ปรากฏการณ์ใหม่ประเทศไทย ทุกภาคส่วนกว่า 100 องค์กรทั้งธุรกิจ สังคม ตลาดทุน ร่วมส่งสาร “ทุกคนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาสังคมได้” “ภาคสังคม” ปลื้มประชาชนตื่นตัวมีส่วนร่วมในงาน “Good Society Expo:เทศกาลทำดีหวังผล” เริ่มวันที่ 9-11 มิ.ย.นี้ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชวนคนไทยเป็น “พลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม” (Active Citizen) สนับสนุนการทำงานกับองค์กรภาคสังคม “ตัวจริง” ใน 5 ประเด็นหลัก “การศึกษา คนพิการ ต้านทุจริต สิ่งแวดล้อม สุขภาพ” โดยมีกลไกการให้ที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ ทั้ง “เทใจ ปันกัน ฟู้ด ฟอร์ กู๊ด โซเชียลกีฟเวอร์ กองทุนรวมคนไทยใจดี” ขณะที่ “ภาคตลาดทุน” ทั้งสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลท.และก.ล.ต. พร้อมสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศการลงทุนทางสังคมที่ยั่งยืน ผ่านกลไก “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย”

ตามที่มูลนิธิเพื่อคนไทย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ยุวพัฒน์ เอ็นไลฟ ร่วมกับ บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา บริษัท เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ บมจ. เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และภาคีเครือข่ายกว่า 100 องค์กรร่วมจัดงาน “Good Society Expo เทศกาลทำดี หวังผล” หลังจากมีการประชาสัมพันธ์งานนี้เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ปรากฏว่า มีประชาชนจำนวนกว่า 200 คน สมัครเป็น “อาสา” ช่วยงาน และกว่า 300 คนสนใจร่วมทัวร์ภาคสนามเรียนรู้ช่องทางการลงมือแก้ปัญหาสังคมกับภาคีเครือข่ายภาคสังคมที่ขับเคลื่อนงานเชิงประเด็น ได้แก่ ต่อต้านคอร์รัปชัน สิ่งแวดล้อม การศึกษา สุขภาพ และผู้พิการ/ผู้สูงอายุ รวมทั้งกลไกการแบ่งปัน ประกอบด้วย เทใจ ปันกัน ฟู้ดฟอร์กู๊ด โซเชียลกีฟเวอร์ กองทุนรวมคนไทยใจดี และเครือข่ายจิตอาสา ที่เตรียมนำเสนอต่อประชาชนผู้ร่วมงานเป็นจำนวนกว่า 60 กิจกรรม

นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย ตัวแทนภาคีภาคสังคมผู้ร่วมจัดงานเปิดเผยว่า กรอบคิดเรื่องการลงทุนทางสังคมเป็นเรื่องใหม่ จึงจำเป็นต้องสร้างตัวอย่างความสำเร็จและมีกลไกที่หลากหลายให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้ แล้วสื่อสารออกไปอย่างต่อเนื่อง ถึงจะนำมาสู่การสร้างสังคมอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน ผลตอบรับจากประชาชนต่องานนี้ถือว่า เหนือความคาดหมาย หวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทุกภาคส่วนสามารถร่วมลงทุนทางสังคม โดยความร่วมมือจากกว่า 100 องค์กร นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ระดับประเทศที่ทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาคสังคมและภาคีกว่า 80 องค์กร ภาคธุรกิจกว่า 15 องค์กรและภาคตลาดทุนกว่า 20 องค์กร ร่วมส่งสาร “ทุกคนสามารถแก้ปัญหาสังคมได้” เชิญชวนประชาชนยกระดับการทำดี สู่การลงทุนทางสังคม ที่หวังผลได้มากกว่าการบริจาคด้วย “ทุน” ประเภทต่างๆ ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนความรู้ ทุนเครือข่าย ทุนเวลา ทุนเงิน ฯลฯ

ทั้งนี้ เกี่ยวกับประเด็นปัญหาสังคมที่จะนำเสนอเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในงาน Good Society Expo 5 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย ประเด็นการศึกษา นำเสนอสารสำคัญ “Limited Education ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” โดย มูลนิธิยุวพัฒน์ เลิร์นเอ็ดดูเคชั่น ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ อาชีฟ ฯลฯ และช่องทางการมีส่วนร่วมในแก้ไขปัญหา การศึกษา 3 ด้าน คือ ทุน คุณภาพการศึกษา ทักษะการใช้ชีวิต

ประเด็นต่อต้านคอร์รัปชัน นำเสนอสารสำคัญ “พลัง Active Citizen เพื่อลดคอร์รัปชัน” โดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โอเพ่นดรีม สุจริตไทย สำนักข่าวอิศรา ฯลฯ พร้อมรับอาสาสมัครเป็นผู้สังเกตการณ์อิสระโครงการข้อตกลงคุณธรรม (IP-Integrity Pact) ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ หมาเฝ้าบ้าน เป็นต้น

ประเด็นผู้พิการและผู้สูงอายุ นำเสนอสารสำคัญ “สังคมร่วม รวมเราทุกคน” (Social Inclusion) โดยมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม โรงพยาบาลลำสนธิ มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ สภากาชาดไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ฯลฯ ให้สังคมได้เห็นความหลากหลายของศักยภาพของคนพิการ พร้อมเปิดประสบการณ์ให้คนทั่วไปทดลองเป็น “คนตาบอด-หูหนวก” และจัดกิจกรรมยกย่ององค์กรธุรกิจ 120 แห่งที่สนับสนุนจ้างงานคนพิการ

ประเด็นสิ่งแวดล้อม นำเสนอสารสำคัญ “คุณเท่านั้นที่เปลี่ยนโลกได้” โดย มูลนิธิเอ็นไลฟ มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ร่วมกันแสดงพลังอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อ “ดิน น้ำ ป่า เมือง” ร่วมน้อมนำศาสตร์พระราชา มาเป็นแนวทางขับเคลื่อนมุ่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และประเด็นสุขภาพ นำเสนอสารสำคัญ “คนไทยทุกคนเปลี่ยนแปลงตนเองได้” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและกว่า 16 องค์กรเครือข่าย จากปัญหาพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนปัจจุบันมีความเสี่ยงทุกด้าน

อีกเนื้อหาสำคัญของงาน เป็นการนำเสนอ “เครื่องมือส่งเสริมการให้” อย่างมีนวัตกรรม นำเสนอสารสำคัญ “Lifestyle of Giving” หรือ “ทุกเวลาของการใช้ชีวิตเราเป็นผู้ให้ตลอด 1 วัน” ประกอบด้วย เทใจ ปันกัน ฟู๊ด ฟอร์ กู๊ด โซเชียลกีฟเวอร์ กองทุนรวมคนไทยใจดี เครือข่ายจิตอาสา

จากการดำเนินงานปี 2559 “เวบไซต์เทใจ” มียอดสนับสนุนโครงการจากประชาชนทั่วไปจำนวน 6.72 ล้านบาท จำนวน 32 โครงการ และเข้าถึงผู้รับประโยชน์ 1.8 แสนคน กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND) สามารถแบ่งปันเงินจากนักลงทุนผู้ถือหน่วยร้อยละ 0.8 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน หรือร้อยละ 40 ของค่าบริหารจัดการกองทุนของบลจ.บัวหลวง สู่ผู้รับประโยชน์จำนวน 13,683 คน สนับสนุนโครงการเพื่อสังคม 32 โครงการเป็นเงิน 25.50 ล้านบาท ส่วน “ปันกัน” มีผู้ร่วมปันสิ่งของ 16,061 ราย มีผู้บริจาคเงินรับสินค้าแบ่งปัน จำนวน 2.08 แสนราย มีเครือข่ายนักปันอาสา 3,176 ราย สามารถระดมทุนการศึกษาให้นักเรียนทุนยุวพัฒน์ได้ 35.4 ล้านบาท เปลี่ยนเป็นทุนการศึกษาต่อเนื่อง 6 ปีได้ 848 คน “ฟู้ด ฟอร์ กู๊ด” สามารถระดมเงินบริจาคจากร้านอาหารที่ร่วมโครงการจำนวน 3.02 ล้านบาท ช่วยเยาวชนได้ 976 คน “เครือข่ายจิตอาสา” สามารถสร้างการมีส่วนร่วมงานอาสาสมัครให้กับองค์กรภาคสังคม 135 องค์กร และในแต่ละปีสามารถสร้างโอกาสให้ประชาชนเป็นอาสาสมัคร 500-600 คน .

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยและนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เปิดเผยว่า ภาคตลาดทุนมีความพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแห่งการลงทุนผ่านกลไก “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย” โดยมีเป้าหมายสำคัญนอกจากสร้างโอกาสใหม่ให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนด้านผลตอบแทนแล้ว ยังมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีไปพร้อมๆ กัน ด้วยการสนับสนุนภาคสังคมที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชัน เช่นเดียวกับ นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ความสำคัญในการพัฒนาตลาดทุน ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ขณะเดียวกัน ยังเชื่อมโยงความร่วมมือภาคธุรกิจ และสังคม เพื่อขยายผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม ขณะที่นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ต้องการเห็นตลาดทุนไทยมีธรรมาภิบาลที่ดีเรื่องนี้จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความมุ่งมั่นจริงจังจากทุกคน เริ่มจากการมีจิตสำนึก การเคารพกฎกติกาและยึดถือแนวปฏิบัติที่ดี รวมทั้งการมีแรงผลักดันของสังคมซึ่งก็คือ “ผู้ลงทุน”

สำหรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเทศกาลทำดีหวังผล เกือบทั้งหมดเป็นการทำงานต่อเนื่องที่ภาคีเครือข่าย พร้อมใจกันมาเชิญชวนประชาชนร่วมขยายผล โดยกำหนดเป้าหมายวัดผลความสำเร็จเป็นทุนประเภทต่างๆ ที่จะมีการติดตามผลทั้งระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อนำความสำเร็จมาสื่อสารต่อสาธารณะ หวังให้เกิดการลงทุนทางสังคมอย่างต่อเนื่องในอนาคต