วันที่ 13 มิ.ย. 62  องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เรียกร้องรัฐบาลใหม่เน้นปราบโกง ลงมืออย่างจริงจังไม่เลือกปฏิบัติเพื่อเรียกศรัทธาประชาชน พร้อมขอทุกพรรคการเมืองและกลไกรัฐสภา ร่วมตรวจสอบการทำงานเพื่อความโปร่งใส ทั้งหมดมาจากเสียงประชาชน ย้ำเป็นบทบาทขององค์กรภาคประชาชนที่จะติดตาม ตรวจสอบรัฐบาล และพร้อมสนับสนุนในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

64235582_2666611646700120_4520017590831022080_nคอร์รัปชันยังคงเป็นปัญหาวิกฤติที่ประชาชนต้องการให้มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เห็นได้จากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลใหม่จึงจำเป็นต้องมีนโยบายและลงมือปราบปรามคนโกงชาติด้วยอย่างจริงใจและจริงจัง เนื่องจากเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อเสถียรภาพของรัฐบาลที่จะต้องได้รับความเชื่อถือจากประชาชนคนไทยและการยอมรับจากนานาประเทศ อันจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของชาติ ตลอดจนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสังคมไทย

หลักการสำคัญประการหนึ่งขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ในฐานะที่เป็นองค์กรภาคประชาชนที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชัน คือ การที่จะติดตาม ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลควบคู่ไปกับการสนับสนุนและพร้อมให้ข้อเสนอแนะด้วยเช่นกันในการผลักดันกฎหมายและสร้างกลไกเพื่อให้เกิดการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน โดยมีเป้าหมายสูงสุดมุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนของประเทศเป็นที่ตั้ง

62422418_2666611460033472_6048744876957237248_nนายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ก่อนที่รัฐบาลจะแถลงนโยบายพัฒนาประเทศต่อสาธารณชนในด้านต่างๆ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้รวบรวมความคิดเห็นของประชาชนและทบทวนงานที่ภาคส่วนต่างๆ ได้ขับเคลื่อนตลอดมา เพื่อกำหนดเป็นข้อเสนอถึงรัฐบาลชุดใหม่ รับไปเป็นนโยบายด้านการต่อต้านคอร์รัปชันและการสร้างเสริมระบบธรรมาภิบาล ให้สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องของประชาชน ใน “6 วาระสำคัญ” ดังนี้

(1) รับฟังเสียงประชาชน ปกป้องและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
(2) เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้อำนาจในการบริหาร ที่ประชาชนเข้าถึงง่ายเพื่อมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบ ซึ่งจะช่วยสร้างความไว้วางใจจากประชาชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความโปร่งใสและแสดงถึงการมีธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ
(3) กำกับดูแลคนในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ไม่ให้มีพฤติกรรมฉ้อฉล คดโกง และมีมาตรการลงโทษ ถอดถอนอย่างชัดเจน หากมีปัญหาส่อเค้าไปในทางทุจริตควรแก้ไขโดยพลัน
(4) สนับสนุนให้องค์กรตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช. ได้ทำงานอย่างเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง
(5) การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการควรมีความโปร่งใส เป็นธรรม มีหลักการเหตุผลชัดเจน ไม่เห็นแก่พวกพ้อง
(6) สร้างความต่อเนื่องและการบังคับใช้ข้อกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติสำคัญต่างๆ อย่างเข้มข้น เช่น พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตอนุมัติของทางราชการฯ ข้อตกลงคุณธรรม รวมทั้งลดทอนกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าสมัยและก่อให้เกิดเรียกรับสินบน

62498077_2666611616700123_1150436797306634240_nประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ยังกล่าวต่อว่า นอกเหนือจากข้อเสนอผ่านกลไกการบริหารประเทศดังกล่าวแล้ว ยังมีกลไกรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาลให้เกิดธรรมาภิบาล โดยเฉพาะบทบาทของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ จะต้องมีหน้าที่ช่วยตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาลอย่างเข้มข้น ตรงไปตรงมา เพราะทั้งสองฝ่ายต่างถือเป็นตัวแทนประชาชนและต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของการเมืองที่มีธรรมาภิบาล

62380151_2666611336700151_8920497565980426240_n