ปีที่ผ่านมา “มูลนิธิเพื่อคนไทย” ได้เชิญชวนภาคีสื่อจำนวนหนึ่งร่วมก่อตั้ง “เครือข่ายสื่อร่วมพัฒนาความยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมพลังการทำงานร่วมกันระหว่าง “สื่อ” กับ “ภาคสังคม”   เครือข่ายฯนี้ ให้คุณค่าหลักใน 4 ด้าน ประกอบด้วย (1) Society Centric มุ่งเน้นสื่อสารเพื่อยกระดับความอยู่ดีมีสุขของคนในสังคม (2) Ownership มีความเป็นเจ้าของงาน พร้อมออกแบบเนื้อหาสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างมีกลยุทธ์ (3) Collaboration พร้อมจะทำงานแบบมีส่วนร่วม (4) Action Based หวังผลลัพธ์เรื่องการลงมือทำ มากกว่าสร้างการรับรู้

สมาชิกก่อตั้งเริ่มต้นของเครือข่ายฯประกอบด้วยสื่อ 14 องค์กร/แพล็ตฟอร์ม ได้แก่  สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สำนักข่าวอิศรา สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย thisable.me มูลนิธิเวิร์คพอยท์ LIFEiS  Eduzones บริษัท เซิร์ซ (ไลฟ์) จำกัด เพจต้องแฉ The Standard บริษัท เทลสกอร์ จำกัด ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย (TDJ :  Thailand Data Journalism Network) และเครือข่ายสื่อเยาวชน G – Youth ซึ่งมาจากความร่วมมือระหว่างภาคีมหาวิทยาลัย 7 องค์กร มูลนิธิฟรีดิช เนามัน (ประเทศไทย) “เทลสกอร์” และมูลนิธิเพื่อคนไทย

จริงๆ แล้ว สื่อหลายสำนักดังที่กล่าวมาได้ให้ความร่วมมือทำงานร่วมกันกับภาคสังคมต่อเนื่องตลอดมากว่าปี โดยมีคณะทำงานสื่อสารสังคมมูลนิธิเพื่อคนไทยเป็นตัวกลาง แต่ได้ “คิก..ออฟ” แนะนำตัวและบทบาทการทำงานในนาม “เครือข่ายสื่อร่วมพัฒนาความยั่งยืน” อย่างเป็นทางการครั้งแรกในงาน “Good Society Expo  2019”

ท่ามกลางปัญหามากมายที่กัดกร่อนประเทศไทย ความท้าทายจึงอยู่ที่ทำอย่างไรถึงจะเกิดการรวมพลังความร่วมมือของประชาชน และ “โอกาส” ดังว่านี้ จะมีอยู่จริงหรือ ? แล้วสื่อจะมีบทบาทในการ “ร้อยพลัง”ประชาชนอย่างไร? ลองมาฟังเห็นของผู้นำสื่อสำนักต่างๆ กัน

“อนาคตของประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ได้เกิดจากคนยิ่งใหญ่แต่เกิดจากคนเล็กๆ แต่หัวใจโตๆ อย่างพวกเราทุกคน”  “ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Eduzones www.eduzones.com  และผู้ก่อตั้งหลักสูตรสุจริตไทย www.ThaiHonesty.org กล่าวและว่าการสื่อสารสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง และคนไทยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้

5

เช่นเดียวกับ “สำนักข่าวอิศรา” ที่ขับเคลื่อนประเด็นต่อต้านคอร์รัปชันเป็นหลัก นอกเหนือจากข่าวเพื่อชุมชน และข่าวนโยบายสาธารณะ  “คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์” ผู้อำนวยการสะท้อนว่า การพัฒนาและแก้ปัญหาสังคมขนาดใหญ่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนและองค์กรที่หลากหลาย

“ผมเชื่อว่ามีประชาชนตื่นรู้จำนวนมากที่พร้อมจะร่วมมือ แต่จำเป็นต้องมีกลไกการจัดการที่หลากหลาย และเป็นระบบ จึงจะทำให้การแก้ปัญหาสังคมมีประสิทธิผล เอื้อต่อการร่วมปฏิบัติได้จริง”

2

สำนักข่าวอิศราได้รับการแจ้งเบาะแส เรื่องร้องเรียนในประเด็นทุจริตคอร์รัปชันจากประชาชนตลอดปี 2562 ทั้งหมด  373 เรื่อง หลากหลายวิธี ทั้งการติดต่อด้วยตนเองหรือทางโทรศัพท์ 57 เรื่อง อีเมล์ 197 เรื่อง ทางจดหมายหรือเอกสาร 119 เรื่อง เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนพร้อมจะทำหน้าที่เป็นหูเป็นตา (Whistleblower) เฝ้าระวังสังคม

ไม่ต่างจาก “เพจต้องแฉ” หรือ “MustShare+”

“คุณสุภอรรถ โบสุวรรณ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฮนด์วิสาหกิจเพื่อสังคม จํากัด และผู้ร่วมก่อตั้ง “เพจต้องแฉ” หรือ “MustShare+” เชื่อว่าการทุจริตคอร์รัปชันจะเกิดขึ้นได้ยากหากประชาชนทุกคนช่วยกันสอดส่องดูเเล โดยในปีที่ผ่านมามีประชาชนให้ข้อมูล เบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันผ่านต้องแฉจำนวน 300 – 400 เรื่อง หรือเท่ากับวันละเรื่อง !!

“โลกของเราถูกท้าทายด้วยอะไรหลายอย่างก็ขอให้ภาคสังคมอย่าท้อ ถ้าหากเราไม่สู้ ปัญหาสังคมคงหนักหนา ผมเชื่อว่าต้องมีจุดที่เราจะชนะและปัญหาก็ต้องเเพ้เราสักวัน” คุณสุภอรรถกล่าว

6

สำหรับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส “รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล” ผู้อำนวยการสถานีกล่าวว่า มีจุดยืนในการมุ่งมั่นทำหน้าสื่อสาธารณะ โดยยังขับเคลื่อนเนื้อหาที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม 3 วาระรณรงค์ ประกอบด้วย (1) การจัดการขยะ ภายใต้แคมเปญ โลกนี้ไม่มีขยะ  (2) การเสนอทางออกปากท้องประชาชน พอเพียง พอใช้ ไร้หนี้ ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (3) การกระจายอำนาจที่คาดหวังสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ความสำเร็จที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาสู่ปีที่ 13 เพราะเราได้รับการสนับสนุน การมีส่วนร่วมจากหุ้นส่วนสาธารณะ ภาคีเครือข่ายและประชาชน” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว

 

ขอบคุณภาพจากไทยพีบีเอส

ขอบคุณภาพจากไทยพีบีเอส

ต่อด้วยสำนักข่าวออนไลน์ THE STANDARD  ที่พร้อมจะหนุนเสริมงานของภาคีภาคสังคม โดย “คุณเอกพล บรรลือ” บรรณาธิการข่าวบอกว่าปีนี้มุ่งรณรงค์ “ปัญหาขยะพลาสติก” ที่กำลังคุกคามหลายพื้นที่ทั่วโลก

9

มาถึงภาคีใหม่ที่เพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกเครือข่ายสื่อร่วมพัฒนาความยั่งยืนเมื่อช่วงต้นปีนี้  ได้แก่ สื่อออนไลน์ “The People” และสถานีโทรทัศน์ New 18

“คุณอนันต์ ลือประดิษฐ์” ผู้อำนวยการ และบรรณาธิการบริหาร The People กล่าวว่า  ที่ผ่านมา The People เป็นสื่อกลางในการนำเสนอข่าวที่สร้างสรรค์ต่อสังคมและยังคงพร้อมจะสนับสนุนภาคสังคมต่อไป ในฐานะคนทำงานด้านสื่อขอให้กำลังใจภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้ลุล่วงอย่างยั่งยืนและ พร้อมจะใช้ความเชี่ยวชาญด้านสื่อมวลชนที่มีมามีส่วนร่วม

10

“คุณอรพิน เหตระกูล” ผู้อำนวยการออนไลน์มีเดีย New 18 กล่าวว่า ในปีนี้สถานีจะทำโครงการรณรงค์เพื่อลดปัญหาการกลั่นแกล้งออนไลน์ (Cyberbullying) และการใช้ประทุษวาจา (Hate Speech) ในสื่อออนไลน์ ชื่อโครงการ Stop Bully หยุดเหยียดไม่เกลียดกัน” ประกอบด้วยสกู๊ปข่าว 20 ตอน และหลักสูตรอีเลิร์นนิ่ง (E-learning) แนะนำสาธิตกระบวนการเรียน การสอนให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมายมีความเข้าใจและเปลี่ยนพฤติกรรม นำร่องกับ 15 โรงเรียนทั่วประเทศ พร้อมกับเปิดให้ผู้สนใจกลุ่มต่างๆดาวน์โหลดนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ได้

“เรามีจุดยืนในการทำหน้าที่เป็นสื่อกลางช่วยแก้ปัญหาสังคมอยู่แล้วจึงพร้อมและยินดีให้การสนับสนุนภาคสังคมด้านการสื่อสาร” คุณอรพินกล่าว

8

นอกเหนือจากสมาชิกเครือข่ายสื่อร่วมพัฒนาความยั่งยืนแล้ว ยังมี “สื่อ” อีกไม่น้อย หลากหลายช่องทางที่พร้อมเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนร่วมแก้ปัญหากับภาคสังคม

“คุณฐิติรัตน์ พูนศิริชัยกิจ” ผู้อำนวยการฝ่ายคลื่นวิทยุ FM 96.5MHz บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าสามารถให้ช่องทางแก่ภาคสังคมสื่อสารผ่านรายการวิทยุต่างๆ ตามกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ เช่น รายการเวทีความคิด: Thinking: Channel (ชื่อเดิม Thinking Radio) กลุ่มเป้าหมายคนเมือง และหากต้องการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังธุรกิจสามารถใช้ช่องทางของรายการ Business Connection

11

เช่นเดียวกับ “คุณสุทธิรักษ์ อุฒมนตรี” ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร เนชั่นทีวี ผู้ตื่นตัวนำเสนอข่าวต่อต้านคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่อง “ประเด็นต่อต้านคอร์รัปชันหากเราท้อถอย ไม่มีกำลังใจต่อสู้ก็จะทำให้คนโกงได้ใจ ดังนั้นเราต้องร่วมกัน ผมขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้องค์กรต่างๆทำงานได้สำเร็จ”

มาถึงคนรุ่นใหม่อย่าง “คุณโมไนย เย็นบุตร” ผู้ประกาศข่าว TNN 16 และผู้ดำเนินรายการ “คนชนข่าว” ทาง ช่อง True4U มีความเชื่อในพลังโซเชียลมีเดียว่าจะเป็นโอกาสที่ดีให้ประชาชนลุกขึ้นมาช่วยกันเปลี่ยนแปลงสังคม โดยส่วนตัวสนใจประเด็นเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะการศึกษาเพราะทำให้เด็กๆ มีอนาคตที่ดี

“ยุคออนไลน์ทำให้คนตัวเล็กๆ สามารถช่วยสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัคร ผู้บริจาค หรือช่วยระดมสมองเพราะปัญหาสังคมเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน”

83704367_1559555077526574_8867258212236132352_n-1

จากคำถามที่ว่าความท้าทายที่เกิดขึ้นในสังคมจะมีโอกาสหรือไม่ คำตอบก็คือน่าจะพอมีความหวัง ลองตั้งสมมติฐานจากตัวเลขผู้ติดตามของสมาชิกเครือข่ายสื่อร่วมพัฒนาความยั่งยืน 14 ภาคี เฉพาะช่องทางเฟซบุ๊คช่องทางเดียวนับรวมได้เกือบ 9 ล้านผู้ติดตาม ถ้าเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ก็เท่ากับ 90,000 ผู้ติดตาม นับว่าเป็นพลังมวลชนขนาดใหญ่  บทบาทของสื่อต้องเน้นสื่อสารให้คน 1 เปอร์เซนต์นี้สามารถเข้าถึงช่องทางการลงมือทำ ตามความถนัด จึงเป็นพันธกิจสำคัญร่วมกันของเครือข่ายฯ  และเราหวังว่า ปี2020 นี้ คงจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่มาจากการสานพลังสื่อร่วมกันกับภาคสังคม

แล้วคุณล่ะ..เป็น 1 เปอร์เซ็นต์ในจำนวนนี้หรือยัง ?

ถ้ายัง – ก็มาร่วมมือกันได้เลยที่ www.khonthaifoundation.org  Facebook : Khonthaifoundation ประตูด่านแรกของการเข้าไปทำความรู้จักกลไกต่างๆ อีกมากมาย เช่น โครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ Facebook : ร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ หรือจะเข้าไปดูโครงการแก้ปัญหาสังคมในประเด็นต่างๆ แล้วร่วมบริจาคได้ทันทีที่ www.taejai.com !

87079846_2479627082291336_5527575240109981696_n