ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ คึกคักไปด้วยผู้คนมากมายตั้งแต่สิบโมงเช้าของทุกวัน หลายคนมาเพื่อ   ช้อปปิ้ง รับประทานอาหารจากร้านดังภายในห้าง แต่ในวันที่ 10 – 13 ตุลาคม 2562 พิเศษกว่าเดิมเมื่อเหล่าองค์กรภาคสังคมรวมตัวกันจัดงาน “Good Society Expo 2019” หรือ “GSE” เพื่อเชิญชวนคนไทยมาร่วมกันเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ และลงมือแก้ปัญหาสังคมให้เกิดผลในแบบของตัวเองกับช่องทางแก้ปัญหาสังคมหลากหลายร่วมกัน

Good Society Expo 2019 คือ พื้นที่การสร้างพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม ร่วมกันขยายผลความสำเร็จการแก้ปัญหาสังคม ผ่านกลไกความร่วมมือประเภทต่างๆ โดยมีองค์กรตัวกลาง รวมทั้งคนทำงานเพื่อสังคมจากภาคส่วนต่างๆ ที่มีผลสำเร็จ กว่า 130 องค์กร มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นโอกาสว่าทุกคนเป็น “พลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม” (Active Citizen) ด้วยการช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆ ตามความถนัดและความสนใจ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดีขึ้นได้ พร้อมกับให้ช่องทางการลงมือแก้ปัญหาสังคมแก่ประชาชน และการยกระดับขีดความสามารถขององค์กรเพื่อตอกย้ำว่าการรวมพลังของทุกคนสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดีขึ้นได้จริง

ในทางกายภาพ งานประกอบด้วยพื้นที่กิจกรรมนำเสนองานพัฒนาสังคมใน  5 ประเด็นหลัก ได้แก่  “เด็กและเยาวชน คนพิการ คุณภาพชีวิตระยะท้าย ต้านทุจริต สิ่งแวดล้อม ”  พร้อมช่องทางการให้ ทั้ง “เทใจ ปันกัน  ฟู้ดฟอร์กู๊ด โซเชียลกิฟเวอร์ เครือข่ายจิตอาสา อโชก้า SE Thailand สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)” ทุกคนสามารถเลือกเรียนรู้ในประเด็นปัญหาสังคมที่สนใจซึ่งมีให้เลือกในงานนี้ไม่น้อยกว่า 10 พาวิลเลียน

คุณมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและประธานโรงเรียนมีชัยพัฒนา ในฐานะนักพัฒนาสังคมมานานกว่า 50ปี สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมาย กล่าวว่า งาน Good Society Expo 2019 เป็นงานสำคัญระดับประเทศ งานนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกคนในสังคม และรู้สึกชื่นชมผู้ร่วมก่อตั้งและขอเป็นส่วนหนึ่งในงานนี้

72386669_2903010139726935_1560608647975796736_oจากการจัดกิจกรรมทั้ง 4 วัน ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย ได้เห็นพลังการมีส่วนร่วมนำมาสู่การลงมือทำช่วยเหลือสังคมด้วยการแบ่งปันในทุกๆ ด้าน จากผู้เข้าร่วมงานที่ลงทะเบียนผ่าน Line@ 1,521 คน ที่มาจากความร่วมมือขององค์กรภาคีร่วมจัด 130 องค์กร อาสาสมัครช่วยงาน  110 คน การมีส่วนร่วมในระดับองค์กร แบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ศึกษาดูงาน 22 บริษัท 58 คน กลุ่มเยาวชน 9 หน่วยงาน 127 คน สื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวสาร 40 ช่องทาง และเครือข่ายสื่อร่วมพัฒนาความยั่งยืนอีก 14 องค์กร

คุณพัดชา มหาทุมะรัตน์ รองผู้อำนวยการโครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ ในฐานะตัวแทนภาคีผู้ร่วมจัดงาน กล่าวว่า ภาพรวมของงานปีนี้มีความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ มากขึ้นทั้งในเชิงคุณภาพคือเนื้อหากิจกรรมมีวิธีการสื่อสารที่สามารถดึงการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เดินในงานได้มากขึ้น หลายกิจกรรมเริ่มเกิดความต่อเนื่องหลังจบงาน เช่น ร้านปันกัน ยังมีการระดมทุนเพื่อร่วมกันสร้างร้านปันกันเพิ่ม พาวิลเลียนต่อต้านคอร์รัปชันยังเชิญชวนคนในสังคมให้มาเป็น Active citizen โดยการเปลี่ยนข้อมูลทรัพย์สินนักการเมืองให้สามารถอ่านโดยดิจิทัลได้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต รวมทั้งมีองค์กรภาคสังคมเข้ามามีส่วนร่วมนำเสนอปัญหาสังคมมากขึ้น ฯลฯ

72230482_2903011586393457_8496268304531324928_o“ผลลัพธ์สำคัญของงานที่เกิดขึ้นคือการที่ประชาชนได้มีส่วนในประเด็นทางสังคมที่หลากหลายมากแล้วเกิดแรงบันดาลใจลงมือทำต่อและมองเห็นโอกาสที่จะมาทำร่วมกับภาคีผู้แก้ปัญหาสังคมตัวจริง” คุณพัดชากล่าว

แน่นอนว่าถ้าอยากรู้เรื่องปัญหาสังคม วิธีการแก้ปัญหามากมายมีอยู่ในศูนย์การค้าแห่งนี้ ยิ่งเดินยิ่งได้รู้เรื่องเพิ่มขึ้นอีก ได้รู้บางเรื่องที่ไม่เคยรู้ ได้รู้วิธีการแก้ปัญหาอย่างไม่คาดคิด แล้วอาจจะได้แรงกระตุ้นให้ลงมือทำความดีแบบง่ายๆ เช่นเดียวกันกับ น้องมังกร-วายุ เอี่ยมรัมย์ นักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ที่ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรม

72762937_2437102276564363_4556989468178907136_n“งาน GSE เป็นงานที่ดีมาก ทำให้ผมมองเห็นช่องทางในการแก้ปัญหาสังคม จากที่เมื่อก่อนผมไม่รู้จักองค์กรภาคสังคมว่าทำงานอย่างไร ไม่รู้วิธีที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วและคิดว่าเป็นประโยชน์กับคนอื่นเหมือนกัน” น้องมังกรกล่าว

ด้านสื่อมวลชนมีบทบาทตรวจสอบรักษาผลประโยชน์สาธารณะ ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนอข่าวดี มีประโยชน์ เพื่อนำพาขับเคลื่อนสังคมไปสู่จุดที่ดี

คุณก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า บทบาทของสื่อมวลชนคือทำให้สังคมดีขึ้น เนื้อหาต้องเกิดจากการร่วมมือกันทุกภาคส่วน ที่สำคัญต้องมีพื้นที่ให้นำเสนอเรื่องดีๆ

73086110_2903011683060114_68855343731441664_o“บทบาทของคนทำสื่อต้องทำให้สังคมดีขึ้น เนื้อหาต้องเกิดจากการร่วมกันทำ สื่อต้องนำภาพ เนื้อหาขององค์กรหรือบุคคลที่ทำความดีออกมาสู่สาธารณะให้มากขึ้น” คุณก่อเขตกล่าว

ดร.พรรณี อมรวิพุธพนิช ที่ปรึกษาชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย (TDJ – Thailand Data Journalism Network) กล่าวว่า การเชื่อมโยงข้อมูลของภาคส่วนต่างๆ มีความสำคัญ โดยเฉพาะการรวมตัวขององค์กรผู้ร่วมจัดงาน Good Society Expo ทำให้เห็นปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้

72887766_2903011723060110_6107143311057747968_o“การรวมตัวขององค์กรเพื่อสังคมในงาน GSE เป็นเรื่องที่ดีเพราะทำให้เกิดการรวบรวมข้อมูลร่วมกันเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง” ดร.พรรณีกล่าว

คุณสุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทลสกอร์ จำกัด กล่าวว่า ทุกคนในสังคมสามารถเป็นกระบอกเสียงหรืออินฟลูเอ็นเซอร์นำเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้น ส่งต่อไปยังช่องทางโซเชียลมีเดียของตนเองเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมแก้ปัญหา

72391117_2903011726393443_2625627505066770432_o“โซเชียลมีเดียไม่ได้ต้องการแค่กดไลค์ กดแชร์ แต่ต้องทำให้เกิดการลงมือทำซึ่งทุกคนในสังคมสามารถเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ที่เชิญชวนคนมาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงได้” คุณสุวิตากล่าว
72277841_140970220605468_8998827135120441344_oหลายครั้งที่เรื่องราวต่างๆได้พิสูจน์ให้เห็นถึงพลังที่ปลุกเร้าความทุ่มเทของคนในสังคมให้ลุกขึ้นมาร่วมกันแก้ปัญหา นี่อาจเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ แต่จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีหุ้นส่วนแห่งความร่วมมือที่มองเห็นว่า “คน” เป็นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาสังคม

แม้งาน Good Society Expo 2019 จะจบลง แต่การทำดีไม่มีวันจบ เพราะการดีทำได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา และทุกคน

ติดตามรายละเอียดที่ www.khonthaifoundation.org  หรือ Facebook/good society Thailand / Line@ : goodsociety.th