ถ้าจะพูดว่า “การปฎิรูปการศึกษา” เป็นเรื่องที่ได้ฟังซ้ำๆ เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง ก็คงไม่ผิด เพราะไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน ก็ยังพบกับปัญหาเดิมๆ หลายครั้งมีคำถามจากสังคมถึงความไม่ก้าวหน้าแถมยังถดถอยรั้งท้ายผลการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง “เวียดนาม” ทั้งๆที่ตัวเลขงบประมาณจัดการศึกษาของไทยสูงลิ่ว

ปี 2558 รัฐบาลใช้งบประมาณถึง 517,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้สร้างโรงเรียนเพิ่ม ทั้งที่จำนวนครูขาดแคลน โดยเฉพาะครูสอนวิชาคณิตศาตร์ และวิทยาศาสตร์ ขณะที่การศึกษาของไทยยังคงเน้นการท่องจำมากกว่าการเข้าใจ

ได้ยินแบบนี้ไม่แปลกใจเลยที่ ผลการประเมิน PISA 2015 พบว่าคะแนนของเด็กไทย ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ลดลงทุกด้านแพ้เวียดนามหลุดลุ่ย และต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ย OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ผลทดสอบยังระบุว่าเด็กที่ได้คะแนนสูงจะอยู่ในกลุ่มโรงเรียนที่เข้าถึง “ทรัพยากร” มากกว่ากลุ่มโรงเรียนทั่วไปซึ่งมาจากสาเหตุ “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”

เพื่อให้เห็นภาพ สมมุติว่า“คุณ”เป็นเด็กหัวดี แต่เกิดในครอบครัวที่มีรายได้ 16,000 บาทต่อเดือน มีความเป็นไปได้สูงที่บ้านคุณจะอยู่ในชนบท เพราะกว่าครึ่งหนึ่งของคนไทยยังอยู่ในเขตชนบท คุณอาจได้เรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใกล้บ้าน แม้มีงานวิจัยบอกว่าการลงทุนในการศึกษาของเด็กก่อนวัยเรียนมีผลตอบแทนสูง กว่าวัยอื่น แต่ทรัพยากรที่ใส่เข้าไปยังไม่มาก ถ้าเทียบกับงบประมาณต่อหัวเด็กก่อนประถม คุณจึงมีโอกาสพัฒนาการล่าช้ากว่าวัย

พอมาถึงชั้นประถม สิ่งที่คุณต้องเจอ คือ เพื่อนร่วมชั้นบางคนก็ยังอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ไปจนจบชั้น ป. 6

นักเรียนชั้นประถม 1-6 ราว 140,000 คน อ่านหนังสือไม่ออก และ 270,000 คน เขียนหนังสือไม่ได้ จากผลสำรวจของกระทรวงศึกษาเมื่อกรกฎาคม 2558 เเม้ว่าปีนั้นจะตั้งเป้าให้เป็นปีเเห่งการปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็ตาม

มันไม่ได้จบอยู่เเค่นี้ แต่ยังลุกลามไปถึงระดับมัธยม เเม้ว่าคุณจะเรียนอยู่ชั้น ม.ต้น เเต่เพื่อนร่วมชั้นของคุณจำนวนไม่น้อยที่อ่านหนังสือไม่ออก

จากผลการสอบนานาชาติ PISA  2012 พบว่าการสอบเรื่องการอ่าน เด็กไทยราว 1/3 ที่สอบตก  ซึ่งตามมาตรฐานของ PISA  คือเด็กที่อ่านหนังสือออกเเต่ไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองกำลังอ่าน เเละถ้าเป็นโรงเรียนที่อยู่ในเขตชนบท สัดส่วนจะเพิ่มขึ้นราว 47% คะเเนนเฉลี่ยของ PISA ด้านการอ่านของเด็กไทยต่ำกว่าเวียดนาม เเละอยู่ในระดับเดียวกับเด็กจากประเทศคอสตาริก้าเเละชิลี

เมื่อนโยบายเรียนฟรีของรัฐบาลเกิดขึ้น อาจเป็นข่าวดีสำหรับคุณ แต่ถึงจะเรียนฟรี พ่อแม่ก็ต้องควักเงินในกระเป๋าจ่ายเพิ่มอยู่ดี ทางเลือกทางรอดคือการกู้เงินส่งลูกเรียน ข้อมูลจากมูลนิธิยุวพัฒน์ ระบุว่า ตัวเลขพ่อแม่ที่ต้องจ่ายเองสูงถึงร้อยละ 50 ของต้นทุนที่ใช้ในการเรียนของลูกๆ

สถิติการศึกษาของประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ  ปี 2556-2557  มีเด็ก 6 ใน 10 คน ที่เรียนจบ ม.6 หรือ ปวช. เด็กที่เข้าเรียน ป. 1 ราว 1 ล้านคน จะเรียนจบ ป.6 ร้อยละ 92 เรียนต่อจนจบ ม.3 ร้อยละ83 และเรียนจบชั้น ม. 6 ประมาณ ร้อยละ63 เท่ากับมีเด็กที่เลิกเรียนกลางคัน หรือหลุดจากระบบ (Dropout) ในรุ่นเดียวกันและในแต่ละปีมีเด็กที่หลุดจากระบบจำนวนกว่า 3 แสนคน

เมื่อคุณต้องการเข้ามหาวิทยาลัย มันคือแย่งชิงเพื่อให้ได้เรียนที่ดีๆ แต่สิ่งที่โรงเรียนของคุณสอนอาจจะไม่ทำให้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ เพื่อเพิ่มโอกาส คุณอาจต้องย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ เพราะโรงเรียนที่ส่งเด็กเข้ามหาวิทยาลัยได้ ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กชนบทอย่างคุณ

สำนักงานทดสอบการศึกษาแห่งชาติ รายงานว่า ใน 50 โรงเรียนที่คะแนนสอบโอเน็ต กระจุกอยู่ใน 9 จังหวัดที่อยู่หัวเมือง โดยสูงสุด 34 โรงเรียนอยู่ในกรุงเทพ ฯ จึงไม่แปลกที่สัดส่วนของการเรียนต่อระดับปริญญาตรีของเด็กในกรุงเทพฯ สูงถึง ร้อยละ65  ในขณะที่สัดส่วนทั้งประเทศอยู่ที่ ร้อยละ28เท่านั้น

คุณต้องดิ้นรนเพื่อหาที่เรียนที่มีคุณภาพไม่พอ  ยังต้องจ่ายค่าเรียนกวดวิชาแสนแพง ในความเป็นจริงถ้าบ้านคุณยากจนความฝันได้เรียนต่อเป็นไปได้ยากมาก

สํานักงานสถิติแห่งชาติสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2556 พบว่า 2/3 ของครอบครัวไทยไม่ได้มีเงินเก็บมากพอที่จะส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยถึงจะกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ก็ตาม

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆที่สะท้อนว่า มี “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” อยู่จริง ที่เห็นได้ชัดก็คือ ระหว่างเด็กที่อยู่ในเมืองกับเด็กที่อยู่ในชนบท

ท่ามกลางปัญหา “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” มีหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคสังคม พยายามแก้ปัญหาแต่ยังมีช่องโหว่ คือ ต่างคนต่างทำ เมื่อเทียบกับขนาดของปัญหาที่รุนแรงขึ้นทำให้วิ่งไล่แก้ปัญหาแทบไม่ทัน

สังคมไทยมีทางเลือกใหม่ มูลนิธิยุวพัฒน์ ร่วมกับ บริษัท เลิร์นเอ็ดดูเคชั่น จำกัด มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยเเลนด์ ริเริ่ม“โครงการพัฒนา100โรงเรียนเพื่อเยาวชนขาดโอกาส” มีจุดเด่นคือผสานเครืองมือที่ช่วยให้เด็กอยู่ในระบบ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยโครงการจะมอบทุนการศึกษาให้เยาวชนที่ขาดแคลนต่อเนื่อง 6 ปี โดยใน 1 โรงเรียนจะมีเด็กได้รับทุนจำนวน 180 คน ส่วนโรงเรียนจะได้รับห้องเรียนดิจิทัลจาก“เลิร์นเอ็ดดูเคชั่น”ที่พิสูจน์แล้วว่าเด็กเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ดีขึ้นจริง เข้าถึงเด็กได้ 700 คน และยังได้เรียนจากครูคุณภาพได้จาก “ทีช ฟอร์ ไทยเเลนด์” จำนวน 9 คน  ทั้งหมดนี้ต้องระดมทุนสำหรับสนับสนุนทรัพยกรโรงเรียนละ 10.88 ล้านบาทตลอด 6 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 1.82 ล้านบาท ขณะนี้มีจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ 25 จังหวัด มากที่สุดคือ อีสาน เหนือ กลาง และมีโรงเรียนที่พร้อมเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 43 โรงเรียน

ถ้าให้คุณถูกจำกัดด้วยอะไรบางอย่าง คุณจะชอบไหม เดาว่าคุณหรือใครๆก็คงไม่ชอบและพยายามหนีให้ไกลจากการถูกจำกัดด้วยขีดจำกัด  สำหรับเด็กขาดโอกาสทางการศึกษาพวกเขาหนีไปไหนไม่ได้

เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามูลนิธิยุวพัฒน์ และภาคีเครือข่าย ได้แก่ บริษัท เลิร์นเอ็ดดูเคชั่น จำกัด มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยเเลนด์ บริษัท อาชีฟ โซเชียล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (a-chieve) และบริษัท วิสาหกิจเพื่อสังคม เอ็ดวิงส์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด จึงนำร่วมกันส่งสาร Limited Education เพราะการศึกษามีขีดจำกัด” ในงาน Good Society Expo เทศกาลทำดีหวังผล 9-11 มิถุนายน นี้ ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ในพาวิลเลี่ยนการศึกษา โซนอีเดน 2

กิจกรรมไฮไลท์เป็นการระดุมทุนให้กับโครงการพัฒนา100โรงเรียนเพื่อเยาวชนขาดโอกาส สร้างแคมเปญ Limited Education ผ่านเว็บไซต์เทใจ www.taejai.com เชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมสนับสนุนซื้อเสื้อ รุ่น Limited Edition ที่มีจำกัด 500 ตัว

จุดเด่นของเสื้อคือเป็นการสกรีน“ชื่อ”ของคุณ จากลายมือจริงของเด็กชั้นมัธยมต้นแห่งหนึ่งในภาคกลาง ที่มีปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ พร้อมสอดแทรกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาไทยที่คุณอาจยังไม่รู้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก GREYHOUND original แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นแถวหน้าของเมืองไทย

คุณยังสามารถดีไซน์และสั่งซื้อเสื้อเพื่อร่วมสนับสนุนผ่านทางwww.limitededucation.org เพียงพิมพ์ชื่อของคุณลงไปในช่องแล้วกดแสดงผล ฟอนต์จากลายมือเด็กๆจะปรากฎแล้ว ระบบจะประมวลผลชื่อของคุณผิด เพื่อตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

คุณก็สามารถช่วยกันดีไซน์การศึกษาของประเทศเราให้ดีขึ้นได้ ด้วยการช่วยกันแชร์ต่อ ให้คนอื่นรู้เรื่องนี้มากขึ้น ไม่แน่ว่าอาจทำให้เด็กเขียนชื่อ “คุณ”ถูกได้ในอนาคต

Good Society Expo เทศกาลทำดีหวังผล เกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 80 องค์กร ที่นำเสนอปัญหาสังคม 5 ประเด็นหลัก “การศึกษา คนพิการ ต้านทุจริต สิ่งแวดล้อม สุขภาพ” โดยมีกลไกการให้ที่สร้างผลลัพธ์ ทั้ง เทใจ ปันกัน ฟู๊ด ฟอร์ กู๊ด โซเชียลกีฟเวอร์ เครือข่ายจิตอาสาและกองทุนรวมคนไทยใจดี  และยังได้รับการสนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆ จากภาคธุรกิจ  ประกอบด้วย บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ และบมจ. เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป โดยจะมีกิจกรรมเปิดงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 มิถุนายน เวลา 10.30 -12.00 น. ณ ลานเซ็นทรัลคอร์ต ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์