ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์ ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ จัดเวทีเสวนาซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของพาวิลเลี่ยนสิ่งแวดล้อม ภายในงาน Good Society Expo เทศกาลทำดีหวังผล ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9-11 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ณ เซ็นทรัลเวิลด์  ในหัวข้อ “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมา

อาจารย์ยักษ์ กล่าวว่า เมืองไทยยังไม่เหมาะที่จะเป็นสังคมแบบทุนนิยมหรือชุมชนที่สุดโต่ง การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยต้องมีทั้งความรู้และคุณธรรม

“เราเป็นแบบประเทศอื่นไม่ได้ เราต้องเป็นตัวของตัวเอง ต้องมีชีวิตที่พอเพียง มีความมั่งคั่งแบบไทย” อาจารย์ยักษ์ กล่าว

อาจารย์ยักษ์ ยังแสดงมุมมองเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมว่า โลกกำลังเกิดการต่อสู้ช่วงชิงทรัพยากร โดยมีความเชื่อว่า โลกกำลังมีปัญหาเเละเเนวโน้มที่จะเผชิญกับ ภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ภัยเเล้ง

“วิถีชีวิตที่จุนเจือกันจะค่อยๆหายไป อาจดูเหมือนว่าผมมองโลกในเเง่ร้าย เเต่ความเป็นจริงปัญหาต่างๆได้เริ่มปรากฎขึ้นเเล้ว” อาจารย์ยักษ์ กล่าว

ในวงเสวนาครั้งนี้ มีการเชิญเยาวชนชาวภูฏานขึ้นมาร่วมพูดคุยจำนวน 4 คน   โดยโซนัม ลุนดุบ (Sonam Lhundup) เป็นตัวแทนเล่าถึงเเรงจูงใจที่มาเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เมืองไทย ว่า มีโอกาสได้ดูวิดีโอของอาจารย์ยักษ์ เกี่ยวกับการพลิกชีวิตให้กับดิน อีกทั้งครอบครัวต้องการให้มาเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงมาเรียนที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เรียนได้ประมาณปีกว่า อาจารย์ยักษ์ก็ให้ทำโครงการศูนย์บาท(Zero baht project)    โดยให้พื้นที่ 1 ไร่มาพัฒนา เราเริ่มปรับพื้นที่ ฟื้นฟูดิน  ทำให้สิ่งมีชิวิตค่อยๆ กลับมาในพื้นที่ ระบบนิเวศก๊ดีขึ้น มีการปลูกผัก เลี้ยงเป็ด และสร้างบ้านดินจนเสร็จ เมื่อพ่อแม่มาดูผลงาน มันเป็นความทรงจำที่ดีมาก เพราะพวกเราได้กินข้าวร่วมในบ้านดินที่สร้างขึ้นเอง”  โซนัม กล่าว และยืนยันว่าจะนำวิธีการต่างๆกลับไปฟื้นฟูให้ประเทศภูฏานดีขึ้น

โซนัม กล่าวต่อว่า ประเทศภูฏานปัจจุบันคนเริ่มทิ้งถิ่นฐานเพื่อเข้ามาใช้แรงงานในเมือง นักศึกษาที่เรียนในเมืองพอเรียนจบก็ไม่กลับไปทำงานที่บ้านเกิดตัวเอง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะภาคกสิกรรมต้องใช้แรงงาน ใช้กำลังคน แต่หนุ่มสาวไปทำงานในเมืองหมด ดังนั้นจึงตั้งใจมาเก็บเกี่ยวความรู้เพื่อไปพัฒนาฟื้นฟูที่ดินทำกิน คนจะได้ไม่ทิ้งถิ่นฐาน  มีงานทำ เลี้ยงตัวเองได้ และกลับมาใช้ชีวิตร่วมกันในครอบครัว

“ดินที่เราเหยียบให้คุณกับเรามาก เราต้องเรียนรู้เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ เกษตรกรเเละคนในพื้นที่จะต้องหาคุณค่าของชีวิตเเละสิ่งเเวดล้อม เเละนั้นคือเศรษฐกิจพอเพียงที่จะนำไปพัฒนาต่อที่ภูฏาน ตอนนี้มีเพื่อนๆหลายคนที่เรียนจบปริญญาตรี เเต่ไม่มีงานทำเเละกำลังหาทางไปใช้ชีวิตประเทศอื่น ยิ่งต้องทำให้เพื่อนๆอยู่ในภูฏาน หันกลับมาเปลี่ยนแนวคิดการทำงานเพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศ” โซนัม กล่าว

ขณะเดียวกัน ลุนดุบ วังโม (Lhundup Wangmo) ได้เเสดงมุมมองว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยในการคิดนอกกรอบ ดังนั้นการมาเรียนครั้งนี้ทำให้มีความรู้เเละเข้าใจหลักการใช้ชีวิตเเบบพอเพียง นี่และเชื่อมั่นว่าจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้จริง

“พวกเราทุกคนอยากส่งทอดความรู้เหล่านี้ ให้ทุกคนได้เรียนรู้ เพราะถ้าวันหนึ่งพวกเราไม่มีชีวิตอยู่เเล้ว ใครจะเอาความรู้นี้ไปส่งต่อยังประเทศภูฏาน” ลุนดุบ กล่าวสรุป