ผลวิจัย “พร้อมรับสังคมสูงวัย: วางระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาวกับทางเลือกระยะท้ายของชีวิต” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) (2559) พบว่า ปี 2560 จะมีผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงรวมกันราว 3.7 แสนคน และในปี 2580 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 8 แสนคน โดยผู้สูงอายุติดเตียงต้องการผู้ดูแลตลอดเวลา ขณะที่ปี 2560 มีความต้องการผู้ดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงรวมกันราว 2.5 แสนคน และจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 6 แสนคนในปี 2580 ส่วนค่าใช้จ่ายในการดูแลในส่วนที่นอกเหนือจากระบบที่ภาครัฐดูแล นั่นคือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว อาทิ ค่าอุปกรณ์ วัสดุสิ้นเปลือง และค่าเดินทางผู้จัดการการดูแล ค่าผู้ดูแลและค่าเดินทางผู้ดูแล รวมเกือบ 6 หมื่นล้านบาทในปี 2560 และจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 แสนล้านบาทในปี 2580

งานศึกษาจึงออกแบบ “ระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว” โดยยึดหลักการแบ่งกันร่วมความรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ตามสัดส่วนของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนภาครัฐนอกจากบริการทางการแพทย์พื้นฐานภายใต้งบประมาณปกติแล้ว สิ่งที่ต้องทำเพิ่มคือการจัดตั้ง “กองทุนดูแลผู้ป่วยระยะยาว” และให้ประชาชนอายุ 40-65 ปี ร่วมกันจ่ายเงินสมทบในแต่ละปีเพื่อนำไปบริหารจัดการช่วยเหลือการดูแลผู้สูงอายุสำหรับค่าอุปกรณ์ วัสดุสิ้นเปลืองและค่าเดินทางของผู้จัดการการดูแล ส่วนค่าจ้างและค่าเดินทางของผู้ดูแลผู้ป่วยให้ผู้ใช้บริการและท้องถิ่นรับผิดชอบคนละครึ่ง ขณะที่ภาคเอกชนสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยการบริจาคเงินสมทบผ่านท้องถิ่น นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งเป็นการดูแลแบบประคับประคองที่บ้าน ให้เป็นอีกทางเลือก ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยที่จะได้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอย่างอบอุ่นที่บ้าน

หากพิจารณาตามแนวทางนี้ ประเทศไทยมีตัวอย่างความสำเร็จมาแล้ว ดังเช่นโครงการ “คนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน” ที่สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี มาช่วยกันดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงและมีฐานะยากจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยดูแลผู้สูงอายุได้ครอบคลุมทั่วทั้งอำเภอ 3,000 คน และดูแลผู้ป่วยใกล้ชิดอีก 200 คน ทั้งที่เป็นพื้นที่ในชนบทห่างไกล

ปลายปีที่ผ่านมานายแพทย์สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ ผู้พัฒนาโครงการยังได้รับรางวัลในฐานะแพทย์ชนบทที่มีผลงานโดดเด่นสร้างประโยชน์ต่อสังคม ในเวทีประชุมวิชาการด้านกำลังคนด้านสุขภาพระดับเอเชียแปซิฟิก

จุดเริ่มต้นออกแบบระบบ ดูแลผู้ป่วยภาวะพึ่งพิง ย้อนกลับไปเมื่อปี 2548 นายแพทย์สันติได้ออกเยี่ยมผู้ป่วยซึ่งเป็นคนชราถึงที่บ้านจำนวน 2 คน เนื่องจากไม่ยอมมาโรงพยาบาลตามนัดหมาย ทำให้ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการดูแล เพราะสมาชิกในครอบครัวต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพ

“จากวันนั้นผมเลยลงไปสำรวจทั้งอำเภอลำสนธิ ภาพที่เห็นคือสองสามร้อยคนถูกทอดทิ้ง เราไม่ได้อยากดูแค่ 2 เคสแต่อยากดู 300 เคส ก็เลยเริ่มที่จะทำระบบขึ้น ประสบการณ์จากการดูแลผู้ป่วยเด็กคนหนึ่ง เขาพูดถึงสิ่งที่อยากได้รับ ผมก็นำสิ่งนี้มาออกแบบการดูแลผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงและผู้ป่วยภาวะสุดท้าย”

คุณหมอสันติเริ่มออกแบบระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วนที่สำคัญ คือ 1. มิติด้านครอบครัว มิติด้านสุขภาพ และ 3. มิติด้านสังคม  โดยมิติด้านสุขภาพคือการดูแล รักษาอาการเจ็บป่วยจากเดิมที่เริ่มด้วยคุณหมอและพยาบาลอีก 1 คน ก็ต้องเพิ่มนักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา หรือสหวิชาชีพต่างๆ เข้าไปรักษาตามสภาพการเจ็บป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยโรงพยาบาลลำสนธิทำงานร่วมกับสถานีอนามัย ซึ่งก็คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในปัจจุบันจัดทีมเข้าไปดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ รวมถึงจัดหายาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ให้ เช่น เตียงคนไข้ ซึ่งที่จะมีแผนกที่สร้างอุปกรณ์เหล่านี้ให้ผู้ป่วยไว้ใช้ที่บ้าน

ส่วนมิติการดูแลด้านสังคม คือด้านสภาพร่างกาย การใช้ชีวิตประจำวัน คุณหมอเล่าว่าแรกเริ่มก็ให้อาสาสมัครช่วยดูแลกิจวัตรประจำวันให้ผู้ป่วย แต่ก็พบว่าอาสาสมัครเข้าไปดูแลได้ตอนที่ว่างจากการทำงานเท่านั้น ทำให้การดูแลไม่ต่อเนื่อง ราวปี 2553 คุณหมอจึงคิดกลไก  “นักบริบาลชุมชน”  ขึ้นโดยฝึกทักษะให้แก่ชาวบ้านที่สนใจและมีระบบคอยดูแลการทำงาน จากนั้นก็ชวนท้องถิ่น ทั้งนายอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั้ง 6 ตำบลให้เป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้แก่นักบริบาลเพื่อช่วยชดเชยรายได้จากการไม่ไปทำงานรับจ้างอย่างอื่น ทำให้มีนักบริบาลในปีแรก 16 คนเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอได้ 100 คน คอยดูแล ให้กำลังใจ อาบน้ำ ป้อนข้าวและยา โดยปกตินักบริบาลจะดูแลผู้ป่วยประมาณ 2 ชั่วโมงต่อเคส ปัจจุบันโครงการนี้มีนักบริบาลชุมชนรวม 36 คน

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงสภาพบ้านให้เหมาะสมกับการดูแลรักษาด้วย โดยมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลช่วยออกแบบ และชาวบ้านที่เป็นอาสาช่วยกันลงแรง ที่ผ่านมาปรับสภาพบ้านไปแล้วกว่า 60 หลัง ด้วยการทำงานที่หวังผลให้ผู้ป่วยที่ติดบ้านติดเตียงและยากไร้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทำให้เกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ และมีกระบวนการทำงานที่เป็นระบบและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี แม้โครงการคนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกันจะสร้างผลลัพธ์ทางสังคมที่ชัดเจนและมีการผลักดันให้เกิดการขยายผลในวงกว้าง แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของโครงการ เนื่องจากการได้รับงบประมาณจากท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนการทำงาน เช่น เรื่องการให้ อบต.จ้างนักบริบาลชุมชนนั้นยังขาดความชัดเจนในเรื่องการตีความกฎระเบียบต่างๆ และรัฐมีกลไกการติดตามตรวจสอบซึ่งบางครั้งก็ให้การสนับสนุนได้ บางครั้งก็ไม่ได้

“4-5 ปีหลังมานี้ ผมก็กังวลถ้าวันหนึ่งถูกตีความว่าเรื่องแบบนี้ห้ามทำ ความท้าทายคือผมจะทำอย่างไรให้ยั่งยืน จนได้เจอกับคุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย ทำให้เริ่มเรียนรู้ว่า การจะขยายงานต่อไปได้ ต้องมีกลไกระดมทุนที่หลากหลายไม่ผูกติดกับแหล่งทุนใดแหล่งทุนเดียว” ทำให้ปีที่ผ่านมานายแพทย์สันติจึงเขียนโครงการเสนอต่อ “กองทุนรวมคนไทยใจดี” จนได้รับงบประมาณสนับสนุนทั้งการจ้างนักบริบาล การปรับสภาพบ้าน รวมถึงอุปกรณ์การดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น ในปี 2558 ได้รับเงินสนับสนุนในระยะที่สองในปี 2560 เพื่อการพัฒนางานต่อเนื่อง นอกจากนี้ คุณหมอเริ่มวางแผนนำรูปแบบกิจการเพื่อสังคมอย่าง “ร้านปันกัน” มาระดมทุนเข้าโครงการด้วย ซึ่งสามารถประยุกต์รูปแบบของการระดมทุนได้หลายรูปแบบ และจะทำให้ภาพของสังคมคนไม่ทอดทิ้งกันชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น รับปันสิ่งของจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุจากผู้ที่มีเหลือใช้มามอบให้กับผู้สูงอายุยากไร้ที่ต้องการ หรือผู้ที่ต้องการทำบุญในโอกาสต่างๆ อาจจะร่วมเลี้ยงอาหารแก่ผู้ป่วยยากไร้ก็ได้ เป็นต้น

“ผมมีความฝันจะทำศูนย์บริบาลผู้ป่วยหรือเนิร์สซิ่งโฮมเล็กๆ อยู่ใกล้กับโรงพยาบาล เพื่อต่อยอดระบบงานที่เราดูแลอยู่ ลองคิดดู ไม่ว่ากระบวนการเราจะดีอย่างไร ก็ยังต้องมีสมาชิกในครอบครัวดูแลอยู่ดี ถ้าวันหนึ่งคุณยายที่ดูแลคุณตาอยู่เกิดไม่สบายต้องมานอนโรงพยาบาล แล้วคุณตาจะทำอย่างไร ผมเลยคิดว่าอยากมีพื้นที่ที่รับคุณตามาดูแลชั่วคราวได้”

สำหรับศูนย์บริบาลผู้ป่วยข้างต้นนี้ นับว่าเป็นความฝันที่ใกล้ความจริงแล้ว เนื่องจากมีผู้ใจบุญบริจาคเงินจำนวน 10 ล้านบาทให้สร้างอาคารซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2560 คุณหมอวางแผนไว้ว่า ศูนย์บริบาลผู้ป่วยนี้ยังใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่หน่วยงานที่สนใจ รวมทั้งเป็นแหล่งฝึกนักบริบาลอาชีพก็ได้ เพื่อให้การขยายผลแนวคิดคนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกันไปสู่พื้นที่อื่นๆ ได้อย่างแท้จริง

“งานที่เราทำยังต่อยอดไปได้อีกไกล หากสังคมช่วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนด้วยกันเองที่จะต้องช่วยกันดูแลกันและกัน เพราะนี่คือความยั่งยืนที่แท้จริง” นายแพทย์สันติกล่าวอย่างมีความหวังที่จะเห็นระบบที่พัฒนาขึ้นนี้ยั่งยืนในระยะยาว