เมื่อผลักประตูและเดินลงจากรถพร้อมกับคณะทำงานของมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมองค์กรที่ผลักดันการจ้างงาน สร้างอาชีพคนพิการด้วยมาตรา 33 หรือ 35 โดยให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้า จ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน ช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ นำโดย “คุณอภิชาติ การุณกรสกุล” ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม
สิ่งที่ปะทะสายตาคือสีเขียวเย็นตาของต้นไม้และพืชผักนานาชนิดจากริมทางเดินบนภูเขาที่คดโค้ง เราเงยหน้ารับสายลมเย็นที่โชยผ่านต้นไม้ใบหญ้า ไกลออกไปคือเรือนเพาะชำที่รอทักทายเราอยู่
ที่นี่คือ “โครงการเกษตรสีเขียวผักปลอดภัย” ณ View Share Farm ตำบลวังหมี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
พูดให้เข้าใจง่าย คือพวกเราชวนกันไปเรียนรู้วิถีการทำเกษตรแบบ 4.0 ของคนพิการที่ได้รับการสนับสนุนจ้างงานตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญติส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจาก “บริษัท เฮชจีเอสที (ประเทศไทย) จำกัด” นั่นเอง
ที่แห่งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เรามีโอกาสได้พูดคุยเพื่อหาคำตอบกับ “คุณพงษ์เทพ อริยเดช” ประธานชมรมเครือข่ายคนพิการ จังหวัดนครราชสีมา
คุณพงษ์เทพ เริ่มเล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่เปลี่ยนแนวคิดจากการปลูกข่าเหลืองสู่เกษตรแบบผสมผสานว่า ก่อนจะเป็นโครงการเกษตรสีเขียวผักปลอดภัย ณ View Share Farm เมื่อปี 2559 มีการรวมกลุ่มคนพิการที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาในรูปแบบสหกรณ์ จำนวน 18 คน ร่วมกันปลูกข่าเหลืองซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ ปลูกง่ายและทำเงินได้ แต่ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเพราะข่าล้มตายเกือบหมด จึงเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบผสมสานทั้ง พืชใบ พืชโรงเรือน และพืชสวน อาทิ เงาะ ลำใย กล้วย มะยงชิด เมล่อน ข่า ผักสลัด มะนาว มะเขือ ฯลฯ โดยใช้ระบบน้ำหยดพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาช่วย
“ปลูกข่าไม่สำเร็จเราก็เลยคุยกับสมาชิกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จึงไปขอคำปรึกษาจากสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนก็ได้แนวคิดทำเกษตรแบบผสมผสานและใช้ระบบน้ำหยดโดยเริ่มต้นจากการสร้างโรงเรือนเพื่อปลูกเมล่อน” คุณพงษ์เทพ กล่าว
คุณพงษ์เทพเล่าต่อว่าปัจจุบันสมาชิกที่เป็นคนพิการในกลุ่มจาก 18 คน เพิ่มขึ้นเป็น 70 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ไม่หมดเท่านั้นพวกเขายังต่อยอดขยายงานคนพิการและบริการท้องถิ่นจากเกษตรกรรมธรรมดาๆ จนกลายเป็น “การเกษตรเชิงท่องเที่ยว”
“บริษัทที่สนับสนุนการจ้างงานเห็นสิ่งที่เราทำจึงได้สนับสนุนและสร้างอาคารที่พักเพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมและพักผ่อนหย่อนใจ เป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง รวมทั้งให้ผู้ที่อยากมาเรียนรู้วิถีการทำเกษตรแบบคนพิการด้วย” คุณพงษ์เทพกล่าว
คุณพงษ์เทพอธิบายเรื่องการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 35 ว่า มีความจำเป็นกับคนพิการที่เข้าใจกฏหมาย นั่นหมายความว่าต้องทำให้คนพิการมีความรู้ความเข้าใจเพื่อให้มีความมั่นใจว่าจะสามารถทำงานได้ หรือมีโครงการที่น่าสนใจก่อนที่เข้าไปพูดคุยกับสถานประกอบการใกล้บ้าน
“อย่าลืมว่าถ้าเลือกคนพิการทำงานจะไม่ได้งาน แต่ถ้าเลือกงานให้คนพิการ คนพิการก็จะได้ทำงานและจะได้คนพิการที่มีศักยาภาพ และต้องใกล้บ้านเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตและเป็นการสร้างความยั่งยืนได้” คุณพงษ์เทพกล่าว
ไม่ใช่แค่อยากเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่สังคมมีต่อคนพิการ เขายังเชื่อว่ามีความเป็นไปได้มากมายที่เกิดขึ้นได้หากสังคมดูแลคนพิการได้ถูกวิธี
“หน่วยงานที่ดูแลงานด้านคนพิการในพื้นที่ต้องเข้ามามีบทบาทและดูแลคนพิการให้ทั่วถึง ประเภทที่ว่าไฟไหม้ฟางมาช่วยเหลือแล้วหาย มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง” คุณพงษ์เทพกล่าวทิ้งท้าย
นี่จึงเป็นที่มาของโครงการเกษตรสีเขียวผักปลอดภัยที่ทำหน้าที่ในการสร้างอาชีพที่ยั่งยืน และดึงศักยภาพของคนพิการ ซึ่งถูกออกแบบด้วยหลักคิดการสร้างแลนด์มาร์ค นั่นคือต้องมีคาแรกเตอร์โดดเด่น เป็นที่สนใจ น่าจดจำ และสามารถดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาใช้งานได้จริงๆ
ณ ลานดินใกล้กับโรงเรือนเพาะชำมะเขือ
เราสังเกตุเห็นชายร่างเล็กกำลังสาละวนอยู่กับการผสมปุ๋ย เขาคือ “คุณประเทือง จวบกระโทก” ดูเผินๆ แทบไม่รู้เลยว่าเขาเป็นคนพิการ
คุณประเทืองเล่าให้ฟังว่าเขาพิการมือตั้งแต่กำเนิด ทำให้การใช้ชีวิตค่อนข้างลำบากแต่ก็ไม่ได้ทำให้เขาท้อใจเท่ากับคำคน
“ช่วงวัยรุ่นผมเคยท้อ เวลาไปไหนกับเพื่อนก็จะมีคนพูดว่าเราเป็นคนพิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ผมก็พยายามทำให้เขาเห็นว่าผมทำทุกอย่างได้เหมือนคนปกติ ทำงานก่อสร้าง ขับรถรับจ้าง ทำไร่ ทำสวนได้” คุณประเทืองกล่าว
เขาเล่าให้ฟังถึงการตัดสินใจเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มข่าเหลืองตั้งแต่ปี 2559 ว่าต้องการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าคนพิการก็มีศักยภาพ สามารถทำงานหาเลี้ยงตนเองได้ และต้องการให้บริษัทเอกชนหันมาจ้างงานคนพิการตามมาตรา 35 มากขึ้น
“อยากให้บริษัทเอกชนจ้างงานคนพิการตามมาตรา 35 มากขึ้นเพราะสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับพวกผมได้ เห็นได้จากการที่ผมเข้าร่วมกับโครงการปลูกข่าเหลือง ชีวิตของผมก็เปลี่ยนไปมาก ผมมีความรู้ทางการเกษตรมากขึ้น ทำงานใกล้บ้าน ได้รู้จักเพื่อนและเข้าใจการทำงานเป็นทีมมากขึ้น รู้จักเก็บหอมรอมริบรายได้ที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของผม” คุณประเทืองกล่าว
สมมติว่าวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าตัวเองกลายเป็นคนพิการ แน่นอนว่าเราคงรู้สึกแย่ไม่น้อย เช่นเดียวกับ “คุณสวง แทนกลาง” ความพิการทำให้เขาคิดฆ่าตัวตาย
“จากเหตุการณ์ที่ถูกเครื่องดักสัตว์ยิงเข้าที่ขาทำให้ผมต้องตัดขาและกลับไปอยู่ที่บ้าน ตอนนั้นคิดน้อยใจ มีคำพูดประชดจากคนใกล้ตัว จนอยากฆ่าตัวตาย แล้วทางจังหวัดก็มาเรียกให้ไปฝึกอาชีพที่จังหวัดขอนแก่นเป็นช่างตัดผม แต่ในยุคนั้นยังไม่มีขาเทียมมันก็ลำบาก ทุกวันนี้ตั้งแต่มีขาเทียมจากมูลนิธิสมเด็จย่าและได้เข้ากลุ่มข่าเหลืองชีวิตผมก็ดีขึ้น ภูมิใจในตัวเองมากขึ้นเพราะผมมีความรู้จนสามารถปลูกต้นไม้ เช่น มะนาว สะเดา มะขามเทศ ให้ภรรยานำไปขายตามตลาดนัดได้ นอกจากนี้ก็ผูกไม้กวาดขายได้ ใครที่ล้อเลียนผม ตอนนี้ผมก็ไม่รู้สึกน้อยใจแล้วครับ”
คุณสวงกล่าวและย้ำว่าการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 35 ตอบโจทย์และสร้างประโยชน์ให้กับเขามากจริงๆ
การเรียนรู้วิถีชีวิตของคนพิการที่นี่เพียงแค่ 1 วัน ทำให้เรารู้ว่าการเกษตรกับคนพิการไม่ได้ยากอย่างที่คิด และพวกเขาต่างมีศักยภาพและคุณค่าในตนเอง
หวังว่าเรื่องราวเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคมมีต่อคนพิการ และเกิดการจ้างงานหรือสร้างอาชีพให้คนพิการมีงานทำมากยิ่งขึ้น เพราะถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้องค์กรต่างๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้คนพิการและร่วมรับผิดชอบต่อสังคม การมีสถานภาพทางสังคมทำให้พวกเขากลับมามีตัวตนทั้งในครอบครัวและสังคมอย่างแท้จริง
คุณสามารถร่วมเปิดประตูแห่งโอกาสสำหรับผู้พิการได้ ติดตามข้อมูลได้จากมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม www.sif.or.th และ www.facebook.com/socialinnovationfoundation หรือเฟซบุ๊ค คนพิการต้องมีงานทำ www.facebook.com/konpikanthai/