ท่ามกลางเมืองกรุงที่มีตึกสูง รถราแน่นขนัด ถ้าได้ลองแวะพักหัวใจใต้ร่มไม้ใน พื้นที่การเรียนรู้ สักแห่งก็คงจะดีไม่น้อย

ใช่แล้ว !!! เรากำลังพูดถึงงาน ไทยพีบีเอส พื้นที่แห่งการเรียนรู้ ครั้งที่ 8 เทศกาลส่งต่อพลังแห่งการให้เรามากกว่าฉัน ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ใครที่มีโอกาสแวะมาเยี่ยมชมงานเชื่อว่าคงจะได้สัมผัสบรรยากาศแห่งการให้ผ่านกิจกรรมเวิร์คช็อปมากมาย แถมยังกรุ่นกลิ่นงานทำมือที่อุดมไปด้วยความเป็นมา ความงามแบบซื่อตรงและเป็นมิตรกับธรรมชาติ

3เมื่อเดินสำรวจภายในงานพบว่าในทางกายภาพงานถูกแบ่งออกเป็น 5 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1 กิจกรรมจิตอาสา โซนที่ 2 ประดิษฐ์ของขวัญส่งต่อคนที่เรารัก โซนที่ 3 “ปฏิบัติการถ้ำหลวง” คุณค่าความเป็นมนุษย์และการแบ่งปัน โซนที่ 4 ตลาดนัดยั่งยืน และโซนที่ 5 ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา Our loss is our gain  เรียกว่าเป็นการจัดพื้นที่ได้ลงตัวและที่สำคัญได้เห็นพลังการมีส่วนร่วมซึ่งนำมาสู่การลงมือทำเพื่อช่วยเหลือสังคม เป็นสังคมแห่งการแบ่งปันในทุกๆ ด้านอย่างแท้จริง

4
พื้นที่เวทีกลางถือว่าเรียกความสนใจจากผู้เยี่ยมชมงานได้ไม่น้อยเพราะมีการเชิญผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการให้มาร่วมพูดคุยกันเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจ ประกอบด้วย คุณหนาว-พิเชษฐ โตนิติวงศ์ ผู้จัดการธรรมธุรกิจ ซึ่งเป็นธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรแบบธรรมชาติ ภายใต้หลัก บันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง” ซึ่งเป็นศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ คุณเข้มไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ หนึ่งในผู้ซึ่งนำแนวคิดเรื่องทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับการทำการเกษตร และการดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน และ คุณบีกิ่งกาญน์ จันทร์สกาวรัตน์ ผู้จัดการงานพัฒนาโครงการ โครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ มูลนิธิเพื่อคนไทย  ซึ่งมีพันธกิจมุ่งเน้นเชื่อมโยงทรัพยากรด้านต่างๆ ทั้ง “ทุนมนุษย์” และ “ทุนเงิน” จากผู้ที่เป็น “ผู้ให้” ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัคร หรือผู้บริจาค แล้วบูรณาการอย่างมีกลยุทธ์ก่อนเชื่อมต่อให้ “ผู้รับ” นำไปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์  โดยทั้ง 3 ท่านร่วมพูดคุยกันอย่างออกรสออกชาติในประเด็นที่น่าสนใจก็คือ “การให้”

7ถ้าให้ลองนิยามคำว่า “การให้” หลายคนคงจะให้ความหมายแตกต่างกันออกไป สำหรับคุณเข้มนั้นเขาได้นิยามการให้ คือ คำว่า “พอ”

8“ถ้าไม่รู้จักคำว่าพอเราก็จะไม่รู้จักคำว่าให้ เช่น มีเงินสิบล้านยี่สิบล้านแต่เรายังคงต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ได้แบ่งปันแต่เมื่อไหร่ที่เราพอแล้วเราก็จะมีความสุขและอยากแบ่งปันให้คนอื่น” คุณเข้มกล่าว

สอดคล้องกับคุณหนาว เขาบอกว่าหากเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เราทุกคนในสังคมก็จะรู้จักคำว่า “พอ” ขณะที่คุณหนาวก็มีความเชื่อมั่นว่าการให้ที่ดีที่สุดก็คือ การให้ “ความรู้”

“ผมต้องการให้เรากลับไปให้แบบคนจน เช่น การให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อเขาเข้าใจ เขาก็จะสามารถพึ่งพาตนเองได้” คุณหนาวกล่าว

ด้านคุณบีอธิบายนิยามการให้ตามแนวทางของมูลนิธิเพื่อคนไทย โดยยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นในงาน Good Society Expo “เทศกาลทำดีหวังผล พื้นที่การสร้างพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม ร่วมกันขยายผลความสำเร็จการแก้ปัญหาสังคม ผ่านกลไกความร่วมมือประเภทต่างๆ โดยมีองค์กรตัวกลาง รวมทั้งคนทำงานเพื่อสังคมจากภาคส่วนต่างๆ ที่มีผลสำเร็จ ว่า การให้ที่เกิดขึ้นในงานเทศกาลหวังทำดีผลนั้นมีหลายรูปแบบ อาทิ ทุนเงิน เวลา และเครือข่าย ที่ทุกคนสามารถแบ่งปันร่วมกันได้

1นอกจากนี้คุณบียังเล่าถึงแคมเปญ Limited Education ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาคสังคมโดยเครือข่ายองค์กรเพื่อการศึกษาในนามโครงการ “ร้อยพลังการศึกษา” และภาคธุรกิจ  เพื่อเชิญชวนคนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยิ่งทำให้เราเห็นภาพของการที่ทุกภาคส่วนสามารถมาร่วมกันแก้ปัญหาสังคมได้

“เวลาที่เรามาร่วมมือกันทำงานก็จะนำไปสู่การสร้างผลกระทบในสังคม ถ้าเราทำคนเดียวก็จะมีพลังนิดเดียว แต่ถ้าเราร่วมกันก็จะมีพลังมากขึ้น” คุณบีกล่าว

เมื่อเดินสำรวจมาถึงโซนกิจกรรมจิตอาสา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมงาน Good Society Expo เทศกาลทำดีหวังผล โดยมีประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเข้าร่วมเวิร์คช็อปจำนวนมาก  ประกอบด้วย

11Workshop ตุ๊กตา คุณช้างจับมือ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย โดยกลุ่มปันรักจิตอาสา โรงเรียนวาสุเทวี

Workshop ถุงมือป้องกันผู้ป่วย ดึงสายน้ำเกลือและสายอาหาร เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย โดยกลุ่มปันรักจิตอาสา โรงเรียนวาสุเทวี

Workshop ยางยืดเปลี่ยนชีวิต เพื่อมอบให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ต้องการการกายภาพบำบัด โรงพยาบาลบางละมุง พัทยา โดย ดร.เมธี ธรรมวัฒนา

Workshop เย็บเต้านมเทียม เพื่อมอบให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดย กลุ่มเพื่อนทอฝัน และศูนย์อาสาสมัครศิริราช

Workshop ร้อยลูกปัดด้วยใจทำสายแว่น เพื่อมอบให้สมาชิกกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนเมือง โดย ForOldy

Workshop เย็บซองแว่นตา เพื่อมอบให้สมาชิก กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนเมือง โดย ForOldy

Workshop ดูเปลี่ยนชีวิต โครงการยิ่งให้ยิ่งได้… หนังสือเสียงเพื่อเพื่อน ปีที่ 6  (รอตรวจสอบข้อมูล)

Workshop Happy Dolls Project เย็บตุ๊กตาเพื่อเด็กชาวเขา โดย คุณนงลักษณ์ พิทักษ์ธรรมนาถ

แต่สิ่งที่สร้างแรงดึงดูดมากเป็นพิเศษก็คือภาพของจิตอาสาที่กำลังขะมักเขม้นกับการตัดเย็บตุ๊กตารูปร่างน่ารัก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Happy Dolls Project โดย คุณลักษณ์นงลักษณ์ พิทักษ์ธรรมนาถ ผู้ชื่นชอบการเย็บตุ๊กตาจนกลายเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้ร่วมเย็บปัก ถัก ร้อย ใส่จินตนาการลงไปได้เต็มที่ พร้อมกับเรียนรู้ใจตัวเองไปในระหว่างที่ทำงาน เพื่อรวบรวมตุ๊กตาไปมอบเป็นขวัญวันปีใหม่และเป็นกำลังใจให้กับเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

15คุณลักษณ์เล่าว่า เธอใช้ชีวิตในสายงานคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานนับสิบปี ทว่าเมื่อเดินไปจนสุดทางความสุขที่มีเริ่มหดหายไปแต่เธอกลับได้ยินเสียงหัวใจของตัวเองร่ำร้องให้ก้าวข้ามความหวาดกลัวไปสู่ความกล้าหาญลงมือออกแบบตุ๊กตาจนเกิดการรวมตัวของจิตอาสาจำนวนหนึ่งตัดเย็บตุ๊กตาเพื่อส่งต่อเป็นกำลังใจให้กับเด็กๆ รวมถึงบุคคลทั่วไป เช่น พยาบาล

10“ทำงานไปถึงจุดหนึ่งก็เริ่มรู้สึกว่างานที่ทำอยู่ไม่ตอบโจทย์ชีวิต แต่เราเป็นคนชอบเย็บผ้าเลยตัดสินใจมาทำงานจิตอาสาซึ่งก็เกิดประโยชน์กับตนเองและสังคม พอทำแล้วมีความสุขเลยชวนคนอื่นมาทำร่วมกัน” คุณลักษณ์กล่าว

แววตาแห่งความสุขของเด็กน้อยทำให้ความเชื่อมั่นในการทำงานศิลปะของคุณลักษณ์มีคุณค่า เช่นเดียวกับจิตอาสาหลายคนที่มาเย็บตุ๊กตาต่างก็ให้คำตอบเดียวกันว่า การทำงานจิตอาสาทำให้มีความสุขและเติมเต็มพลังในชีวิต

2 “เวลาเราได้เห็นแววตาของเด็กๆ เวลาที่เขาได้รับตุ๊กตา เขามีความสุข เราก็มีความสุข คนที่ทำงานอาสาก็ได้รับพลังชีวิตที่ดีด้วย” คุณลักษณ์กล่าวทิ้งท้าย

ภาพของกลุ่มจิตอาสาที่มาร่วมคิด ร่วมทำ เปิดมุมมอง “การให้” ส่งต่อความดีสู่สังคมในงานเทศกาลส่งต่อพลังแห่งการให้ครั้งนี้ อาจทำให้หลายคนย้อนกลับไปถามตนเองว่า “วันนี้เราได้มีส่วนร่วมทำเพื่อสังคมแล้วหรือยัง ?” เพราะเพียงแค่เราแต่ละคนคิดและทำความดีกันคนละนิดสังคมไทยก็น่าจะงดงามขึ้นอีกไม่น้อย