เมื่อไม่นานมานี้สื่อวิทยุ รายการ “Business Today” FM 102.0 MHz ดำเนินรายการโดย “คุณศุนันทวดี อุทาโย” แพลตฟอร์มข่าวธุรกิจ ภายใต้ “กลุ่ม MEI PLUS”  มีความสนใจและต้องการส่งสารไปสู่สังคมโดยมีสมมุติฐานจากความเชื่อว่า สังคมเศรษฐกิจแบ่งปัน “Sharing Economy” มีความเชื่อมโยงกับการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันหรือ “Sharing  Society”

คุณศุนันทวดี อุทาโย พิธีกรรายการ “Business Today” FM 102.0 MHz

คุณศุนันทวดี อุทาโย พิธีกรรายการ “Business Today” FM 102.0 MHz

“Sharing Economy” กับ “Sharing Society” ในบริบทงานพัฒนาความยั่งยืนที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย แม้จะเป็นคนละเรื่อง  แต่เมื่อลองสังเคราะห์ถึงหลักการทำงานต่างมีองค์ประกอบหรือแนวคิดที่ทำให้เกิดผลผลิต-ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน

เริ่มจากเป้าหมายสูงสุด ดังที่หลายท่านคงทราบมาแล้วว่า “Sharing Economy” หมายถึง สังคมเศรษฐกิจแบ่งปัน มุ่งเน้นความคุ้มค่าสูงสุด ขณะที่ Sharing Society”  สังคมแห่งการแบ่งปันเป้าหมายมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าสูงสุดที่หมายถึงประโยชน์สาธารณะเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสังคมอยู่ดีมีสุข

สังคมเศรษฐกิจแบ่งปัน อาศัย “แพลตฟอร์มออนไลน์” เชื่อมให้ผู้ซื้อกับผู้ขายได้พบและตกลงซื้อสินค้า บริการแบบเรียลไทม์   “การเปิดเผยข้อมูล” จึงเป็นหัวใจสำคัญ ตัวอย่างเช่น  Uber หรือ Airbnb  ส่วนสังคมแห่งการแบ่งปัน มีการใช้ “แพลตฟอร์ม” เช่นกัน ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนหรือการบูรณาการทรัพยากรร่วมกัน  นอกจากนั้น ในมิติการเปิดเผยข้อมูล พบว่า เริ่มเห็นความพยายามในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบเพื่อแสดงความโปร่งใส  ตลอดจนเพื่อระดมการสนับสนุนจากพลังทางสังคมในรูปแบบการสร้างแคมเปญทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเงินหรืออาสาสมัครหรือความช่วยเหลืออื่นใดให้คนในสังคมหมู่มากให้เลือก ลงแรง ลงขัน ลงสมอง

ในมิติ “ทรัพยากร” สังคมเศรษฐกิจแบ่งปันมีรายได้จากสินค้า บริการเหลือใช้ระหว่างบุคคล กลุ่มคน ซึ่งคล้ายกันกับสังคมแห่งการแบ่งปันที่ใช้ทรัพยากรที่มาจากการบริจาค ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงิน การบริจาคเวลา การบริจาคความรู้ ความเชี่ยวชาญ

คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน คณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติและกรรมการกองทุนรวมคนไทยใจดี หนึ่งในแขกรับเชิญของรายการได้ให้ความเห็นว่า โมเดลสังคมเศรษฐกิจแบ่งปันเติบโตอย่างรวดเร็วเนื่องจากข้อจำกัดของทรัพยากร พร้อมกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในบริบทงานพัฒนาความยั่งยืนในประเทศไทย มีแนวโน้มใหม่ที่น่าสนใจในแง่การเกิดขึ้นของ“Sharing Platfrom” หรือช่องทางการแบ่งปันต่างๆ มากมายให้คนในสังคมช่วยกันสร้างสังคมดี และเกิดผลลัพธ์จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็น เทใจ โซเชียลกีฟเวอร์ ปันกัน ฯลฯ

คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน คณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติและกรรมการกองทุนรวมคนไทยใจดี

คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน คณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติและกรรมการกองทุนรวมคนไทยใจดี

“โซเชียลกีฟเวอร์” หรือ www.socialgiver.com นับเป็น “ช่องทางการแบ่งปัน” ที่เป็นโมเดลธุรกิจถอดหลักการทำงานตามแนวคิด “สังคมเศรษฐกิจแบ่งปัน” มาทั้งหมด เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่นำทรัพยากรซึ่งมาจากสินค้าหรือบริการที่แบรนด์ต่างๆ บริจาคให้มาจำหน่ายและยังมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์ ให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงทำธุรกรรมแบบเรียลไทม์

คุณอาชว์ วงศ์จินดาเวศย์ ผู้ก่อตั้งโซเชียลกีฟเวอร์

คุณอาชว์ วงศ์จินดาเวศย์ ผู้ก่อตั้งโซเชียลกีฟเวอร์

“จุดเริ่มต้นของโซเชียลกีฟเวอร์มาจากแนวคิดสังคมเศรษฐกิจแบ่งปัน เราเริ่มโครงการในช่วงน้ำท่วมปี 2554”

คุณอาชว์ วงศ์จินดาเวศย์ ผู้ก่อตั้งโซเชียลกีฟเวอร์กล่าวผ่านรายการ Business Today ว่า การที่โซเชียลกีฟเวอร์เป็นกิจการเพื่อสังคม ดังนั้น กำไร 100 เปอร์เซนต์ที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าและบริการที่ได้รับจากการบริจาคจากแบรนด์จะถูกนำไปบริจาคให้โครงการเพื่อสังคมต่างๆ ทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงการเกี่ยวกับการศึกษา ผู้พิการ สัตว์หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถช่วยเหลือคนจำนวนกว่า 75,000 ชีวิต ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ตัวอย่างต่อมา “เวบไซต์เทใจดอทคอม” www.taejai.com ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มระดมทุนออนไลน์ ทำหน้าที่เชื่อมโยง “ผู้ให้” ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมกับ “ผู้รับ” ที่รอการสนับสนุนจากคนในสังคม ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลโครงการเพื่อสังคมต่างๆ อย่างชัดเจน โดยในปี 2561 เทใจดอทคอมสามารถระดมทุนได้ 26.1 ล้านบาท ให้แก่โครงการเพื่อสังคมจำนวน 73 โครงการ

คุณสิรินาท ต่อวิริยะเลิศชัย หัวหน้าส่วนบริหารโครงการเพื่อสังคมเทใจดอทคอม

คุณสิรินาท ต่อวิริยะเลิศชัย หัวหน้าส่วนบริหารโครงการเพื่อสังคมเทใจดอทคอม

“เราทำหน้าที่เชื่อมต่อคนที่ต้องการเป็นเจ้าของโครงการและคนที่ต้องการเป็นผู้ให้หรือผู้บริจาคให้มาเจอกัน เราคิดถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งคนทำเเละคนที่ได้รับประโยชน์” คุณสิรินาท ต่อวิริยะเลิศชัย หัวหน้าส่วนบริหารโครงการเพื่อสังคมเทใจดอทคอมกล่าวผ่านรายการ Business Today

อีกหนึ่งช่องทางแบ่งปัน ได้แก่  “ร้านปันกัน” โดยมูลนิธิยุวพัฒน์

คุณสุทิศา พุ่มประดล รองผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจร้านปันกัน

คุณสุทิศา พุ่มประดล รองผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจร้านปันกัน

“ปันกันเป็นต้นเเบบการเเบ่งปันที่ไม่ต้องใช้เงินเเต่ใช้สิ่งของที่นำไปใช้ประโยชน์ได้เปลี่ยนเป็นทุนการศึกษา ผู้ให้ก็ได้ความอิ่มใจเพราะร่วมทำบุญ ผู้ซื้อก็ได้ของดีราคาถูกเกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ที่สำคัญกำไรของร้านปันกันคือการศึกษาของเด็กๆ”  คุณสุทิศา พุ่มประดล รองผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจร้านปันกันกล่าวและว่า

ปันกันเป็นช่องทางการจำหน่ายสิ่งของที่มาจากการบริจาคของคนในสังคมและนำรายได้มาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแก่สังคมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษา รายได้ทั้งร้อยเปอร์เซนต์จะนำไปสนับสนุนเป็น “ทุนยุวพัฒน์” แก่เด็กขาดโอกาสปัจจุบัน “ปันกัน” มี 14 สาขาและ 3 ป็อบอัพสโตร์ เปิดรับบริจาคสิ่งของสภาพดีทำให้เกิดรายได้ที่เปลี่ยนเป็นทุนการศึกษาให้เด็กๆ ของมูลนิธิยุวพัฒน์

ในปี 2562 สามารถระดมทุนได้ 47.7 ล้านบาท สามารถเปลี่ยนเป็นทุนการศึกษา 6,814 ทุนสำหรับนักเรียน 1,135 คน มีผู้สนับสนุนเงิน 29,784 คน ผู้ซื้อสินค้า 278,600 คน องค์กรที่สนับสนุน 153 องค์กร ที่สำคัญคือเกิดการมีส่วนร่วมของคนในสังคมในรูปแบบของ “อาสาสมัคร” ร่วมกิจกรรมปันกัน 882 คน  ส่วนผู้บริจาคทั้งที่เป็นเงินและไม่ใช่เงิน เช่น สิ่งของ เครื่องใช้ พื้นที่ขยายร้าน ฯลฯ ล้วนถือว่าเป็นผู้ที่มีจิตสาธารณะด้วยกันทั้งสิ้น

นี่คือเรื่องราวของ “Sharing Society” หรือ สังคมแห่งการแบ่งปันที่มาจาก “กลไกการแบ่งปัน” ประเภทต่างๆ ซึ่งขับเคลื่อนโดยองค์กรที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาสังคมหลากหลายรูปแบบ โดยแต่ละองค์กรต่างมีจุดร่วมเหมือนกันที่จะเชื่อมโยงและขับเคลื่อนสังคมด้วย “การแบ่งปัน”

ทีมสื่อสารสังคมมูลนิธิเพื่อคนไทยเเละภาคีภาคสังคม

ทีมสื่อสารสังคมมูลนิธิเพื่อคนไทยเเละภาคีภาคสังคม

หาก “คุณ” ต้องการร่วมสร้างสังคมที่ดีสามารถทำได้เลยทันทีไม่ว่าจะเป็น ลงแรง ลงขัน ลงสมอง ตามความถนัดกับกลไกต่างๆ หรือแค่ช่วยแชร์ บอกต่อเรื่องราวดีๆ ให้เพื่อนๆ ในช่องทางโซเชียลมีเดียของตนเอง แค่นี้คุณก็มีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงแล้ว

คุณสามารถติดตามการอัพเดทช่วงเวลาออกอากาศของรายการ “Business Today” FM 102.0 MHz ตอน : Sharing Economy – Sharing Society ได้ทางเฟซบุ๊ค Business Today Thai หรือ เฟซบุ๊ค Khonthaifoundation