จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคมซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มระดับความวิกฤติและความรุนแรงมากขึ้น มีการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน มีความพยายามจากหลายองค์กร หลายเครือข่ายที่จะแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี ล่าสุด วันนี้ (14 พ.ค.) เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป (RNN-Reform Now Network)จัดเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 5″เดินหน้าผ่าทางตันวิกฤตประเทศไทย”นำเสนอ ข้อวิเคราะห์และข้อเสนอ“ทางเลือกและทางรอดประเทศไทย”ต่อสื่อมวลชน วิทยากรประกอบด้วยดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ และนายสันติ สาทิพย์พงษ์ ดำเนินรายการ โดย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

วันเดียวกัน ตัวแทนเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์,นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์,นางปรีดา คงแป้นได้ยื่นเอกสารชื่อ “ข้อวิเคราะห์และข้อเสนอทางเลือก-ทางออกจากวิกฤติความขัดแย้งโดยวิถีประชาธิปไตย” เป็นจดหมายเปิดผนึกต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ว่าที่ประธานวุฒิสภาและนายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือในการหาทางออกให้ประเทศด้วย

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ตัวแทนเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปกล่าวว่า เนื้อหาสาระข้อเสนอดังกล่าวประกอบด้วย 3 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 : มีการเลือกตั้งตามกำหนดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้หารือกับทางรัฐบาลไว้ก่อนหน้านี้ คือ วันที่ 20 กรกฎาคม 2557 แนวทางนี้จะถูกคัดค้านอย่างหนักตามที่ทาง กปปส.ประกาศจุดยืนไว้ ในขณะที่ได้รับการสนับสนุนจาก นปช. ดังนั้น จึงมีโอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่สงบ นำไปสู่การปะทะระหว่างมวลชนทั้งสองฝ่าย

ข้อดีคือจะมีการจัดการเลือกตั้งภายในระยะเวลาอันสั้น แต่มีความไม่แน่นอนสูงว่า หลังเลือกตั้งจะมีความสงบหรือไม่ จะมีการจัดตั้งรัฐบาลตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ หรือจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และการปฏิรูปจะสามารถเดินหน้าต่อและมีผลสำเร็จได้หรือไม่

ทางเลือกที่ 2 ขยับเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในช่วงเวลาประมาณ 4-5 เดือนนับจากนี้ (ช่วงสิงหาคม-กันยายน) เพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการจัดกระบวนการ “ออกเสียงประชามติ” ในบางเรื่องที่ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ระหว่างคู่ขัดแย้งทางการเมือง (ตามกฎหมายการออกเสียงประชามติ ต้องมีการประกาศล่วงหน้าก่อนวันออกเสียงประชามติ อย่างน้อย 90 วัน) ให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้ร่วมออกเสียงตัดสินใจโดยการใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงของตนเอง จากข้อถกเถียงเรื่องการปฏิรูปที่เกิดขึ้นผ่านมา หัวข้อหรือประเด็นที่อาจต้องให้มีการออกเสียงประชามติ เช่น เรื่องรูปแบบองค์กรหรือกลไกเพื่อดำเนินการปฏิรูป เป็นต้น

นอกจากนี้ ในระหว่างก่อนถึงวันเลือกตั้ง จะมีระยะเวลาพอสมควรต่อการดำเนินการในหลายเรื่องเพื่อเกื้อหนุน เอื้ออำนวยให้เกิดการเลือกตั้งที่เที่ยงธรรมและยุติธรรม และการปฏิรูปในระยะต่อไป

สำหรับทางเลือกนี้ มีข้อจำกัดในการปฏิรูปการจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขกฎหมายได้ อีกทั้ง ยังเป็นการเลือกตั้งภายใต้ระบบรัฐสภาแบบเดิม ดังนั้น รัฐบาลหลังการเลือกตั้งในระยะอันใกล้ตามทางเลือกนี้ ควรเป็นรัฐบาลที่มีภารกิจหลักเพื่อการปฏิรูป ไม่ได้ถือครองอำนาจยาวแบบ 4 ปี (อาจมีระยะเวลา 1- 2 ปี หรือตามที่จะเจรจาตกลงกัน) และมีการทำสัตยาบันร่วมกันของพรรคการเมืองหรือทำเป็นสัญญาประชาคมในรูปแบบใดแบบหนึ่ง รูปแบบรัฐบาลแบบไม่ได้ครองอำนาจยาวนี้จะเป็นอีกทางหนึ่งที่มีส่วนช่วยลดความขัดแย้งทางเมืองในขณะนี้

เมื่อมีข้อสรุปเรื่อง “การปฏิรูปการเมือง” เกี่ยวกับการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง (การเลือกตั้ง) และการออกแบบสถาบันการเมืองใหม่ (ระบบรัฐสภา : จำนวน ที่มา อำนาจหน้าที่ ฯลฯ) ให้มีการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งภายใต้ระบบและกติกาใหม่ที่เป็นผลสรุปจากการปฏิรูป

ทางเลือกที่ 2 นี้ ต้องจัดการเลือกตั้งสองครั้ง แต่สามารถจัดการเลือกตั้งครั้งแรกได้ในระยะเวลาไม่นาน และสามารถทำให้การปฏิรูปและการเลือกตั้งเกิดควบคู่กันไปได้ เป็นการตอบโจทย์ของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย”

ทางเลือกที่ 3 : เลื่อนวันเลือกตั้งออกไประยะหนึ่ง มีระยะช่วงเวลามากกว่าทางเลือกที่ 2 โดยให้มีระยะเวลาเพียงพอต่อการจัดกระบวนการปฏิรูปในบางเรื่องให้เกิดความก้าวหน้า ส่วนระยะเวลาจะเป็นเท่าใดขึ้นอยู่กับการเจรจาร่วมกันระหว่างคู่ขัดแย้งและองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกให้บ้านเมือง (แต่ไม่ควรเกิน 1 ปี เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจจนเกิดความเสียหายรุนแรง)

เรื่องเร่งด่วนที่ควรทำการปฏิรูปในระยะ 1 ปี ได้แก่ การปฏิรูปการเมือง ซึ่งครอบคลุมทั้งในด้านการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง (การเลือกตั้ง) การออกแบบสถาบันการเมืองใหม่ (รัฐสภา, พรรคการเมือง) การกำกับควบคุมการใช้อำนาจ และการตรวจสอบการใช้อำนาจทางการเมือง การปฏิรูปในเรื่องดังกล่าวจะช่วยทำให้รัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับมากขึ้นด้วย

ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ต้องมีการปรับรูปแบบรัฐบาลรักษาการณ์เช่นกันเพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อดำเนินการปฏิรูปในเรื่องเร่งด่วนตามที่กล่าวข้างต้นจนได้ข้อสรุปยุติ หรือมีความก้าวหน้าในระดับที่ได้ตั้งเป้าหมายกำหนดร่วมกันแล้ว จึงจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามผลสรุปการปฏิรูป

ทางเลือกที่ 3 นี้ จะมีการเลือกตั้งครั้งเดียว แต่ต้องสร้างความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานปฏิรูปในช่วงไม่เกิน 1 ปีก่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากในขณะนี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายจึงเป็นข้อจำกัดที่สำคัญ นอกจากนี้ ต้องสร้างหลักประกัน สร้างความเชื่อมั่นให้ได้ว่า จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในระยะเวลาที่กำหนด ไม่มีการเบี่ยงเบนหรือล่าช้าออกไปจากเวลาที่ตกลงร่วมกัน

“หากพิจารณาจากสามแนวทางดังกล่าวทางเลือกที่ 2เป็นทางเลือกที่น่าจะมีความเหมาะสมมากที่สุดกับสถานการณ์ในช่วงเวลานี้เพราะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของคู่ขัดแย้งได้มากที่สุด ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่ต้องการเห็นความก้าวหน้าของการปฏิรูปประเทศ และเป็นทางเลือกที่อยู่บนวิถีทางประชาธิปไตย”

นายบัณฑูรกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ความสำเร็จของทางเลือกที่ 2 จะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีการดำเนินการทั้งสามเรื่องควบคู่กันไป ได้แก่ การกำหนดวันเลือกตั้งที่มีระยะเวลาเพียงพอและการปฏิรูปการบริหารจัดการเลือกตั้ง การออกแบบกำหนดกลไกการปฏิรูป และการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

นายมานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปเห็นด้วยกับข้อเสนอทางเลือกที่ 2 ว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด แม้จะต้องเลือกตั้งสองครั้งก็ถือว่าคุ้มค่าเพราะนำมาสู่กระบวนการปฏิรูปและเป็นวิถีการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่จะต้องปฏิรูประบบการจัดการการเลือกตั้งด้วยให้ได้มาซึ่งนักการเมืองที่มีคุณภาพ เป็นพื้นฐานของการสร้างสังคมปลอดคอร์รัปชัน#