เมื่อไม่นานมานี้สื่อวิทยุ รายการ “Business Today” FM 102.0 MHz ดำเนินรายการโดย “คุณศุนันทวดี อุทาโย” แพลตฟอร์มข่าวธุรกิจ ภายใต้ “กลุ่ม MEI PLUS” มีความสนใจและต้องการส่งสารไปสู่สังคมโดยมีสมมุติฐานจากความเชื่อว่า สังคมเศรษฐกิจแบ่งปัน “Sharing Economy” มีความเชื่อมโยงกับการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันหรือ “Sharing Society”
“Sharing Economy” กับ “Sharing Society” ในบริบทงานพัฒนาความยั่งยืนที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย แม้จะเป็นคนละเรื่อง แต่เมื่อลองสังเคราะห์ถึงหลักการทำงานต่างมีองค์ประกอบหรือแนวคิดที่ทำให้เกิดผลผลิต-ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน
เริ่มจากเป้าหมายสูงสุด ดังที่หลายท่านคงทราบมาแล้วว่า “Sharing Economy” หมายถึง สังคมเศรษฐกิจแบ่งปัน มุ่งเน้นความคุ้มค่าสูงสุด ขณะที่ “Sharing Society” สังคมแห่งการแบ่งปันเป้าหมายมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าสูงสุดที่หมายถึงประโยชน์สาธารณะเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสังคมอยู่ดีมีสุข
สังคมเศรษฐกิจแบ่งปัน อาศัย “แพลตฟอร์มออนไลน์” เชื่อมให้ผู้ซื้อกับผู้ขายได้พบและตกลงซื้อสินค้า บริการแบบเรียลไทม์ “การเปิดเผยข้อมูล” จึงเป็นหัวใจสำคัญ ตัวอย่างเช่น Uber หรือ Airbnb ส่วนสังคมแห่งการแบ่งปัน มีการใช้ “แพลตฟอร์ม” เช่นกัน ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนหรือการบูรณาการทรัพยากรร่วมกัน นอกจากนั้น ในมิติการเปิดเผยข้อมูล พบว่า เริ่มเห็นความพยายามในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบเพื่อแสดงความโปร่งใส ตลอดจนเพื่อระดมการสนับสนุนจากพลังทางสังคมในรูปแบบการสร้างแคมเปญทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเงินหรืออาสาสมัครหรือความช่วยเหลืออื่นใดให้คนในสังคมหมู่มากให้เลือก ลงแรง ลงขัน ลงสมอง
ในมิติ “ทรัพยากร” สังคมเศรษฐกิจแบ่งปันมีรายได้จากสินค้า บริการเหลือใช้ระหว่างบุคคล กลุ่มคน ซึ่งคล้ายกันกับสังคมแห่งการแบ่งปันที่ใช้ทรัพยากรที่มาจากการบริจาค ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงิน การบริจาคเวลา การบริจาคความรู้ ความเชี่ยวชาญ
คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน คณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติและกรรมการกองทุนรวมคนไทยใจดี หนึ่งในแขกรับเชิญของรายการได้ให้ความเห็นว่า โมเดลสังคมเศรษฐกิจแบ่งปันเติบโตอย่างรวดเร็วเนื่องจากข้อจำกัดของทรัพยากร พร้อมกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในบริบทงานพัฒนาความยั่งยืนในประเทศไทย มีแนวโน้มใหม่ที่น่าสนใจในแง่การเกิดขึ้นของ“Sharing Platfrom” หรือช่องทางการแบ่งปันต่างๆ มากมายให้คนในสังคมช่วยกันสร้างสังคมดี และเกิดผลลัพธ์จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็น เทใจ โซเชียลกีฟเวอร์ ปันกัน ฯลฯ
“โซเชียลกีฟเวอร์” หรือ www.socialgiver.com นับเป็น “ช่องทางการแบ่งปัน” ที่เป็นโมเดลธุรกิจถอดหลักการทำงานตามแนวคิด “สังคมเศรษฐกิจแบ่งปัน” มาทั้งหมด เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่นำทรัพยากรซึ่งมาจากสินค้าหรือบริการที่แบรนด์ต่างๆ บริจาคให้มาจำหน่ายและยังมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์ ให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงทำธุรกรรมแบบเรียลไทม์
“จุดเริ่มต้นของโซเชียลกีฟเวอร์มาจากแนวคิดสังคมเศรษฐกิจแบ่งปัน เราเริ่มโครงการในช่วงน้ำท่วมปี 2554”
คุณอาชว์ วงศ์จินดาเวศย์ ผู้ก่อตั้งโซเชียลกีฟเวอร์กล่าวผ่านรายการ Business Today ว่า การที่โซเชียลกีฟเวอร์เป็นกิจการเพื่อสังคม ดังนั้น กำไร 100 เปอร์เซนต์ที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าและบริการที่ได้รับจากการบริจาคจากแบรนด์จะถูกนำไปบริจาคให้โครงการเพื่อสังคมต่างๆ ทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงการเกี่ยวกับการศึกษา ผู้พิการ สัตว์หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถช่วยเหลือคนจำนวนกว่า 75,000 ชีวิต ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ตัวอย่างต่อมา “เวบไซต์เทใจดอทคอม” www.taejai.com ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มระดมทุนออนไลน์ ทำหน้าที่เชื่อมโยง “ผู้ให้” ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมกับ “ผู้รับ” ที่รอการสนับสนุนจากคนในสังคม ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลโครงการเพื่อสังคมต่างๆ อย่างชัดเจน โดยในปี 2561 เทใจดอทคอมสามารถระดมทุนได้ 26.1 ล้านบาท ให้แก่โครงการเพื่อสังคมจำนวน 73 โครงการ
“เราทำหน้าที่เชื่อมต่อคนที่ต้องการเป็นเจ้าของโครงการและคนที่ต้องการเป็นผู้ให้หรือผู้บริจาคให้มาเจอกัน เราคิดถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งคนทำเเละคนที่ได้รับประโยชน์” คุณสิรินาท ต่อวิริยะเลิศชัย หัวหน้าส่วนบริหารโครงการเพื่อสังคมเทใจดอทคอมกล่าวผ่านรายการ Business Today
อีกหนึ่งช่องทางแบ่งปัน ได้แก่ “ร้านปันกัน” โดยมูลนิธิยุวพัฒน์
“ปันกันเป็นต้นเเบบการเเบ่งปันที่ไม่ต้องใช้เงินเเต่ใช้สิ่งของที่นำไปใช้ประโยชน์ได้เปลี่ยนเป็นทุนการศึกษา ผู้ให้ก็ได้ความอิ่มใจเพราะร่วมทำบุญ ผู้ซื้อก็ได้ของดีราคาถูกเกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ที่สำคัญกำไรของร้านปันกันคือการศึกษาของเด็กๆ” คุณสุทิศา พุ่มประดล รองผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจร้านปันกันกล่าวและว่า
ปันกันเป็นช่องทางการจำหน่ายสิ่งของที่มาจากการบริจาคของคนในสังคมและนำรายได้มาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแก่สังคมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษา รายได้ทั้งร้อยเปอร์เซนต์จะนำไปสนับสนุนเป็น “ทุนยุวพัฒน์” แก่เด็กขาดโอกาสปัจจุบัน “ปันกัน” มี 14 สาขาและ 3 ป็อบอัพสโตร์ เปิดรับบริจาคสิ่งของสภาพดีทำให้เกิดรายได้ที่เปลี่ยนเป็นทุนการศึกษาให้เด็กๆ ของมูลนิธิยุวพัฒน์
ในปี 2562 สามารถระดมทุนได้ 47.7 ล้านบาท สามารถเปลี่ยนเป็นทุนการศึกษา 6,814 ทุนสำหรับนักเรียน 1,135 คน มีผู้สนับสนุนเงิน 29,784 คน ผู้ซื้อสินค้า 278,600 คน องค์กรที่สนับสนุน 153 องค์กร ที่สำคัญคือเกิดการมีส่วนร่วมของคนในสังคมในรูปแบบของ “อาสาสมัคร” ร่วมกิจกรรมปันกัน 882 คน ส่วนผู้บริจาคทั้งที่เป็นเงินและไม่ใช่เงิน เช่น สิ่งของ เครื่องใช้ พื้นที่ขยายร้าน ฯลฯ ล้วนถือว่าเป็นผู้ที่มีจิตสาธารณะด้วยกันทั้งสิ้น
นี่คือเรื่องราวของ “Sharing Society” หรือ สังคมแห่งการแบ่งปันที่มาจาก “กลไกการแบ่งปัน” ประเภทต่างๆ ซึ่งขับเคลื่อนโดยองค์กรที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาสังคมหลากหลายรูปแบบ โดยแต่ละองค์กรต่างมีจุดร่วมเหมือนกันที่จะเชื่อมโยงและขับเคลื่อนสังคมด้วย “การแบ่งปัน”
หาก “คุณ” ต้องการร่วมสร้างสังคมที่ดีสามารถทำได้เลยทันทีไม่ว่าจะเป็น ลงแรง ลงขัน ลงสมอง ตามความถนัดกับกลไกต่างๆ หรือแค่ช่วยแชร์ บอกต่อเรื่องราวดีๆ ให้เพื่อนๆ ในช่องทางโซเชียลมีเดียของตนเอง แค่นี้คุณก็มีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงแล้ว
คุณสามารถติดตามการอัพเดทช่วงเวลาออกอากาศของรายการ “Business Today” FM 102.0 MHz ตอน : Sharing Economy – Sharing Society ได้ทางเฟซบุ๊ค Business Today Thai หรือ เฟซบุ๊ค Khonthaifoundation