ในขณะที่เรื่องผู้สูงอายุกำลังเป็นประเด็นใหญ่เพราะมีจำนวนมากขึ้น รวมถึงมีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยเรื้อรัง  การบริการสุขภาพก็มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ แต่อัตราการเกิดกลับน้อยลง ทั้งสองประเด็นเป็นปัญหาหลักที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งอาจไม่ใช่การรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว

ดังเช่นวันนี้เกิดต้นแบบความสำเร็จของสังคมที่ยั่งยืนจากการร่วมลงมือทำ อย่าง “ลำสนธิโมเดล”และ“ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทิดไท้ องค์ราชัน องค์กรบริหารส่วนตำบลเขาน้อย อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการเห็นความทุกข์ยากของผู้สูงอายุและเด็กเล็กในพื้นที่

วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย

“ปัจจัยแรกที่ทำให้เกิดความสำเร็จนี้ก็คือความมุ่งมั่นของทีมงานในอำเภอลำสนธิ ตั้งแต่ผมได้มาเจอก็เห็นความตั้งใจและทุ่มเท ปัจจัยที่สองคือความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งคนลำสนธิ องค์กรธุรกิจที่สนับสนุน ผมมั่นใจว่าที่นี่จะเป็นต้นแบบที่สำคัญในการดูแลคนชราและเด็กเล็ก” วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าว

บทเรียนจาก “ลำสนธิโมเดล”

โครงการ “คนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน” โดยนายแพทย์สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ  จ.ลพบุรี ผู้มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้สูงอายุ คนพิการที่เจ็บป่วย หรืออยู่ในสภาพนอนติดบ้าน ติดเตียง ที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษา ขาดคนดูแล ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการออกแบบ“ระบบการดูแลสุขภาพระดับอำเภอ” หรือที่รู้จักกัน”ลำสนธิโมเดล”

ปัญหาดังกล่าวจึงเกิดการระดมการมีส่วนร่วมจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 6 ตำบล หรือ 6 อบต. เปิดบ้านเป็นศูนย์กลางดูแล สร้างทีมงานเข้าไปดูแลสุขภาพที่บ้าน ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา เภสัชกร อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่น และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนงบประมาณในการผลิตนักบริบาลชุมชน ผ่านกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่น เพื่อให้นักบริบาลชุมชนผลัดเปลี่ยนเข้าดูแลผู้ป่วย ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องสุขภาพ อาหาร ตลอดจนการดำรงชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนงบในการปรับปรุงสภาพบ้านเรือน อำนวยความสะดวกผู้ป่วยให้อยู่บ้านได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม

จากความท้าทายที่ต้องเผชิญ กรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เรื่องการให้ อบต. จ้างนักบริบาลชุมชนนั้นยังขาดความชัดเจนในเรื่องการตีความกฎระเบียบต่างๆ และรัฐมีกลไกการติดตามตรวจสอบนั้น ได้สร้างความกังวลให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในพื้นที่ลำสนธิ เนื่องจากปัจจุบันแต่ละ อบต.ต้องจ้างนักบริบาล 3-4 คน ดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยติดบ้านติดเตียงในพื้นที่  โดยต้องจ่ายค่าตอบแทนคนละ 6,000-7,000 บาท ต่อเดือน ตกปีละกว่า 300,000 บาท ซึ่งเกินจากงบประมาณที่กำหนดไว้ ที่ผ่านมาจึงเกิดการทักท้วงจาก สตง.ถึงขอบเขตหน้าที่และงบประมาณมาโดยตลอด จึงทำให้ต้องขอสนับสนุนจากภาคเอกชน ซึ่งก็ได้รับการยืนยันจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในพื้นที่ลำสนธิว่าจะยืนหยัดในเจตนารมณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุในพื้นที่ต่อไป

นายแพทย์สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ จ.ลพบุรี

“ผมได้เจอกับคุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย ทำให้เริ่มเรียนรู้ว่า การจะขยายงานต่อไปได้ ต้องมีกลไกระดมทุนที่หลากหลายไม่ผูกติดกับแหล่งทุนใดแหล่งทุนเดียว ผมจึงเขียนโครงการเสนอกองทุนรวมคนไทยใจดี ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุน” หมอสันติ กล่าว

กว่า 12 ปีที่ลำสนธิโมเดล กลายเป็นต้นแบบหนึ่งในหนทางสู่การปฏิรูประบบสุขภาพของไทย  แต่นั้นก็ไม่ได้ทำให้คุณหมอสันติหยุดความมุ่งมั่นที่จะสานต่องาน

“จากการได้เห็นความทุกข์ยากของผู้สูงอายุในอำเภอลำสนธิ ทั้งโรค สภาพเเวดล้อม ไม่มีคนดูเเล เราจึงสร้างคนลำสนธิโมเดลขึ้น เเต่ก็คิดว่ายังมีช่องว่าง ผู้ป่วยหลายคนยังต้องการการดูเเลอย่างเข้มข้น เราจึงฝันว่าต้องมีตึกที่มีระบบดูเเลอย่างครบวงจร” หมอสันติ กล่าว

เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างการเติบโตที่ยั่งยืน

ณ วันนี้ความฝันเป็นจริง  ด้วยเงินสนับสนุนจำนวน 10 ล้านบาทจากผู้ใจบุญ จึงเกิดอาคารที่พักชั้นเดียวชื่อว่า “คุณวิโรจน์ สุมาลี รัตนศิริวิไลและครอบครัว”ภายในพื้นที่โรงพยาบาลลำสนธิ ซึ่งใช้เปิดเป็น “ศูนย์ดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุแบบครบวงจร”

ศูนย์ดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุแบบครบวงจร

ศูนย์ฯแห่งนี้มีทีมงานดูแล ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด นักบริบาล ที่ได้รับทุนจากกองทุนรวมคนไทยใจดี ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องสุขภาพ อาหาร ตลอดจนการดำรงชีวิตประจำวันและฟื้นฟูเฉพาะราย ภายในศูนย์ฯมีเตียงรองรับได้ 20 เตียง ห้องพิเศษ 2 เตียง

สำหรับผู้ป่วยที่ใช้บริการจะแบ่งเป็นประเภทการดูแลใน 2 ระยะ คือ ระยะเปลี่ยนผ่าน (Intermediate care) ระยะนี้จะเน้น 3 โรคสำคัญ คือ โรคหลอดเลือดสมอง การบาดเจ็บที่สมอง และการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง เป็นกลุ่มที่พ้นระยะเฉียบพลันมาแล้ว โดยไม่ใช่การดูแลที่เน้นการรักษาแต่ยังมีความจําเป็นที่จะต้องได้ รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ และพัฒนาทักษะเตรียมพร้อมญาติเพื่อการดูแลที่บ้าน

ต่อมาคือ ประเภทการดูแลทดแทนชั่วคราว (Respite Care)  หมายถึง เป็นสถานที่จัดการดูแลผู้ป่วยแบบชั่วคราวระยะสั้น เพื่อให้ผู้ดูแลได้พักจากการดูแลผู้ป่วย ซึ่งผู้ดูแลได้คลายเครียด ได้มีโอกาสไปประกอบภารกิจอื่นๆ หรืออาจในกรณีฉุกเฉินที่ผู้ดูแลไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ โดยผู้ป่วยได้รับการดูแลจากสถานที่นี้จากบุคลากรที่มีคุณภาพและอยู่ในสถานที่ที่มีความปลอดภัยในการดูแล

การดูแลขณะนี้ยังอยู่ในระยะทดลองจึงยังไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ามารับการดูแลจะต้องนำ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป กระดาษทิชชู ยาประจำตัว ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ 1 ผืน ผืนเล็ก 2-3 ผืน พัดลม นมกล่องหรืออาหารเสริมทางการแพทย์ที่ให้ประจำขณะอยู่บ้านมาด้วย

“กำลังคนในการดูแลสูงสุดรับได้จริงๆเพียง 8 ราย เพราะเป็นผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อย แต่ผลตอบรับตอนนี้ดี ผู้ป่วยหน้า แววตาที่เคยอิดโรย ดูสดใส ญาติต้องการมารับบริการต่อเนื่องตลอด แต่ทางเรายังอยู่ในช่วงทดลองระบบ จึงไม่สามารถตอบสนองได้ทุกราย” เกศสุดา เกษรสุคนธ์ พยาบาลผู้ชำนาญการ กล่าว

ศูนย์ฯแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่หน่วยงานที่สนใจ รวมทั้งเป็นแหล่งฝึกนักบริบาลอาชีพ เพื่อให้การขยายผลแนวคิดคนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกันไปสู่พื้นที่อื่นๆ ได้อย่างแท้จริง

สร้างธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อความยั่งยืน

อีกหนึ่งความมุ่งหวังของหมอสันติ คือกลไกในการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในลำสนธิ ในรูปแบบของ “กิจการเพื่อสังคม” (Social Enterprise) เพื่อสร้างเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงศูนย์ดังกล่าว โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินบริจาคจากภายนอกเพียงอย่างเดียว เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่มุ่งสร้างคุณค่าสูงสุด (Maximize Value) ให้แก่สังคม

“ที่คิดเอาไว้คือจะสร้างธุรกิจอะไรบางอย่างเพื่อนำกำไรมาสนับสนุนศูนย์นี้ หรืออาจใช้ศูนย์นี้เปิดให้ผู้ป่วยจากลำสนธิหรือคนภายนอกที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์เข้ามาใช้บริการโดยเก็บค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าที่อื่นแต่ได้คุณภาพซึ่งต้องใช้เวลา” หมอสันติ กล่าว

“ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” อีกต้นแบบชุมชนยั่งยืน

“ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทิดไท้ องค์ราชัน องค์กรบริหารส่วนตำบลเขาน้อย อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี” ดูเเลโดยเฉพาะเด็กปฐมวัย อายุตั้งแต่ 2-4 ขวบ เพราะที่นี่เป็นภาคเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่ทำไร่อ้อย รับจ้าง คนงาน เลี้ยงสัตว์ จึงทำให้ไม่มีเวลาดูเเลลูกหลาน

“เราคิดว่าเรื่องเด็กเป็นเรื่องสำคัญ เราได้เห็นพฤติกรรมของเด็กหลังจากเข้ามาเรียนรู้เปลี่ยนไป มีเหตุผล เเละนิ่งมากขึ้น” หมอสันติ กล่าว

หากพิจารณาสภาพแวดล้อมถือเป็นศูนย์ที่มีบรรยากาศเหมาะสมต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างมาก มีพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน อากาศโปร่งโล่งไม่อึดอัด สร้างความประทับใจตั้งแต่ก้าวแรก

ศูนย์แห่งนี้มีเด็กๆกว่า 78 คน ได้รับการดูแลตั้งแต่เรื่องอาหาร การเรียนรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ตามหลักสูตรที่เรียกว่า “ไฮสโคป” (HighScope) จากโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ หรือ “ไรซ์ไทยแลนด์”   เน้นกระบวนการเรียนการสอนผ่านพฤติกรรมการเล่น ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยให้เกิดขึ้นจริง ตอบโจทย์พัฒนาทักษะสมอง Executive Functions-EF (เอ็กคลูซีฟ ฟังก์ชัน-อีเอฟ) ซึ่งเป็นกระบวนการทางความคิดในส่วน “สมองส่วนหน้า” ที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก การกระทำ เป็นความสามารถของสมองที่ใช้บริหารจัดการชีวิตในเรื่องต่างๆ  ในเด็กปฐมวัย  ซึ่งหากพิจารณาความคุ้มค่าในเชิงของการลงทุนเรียกได้ว่าได้ผลเกินคุ้ม

สำหรับแผนการจัดประสบการณ์ ถูกแบ่งเป็นปีการศึกษาละ20หน่วย คิดเป็น 1 ปี เท่ากับ 40 หน่วย ในแต่ละหน่วยการเรียนรู้จะมีการวางรูปแบบเอาไว้อย่างดี เช่น หน่วยการเรียนรู้เรื่อง “กบ” เด็กๆที่นี่จะได้เรียนรู้ว่า กบมีลักษณะอย่างไร กินอะไร แหล่งอาศัยอยู่ที่ไหน

“ในบทบาทของครูก็ต้องทำให้เด็กๆเห็นทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง เพื่อให้เด็กเข้าใจ เข้าถึง บางเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ทะเล ก็ให้เด็กๆได้ลองกินปลาหมึกจริงๆ จึงไม่แปลกว่าทำไมเด็กอยากมาโรงเรียน”  อุไรลักษณ์ ลาภเบญจกุล พยาบาลเทคนิคชำนาญงาน โรงพยาบาลลำสนธิ กล่าว

อุไรลักษณ์ ลาภเบญจกุล พยาบาลเทคนิคชำนาญงาน โรงพยาบาลลำสนธิ

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย 1.งบประมาณอาหารเช้าจากมูลนิธิยุวรักษ์  สนับสนุนเงิน จำนวน 1,520 บาทต่อสัปดาห์ จัดสรรให้เด็กรายละ 20 บาทต่อวัน  2. งบประมาณจาก อบต.เขาน้อย และ 3.งบประมาณจากเครือข่ายบริจาคจากนักลงทุนจัดงานการกุศล

การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กแน่นอนว่าย่อมมีข้อจำกัดต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณการจ้างครู ซึ่งตามปกติแล้วเด็ก 25  คน ต้องมีพี่เลี้ยง 1   คน แต่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้มีเด็ก 78 คน ครูพร้อมพี่เลี้ยง 4 คน นอกจากนั้นยังมีข้อจำกัดในเรื่องค่าอาหารเช้าด้วย

“งบประมาณยังมีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องอาหารเช้า การจ้างครูให้เพียงพอกับเด็ก เราจึงจำเป็นต้องพึ่งพาภาคเอกชนเพราะเรารอครูแต่เด็กรอไม่ได้” อุไรลักษณ์ กล่าว

จากเสียงสะท้อนกลับมาผู้ปกครองก็ยอมรับว่า เป็นการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทำให้เด็กเกิดทักษะความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ สามารถจำแนกเปรียบเทียบได้ชัดเจนมาก ดังนั้น ระบบการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน และสังคม จึงสำคัญมาก

“ต้องการให้สังคมเข้าใจว่าเด็กช่วงวัยนี้อย่าเร่งอ่านเขียน คำว่าเตรียมความพร้อมสำคัญที่สุดและต้องการการสนับสนุนจากภาคเอกชนและคนในสังคม ในส่วนท้องถิ่นนั้นก็ควรหันมาทุ่มทรัพยากรในช่วงวัยนี้เพื่อสร้างคนคุณภาพ”อุไรลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย

เมื่อเส้นทางความสำเร็จมาจากชุมชนที่ร่วมลงมือ จึงถือว่านี่คือ “ความยั่งยืน”ที่แท้จริง  แต่การต่อยอดจะไปได้อีกไกล ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในสังคม แม้ในวันนี้หมอสันติจะต้องมีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่อื่นแต่ก็ยังครอบคลุมการพัฒนาระบบผู้สูงอายุและเด็กเล็กต่อไป