วันนี้เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) กลายเป็นวาระหลักวาระหนึ่งของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะเมื่อสหประชาชาติได้ประกาศ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs)  17 เป้าหมาย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลการพัฒนาของโลกระหว่างปี ค.ศ. 2016-2030 และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ลงนามร่วมกับภาคีสมาชิก ในการรับรองฉันทามติเป้าหมายการพัฒนาใหม่นี้

มีคำถามตามมาว่าอะไรคือ หัวใจของยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ?

คำตอบก็คือ “คน”

แล้ว“คนแบบไหน” ? ที่จะตอบโจทย์

คนเป็นหัวใจของความสำเร็จและจะต้องเป็นคนที่เรียกว่า “พลเมืองที่มีส่วนร่วม” เข้ามาช่วยในการพัฒนาประเทศ

ทุกอย่างเริ่มต้นที่ “คน” อาจเป็นข้อสรุปสั้นๆ ของ “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังลงจากเวทีปาฐกถาพิเศษ ในงานเสวนา Thailand SDGs Forum 2017 #3 เมื่อเร็วนี้ๆ

ดร.สุวิทย์  เน้นย้ำถึงการขับเคลื่อนประเทศตามแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อตอบโจทย์การสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงและทุนนิยมที่สร้างสรรค์ โดยให้ “คน” เป็นจุดศูนย์กลางของการพัฒนา

เริ่มจากการหล่อหลอม “คนไทย” ให้มีแนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ผ่านการมีหลักคิดที่ถูกต้อง มีทักษะการใช้ชีวิต และมีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนจาก “พลเมืองที่เฉื่อยชา” (Passive Citizen) เป็น “พลเมืองที่ตื่นรู้” (Active Citizen) ไปสู่การเป็น “พลเมืองที่มีส่วนร่วม” (Engaged Citizen)

ในที่สุด เมื่อคนพัฒนาแล้วก็จะนำมาสู่การขับเคลื่อนทิศทางประเทศอย่างสมดุลด้วยการสร้าง ระบบเศรษฐกิจไหลเวียน (Circular Economy) ที่จะตอบโจทย์ความยั่งยืน  ระบบเศรษฐกิจกระจายตัว (Distributive Economy) ที่จะตอบโจทย์ความมั่นคง และ ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Economy) ที่จะตอบโจทย์ความมั่งคั่ง

พร้อมกันนั้นต้องให้ความสำคัญกับ”การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21″ ให้เป็นคนที่มีความมุ่งมั่น (Purposeful) มีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรม (Innovative) มีจิตสาธารณะ (Mindful) และ มุ่งผลสัมฤทธิ์ (Result-based)  ดร.สุวิทย์ กล่าวและว่า

เหนืออื่นใด ก็คือ บริบทของสังคมจะต้องเป็น “สังคมที่เป็นธรรม”

“ควรจะให้เกิดพลเมืองที่มีส่วนร่วมจำนวนมาก ระบบนิเวศของสังคมไทยควรจะมีปัจจัยที่สร้างสังคมธรรมาภิบาลและสังคมที่เอื้อเฟื้อแบ่งปัน ก็จะทำให้บรรยากาศของการแก่งแย่งชิงดีลดลง ทำอย่างไรให้สังคมคลีนแอนด์เคลียร์ ฟรีแอนด์แฟร์ และแคร์แอนด์แชร์” ดร.สุวิทย์ กล่าว

เราไม่ควรเสียเวลากับการถอดรหัสเอสดีจีเป็น 100 กว่าตัวชี้วัด แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะ “ลงมือทำ”

ที่ผ่านมาทุกฝ่ายเห็นด้วยว่า “คน”คือหัวใจของความสำเร็จ อย่างไรก็ตามเมื่อมองผ่านกรอบคิดของภาครัฐยังมีการปฎิบัติกับ “คนส่วนใหญ่” ที่เป็นประชาชน “คนตัวเล็ก” ”( Ordinary People) ว่าเป็นเพียง “ผู้รับประโยชน์” (Beneficiary)

อาจารย์ชล บุนนาค คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   หัวหน้าโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  (สกว.) ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ในมิติสากลมีความพยายามของหลายองค์กรในการสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับ “คนตัวเล็ก”เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการลงมือทำ คือเป็นทั้ง “Actor” และ “Doer” ได้ด้วย

ไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเป็นชนพื้นเมือง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ใช้แรงงาน ฯลฯ แต่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทรัพยากรที่ช่วยพวกเขา อาจจะเป็นองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือแม้แต่ทุนที่เป็นเงิน

“สังคมไทยขาดมากก็คือ การให้ความสำคัญกับคนตัวเล็ก ผู้ที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนา ผมคิดว่าถ้าเราจะพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนจำเป็นมากที่ต้องดึงคนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วม ที่ผ่านมารัฐมีวิธีจัดการให้เกิดความร่วมมือในกลุ่มที่เกี่ยวข้องหลัก ประกอบด้วย รัฐ เอกชน และประชาสังคม อาจถึงเวลาที่รัฐต้องนิยามผู้เกี่ยวข้องหลักลึกลงไปอีกขั้นเป็น มัลติ สเตกโฮลเดอร์ ต้องฟังว่าประชาชนคนตัวเล็กต้องการอะไรและเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง”   อาจารย์ชล กล่าว

ปัจจุบัน SDGs เป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็น “วาระโลก” (Global Agenda) ซึ่งมีรายละเอียดครอบคลุมความต้องการของคนทุกกลุ่ม ถ้าจะให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายจำเป็นต้องร่วมกันสร้างสรรค์จากทุกภาคส่วน ซึ่งหัวใจหลักก็คือ “การพัฒนาคน” เพื่อไปถึงจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ “สังคมที่ยั่งยืน”

ถ้าคุณต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะต้องการสนับสนุนเงินทุนให้กลุ่มคนที่ทำเรื่องดีๆเพื่อสังคม สามารถทำได้ผ่าน “เทใจดอทคอม” www.taejai.com

ถ้าคุณเป็นผู้มีจิตอาสา สามารถติดตามกิจกรรมดีๆและร่วมเป็นอาสาสมัครกับ “เครือข่ายจิตอาสา” สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.volunteerspirit.org

ถ้าคุณต้องการช่วยแก้ปัญหาการศึกษาของเด็กไทยสามารถสนับสนุนทั้งเงินทุนและร่วมเป็นอาสาสมัครกับมูลนิธิยุวพัฒน์ สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.yuvabadhanafoundation.org/index.html

และถ้าคุณสนใจข่าวสารเกี่ยวกับพลเมืองที่มีส่วนร่วมกับพละกำลังที่คนเหล่านี้ช่วยเหลือสังคมและมองหาโอกาสที่จะทำงานร่วมกับพวกเขาเหล่านี้ ติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.khonthaifoundation.org/th/landing หรือ เฟซบุ๊ค www.facebook.com/KhonThaiFoundation

 

ขอบคุณภาพจาก ThaiPublica เเละ มูลนิธิมั่นพัฒนา