“ปัญหาคอร์รัปชัน” พูดกันมานานและคงไม่มีใครปฎิเสธว่า “คอร์รัปชัน” เป็นโรคร้ายของสังคม มีคำถามตามมาว่า ทำไมปัญหานี้ถึงกำจัดไม่ได้เสียที หรือเป็นเพราะว่าเรายังไม่เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง

ในช่วงเดือนกันยายนนี้ มีเวทีความคิดนำเสนอปัญหาและทางออกของการต่อต้านการทุจริตอย่างน้อย 2 เวทีน่าสนใจ

เวทีแรกจัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ชื่อ “รัฐบาลใหม่! คอร์รัปชันเก่า?” วันที่ 6 กันยายน ซึ่งถือเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันของทุกปี ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

article_170830093047_502

งานนี้จะพาคุณนับถอยหลังการส่งต่อประเทศไทย สู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ด้วยการเปิดเวทีระดมความคิดป้องกันนักการเมือง(แบบเก่า) กลับมาทำร้ายประเทศ ภายใต้แนวคิด มุ่งเน้นให้สังคมไทยได้ตระหนักว่า ในอนาคต การที่จะมีรัฐบาลที่ดี ไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง ไม่โกงหรือใช้อำนาจรัฐโดยเห็นประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จำเป็นมากแค่ไหนที่คนไทยต้องแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อให้มีการขับเคลื่อนมาตรการแก้ปัญหาคอร์รัปชันให้สำเร็จ รวมถึงแนวทางที่จะทำให้ประชาชนสามารถรู้เท่าทันเพื่อการตัดสินใจเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติร่วมกัน

งานเสวนาในครั้งนี้ คือการร่วมมือกันหลายภาคส่วน ทั้งผู้เชี่ยวชาญในระดับประเทศ ภาคธุรกิจ และภาคสังคม เพื่อมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ความท้าทาย พร้อมพูดคุยถกเถียงประเด็นปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทย โดยวิทยากรผู้ร่วมเปิดบทสนทนาภายในงานได้แก่ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ คุณบรรยง พงษ์พานิช คุณภัทระ คำพิทักษ์ คุณนิติพงษ์ ห่อนาค คุณปริญญ์ พานิชภักดิ์ คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

อีกเวทีคือ “Shift Happens: พลิกธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้” จัดโดย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค วันเสาร์ที่ 16 กันยายน ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 สยามสแควร์วัน ซึ่งเป็นครั้งแรกกับงานทอล์กครั้งใหญ่ที่จะเปิดมุมมองธุรกิจแห่งโลกอนาคต ให้เห็นโอกาส รู้ทันความท้าทาย และพลิกธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและสร้างสังคมที่ดีขึ้นไปพร้อมกัน กับ 4 วิทยากรชั้นนำ ทั้งระดับโลกและระดับประเทศ

533739

ในเมื่อประเด็นคอร์รัปชันนำมาซึ่งความอ่อนด้อยในการพัฒนาประเทศ เนื้อหางานนี้จึงมีวิทยากรที่พูดเรื่องปัญหาคอร์รัปชัน 2 ท่านด้วยกัน

ท่านแรก “ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์” ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมาถอดรหัส DNA “การโกง” ของมนุษย์ ด้วยการนำหลักเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นเครื่องมือทางจิตวิทยามาช่วยวิเคราะห์พฤติกรรม การตัดสินใจ ให้คุณเข้าใจเหตุผลของการโกง เพื่อเปลี่ยนธุรกิจและสังคมให้โปร่งใส

“เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมก็คือเศรษฐศาสตร์ที่พยายามเอาเครื่องมือจิตวิทยามาช่วยในการวิเคราะห์การตัดสินใจของมนุษย์ เพราะจริงๆแล้วมนุษย์ไม่ได้ตัดสินใจด้วยเหตุผลเสมอไปแต่ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจะมาคู่กับเศรษฐศาสตร์การทดลอง เพราะว่าเวลาที่อยากรู้ว่ามนุษย์ตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างไร เราถามผ่านแบบสอบถามไม่ได้ แต่ต้องจำลองสถานการณ์แล้วทำการสังเกต พฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงในสถานการณ์นั้นๆจึงมาตอบโจทย์ว่าเศษฐศาสตร์พฤติกรรมเหมาะกับการวิเคราะห์การโกงมากๆ” ผศ.ดร.ธานีกล่าว

ชมคลิปเพิ่มเติม https://www.facebook.com/the101.world/videos/1711596205816283/

 

อีกท่าน “ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมาพลิกสังคมให้ดูกันว่า ทำไมธุรกิจต้องสนใจปัญหาคอร์รัปชัน สังคมไทยจะปลอดคอร์รัปชันได้จริงหรือ พบคำตอบจากบทเรียนการต่อสู้คอร์รัปชันจากทั้งประเทศที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวในสมรภูมินี้จากทั่วโลก เพื่อหาทางออกให้ธุรกิจและสังคมไทย

“พอสังคมแตกแยกก็กลายเป็นว่า คนที่ขึ้นมามีอำนาจเป็นคนที่เราเชียร์ ในแง่นี้คอร์รัปชันก็จะดำรงอยู่ต่อไป เราอาจต้องถามตัวเองว่า เราแคร์กับการต่อสู้คอร์รัปชันจริงๆหรือเปล่า หรือเราแค่เกลียดตัวบุคคลฝั่งใดฝั่งหนึ่ง มันเหมือนเป็นการเชียร์กีฬา เชียร์มวยหรือเปล่า ถ้าฝั่งตัวเองทำผิดกติกา แต่ขอแค่ให้ยิงลูกเข้าประตูก็พอ แสดงว่าเราเน้นแต่ผลลัพธ์หรือเปล่า เราไม่ได้สนใจกติกา กระบวนการที่ยุติธรรม ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่มีหวังที่จะแก้ปัญหาได้” ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว

ชมคลิปเพิ่มเติม https://www.facebook.com/the101.world/videos/1712574049051832/

 

นอกจากนั้น เมื่อเร็วๆนี้ มีความเห็นที่น่าสนใจจาก “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” อดีตเลขาธิการอาเซียน พูดถึงการปฎิรูปประเทศไทย 4.0 แล้วเพจเฟซบุค “NewsClear” นำมาทำคลิปแชร์ต่อกันเป็นจำนวนมาก

ดร.สุรินทร์บอกว่า การจะปฎิรูปประเทศและการแก้ปัญหาคอร์รัปชันถือเป็นหนึ่งในก้าวแรกของการปฎิรูปซึ่งควรเริ่มจากจากกรุงเทพมหานคร โดยต้องทำให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และสามารถตรวจสอบได้แล้วจึงขยายไปสร้างเครือข่ายในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ถูกมองว่าเป็นประเทศที่ต้องแบ่งเงินจากการลงทุนเพื่อการคอร์รัปชันหายไป ความโปร่งใสและความสามามารถในการแข่งขันก็จะเพิ่มขึ้น ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศที่น่าอยู่และน่าลงทุน

“คิดจะปฎิรูปประเทศไทย 4.0 ถ้ายังปฎิรูปกรุงเทพฯไม่ได้ อย่าหวังว่าจะปฎิรูปประเทศได้ คนที่บอกผมว่า การคอร์รัปชันไม่ลดลงคือ ผู้รับเหมา เพราะต้องจ่ายค่าเครื่องมือในต่างจังหวัด ผมคิดว่ากรุงเทพสามารถที่จะทำได้เป็นหัวหอกของการเปลี่ยนแปลง การปฎิรูป การแก้ปัญหาหลายอย่าง แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ยากที่จะเห็นประเทศไทยเป็นหนึ่งในอาเซียน บนเวทีอาเซียนนั่งกัน 10 คน ไม่ต้องมีป้ายชื่อ ไม่ต้องมีธง ก็บอกได้ว่าคนไหนมาจากประเทศไทย เพราะคือคนที่เงียบที่สุด คนที่ไม่มีอะไรจะพูด คนที่ไม่พร้อมจะมาต่อรองกับเขา คนที่มาเพราะการอุปถัมภ์ เพราะการเมืองแต่งตั้งขึ้นมา แต่ไม่รู้ปัญหา จริงๆ เพราะฉะนั้นความสามารถในการแข่งขันลดลงเยอะ ประเทศไทยชกต่ำกว่าน้ำหนักของตัวเอง”

ชมคลิปวิดีโอเพิ่มเติม https://www.facebook.com/newsclearvdo/videos/343394192767731/

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนว่ามีคนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย มีความจริงจังและไม่เพิกเฉยต่อปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวต่อไปได้อย่างยั่งยืน และเกิดผล

คำถามต่อมาก็คือ ว่า ถ้าคำตอบของการแก้ปัญหาคอร์รัปชันฯ ไม่สามารถแก้แบบแยกส่วน ต่างคนต่างทำ และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือของคนไทยทุกคน การสร้างพลังของกลุ่มคนจำนวนมากที่จะเป็นกำลังขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม จะเริ่มได้อย่างไร ?

นอกจากงานสัมมนาวิชาการแล้ว ยังมีกลไกหรือเครื่องมือด้านการปลูกฝังด้านค่านิยมและแก้ปัญหาคอร์รัปชันต่างๆ มากมาย เช่น หลักสูตรออนไลน์สุจริตไทย เกมออนไลน์ The Corrupt : หยุดยั้งหรือปล่อยไป บอร์ดเกม The Trust หลักสูตร “โตไปไม่โกง” นอกจากนั้น มีงานอาสาสมัคร เช่น โครงการหมาเฝ้าบ้าน และผู้สังเกตการณ์อิสระ โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) และที่เริ่มได้เลยทันทีคือปฏิเสธและไม่เพิกเฉยต่อการทุจริตคอร์รัปชัน ร่วมเฝ้าระวังปัญหานี้ให้สังคม

เราเชื่อว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน คุณช่วยได้ !