ไม่ใช่หมอกจางๆ หรือควัน แต่มันคือฝุ่นล้วนๆ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานกระทบต่อสุขภาพ ในขณะที่กรุงเทพมหานครกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งสำคัญจากภัยฝุ่น PM 2.5   AirVisual เว็บไซต์วัดคุณภาพอากาศของทั่วโลกก็จัดอันดับให้จังหวัดเชียงใหม่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กติดอันดับสูงที่สุดในโลกถึง 3 วันติดต่อกันและเลวร้ายลงในช่วงปลายเดือนที่เกิดจากไฟป่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะเด็กเล็กจากสภาพตัวเมืองที่ปกคลุมด้วยหมอกควันที่หนาทึบ

1สำหรับฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่ปัญหาเพียงชั่วคราวเพราะเมื่อดูจากข้อมูลสรุปด้านอากาศจากกรีนพีชพบว่าวิกฤตนี้ปกคลุมเชียงใหม่มากกว่า 12 ปี โดยข้อมูลระบุว่า

ปี 2016  เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีปัญหาฝุ่นอันดับ 1 วัดค่าสูงสุดได้ 144 เฉลี่ยทั้งปีที่ 42

ปี 2017 เชียงใหม่ ติดอันดับ 5 วัดค่าสูงสุดได้ 115 เฉลี่ยทั้งปีที่ 29

ปี 2018  เชียงใหม่ ติดอันดับ 4 วัดค่าสูงสุดได้ 108 เฉลี่ยทั้งปีที่ 29

นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แต่เป็นวิกฤตการณ์อย่างหนึ่งที่ทุกฝ่ายต้องหันมาร่วมกันบรรเทาและแก้ไขสถานการณ์ ในยามยากเช่นนี้เราขออาสาพาท่านผู้อ่านทะลุม่านหมอกของฝุ่น PM 2.5   ไปดูความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มคนตัวเล็กๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือช่วยให้ “เชียงใหม่ไร้ฝุ่น”

เว็บไซต์เทใจดอทคอมร่วมกับกลุ่มวิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ผู้ปกครอง ครู แกนนำชุมชน ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข ได้เปิดระดมทุนในโครงการ ละอ่อนหายใจม่วน เพื่อนำเงินสนับสนุนจัดซื้ออุปกรณ์วัดค่าฝุ่นติดตั้งใน 5 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในจังหวัดเชียงใหม่  ประกอบด้วย

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลสันกลาง  อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา  อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

เพื่อให้คุณครูสามารถดูข้อมูลสถานการณ์ปริมาณฝุ่นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและใช้มาตรการดูแลเด็กที่วางไว้รับมือได้ทันท่วงที โดยจัดซื้อเครื่องฟอกอากาศเพื่อช่วยกรองฝุ่นในห้องเรียน  จัดทำสื่อเผยแพร่ข้อมูลและคู่มือปฏิบัติในสถานการณ์ค่าฝุ่นระดับต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องฝุ่น PM 2.5 สำหรับเด็กเล็ก คุณครู ผู้ปกครอง และชุมชน จัดกระบวนเรียนรู้เพื่อดูแลตัวเองแก่ผู้ปกครองของเด็ก 5 พื้นที่ เพื่อให้มีสถานีตรวจวัดค่าฝุ่นในจังหวัดเชียงใหม่มากขึ้นทำให้ทราบข้อเท็จจริงถึงความเสี่ยงต่อเด็ก เด็กจากศูนย์พัฒนาเด็กนำร่องได้รับการป้องกันจากฝุ่นทันที เกิดชุดความรู้และคู่มือในการป้องกันตัวเองและครอบครัว ซึ่งสามารถขยายไปยังคนหมู่มากได้ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และราคาถูกที่ประชาชนสามารถนำไปทำเองได้

2

3โครงการละอ่อนหายใจม่วนถูกนำเสนอต่อสังคมในช่องทางออนไลน์ให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมสนับสนุนผ่านกลไกการระดมทุนออนไลน์ในเว็บไซต์เทใจ www.taejai.com  ซึ่งตั้งเป้าหมายการระดมทุนไว้ที่ 329,180 บาท เพื่อนำไปสนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์วัดค่าฝุ่น สามารถรายงานผลออนไลน์  จัดซื้อเครื่องฟอกอากาศสำหรับห้องขนาด 21-37 ตารางเมตร เครื่องฟอกอากาศสำหรับห้องขนาด 35-60 ตารางเมตร  เครื่องฟอกอากาศสำหรับห้องขนาด 70-120 ตารางเมตร สื่อเผยแพร่ข้อมูลและคู่มือปฏิบัติ หน้ากากป้องกัน PM 2.5 กิจกรรมประดิษฐ์เครื่องฟอกอากาศดีในพื้นที่

รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง กลุ่มวิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์   มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า หน่วยงานในพื้นที่ประเมินสถานการณ์ว่าปัญหาฝุ่นส่งผลกระทบกับเด็กๆ การจัดการจึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์เข้ามาช่วยในการแก้ปัญหา

4“การจัดการปัญหาต้องใช้เงิน ก่อนหน้านี้ได้ระดมทุนจากชุมชน เช่น ทอดผ้าป่า เปิดรับบริจาค ร่วมกันประดิษฐ์เครื่องฟอกอากาศในครัวเรือน เเต่เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยงจึงคิดว่าการประดิษฐ์พัดลมอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ขณะที่ยอดเงินที่ต้องใช้ซื้ออุปกรณ์มีจำนวนที่สูง จึงได้รู้จักเทใจดอทคอมในการระดมทุนและได้ทำงานร่วมกันซึ่งผลที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจและทุกคนร่วมมือกันช่วยแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี ส่วนความปลอดภัยเราบอกได้เลยว่าห้องเรียนกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของชุมชนด้วย” รศ.ดร.จุฑามาศกล่าว

สอดคล้องกับ ครูเจริญวรรณ มงคลจีระอุทัย หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลออนใต้  กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่โครงการละอ่อนหายใจม่วนได้ให้ความสำคัญกับปัญหาฝุ่นในพื้นที่เพราะที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเด็กๆ เป็นอย่างมาก เช่น เด็กบางคนเลือดกำเดาไหลโดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออาการภูมิแพ้กำเริบ การได้รับการช่วยเหลือครั้งนี้นอกจากจะทำให้เด็กๆ ปลอดภัยแล้ว ยังสร้างความตระหนักเรื่องความภัยจากฝุ่นให้กับชุมชนได้อีกด้วย

“พอโครงการละอ่อนหายใจม่วนเข้ามาช่วยเหลือให้เด็กๆ ปลอดภัยจากฝุ่นทำให้ครูและหน่วยงานวิชาการ ชุมชน ผู้ปกครองคลายความกังวลและรู้สึกอุ่นใจว่าเด็กๆ ปลอดภัย ที่สำคัญเด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีดูแลตัวเอง คนในชุมชนก็เห็นความสำคัญเรื่องฝุ่นมากขึ้นด้วย” ครูเจริญวรรณกล่าวเสริม

60709031_441755386402391_5344165473552433152_n

60883784_369528287036955_815595206970703872_n

คุณสิรินาท ต่อวิริยะเลิศชัย หัวหน้าส่วนบริหารโครงการเพื่อสังคม เทใจดอทคอม กล่าวว่า เทใจดอทคอมให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อเด็กในภาคเหนือ จึงเกิด “เทใจออริจินอล” คือ โครงการที่เทใจริเริ่มและมีส่วนร่วมทุกกระบวนการเพื่อแก้ปัญหา

“เรื่องฝุ่นเกิดมาหลายปีแต่ก็ยังมีคนไม่รู้จัก PM 2.5 พอดีกับที่เทใจดอทคอม รู้จักกลุ่มพยาบาลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงลงพื้นที่ทากระบวนการและติดตามผลร่วมกัน โดยเราไปช่วยออกแบบว่าน่าจะมีเครื่องฟอกอากาศในพื้นที่โดยควรจะซื้อหรือทำเอง สร้างพื้นที่ปลอดภัย อบรมให้ความรู้คนในชุมชุน” คุณสิรินาทกล่าว

หลังจากแคมเปญเปิดตัวในวันที่ 26 มีนาคม 2562 โดยได้ยอดเงินสนับสนุนตามเป้าหมาย 345,286 บาท ซึ่งสะท้อนว่าผู้สนับสนุนเหล่านี้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จอย่างยิ่ง

จากปัญหาและความสำเร็จที่เกิดขึ้นเทใจดอทคอมได้ขยายพื้นที่ทำโครงการ “ละอ่อนน้อยหายใจม่วน 2” เพิ่มอีก 5 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ประกอบด้วย

5

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลท่ากว้าง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

โรงเรียนสืบนทีธรรม อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

สถานรับเลี้ยงเด็กบ้านสวนพิมพรรณ อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านยางเปา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

โดยมีเป้าหมายการระดมทุน 303,963 บาท วัตถุประสงค์เพื่อให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีศักยภาพในการจัดการและดูแลตนเอง เพิ่มพื้นที่ปลอดภัยทางปอดสำหรับเด็กโดยมีขั้นตอนเดียวกันกับโครงการในเฟสแรก

“เราคิดว่าสถานการณ์ฝุ่นไม่ได้ลดลงแต่กลับเลวร้ายขึ้น จึงได้ขยายโครงการเฟสที่ 2 เพื่อปกป้องเด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางด้านสุขภาพ ถ้าสามารถสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้เด็กและมีพื้นที่ปลอดภัยก็จะเป็นเรื่องที่ดีและในอนาคตเทใจอาจทำชุดความรู้เกี่ยวกับการจัดการปัญหาในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ จึงขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมสนับสนุนโครงการละอ่อนน้อยหายใจม่วนอีกครั้งเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยทางปอดสำหรับเด็ก” คุณสิรินาทกล่าวทิ้งท้าย

หลายครั้งที่เรื่องราวต่างๆได้พิสูจน์ให้เห็นถึงพลังที่ปลุกเร้าความทุ่มเทของคนในสังคมให้ลุกขึ้นมาร่วมกันแก้ปัญหา นี่เป็นสัญญาณที่ดีว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ประเทศไทยเจออยู่อาจไม่ใช่แค่เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่การให้ความรู้ซึ่งสามารถขยายผลได้รวมทั้งคนในสังคมมีส่วนร่วมช่วยคิดช่วยทำจะเป็นแสงที่ช่วยสร้างความยั่งยืนของมาตรการแก้ปัญหาเลยทีเดียว

คุณสามารถร่วมสนับสนุนโครงการละอ่อนน้อยหายใจม่วน2 ผ่านทางเว็บไซต์เทใจดอทคอม  https://taejai.com/th/d/savecnxkids2/ หรือร่วมแบ่งปันข้อมูลข่าวสารของโครงการเพื่อประชาสัมพันธ์ไปสู่วงกว้างมากขึ้น