายุราชการจำนวนกว่า 50 คน เพื่อฝึกอบรมให้ครูแกนนำและนักเรียนแกนนำในโรงเรียนที่เป็นเครือข่ายเข้าใจกระบวนการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม พร้อมทั้งติดตาม ให้คำแนะนำ คำปรึกษาแก่โรงเรียนภาคการศึกษาละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยให้โรงเรียนสามารถปฏิบัติตามกระบวนการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมได้จนประสบความสำเร็จ สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียนไปในทิศทางที่ดีตามความต้องการของโรงเรียน และลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้

11ร้านปันกัน โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ กิจการเพื่อสังคมที่นำรายได้จากการจำหน่ายสิ่งของที่ได้รับจากการแบ่งปันมาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแก่สังคมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษา สนับสนุนให้ “ทุนยุวพัฒน์” และเป็นกลไกขยายการมีส่วนร่วมของคนในสังคมเพื่อสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันอย่างแท้จริง

ปัจจุบันร้านปันกัน มีจำนวน 14 แห่งและร้านค้าป็อปอัพสโตร์ 3 แห่ง สามารถระดมทุนได้ 47.7 ล้านบาท สามารถเปลี่ยนเป็นทุนการศึกษา 6,814 ทุนสำหรับนักเรียน 1,135 คน มีผู้สนับสนุนเงิน 29,784 คน ผู้ซื้อสินค้า 278,600 คน องค์กรที่สนับสนุน 153 องค์กร ที่สำคัญคือเกิดการมีส่วนร่วมของคนในสังคมในรูปแบบของ “อาสาสมัคร” ร่วมกิจกรรมปันกัน 882 คน  ส่วนผู้บริจาคทั้งที่เป็นเงินและไม่ใช่เงิน เช่น สิ่งของ เครื่องใช้ พื้นที่ขยายร้าน ฯลฯ ล้วนถือว่าเป็นผู้ที่มีจิตสาธารณะด้วยกันทั้งสิ้น

คุณวิเชียรย้ำว่า ความสำเร็จของความร่วมมือมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การทำงานแบบข้ามภาคส่วนที่ต้อง อาศัยการติดตามผลอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ รวมทั้งการพบปะพูดคุย แบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ที่สำคัญคือการ “เปิดประตู” ที่จะเรียนรู้ที่จะทำงานด้วยกัน

นี่คือตัวอย่างหนึ่งของความจริงที่ว่างานอาสาสมัครมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ ในอนาคตเราอาจได้เห็นภาพความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการพัฒนางานอาสาสมัครให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น  ก้าวข้ามอุปสรรคทั้งมวล ดังแก่นคิดของงานที่นำเสนอว่าปลุกไฟจิตอาสามาร่วมกันไขพลังใน   5 ประเด็นหลักที่สำคัญ และเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของการพัฒนากระบวนการจัดการอาสาสมัครจากเวทีนี้ ได้แก่

(1) Make the invisible visible การทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยที่ทำงานอาสาสมัครเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงได้รับการสนับสนุนให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น (2) Simple but not simpler งานอาสาสมัครควรทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายแต่ต้องอยู่บนความรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน (3) Stronger together กระบวนการงานอาสาสมัครควรเกิดขึ้นบนความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ รวมถึงจากกลุ่มคนที่หลากหลาย อาทิ หลากหลายช่วงวัย หลากหลายทางเศรษฐกิจ หลากหลายทางความคิดหลากหลายทางเพศ เป็นต้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและครอบคลุมคนส่วนใหญ่ในสังคมให้มากที่สุด (4) Flipping SDGs งานอาสาสมัครนำสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development goals) (5) Unlocking the Lock อุปสรรคหรือเงื่อนไขต่อการพัฒนางานอาสาสมัคร รับมือได้ด้วยองค์ความรู้ เครื่องมือ นโยบาย หรือกลไกทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

“สิ่งสำคัญที่ยึดเหนี่ยวให้ภาคีเครือข่ายเป็นหนึ่งเดียวกัน คือความเชื่อในความสำคัญของงานอาสาสมัครและประสิทธิภาพของงานอาสาสมัครซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานได้” คุณไคลี เบทส์ ประธานสมาคมอาสาสมัครระหว่างประเทศ (IAVE) กล่าว

งานนี้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือในการจัดงานที่ต้องการสนับสนุนให้คนเข้ามาร่วมงานอาสามากขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือต้องการให้ทุกคนเข้าใจ รู้ถึงความสำคัญในคุณค่าของงานอาสาและสามารถส่งต่อความรู้สึกนี้ถึงผู้อื่นได้ด้วย

13ถึงตาคุณแล้ว..หากอ่านถึงบรรทัดนี้แล้วไฟอาสาในใจของคุณลุกโชน  ลองเข้าไปศึกษาข้อมูลและมองหาโอกาสลงมือทำที่กลไกงานเพื่อสังคมต่างๆ ในประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนดังระบุไว้ในช่วงต้น หรือลองติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook/ เครือข่ายจิตอาสา หรือ www.volunteerspirit.org