องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มูลนิธิเพื่อคนไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดทำ “โพลต้านโกง” ขึ้น เพื่อให้พรรคการเมืองนำข้อเสนอของประชาชนจากผลโพลไปพัฒนาเป็นนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน ประกาศพันธสัญญารับเลือกตั้ง 2562  โดยเตรียมจะแถลงผล 20 ธันวาคม ศกนี้ และเดินหน้าหาแนวร่วมภาคประชาชนติดตาม ตรวจสอบ คำสัญญานักการเมืองอย่างต่อเนื่อง

ในงานแถลงข่าวการประชุมความร่วมมือภาคีเครือข่ายร่วมขยายผล “โพลต้านโกง”  ซึ่งจัดขึ้นในวันพุธที่ 28 พฤศจิกายน ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล นั้น

ภาคีเครือข่ายขยายผลโพลต้านโกง

ภาคีเครือข่ายขยายผลโพลต้านโกง

 

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

นายประมนต์ สุธีวงศ์  ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ไม่อาจปฏิเสธว่า นโยบายของพรรคการเมืองทุกพรรค มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน แต่ละพรรคจะมีนโยบายที่แตกต่างกัน ตามการกำหนดกลยุทธ์ของแต่ละพรรค แม้จะเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจ เรื่องการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน หรืออย่างปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหาสิ่งแวดล้อม  ปัญหารัฐสวัสดิการต่างๆ   ฯลฯ ทุกปัญหามีจุดร่วมเหมือนกัน คือ มาจากการทุจริตคอร์รัปชันที่ไปลดทอนและทำให้เกิดอุปสรรคในการพัฒนาสังค ดังนั้น ในการเลือกตั้ง 2562 ที่จะถึงนี้ น่าจะเป็นเรื่องสำคัญและถึงเวลาที่พรรคการเมืองไทยที่ควรจะมีนโยบายด้านการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง และเป็นโอกาสของพรรคการเมืองด้วย ที่จะใช้จังหวะนี้ประกาศเป็นนโยบายหาเสียงช่วงเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน ยังเป็นโอกาสสำคัญของประชาชนที่จะสามารถสะท้อนเสียงตัวเองออกไปในฐานะที่เป็นเจ้าของประเทศ ว่า มีความต้องการให้พรรคการเมืองและนักการเมืองไทย ดำเนินการในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร  ผ่านโพลที่ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยดำเนินการ โดยพร้อมจะแถลงผลโพลในวันที่ 20 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ เพื่อให้ทันกับที่พรรคการเมืองต่างๆ จะนำไปพัฒนาเป็นนโยบายในการหาเสียง แต่สำคัญกว่านั้นคือ จะต้องทำจริงตามสัญญาด้วย หลังพ้นช่วงเลือกตั้ง

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 นางเสาวณีย์  ไทยรุ่งโรจน์อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำการสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI) มา 8 ปี แม้โดยภาพรวมจะดีขึ้นคือจากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 35 ในปี 2553 สูงขึ้นเป็นร้อยละ 55 ในปีนี้ แต่ยังมีปัญหาอีกมากที่รอการแก้ไข และจากผลสำรวจล่าสุดของปีนี้ พบว่า ประชาชนร้อยละ 99 ไม่ทนต่อการคอร์รัปชัน กับร้อยละ 86  บอกว่า พร้อมจะมีส่วนร่วมในการป้องกันต่อต้านการทุจริต  โพลต้านโกงนี้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะไปเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้เป็นเจ้าของประเด็นต่อต้านคอร์รัปชันตั้งแต่แรก และหากพรรคการเมืองรับข้อเสนอของผลโพลไปเป็นนโยบาย ย่อมเท่ากับว่า สังคมไทยเกิดนโยบายการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในระบบมาจากการฟังเสียงประชาชน

“โพลต้านโกง” หรือ “โครงการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมืองและนักการเมืองไทยในการเลือกตั้ง 2562” นั้น มีประชากรเป้าหมายเป็นประชาชนทั่วไป ขนาดตัวอย่างไม่น้อยกว่า 3,000 ตัวอย่าง โดยมีสัดส่วนกลุ่มที่จะได้มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรกกับกลุ่มที่เคยเลือกตั้งมาแล้วคิดเป็นสัดส่วน 1: 6 กระจายจำนวนตัวอย่างทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ เกี่ยวกับความคาดหวังต่อการขับเคลื่อนงานต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมืองและนักการเมือง ในด้าน (1) การขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศ  (2)การขับเคลื่อนการทำงานของพรรคการเมือง และ (3) การปฏิบัติตนของนักการเมือง ระยะเวลาโครงการ 30 วัน เริ่มตั้งแต่ 16 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 15 ธันวาคม

ขนานกันไป ยังมีการสำรวจในช่องทางออนไลน์ ผ่านเวบไซต์ www.แจกการบ้านนักการเมืองต้านโกง.com ในช่วงวันที่ 1-14 ธันวาคม คาดว่าจะได้จำนวนประชากรเป้าหมายอย่างน้อย 5,000 คน และจะมีการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารเพื่อให้เกิดการกระจายโพลล์ออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางออนไลน์ของภาคีเครือข่ายต่างๆ ซึ่งบริหารจัดการโดยมูลนิธิเพื่อคนไทย ในภาพรวมคาดว่าโพลต้านโกงจะสามารถรวมเสียงของประชาชนได้ไม่น้อยกว่า 8,000 ตัวอย่าง ถือเป็นจำนวนที่มีความน่าเชื่อถือในทางสถิติ

นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย

นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย

นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวว่า ด้วยกระบวนการของโพลต้านโกงมีหลายขั้นตอน และเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย  การจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายองค์กร เริ่มจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ผู้มีพันธกิจหลักในการสร้างเสริมพลังประชาชนร่วมต้านโกง และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องมือสำรวจวิจัย ขณะที่มูลนิธิเพื่อคนไทยจะมุ่งเน้นเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายให้เข้ามาช่วยกันขยายผลโพล เพื่อให้กระบวนการต่างๆ สมบูรณ์ขึ้น เพราะต้องอาศัยภาคีเครือข่ายจำนวนมากช่วยกันกระจายเสียงของประชาชนที่โพลรวบรวมไว้สู่สาธารณะแล้วให้พรรคการเมืองนำไปเป็นนโยบาย

บรรยากาศการประชุมความร่วมมือภาคีเครือข่ายร่วมขยายผล “โพลต้านโกง”

บรรยากาศการประชุมความร่วมมือภาคีเครือข่ายร่วมขยายผล “โพลต้านโกง”

ดังนั้น กระบวนการทำงานนำไปสู่ผลลัพธ์ ไม่ได้จบแค่ “ผลโพล”  ยังมีเรื่องการติดตามพันธสัญญานักการเมืองอย่างต่อเนื่อง หลังเลือกตั้งด้วย จึงเป็นที่มาของการประชุมภาคีเครือข่ายในวันนี้  ประกอบด้วย เครือข่ายสื่อมวลชน เครือข่ายวิชาการ เครือข่ายคนรุ่นใหม่ และเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมขยายผลใน 3 ด้าน  ได้แก่ (1) ช่วยแชร์โพลล์ออนไลน์ให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุด ในช่วงวันที่ 1-14 ธ.ค.   (2) ร่วมกระจาย “ผลโพล” หรือข้อเสนอของประชาชน ในวงกว้างในรูปแบบต่างๆ อาจจะเป็นเวทีสาธารณะ หรือกิจกรรมอื่นใด ให้เกิดพันธะสัญญาสู้โกงของพรรคการเมือง ในช่วงมกราคมและกุมภาพันธ์ ก่อนการเลือกตั้ง 2562  (3) ร่วมติดตามตรวจสอบ “คำสัญญานักการเมือง” อย่างต่อเนื่องหลังเลือกตั้ง

อนึ่ง ภาคีเครือข่ายที่ตอบรับให้ความร่วมมือแล้วเรืองการกระจายโพลล์ออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นภาคีกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้แก่  สถาบันเช้นจ์ฟิวชัน ฯ เครือข่ายทีวายพีเอ็น เลิร์นเอ็ดดูเคชั่น  อา-ชีฟ  แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม ทูลมอโร วายน็อต โอเพ่นดรีม สยามอาสา ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีภาคีวิชาการและสื่อมวลชน ตลอดจนผู้นำจากภาคส่วนต่างๆ ที่จะช่วยขยายผลในช่องทางโซเชียลมีเดียส่วนบุคคล อีกจำนวนมาก เช่น นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์  นายมานะ นิมิตรมงคล เป็นต้น