คนในสังคมกลุ่มหนึ่งมีความเข้าใจว่าเรื่องการจัดการศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐเพียงผู้เดียว เราทุกคนต่างยอมรับว่าทุกวันนี้การศึกษาไทยยังมีปัญหาอยู่จึงนำมาสู่ งานเสวนา “การศึกษาไทย…ใครควรดูแล? บทบาทภาคเอกชนในการพัฒนาการศึกษาไทย” จัดโดย ภาคีเพื่อการศึกษาไทย ( TEP – Thailand Education Partnership ) ร่วมกับหอการค้าไทย เมื่อเร็วๆ นี้
งานนี้มีบุคคลสำคัญจากภาคส่วนต่างๆมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อาทิ คุณกลินทร์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คุณมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “คุณวิเชียร พงศธร” ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย ตัวแทนโครงการร้อยพลังการศึกษา และอีกมากมาย รวมทั้งธุรกิจเพื่อสังคมที่เป็นผู้ให้บริการงานพัฒนาการศึกษา ได้แก่ Saturday School We Space a-chieve และ Edwings
คุณกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สะท้อนว่า การพัฒนาการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ จากปัญหาคุณภาพของแรงงานยิ่งเห็นได้ชัดว่า ประเทศไทยยังหนีไม่พ้นวิกฤติคุณภาพการศึกษา
“ภาคธุรกิจโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ จำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีความสามารถด้าน STEM ซึ่งภาคการศึกษายังไม่สามารถผลิตแรงงานตามความต้องการได้ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ภาคธุรกิจจึงต้องเข้ามามีส่วนในการพัฒนาการศึกษา ตั้งแต่กลุ่มที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา กับกลุ่มพนักงานที่อยู่ในตลาดแรงงานดังตัวอย่างการทำโครงการทวิภาคีของหลายๆองค์กร ขณะเดียวกันแรงงานของภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวให้มีทักษะใหม่ๆที่จำเป็นโดยเฉพาะทักษะด้านภาษาเพราะมีอาชีพกลุ่มหนึ่งที่จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีในอนาคต”คุณกลินท์ กล่าว
เมื่อผลสอบ PISA 2015 ที่ค่อนข้างสั่นสะเทือนวงการการศึกษาไทย สะท้อนสภาพผลสัมฤทธิ์การจัดการศึกษา ไทยเทียบกับทั่วโลกโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วแล้วทางรอดของเด็กไทยอยู่ตรงไหน
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เด็กไทยจะอยู่รอดต่อไปได้จะต้องมีทักษะในศตวรรษที่ 21 อันประกอบด้วย คิดแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ๆ สืบเสาะหาความรู้ได้ อ่านมาก สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ คิดเชิงวิพากษ์ เรียนรู้จากหลายแหล่ง ขณะเดียวกันทักษะที่นายจ้างต้องการ ประกอบด้วย การปรับตัวแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม และทักษะดิจิทัล
“หากจะเริ่มแก้ปัญหาการศึกษาไทยนอกจากการปรับโครงสร้างต่างๆ ในระบบการศึกษาแล้ว ที่สำคัญคือ ทุกคนในสังคมควรมีการปรับทัศนคติใหม่ที่ว่า การศึกษาไทยเปลี่ยนไม่ได้เเละถ้าจะเปลี่ยนได้ก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจเท่านั้น มาเป็นเราทุกคนมีส่วนร่วมเปลี่ยนการศึกษาไทยได้” ดร.สมเกียรติ กล่าวและว่า
ภาคเอกชนก็ต้องมีบทบาทในการพัฒนาการศึกษาไทย ซึ่งทำได้หลายด้าน ได้แก่ ร่วมพัฒนาอาชีวะทวิภาคี สนับสนุนโรงเรียนประชารัฐ ร่วมพัฒนา และพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เปลี่ยนจากการบริจาคและการทำซีเอสอาร์แบบเดิม สู่การลงทุนหวังผลกระทบ รวมทั้งลงทุนในเทคโนโลยีที่จะช่วยปฏิรูปการศึกษา
ถ้าทุกคนร่วมมือกันจะมีพลังมากกว่า !!!
คุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย ตัวแทนโครงการร้อยพลังการศึกษา กล่าวว่า หลายคนได้รับรู้ถึงสถานภาพของประเทศไทยเกี่ยวกับการศึกษาซึ่งอาจทำให้เกิดความสิ้นหวัง แต่จากการสัมมนาวันนี้พบว่า สังคมมีความหวัง อย่างไรก็ตาม ความหวังจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมาจากความร่วมมือกัน
“ความหวังจะไม่เกิดถ้ายังทำแบบเดิมที่รอรับผลผลิตจากภาคการศึกษา ผมคิดว่าเรื่องการร้อยพลังของคนในสังคมเป็นเรื่องสำคัญ จึงเป็นที่มาของโครงการร้อยพลังการศึกษาที่เชื่อมร้อยพลังของคนในสังคม ทั้งผู้ที่ให้การสนับสนุน ทุนเงิน ทุนมนุษย์ อาสาสมัคร ผมเชื่อว่าการทำงานร่วมกันของภาคีที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีระบบ เเละร่วมมือจากหลายฝ่ายจะสามารถช่วยพัฒนาการศึกษาไทยได้” คุณวิเชียร กล่าว
การพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ ลำพังแค่ภาครัฐไม่เพียงพอ ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย ชุมชนมาร่วมภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบ โรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School)
คุณมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา กล่าวถึงโครงการนี้ว่า คือแหล่งเรียนรู้และศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่จะช่วยพัฒนาชุมชนและผู้ปกครองให้มีรายได้ ส่วนนักเรียนจะเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการบริหารจัดการในโรงเรียน มิใช่เพียงนั่งฟังครูสอนในห้องเท่านั้น แต่จะได้ฝึกทักษะอาชีพและทักษะชีวิต
“อย่าคิดว่าการศึกษาไทยต้องอยู่ที่รัฐ รัฐจะต้องเป็นผู้เเก้ เราต้องมาร่วมกันและบทบาทของภาคเอกชนมีความสำคัญมาก ผมจึงร่วมมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เชิญชวนองค์กรธุรกิจในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษากับโรงเรียนมีชัยพัฒนา” คุณมีชัย กล่าว
ในเวทีสุดท้ายมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ ยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของภาคเอกชนเพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร
รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของภาคเอกชนในการพัฒนาการศึกษาจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมในด้านต่างๆ สู่ภาคการศึกษา ได้แก่ ด้านทรัพยากรการเงิน กองทุนเพื่อการศึกษา ธุรกิจเพื่อสังคม ตราสารการเงิน การระดมทุนสนับสนุน ทั้งด้านแรงกาย แรงใจ และความคิดริเริ่ม
“การลงทุนในการศึกษาถ้าต้องการผลตอบเเทนที่คุ้มค่าต้องลงทุนในเด็กเล็ก”รศ.วรากรณ์ กล่าว พร้อมกับอ้างอิง ผลการศึกษาของ James Joseph Heckman เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมาจากความเชื่อที่ว่า โดยธรรมชาติของการลงทุน ยิ่งลงทุนเร็วยิ่งเกิดการวางรากฐานการสะสมทุนไวเท่านั้น การลงทุนในเด็กย่อมเกิดผลลัพธ์มากกว่าเด็กโต
ขณะที่ คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานคณะกรรมการการพัฒนาการศึกษา สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความจำเป็นอย่างมากในการมีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาไทยแต่ภาครัฐจะต้องให้โอกาสภาคเอกชนด้วยจึงจะสำเร็จ
“ภาครัฐต้องให้โอกาสภาคเอกชนเข้ามาทำเรื่องนี้ และต้องให้มองเห็นภาพของโอกาสที่ภาคเอกชนสามารถทำได้” คุณสราวุฒิ กล่าว
ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เลขานุการคณะกรรมการภาคีเพื่อการศึกษาไทย กล่าวว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทุกคนต้องมีส่วนร่วมเพื่อช่วยให้ประเทศเดินหน้าต่อไป ซึ่งภาคีเพื่อการศึกษาไทยยินดีเป็นตัวกลางในการเชิญชวนหลายภาคส่วนมาร่วมพัฒนาการศึกษาไทย จึงต้องส่งสารไปอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดพลังของคนในสังคม
“เราต้องการทุนมนุษย์แบบใหม่ที่สามารถเป็นผลผลิตได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ภาคเอกชนควรที่จะเข้ามามีส่วนร่วมโดยการนำเสนอวิธีการใหม่ๆ ขณะเดียวกันบริษัทที่ทำซีเอสอาร์ก็ควรมาจับมือร่วมกับเครือข่ายด้านการศึกษา และเราพร้อมจะเป็นตัวกลาง” ทพ.กฤษดา กล่าว
นี่คือตัวอย่างหนึ่งของความจริงที่ว่าภาคเอกชนนั้นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาไทย ในอนาคตเราอาจได้เห็นภาพของความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ พัฒนาการศึกษาไทย มากยิ่งขึ้น
หากท่านคือคนไทยที่ต้องการพัฒนาการศึกษาไทย และสนใจแนวการทำงานแบบมีส่วนร่วมที่ทำได้ทันที โครงการร้อยพลังการศึกษาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีผู้เชี่ยวชาญมากมายเข้ามาเป็นตัวช่วยให้โอกาสการศึกษาไทย ศึกษารายละเอียดได้ที่ Facebook ร้อยพลังการศึกษา https://www.facebook.com/ThailandCollaborationForEducation/