องค์การสหประชาชาติ (World Population Prospects) ระบุว่า ปัจจุบันประชากรกลุ่ม Gen Z หรือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงหลังปี 2543 จะมีจำนวน 2,464 ล้านคน คิดเป็น 32% ของประชากรโลกทั้งหมด 7,700 ล้านคน

ในประเทศไทย “คนรุ่นใหม่” วัยนี้ ราวๆ 13 ล้านคนนับว่า ไม่น้อยเลยทีเดียว

หากคนกลุ่มนี้ ตะโกนออกไปดังๆ พร้อมกัน 1 ครั้ง เท่ากับว่าเราจะได้ยินเสียงของพวกเขา 13 ล้านเสียง !

และถ้าหากแต่ละคน มีพวกมีเพื่อนที่จะช่วยส่งเสียงต่ออีกแค่ 1 คน ก็จะเป็น 26 ล้านเสียง คิดเป็น1/3 ของคนไทยทั้งประเทศ..!

น่าเสียดายที่ในสังคมไทยยังไม่มี “พื้นที่กลาง” ที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ ช่วยสนับสนุน หรืออำนวยความสะดวกให้ “คนเจนแซ่บ” กลุ่มนี้ได้ปลดปล่อยพลังบวกออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคมในฐานะที่เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบร่วมต่อบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเค้า

นั่นคือที่มาของการก่อเกิดกลไกความร่วมมือที่ชื่อ “G-Youth : Good Power” เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา 7 มหาวิทยาลัย ร่วมกับภาคธุรกิจ และภาคสังคมอีก 3 องค์กร ร่วมกันพัฒนา “พื้นที่ตรงกลาง” ที่พร้อมจะสร้างเสริมและสนับสนุน “เยาวชนนักสื่อสารแห่งอนาคต” มาช่วยกันลงมือแก้ปัญหาสังคมในวันนี้

7 สถาบันการศึกษา ได้แก่ กลุ่มสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์  ภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

อีก 3 ภาคีที่ร่วมก่อตั้ง ได้แก่มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย บริษัท เทลสกอร์ จำกัด และมูลนิธิเพื่อคนไทย

“แพล็ตฟอร์มนี้เหมือนเปิดโลกให้เด็กๆ อย่างพวกหนูที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีองค์กรที่ทำงานเพื่อแก้ปัญหาสังคมอีกมากมาย และยังพร้อมจะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่อย่างพวกหนูได้เข้าใจถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขที่ได้ผลจริง  ทำให้หนูและเพื่อนๆ ใช้ความรู้ ความสามารถในสาขาการสื่อสารเพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคม ขณะเดียวกันยังได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพตนไปด้วย” น้องเมย์ –  กาญจนา นามะโส สมาชิก G-Youth  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีกล่าว

3

 

เราพบน้องเมย์และเพื่อนๆ ชาว G-Youth จาก 7 สถาบันการศึกษาในงาน Good Society Expo 2019 หรือ GSE ซึ่งเพิ่งปิดม่านลงเมื่อเร็วๆ นี้ ในครั้งนั้น GSE เปรียบเสมือน “ห้องทดลอง” ที่เป็น “ของจริง” ให้เยาวชนกว่า 170 คนได้ปล่อยพลังความตั้งใจดี  เลือกประเด็นปัญหาสังคมที่พวกเขาสนใจซึ่งมีให้เลือกกระจัดกระจายในงานนี้ไม่น้อยกว่า 10 พาวิลเลียน  โดยองค์กรเพื่อสังคมตัวจริงกว่า 130 องค์กร  แล้วสร้างสรรค์ออกแบบเป็นเครื่องมือสื่อสารตามชอบ ตามถนัด ด้วยความเชื่อว่าการสื่อสาร คือ การช่วยแก้ปัญหาสังคมวิธีการหนึ่ง

2นับเป็นครั้งแรกที่งาน “Good Society Expo 2019 : รวมหนึ่งแรง…เป็นล้านพลัง” หรือ GSE มีโอกาสได้เปิดประตูต้อนรับนักสื่อสารกลุ่มเยาวชนให้เข้ามาเป็น “นักเล่าเรื่อง” ในประเด็นปัญหาสังคมต่างๆ พร้อมนำเสนอทางออกมากมาย ได้แก่ เด็กและเยาวชน สิ่งแวดล้อม คนพิการ  ต้านทุจริต คุณภาพชีวิตระยะท้าย  รวมทั้งนำเสนอช่องทางการให้ที่หลากหลาย ทั้ง เทใจ ปันกัน  ฟู้ดฟอร์กู๊ด โซเชียลกิฟเวอร์  เครือข่ายจิตอาสา ชุมชนมีวนา อโชก้า ประเทศไทย สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (SE Thailand)  สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เมื่อตุลาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อส่งเสริมให้น้องๆ นักศึกษาได้มีส่วนร่วมช่วยพัฒนางาน GSE ในด้านการสื่อสาร และนำไปสู่การเป็น Active Citizen หรือ พลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวมในอนาคต

“หนูคิดว่างาน GSEเป็นประโยชน์มากๆ ค่ะ เพราะเป็นงานที่จะทำให้วัยรุ่ยอีกเยอะที่ต้องการช่วยเหลือสังคมแต่ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน และจะช่วยได้อย่างไร หรือผู้ใหญ่ที่มีกำลังสนับสนุนได้เห็นช่องทางการมีส่วนร่วม”

แล้วอะไรคือ “Story Telling” ที่เธอจะเล่า ?

ประเด็นคนพิการเป็นประเด็นที่กลุ่มของน้องเมย์ หรือกลุ่ม “G – ซุปเปอร์มด” ให้ความสนใจ นั่นเป็นเพราะตัวเธอเคยประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝันจากเส้นเลือดในสมองแตก เมื่อทุกอย่างผ่านมาได้ ชีวิตก็ต้องเปลี่ยนไปเพราะร่างกายท่อนบนขยับได้แค่ข้างเดียว จึงตั้งใจจะผลิตเครื่องมือสื่อสารในรูปแบบ “ไวรัล คลิป”  เพื่อเชิญชวนกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นคนพิการให้กล้าออกมาเผชิญโลก ไขว่คว้าหาความรู้ และเรียนรู้การทำงานในองค์กรเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อถึงเวลาจบการศึกษา

“หนูจะใช้ประสบการณ์จริงของตัวเองเป็นตัวเดินเรื่องค่ะ จะได้มีน้ำหนักและเกิดประโยชน์ต่อผู้รับสาร ที่มหาวิทยาลัยมีทำโครงการสร้างแรงบันดาลใจและเพิ่มความมั่นใจให้คนพิการด้วยการร้องเพลง หนูต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้พวกพี่ๆ คนพิการสามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมาและกล้าแสดงออกในสังคม” น้องเมย์ผู้เคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 จากเวที Thailand’s Got Talent จากการร้องเพลงหมอลำ กล่าว

น้องอองฟองต์ – อิสริยาพร วรทิศ ชาว G-Youth จากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กลุ่ม “G – กล้วยปิ้ง” สนใจนำเสนอประเด็น “คุณภาพชีวิตระยะท้าย” เพราะมองว่าปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ อีกอย่างคนในครอบครัวของตนก็มีผู้สูงอายุ จึงคิดว่าการเข้ามาเรียนรู้ในประเด็นนี้จะทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์

5“งาน GSE เป็นงานที่ดีมากค่ะ พวกหนูจะเป็นกระบอกเสียงโดยการใช้สิ่งที่เรียนมาในสาขาวารสารศาสตร์กระจายข่าวสารในช่องทางต่างๆ เพื่อให้คนในสังคม โดยเฉพาะวัยรุ่นคนอื่นๆ รู้วิธีเเก้ปัญหาสังคมไปด้วยกัน” น้องอองฟองต์กล่าว

เช่นเดียวกับ น้องเท็น – ชภาณุ ทองจันทร์แก้ว ชาวG-Youth มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กลุ่ม “G-Dragon” บอกว่า สนใจประเด็นคุณภาพชีวิตระยะท้าย เพราะมองว่าความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว ทุกเพศทุกวัยควรให้ความสำคัญเเละได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อจะได้วางเเผนชีวิตของตนเองได้

“คำถามที่ว่าถ้าพรุ่งนี้เรากำลังจะตาย เราอยากทำอะไร   เป็นคำถามที่ทำให้ผมเเละเพื่อนๆ ใช้ในการเลือกประเด็นที่สนใจ เเละกลุ่มของผมก็จะใช้คำถามเดียวกันนี้ถามคนทั่วไปเพื่อนำมาทำเป็นวีดิโอสั้นๆ เพื่อสื่อสารกับคนในสังคมให้หันมาสนใจว่าเราจะตายอย่างมีความสุขได้อย่างไร” น้องเท็นกล่าว

น้องมังกร – วายุ เอี่ยมรัมย์ ชาว G-Youth สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กลุ่ม “G-PIM ส้มหวาน” สนใจกลไกการให้โดยเฉพาะ “เว็บไซต์เทใจดอทคอม” เพราะมองว่าเป็นการทำดีเเบบง่ายๆ เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ จึงตั้งใจสื่อสารเรื่องนี้ นอกเหนือจากประเด็นคุณภาพชีวิตระยะสุดท้าย

74680782_3142996892383371_6965194999893852160_n“ผมชอบทำงานเพื่อสังคมครับ เพราะเมื่อก่อนก็เคยขาดเเคลน คนรอบข้างหลายคนก็ขาดเเคลนเหมือนกัน พอโตขึ้นอาจจะไม่ได้ช่วยเรื่องทุนทรัพย์ เเต่ก็ช่วยลงเเรงเเทนด้วยการให้ความรู้ช่วยติวน้องระดับอุดมศึกษาเพื่อเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย” น้องมังกรกล่าว

ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่น้องๆ ให้ความสนใจเช่นกัน น้องเกน – สุชาครีย์ สุโกสิ ชาว G-Youth มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลุ่ม “G – Gee gee gee baby baby baby” บอกว่าสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยตั้งใจจะผลิตงานสื่อสารในรูปแบบอินโฟกราฟิกเพื่ออธิบายวิธีการแยกขยะให้เข้าใจง่ายมากขึ้น

9“ผมเชื่อว่ายังมีคนรุ่นใหม่อีกหลายคนที่ต้องการแก้ปัญหาสังคมเพียงแต่ว่าพวกเขายังไม่รู้ว่าจะต้องช่วยอย่างไร และช่วยได้ช่องทางไหน ผมหวังว่างานสื่อสารที่พวกผมตั้งใจทำออกมาจะช่วยให้คนอื่นๆ เข้าใจปัญหาและรู้วิธีแก้ไขในวงกว้างมากขึ้น” น้องเกนกล่าว

เช่นเดียวกับกลุ่ม “G – เด็กหัวการค้า” โดย น้องคีน – ณธิบดี  ขาวบริสุทธิ์ ชาว G-Youth มหาวิทยาหอการค้าไทย บอกว่า ปัญหาสิ่งเเวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนต้องตระหนัก ถ้าสิ่งเเวดล้อมถูกทำลายผู้คนก็จะได้รับผลกระทบ ขณะที่ประเด็นคุณภาพชีวิตระยะท้าย เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอเเละควรให้ความสำคัญเพื่อการจัดการและวางเเผนก่อนตายอย่างมีความสุข

11“ปัจจุบันโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางที่เข้าถึงง่าย ผมคิดว่ากลุ่มของพวกผมจะทำเครื่องมือสื่อสารในรูปเเบบวีดิโอโปรโมทประเด็นที่สนใจ” น้องคีนกล่าว

ด้าน น้องอั้ม – โชติกา เหลืองกังวานกิจ ชาวG-Youth มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กลุ่ม “ลูกหมู 3 ตัว” บอกว่า สนใจประเด็นผู้ลี้ภัยโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)  เพราะคิดว่าคนไทยยังไม่ค่อยเปิดใจกับผู้ลี้ภัยมากนัก จึงต้องการสร้างเครื่องมือสื่อสารในรูปแบบวีดิโอเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักเเละเข้าใจมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เป็นจะเป็นอนาคตของชาติต่อไป

13“พวกหนูคิดว่า Active Citizen คือคนที่เมื่อเห็นปัญหาสังคมเเล้วก็พร้อมที่จะลงมือทำเลย อยากให้สังคมของเรามีคนแบบนี้มากขึ้น” น้องอั้มกล่าว

ส่วน น้องโอห์ม – ชัยศักดิ์ มากสุนันท์ ชาว G-Youth สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ตัวแทนกลุ่ม “G-PIM ครบเครื่อง” บอกว่าประเด็นที่สนใจ คือ กลไกการให้โดยเฉพาะ “ชุมชนมีวนา”  เพราะเป็นโครงการที่ดีนอกจากจะช่วยอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อมเเล้ว  ยังส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรอีกด้วย โดยจะนำเนื้อหาที่ได้จากชุมชนมีวนาไปออกเเบบคอนเทนต์เพื่อนำเสนอในช่องทางโซเชียลมีเดียให้ขยายวงของการรับรู้ให้มากขึ้น

15“ผมชอบงาน GSE มากครับ โดยส่วนตัวชอบทำงานเพื่อสังคมอยู่เเล้ว พอได้มาร่วมงานนี้รู้สึกว่าตอบโจทย์ความต้องการของผมมากๆเลยครับ” น้องโอห์มกล่าว

ทั้งหมดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของพลังดีที่น้องๆ ชาว G-Youth มีความมุ่งมั่นตั้งใจจะช่วยเป็นกระบอกเสียง ขยายผลเรื่องราวและวิธีการแก้ปัญหาสังคมซึ่งเกิดขึ้นในงาน GSE  เป็นเครื่องมือสื่อสารประเภทต่างๆ ไม่น้อยกว่า 40 ชิ้นงาน ประกอบด้วย วิดีโอ คลิป  โฟโต้ สตอรี่ โปสเตอร์ อินโฟกราฟิก เฟซบุ๊คเพจ อินเตอร์เน็ต ฟิล์ม แมกาซีนออนไลน์ ฯลฯ อีกมากมาย อดใจรอไม่เกิน 30 พฤศจิกายนจะได้ชมผลงานเยาวชนกลุ่มนี้

16“ในงาน Good Society Expo 2019 น้องๆ นักศึกษาทุกคนได้เห็นโอกาสที่จะมีส่วนร่วมสร้างประโยชน์ ด้วยการนำความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาประกอบกับทุนเดิมที่มีติดตัว นั่นคือพลังความดี ผมเชื่อว่า พลังความดีมีอยู่ในตัวทุกคนและมีโอกาสอีกมากมายที่จะให้เราได้ทำความดี” คุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย ตัวแทนภาคีภาคสังคมและหนึ่งในภาคีผู้ร่วมก่อตั้ง G-Youth กล่าว

ก่อนหน้านี้ คณะผู้ร่วมก่อตั้งได้จัดกิจกรรมติดอาวุธเสริมทักษะด้านการสื่อสารให้น้องๆ G-Youth  “ค่ายสื่อสารเตรียมพร้อมสู่งาน Good Society Expo 2019” กิจกรรมหลักๆ ประกอบด้วย Speed-Dating ให้น้องๆ นักศึกษาพบปะกับภาคีภาคสังคมทำความรู้จักเรียนรู้งานกันไปตัวต่อตัว

17นอกจากนั้น ยังได้พบพี่ๆ “อินฟลูเอ็นเซอร์” ตัวเป็นๆ ไม่ว่าจะเป็น พี่ไอซ์ เพจ “เค้าเรียกผมว่าแมว”  พี่มิกกี้ เพจ “ขึ้นชื่นว่ามนุษย์แฟน” ที่มาบอกเล่าเรื่องราวเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสร้างเพจและการบริหารจัดการเพจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ พร้อมยังได้ติดอาวุธกับกิจกรรม “Story Telling Canvas” จากพี่ๆ เทลสกอร์  แพลตฟอร์มไมโครอินฟลูเอนเซอร์อันดับ 1 ของประเทศ เป็นการอุ่นเครื่อง ซอยเท้ารอ..งาน GSE ของจริง ซึ่งเพิ่งจบไป

20คุณสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทลสกอร์ จำกัด หนึ่งในภาคีผู้ร่วมก่อตั้ง G-Youth กล่าวว่าทุกคนในสังคมสามารถเป็นกระบอกเสียงในการชวนคนอื่นมาทำความดีได้ง่ายขึ้นผ่านเครื่องมือสื่อสาร “โซเชียล มีเดีย”

21“การเป็นคนดีที่ตื่นรู้เราเห็นอะไรต้องตื่นรู้ไม่ปล่อยผ่าน น้องๆนักศึกษา คนรุ่นใหม่สามารถเป็นกระบอกเสียงผลักดันให้คนอื่นคิดในเรื่องที่ดีได้” นางสาวสุวิตากล่าว

ด้าน ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิ ฟรีดิช เนามัน (ประเทศไทย) หนึ่งในภาคีผู้ร่วมก่อตั้ง G-Youth กล่าวว่า สังคมจะขับเคลื่อนไปได้ขึ้นอยู่กับพลังของคนในสังคมที่เรียกว่า เป็น “Active Citizen” หรือ พลเมืองที่มีส่วนร่วม พร้อมจะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม23

“งานนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้น้องๆ นักศึกษาที่เรียนด้านการสื่อสารได้พบกับองค์กรตัวจริงที่ทำงานด้านสังคม ถือว่าเป็นงานที่เหมาะสมกับยุคสมัยที่มีการสร้างการมีส่วนร่วมกับน้องๆ จากหลากหลายมหาวิทยาลัยให้คนกลุ่มนี้ลุกขึ้นมาเป็น Active Cititzen ได้” ดร.พิมพ์รภัชกล่าว

“G-Youth” วันนี้..อาจกระเตาะน้อยในแง่อายุการใช้งานซึ่งเพิ่งผ่านการปักหมุดลงสนามจริงไม่ถึง 2 เดือน แต่หวังว่าน่าจะเป็นหมุดหมายกลางใจของเยาวชนผู้ผ่านประสบการณ์ภาคสนามจริง

24ด้วยพลังความตั้งใจดีที่มีของเยาวชนยังจำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากสังคมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านการสื่อสาร ที่จะเสริมทักษะความเชี่ยวชาญให้พวกเขา รวมทั้งทุนสนับสนุนการผลิตงานสื่อสารเพื่อเป็นกระบอกเสียงและชวนคนมาร่วมกันแก้ปัญหาสังคม

เพราะการสื่อ..คือการช่วย !!

ร่วมกันติดตามชมผลงานและให้กำลังใจ G-Youth ที่Facebook: G – Youth Good Power