เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ และ งานสื่อสารสังคม มูลนิธิเพื่อคนไทย ร่วมกับ บริษัท เทลสกอร์ จำกัด จัดกิจกรรมเวิร์คช้อป “สร้างแคมเปญทางสังคมด้วยอินฟลูเอ็นเซอร์ โดยเทลสกอร์” ด้วยเหตุผลที่ว่าเครื่องมือสำคัญที่จะเชิญชวนคนจำนวนมากให้มามีส่วนร่วมแก้ปัญหาสังคมก็คือ “การสื่อสาร” และแนวโน้มเครื่องมือสื่อสารในปัจจุบันที่มีนัยสำคัญต่อการโน้มน้าวใจคนในสังคมหนึ่งก็คือ “อินฟลูเอ็นเซอร์”

งานนี้ทางทีมงานของเทลสกอร์เป็นผู้นำเสนอและออกแบบเนื้อหากิจกรรม นำโดย คุณปูสุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทลสกอร์ จำกัด คุณนก- อภัศรา ซิการี่ โกศัลวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทลสกอร์ จำกัด  โดยมีอินฟลูเอ็นเซอร์มากประสบการณ์ 2 ท่าน คือ คุณเเชมป์วชริวิชญ์ อัครวิสิฐพล อาจารย์ประจำวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัย รังสิต เเละเจ้าของเพจ Champz Wachi กิน เที่ยว ครบ จบทุก ไลฟ์ สไตล์ และ คุณเหวินชวิศา เฉิน  Co-Founder at The Palettes Thailand เเละ Founder of WENDAYS มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ส่งต่อแรงบันดาลใจ ให้กับภาคีภาคสังคมกว่า 60 คน

“คุณวิเชียร พงศธร” ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย ได้ฉายภาพให้เห็นความสำคัญของการสื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมว่า  การแก้ปัญหาสังคมขนาดใหญ่จำเป็นต้องมีผู้เล่นที่หลากหลาย และต้องสร้างความร่วมมือกับองค์กรและประชาชนจำนวนมาก จึงต้องอาศัยการสื่อสาร จากประสบการณ์งานสื่อสารของภาคสังคมอาจยังไม่เข้มแข็งมากพอและยังต้องพัฒนาต่อไปทั้งในด้านปริมาณที่ยังไม่มีความต่อเนื่อง เนื้อหาในการสื่อสารที่จะต้องมุ่งเน้นไปยังเป้าหมายมากกว่าองค์กรใดองค์กรหนึ่ง รวมถึงการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เข้ามามีส่วนร่วมที่ตรงจุด ซึ่งภาคีภาคสังคมสื่อมีศักยภาพเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนงานภาคสังคมผ่านความร่วมมือแบบ Partnership ที่ทุกฝ่ายเข้ามาทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนความรู้และมุมมอง พร้อมขับเคลื่อนงานภาคสังคมให้มีประสิทธิภาพ

ในช่วงแรกของกิจกรรม“คุณปู” กล่าวว่า พลังที่ดีของโซเชียลมีเดียยังเหลืออยู่ เสียงของเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ตัวเล็กๆ หรือที่เรียกว่า “ไมโครอินฟลูเอ็นเซอร์” สามารถส่งเรื่องราวดีๆ ไปสู่สังคม และได้รับการมีส่วนร่วมจำนวนมากไม่ต่างกับอินฟลูเอ็นเซอร์คนดังๆ “แมคโครอินฟลูเอนเซอร์ หรือเซเลบริตี้”   โดยเฉพาะในงานภาคสังคมนั้นมีอินฟลูเอ็นเซอร์จำนวนไม่น้อยที่มีใจอาสา  ต้องการสนับสนุนงานสื่อสารแคมเปญต่างๆ เพราะสิ่งที่ทำนั้น ทำให้พวกเขารู้สึกได้รับการยอมรับและรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าที่ได้ที่มีส่วนร่วมแก้ปัญหาสังคม

ขณะที่คุณนก ได้เล่าประสบการณ์เชิญชวน “อินฟลูเอ็นเซอร์อาสา” ของแพลตฟอร์มเทลสกอร์ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ช่วยงานสื่อสารให้กับมูลนิธิเอนไลฟ์และจังหวัดกระบี่ กัแคมเปญ หวงแหนกระบี่  ว่า จากจุดเริ่มต้นของอินฟลูเอ็นเซอร์จำนวน 7 คน (หรือ 15 คนเมื่อนับคณะที่ร่วมทริป) กลายเป็นว่าสามารถส่งต่อเรื่องราวเข้าถึงผู้ติดตามรวมทั้งหมด 4 ล้านกว่าคน สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้กว่า 80,000 ครั้ง นั่นหมายความว่า เกิดการรับรู้ในสารสำคัญถึงผู้คนได้มากด้วยพลังของคนตัวเล็กๆไม่กี่คน

 “อาจารย์เเชมป์” กล่าวว่าการทำงานเพื่อสังคมนั้นมีคุณค่า โดยส่วนตัวมีโอกาสทำงานเพื่อสังคมมา โดยตลอด และพอได้มาร่วมกับเทลสกอร์ก็พบว่ามีโครงการเพื่อสังคมดี ๆ มากมาย เขาเชื่อว่าทุกคนต้องการมาร่วม สร้างสรรค์สังคม ร่วมทำความดี แต่อาจจะไม่รู้ว่าจะช่วยได้ช่องทาง

“ ในฐานะอินฟลูเอ็นเซอร์จึงจำเป็นต้องสื่อสาร บอกต่อ  และลงมือทำให้คนในสังคมได้รับรู้ แต่จะไม่ทิ้งสไตล์ของตนเอง รวมถึงต้องพูดภาษาเดียวกันกับผู้ติดตาม”      

สอดคล้องกับคุณเหวิน  เธอบอกว่า การจะชวนคนจำนวนมากร่วมลงมือทำจำเป็นต้องรู้จักผู้ติดตามว่าเป็นใคร ชอบเนื้อหาแบบไหน เนื้อหาสอดรับกับความชอบ ความสนใจของพวกเขาหรือไม่  

มาถึงช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เมื่อไฟแห่งแรงบันดาลใจถูกจุดติด ภาคีภาคสังคมไม่ว่าจะเป็น “มูลนิธิเรนโบว์ รูม “โซเชียลกีฟเวอร์” “อโชก้าไทยแลนด์” “ชีวามิตร” “Local Alike ”  ต่างให้ความสนใจและยกมือถามถึงวิธีการสื่อสารแคมเปญเพื่อสังคมขององค์กรจะต้องทำอย่างไรจึงจะเกิดการมีส่วนร่วมของผู้คนจำนวนมาก

คุณแชมป์และคุณเหวินได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ก่อนนำเสนอเนื้อหาจำเป็นต้องเรียนรู้ผู้ติดตาม ต้องใช้ภาษาเดียวกับกลุ่มเป้าหมาย มีความจริงใจ และหากต้องใช้อินฟลูเอ็นเซอร์มาช่วยสนับสนุนงานจะต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาสื่อสารในแบบที่เป็นตัวเองมากที่สุดบนฐานข้อมูลที่เพียงพอและเป็นความจริงจึงจะสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างการมีส่วนร่วมได้

เหนืออื่นใด การอาสาด้วยใจเพื่อช่วยสนับสนุนงานภาคีภาคสังคมของเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ ก็ให้ความรู้สึกแบบ Win-Win ที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ หรือที่คุณปูใช้คำว่า “Help You- Help Me” หมายถึงในขณะที่อินฟลูเอ็นเซอร์ได้ช่วยสังคมก็เท่ากับว่าพวกเขาได้รับการช่วยเหลือในแง่เกิดคุณค่าในตนเองตามงานที่มีส่วนร่วม

เชื่อว่ากิจกรรมเวิร์คช้อป“สร้างแคมเปญทางสังคมด้วยอินฟลูเอ็นเซอร์ โดยเทลสกอร์” ในครั้งนี้จะทำให้ภาคีภาคสังคมได้เปิดโลก มองเห็นสิ่งใหม่ๆ และจะเป็นแต้มต่อให้นำไปพัฒนางานสื่อสารได้อย่างครบเครื่อง  ไม่เพียงเท่านั้นสิ่งเหล่านี้จะเพิ่มคุณค่าในตัวเองเพราะท้ายที่สุดแล้วภาคีภาคสังคมก็ถือเป็น “อินฟลูเอ็นเซอร์”ด้วยเช่นกัน