เสื้อยืดสีดำและสีขาวที่นำมาแขวนบนราวถูกจัดวางไว้อย่างเรียบง่าย แต่แปลกตาและแฝงไปด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาของไทย ภายในงาน Good Society Expo เทศกาลทำดีหวังผล” ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตอกย้ำด้วยข้อความบนเสื้อที่ “สะกดผิด” อย่างคำที่คุ้นเคยกันดี เช่น “ประเทศไทย” แต่สะกดเป็น “ประเทดไทย” ก็เพื่อให้สังคมได้รับรู้ถึงปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเยาวชนที่มาจาก “ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”

ถือว่าเป็นแรงดึงดูดให้หลายคนเข้ามาเยี่ยมชมพาวิลเลี่ยนการศึกษาที่นำเสนอคอนเซ็ปต์ Limited Education เพราะการศึกษาถูกจำกัดซึ่ง เกรฮาวด์ ออริจินอลเเบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำของเมืองไทย ได้ร่วมกับ 5 องค์กรด้านการศึกษา อย่าง มูลนิธิยุวพัฒน์ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น a-chieve และ เอ็ดวิงส์ เอ็ดดูเคชั่น ที่มีความพยายามในการมุ่งแก้ปัญหาการศึกษาด้วยการสร้างแคมเปญ “Limited Education” ซึ่งได้รับการสร้างสรรค์ไอเดียจากครีเอทีฟเอเจนซี่  “ชูใจกะกัลยาณมิตร” และ “โกลวสตอรี่ (Glowstory)”

แคมเปญนี้ถูกนำเสนอต่อสังคมไม่เฉพาะแค่ในงาน Good Society Expo ที่พาวิลเลียนการศึกษา แต่ยังมีช่องทางออนไลน์ให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมสนับสนุนผ่านกลไกการระดมทุนออนไลน์ อย่างเว็บไซต์เทใจ www.taejai.com ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2,000,000 บาท เพื่อนำไปสนับสนุนเยาวชนที่ขาดโอกาสใน “โครงการพัฒนา100โรงเรียนเพื่อเยาวชนขาดโอกาส”

หลังจากที่แคมเปญ“Limited Education” เปิดตัวในวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ไม่ถึง 24 ชั่วโมง เสื้อยืดในแบบ “ชื่อของคุณ” จำนวน 100 ตัวในเว็บไซต์เทใจ หมดไปอย่างรวดเร็ว จากผู้สนับสนุนจำนวน 284 คน จนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2560 ได้ยอดสนับสนุนตามเป้าหมาย 2,000,440 บาท จากผู้สนับสนุนออนไลน์ 2,121 คน และผู้สนับสนุนภายในงาน Good Society Expo อีก 458 คน รวม 2,579 คน ซึ่งสะท้อนว่าจำนวนผู้สนับสนุนเหล่านี้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนผู้สนับสนุนโครงการเพื่อสังคมผ่านเวบไซต์เทใจตลอดปี นับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่ง

ตัวช่วยสำคัญของแคมเปญนี้ ไม่ได้มีแค่ช่องทางนำเสนอ แต่ยังได้รับความร่วมมือจากดารา เซเลบในวงการบันเทิง จำนวนเกือบ 30 คน  ร่วมบอกเล่า “คุณค่า” ของเสื้อผ่านคลิปวีดีโอ  โดยแต่ละคนจะสวมเสื้อยืดสกรีนชื่อของตัวเอง จากลายมือจริงของเด็กชั้นมัธยมต้นแห่งหนึ่งในภาคกลาง ที่มีปัญหาการอ่าน-เขียนไม่คล่อง หรือร่วมเแชร์รูปที่สวมเสื้อ “Limited Education” ผ่านโซเซียลมีเดีย  พร้อมเพิ่มช่องทางให้ทุกคนสามารถดีไซน์ ร่วมสนับสนุนและรับเสื้อเป็นที่ระลึกผ่านเว็บไซต์ www.limitededucation.org ด้วยโปรแกรมที่ทำให้เกิดชื่อที่สะกดผิดผ่านลายมือของเด็กๆ เพื่อตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งถือว่าได้สร้างปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์ ทำให้ปัญหาการศึกษาถูกส่งต่อในวงกว้างและสังคมตื่นตัวมากขึ้น

 “ตอนแรกก็ไม่แน่ใจว่าเกรฮาวด์จะเข้ามาอยู่ตรงไหน หน้าตาของนิทรรศการจะออกมาอย่างไร แต่ทางครีเอทีฟและ 5 องค์กรภาคีเครือข่ายการศึกษาก็ทำออกมาได้ลงตัว เอาแบรนด์เรามาใส่ในจุดที่มูลนิธิฯต้องการ เราก็ได้ใช้แบรนด์ให้เกิดประโยชน์และใช้ความรู้ ความสามารถจากการที่เป็นบริษัทออกแบบ เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ช่วยได้เต็มที่และเราก็ดีใจที่ได้ทำสิ่งนี้” คุณวิ-วิชชุกร โชคดีทวีอนันต์ แบรนด์ ครีเอทีฟ ไดเรคเตอร์ เกรฮาวด์ ออริจินอล กล่าว

“เกรฮาวด์” นับเป็นแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำของเมืองไทยที่สร้างความโดดเด่น ให้กับรันเวย์แฟชั่นอยู่เสมอ ในวันนี้ได้ทำหน้าที่มากกว่าการออกแบบเสื้อผ้าที่นำความสุขมาให้ผู้ที่ชื่นชอบการเเต่งตัว นั่นคือ การได้ช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้เด็กๆกับแคมเปญนี้เป็นครั้งแรก

“ที่ผ่านมาเกรฮาวด์จะสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับแคมเปญนี้ เรารู้สึกว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจและตอบโจทย์เพราะได้ช่วยเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาคนที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศ”

ใครเป็นเจ้าของเสื้อ “Limited Edition” จะพบข้อความด้านหลังเสื้อ บอกถึงผลการสำรวจเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาของไทย จากการสำรวจการอ่านออกเขียนได้ของกระทรวงศึกษาธิการปี 2558 พบว่า เด็กไทยกว่า 140,000 คนอ่านหนังสือไม่ออก และกว่า 270,000 คน เขียนไม่ได้

“ตอนแรกเห็นลายมือเขียนหนังสือของน้องๆ กลุ่มนี้เข้าใจว่าคงเป็นเด็กเล็ก เลยเขียนหนังสือไม่ได้ แต่ตกใจเมื่อรู้ว่า เป็นน้องระดับมัธยม ส่วนหนึ่งเพราะเราเองก็มีลูก และพี่ๆ ในออฟฟิศที่มีครอบครัวก็คิดเหมือนกันว่า ทำไมการศึกษาไทยมีความแตกต่างกันมาก ระหว่างเด็กกรุงเทพฯกับเด็กที่อยู่ในชนบท เด็กกับการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่เลี้ยงดูเขาให้เติบโตแต่เป็นเรื่องการสร้างคนที่มีคุณภาพ”

“เราอยากให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่แค่ช่วยแล้วเอาเงินไปให้โรงเรียนก็จบ ซึ่งการที่ภาคธุรกิจและภาคสังคมเข้ามาร่วมกันช่วยแก้ปัญหาสังคมถือเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะธุรกิจก็เติบโตมาพร้อมกับสังคม ถ้าเรามีส่วนช่วยทำให้ประเทศเราดีขึ้น คนดีขึ้น เศรษฐกิจก็น่าจะดีขึ้น” วิชชุกร กล่าว

เป้าหมายของแคมเปญ“Limited Education” ต้องการ “ปลดล็อค” ปัญหาการเข้าถึงโอกาสของการศึกษาด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนทุกกลุ่ม “นัฐพร ธนบูลสวัสดิ์”  เป็นอีกหนึ่งคนที่แวะเข้ามาชมแคมเปญ “Limited Education เพราะการศึกษาถูกจำกัด” จากการรับรู้ผ่านโลกออนไลน์

“เห็นแคมเปญในเฟซบุ๊ก ตอนแรกก็ยังไม่ทราบ พอมาที่งานเทศกาลทำดีหวังผล โดยเฉพาะพาวิลเลี่ยนการศึกษา ก็รู้ว่าเป็นโครงการนำเงินที่ได้จากการขายเสื้อไปสนับสนุนการศึกษาให้กับเด็กที่ขาดโอกาส เราคิดว่าการศึกษาสำคัญมากสำหรับเด็กคนหนึ่งที่จะเติบโต ถ้าแก้ปัญหาการศึกษาได้ก็จะทำให้ปัญหาสังคมด้านอื่นๆลดลงไปด้วย” นัฐพร กล่าว

เธอยอมรับว่าไม่รู้ข้อเท็จจริงของปัญหาการศึกษาไทยมากนัก โดยเฉพาะที่มาจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

“ได้รู้ข้อเท็จจริงที่ไม่เคยรู้มาก่อน ทั้งตัวเลขของเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และตัวเลขคนที่ไม่มีเงินส่งลูกเรียนหนังสือ ซึ่งมีมากถึง 65 % พูดตรงๆอย่างเรายังพอมีเงินเรียนหนังสือ แถวบ้านเราก็คิดว่ามีเงินส่งลูกๆเรียนเหมือนกัน แต่ในพื้นที่อื่นๆ ไม่คิดว่าตัวเลขคนที่ไม่มีเงินส่งเรียนจะสูงขนาดนี้”

นัฐพร มีความเชื่อเหมือนกับหลายคนว่า สังคมต้องการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่บางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นได้อย่างไร

“มีงานแบบนี้ก็ดี คนในสังคมจะได้มีพื้นที่ออกมาช่วยกันทำความดีและแก้ปัญหา ที่จริงแล้วคนในสังคมไม่ได้นิ่งเฉย แต่ไม่รู้ว่าจะไปช่วยทางไหน อย่างการช่วยซื้อเสื้อก็เป็นการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการศึกษาอย่างหนึ่ง” นัฐพร กล่าว

สำหรับ“โครงการพัฒนา100โรงเรียนเพื่อเยาวชนขาดโอกาสคุณโมนา ศิวรังสรรค์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิยุวพัฒน์ กล่าวว่า เป็นการผสมผสานเครื่องมือที่จะช่วยให้เด็กอยู่ในระบบ ซึ่งเป็นเด็กขาดโอกาสที่อยู่ในกลุ่ม100โรงเรียน ซึ่งประกอบด้วยทุนการศึกษา หลักสูตรดิจิทัลคอนเทนต์ของ เลิร์น เอ็ดดูเคชัน หรือครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงจาก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ โดยโรงเรียน 1 แห่ง จะมีระยะของโครงการ 6 ปี ใช้ทุนทั้งสิ้น 12 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 2 ล้านบาท โดยคาดหวังว่า เมื่อโรงเรียน100 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้รับการเติมทรัพยากรดังกล่าว จะมีเด็กขาดโอกาสอย่างน้อย 30,000 คน ได้ประโยชน์จากโครงการนี้โดยตรง

หลายครั้งที่เรื่องราวต่างๆได้พิสูจน์ให้เห็นถึงพลังที่ปลุกเร้าความทุ่มเทของคนในสังคมให้ลุกขึ้นมาร่วมกันแก้ปัญหา นี่อาจถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวดีๆ แต่จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีหุ้นส่วนแห่งความร่วมมือที่มองเห็นว่า “คน” เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ

ติดตามความเคลื่อนไหวการแก้ปัญหาการศึกษาต่อได้จากเว็บไซต์ www.limitededucation.org เพื่อยืนยันว่าทุกคนสามารถ “ปลดล็อคความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย” ด้วยการมีส่วนร่วมได้