เพราะการศึกษาเป็นรากเหง้าของปัญหาสำคัญต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่โดยเฉพาะเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ”
ปัจจุบันมีเด็กด้อยโอกาสในประเทศไทยกว่า 3 ล้านคนต้องเผชิญกับเงื่อนไขในชีวิต ไม่ว่าจะมาจากความยากจน ถูกทอดทิ้ง เด็กนับแสนคนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาเพราะไม่มีเงินและต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว การที่ต้องเข้าสู่ภาคแรงงานตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้เขาเหล่านั้นขาดโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนและโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง
โครงการ “ร้อยพลังการศึกษา” ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้และเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยจึงเชื่อมร้อยพลังผู้คนในสังคมที่มีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพการศึกษาและช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความยั่งยืนโดยร่วมมือกับโรงเรียนในเครือข่ายและภาคีมอบอาวุธลับที่ทรงพลังที่สุดในโลก นั่นคือ “การศึกษา” แก่เด็กๆ เพื่อให้พวกเขามีทักษะในการใช้ชีวิตและการทำงานเพื่อหล่อเลี้ยงตัวเองในอนาคตโดยมุ่งเน้นช่วยพัฒนาเด็ก 3 ด้าน ได้แก่
โอกาสเข้าถึงการศึกษา – ด้วยทุนยุวพัฒน์ต่อเนื่อง 6 ปี ตั้งแต่ ม.1-ม.6 พร้อมพี่เลี้ยงอาสา โดยมูลนิธิยุวพัฒน์
โอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ – ด้วยห้องเรียนดิจิทัลวิชาคณิตที่เรียนรู้ง่าย โดยบริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ห้องเรียนดิจิทัลวิชาภาษาอังกฤษ โดย บริษัท เอ็ดดูเทค อินโนเวชั่น จำกัด และครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยมูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์
โอกาสเข้าถึงเส้นทางอาชีพและทักษะชีวิต – ด้วยหลักสูตรครูแนะแนวรุ่นใหม่โดย บริษัท อาชีฟ โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และโครงการวัยรุ่นอุ่นใจ โดยเครือข่ายจิตอาสา
วันนี้เรามีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ธันยพร วณิชฤทธา รองผู้อำนวยการ โครงการร้อยพลังการศึกษา เกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการในภาคการศึกษาที่ 2/2561 ว่าความก้าวหน้าของเครื่องมือทั้งหมดในโครงการร้อยพลังการศึกษาเป็นที่น่าพอใจทั้งในเรื่องการมีส่วนร่วมของโรงเรียนเครือข่ายและพัฒนาการของนักเรียน
“ผู้บริหารของโรงเรียนเครือข่ายให้ความสนใจและสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงใจและตรงไปตรงมาซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือในโครงการอยู่ตลอด ขณะเดียวกันเราพบว่าพัฒนาการของนักเรียนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นว่านักเรียนได้ประโยชน์จากการเรียนจริงๆ” ดร.ธันยพรกล่าว
ปัจจุบันโครงการร้อยพลังการศึกษามีโรงเรียนเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 82 โรงเรียน ใน 30 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส 14 โรงเรียนและโรงเรียนมัธยม 68 โรงเรียน ครอบคลุมทั่วทุกภาคในประเทศไทย ได้แก่ ภาคเหนือ 21 โรงเรียน ภาคกลาง 18 โรงเรียน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 22 โรงเรียน มีนักเรียนที่ได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องมือกว่า 15,000 คน โดยแต่ละเครื่องมือมีการขยายผลในแง่ของการนำไปใช้และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ซึ่งจะขอไล่ลำดับความก้าวหน้าของแต่ละเครื่องมือข้อมูล ณ 30 เมษายน 2562 ดังนี้
มูลนิธิยุวพัฒน์ ทุนการศึกษาต่อเนื่อง จนจบ ม. 6 หรือ ปวช. 3 มีจำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 77 โรงเรียน และนักเรียนที่ได้รับประโยชน์กว่า 2,240 คน
ห้องเรียนดิจิทัลวิชาวิทย์-คณิต โดยบริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่นำระบบคอมพิวเตอร์มาเป็นเครื่องมือช่วยสอนวิชาคณิตศาสตร์รูปแบบใหม่ น่าสนใจ เรียนสนุก เนื้อหาเข้าใจง่าย รวมทั้งเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนครูให้บริหารจัดการรูปแบบการสอนและตอบโจทย์ปัญหาขาดแคลนครู ปัจจุบันมีโรงเรียนเครือข่ายใช้ระบบในปีการศึกษา 2561 จำนวน 47 โรงเรียน นักเรียนที่ใช้เครื่องมือ 14,873 คน ครู 140 คน โดยมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยวัดจากผลสอบก่อนและหลังเรียน (Pre-Post Test)
ห้องเรียนดิจิทัลวิชาภาษาอังกฤษ โดย บริษัท เอ็ดดูเทค อินโนเวชั่น จำกัด เป็นนวัตกรรมการเรียนของนักเรียน และระบบผู้ช่วยครูอัจฉริยะที่นักเรียนได้เรียนผ่านสื่อทางคอมพิวเตอร์ เกิดการสอนที่สามารถออกแบบและติดตามผลการเรียนของนักเรียนได้ โดยเด็กๆ จะได้รับการพัฒนาในด้านการพูด ฟัง อ่าน เขียน รวมถึงการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันล่าสุดมีโรงเรียนเครือข่ายที่ใช้ระบบ 33 โรงเรียน นักเรียนได้ใช้เครื่องมือ 9,990 คน ครู 100 คน มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจากผลสอบก่อนและหลังเรียน (Pre-Post Test) ซึ่งมีแนวโน้มในการเรียนรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.22 ส่วนผลคะแนน O-NET ปี 2561 ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรเรียนประถมขยายโอกาส 3 โรงเรียน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 เฉลี่ยร้อยละ 2.98 คะแนน ที่มีค่าเฉลี่ยประเทศร้อยละ 36.34 คะแนน
ขณะที่ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยมูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ซึ่งมุ่งขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทยด้วยการสร้างผู้นำโดยสรรหาคนที่มีความมุ่งมั่นและมีความสามารถด้านวิชาการและทักษะการใช้ชีวิตเข้าไปเป็นครูสอนในโรงเรียนเป็นเวลา 2 ปี ล่าสุดมีครูผู้นำรุ่น 4 และ 5 จำนวน 57 คน ใน 21 โรงเรียน จาก 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ นครสวรรค์ ลพบุรี กาญจนบุรี และนครปฐม โดยคาดว่าจะขยายเพิ่มในจังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยร้อยละ 98 ของผู้บริหารโรงเรียนเห็นด้วยว่าครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้สร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับโรงเรียนอย่างเห็นได้ชัด
ต่อมาคือหลักสูตรครูแนะแนวรุ่นใหม่โดย บริษัท อาชีฟ โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (a-chieve) กระบวนการค้นหาตัวเองและแนะนำข้อมูลอาชีพและเส้นทางการเรียนด้วยการอบรมครูแนะแนวรุ่นใหม่ ซึ่งมีการอบรมไปแล้วจำนวน 2 รุ่น ครู 39 คน จาก 26 โรงเรียน ได้ครูแนะแนวรุ่นใหม่และเกิดห้องเรียนที่มีความสุขทั้งครูและนักเรียน 2,451 คน (ข้อมูล ณ กันยายน 2561)
“หลักสูตรแนะแนวเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีมากเพราะหลักสูตรอบรมครูแนะแนวรุ่นใหม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงจากตัวของครูทำให้ครูมีขวัญกำลังใจ มีเครือข่าย ได้วิธีการสอนและแนวทางการแนะแนวนักเรียนได้ดีมากขึ้น”
ส่วนโครงการวัยรุ่นอุ่นใจ โดยเครือข่ายจิตอาสา ซึ่งเป็นระบบพี่เลี้ยงโดยนักศึกษาอาสาและนักเรียนแกนนำอาสาในการดูแลรับฟังเพื่อนนักเรียนในโรงเรียน รวมถึงการให้นักเรียนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีโรงเรียนและครูที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 3 โรงเรียนในจังหวัดนครสวรรค์ รวม 41 คน ได้แก่ โรงเรียนพยุหะพิทยาคม จำนวน 10 คน โรงเรียนวังข่อยพิทยา จำนวน 5 คน โรงเรียนพระบางวิทยา จำนวน 26 คน
ล่าสุดโครงการร้อยพลังการศึกษาได้บรรจุ โครงการโรงเรียนคุณธรรม เข้ามาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในโครงการร้อยพลังการศึกษา โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมผ่านโครงงานคุณธรรมในการเรียนรู้และปฏิบัติจริงของนักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาและชุมชน จากการได้รับคำแนะนำโดยกลุ่มนิเทศอาสาเพื่อผลักดันให้โครงงานประสบความสำเร็จ สามารถลดปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ สร้างวินัยและความรับผิดชอบให้เกิดขึ้น นักเรียนมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีตามที่โรงเรียนต้องการ โดยปัจจุบันนำร่องในโรงเรียนเครือข่าย 51 โรงเรียน
“การจะพัฒนาเด็กๆ ในเรื่องความรู้และวิชาการเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่การปลูกฝังให้พวกเขาเป็นคนดี นั่นคือหัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งเพื่อให้เด็กเป็นบุคลากรที่ดีของประเทศต่อไป” ดร.ธันยพรอธิบาย
สอดคล้องกับ อาจารย์รังสิวุฒิ พุ่มเกิด ผู้อำนวยการโรงเรียนวังข่อยพิทยา โรงเรียนในเครือข่ายที่ใช้เครื่องมือพัฒนาการศึกษาของโครงการร้อยพลังฯ ครบทั้ง 7 เครื่องมือ บอกว่าโรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนคุณธรรมที่ไม่เพียงแต่เป็น “การสร้างคนดีให้บ้านเมือง” ตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 นักเรียนยังได้เรียนรู้กระบวนการทำโครงงานคุณธรรมและร่วมกันสร้างคุณธรรมอัตลักษณ์ของโรงเรียน คือ มีวินัย มีความรับผิดชอบ อยู่อย่างพอเพียง ซึ่งกระบวนการของโรงเรียนคุณธรรมก็สอดคล้องกับศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียน
แน่นอนว่าการศึกษาเป็นเป้าหมายในการพัฒนาแต่การจะให้เกิดความยั่งยืนขึ้นได้นั้นต้องมี “การพัฒนาชุมชน” ควบคู่ไปด้วยซึ่งก็คือเป้าหมายในอนาคตของโครงการ “ร้อยพลังการศึกษา”
“ระหว่างทางเรามีความเห็นว่าการพัฒนาไม่ได้มีแค่ในรั้วโรงเรียน แต่เด็กๆ หลายคนยังมีความถนัดที่แตกต่างกันออกไปตามวัฒนธรรมหรือฐานอาชีพในชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ เช่น การฝีมือ ทำอาหาร จักสาน ทอผ้า ซึ่งตอนนี้เรามีทีมสำรวจมองหาโอกาสและความเป็นไปได้ ในอนาคตเราก็คาดหวังว่าจะเฟ้นหาภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่จะมาต่อยอดอาชีพในชุมชนเพื่อไปสู่เป้าหมาย คือให้เด็กได้ทำงานที่ตรงกับความต้องการในอนาคตและเป็นพลเมืองที่ดีของชุมชน” ดร.ธันยพรกล่าวทิ้งท้าย
ความยั่งยืนของการหยิบยื่นโอกาสให้กับเด็กด้อยโอกาสที่มีอยู่ทั่วประเทศจะเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องจำเป็นที่คนในสังคมจะต้องช่วยเหลือเกื้อกูลเด็กๆเหล่านี้ นี่คือเป้าหมายของ “ร้อยพลังการศึกษา” ซึ่งยังรอการสนับสนุนจากทุกคนในสังคม
คุณก็มีส่วนร่วมได้ด้วยการสนับสนุนโครงการร้อยพลังการศึกษาผ่านแคมเปญบริจาคต่อเนื่องแบบรายครั้งและรายเดือน หรือบริจาคในโอกาสพิเศษ เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กไทยเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในระยะยาว https://donate.tcfe.or.th/donate ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ https://www.tcfe.or.th/ หรือFacebook ร้อยพลังการศึกษา