ปัจจุบัน “โลกออนไลน์” ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่การแสดงความคิดเห็นในเชิงบวกแต่ได้กลายเป็นสนามของการรังแกกันที่สร้างรอยแผลให้กับใครหลายคน หรือที่เรียกว่า “การกลั่นแกล้งออนไลน์” (Cyber Bullying) พฤติกรรมนี้เริ่มขยายวงกว้างสู่สาธารณะและเพิ่มอนุภาพการทำลายล้างจิตใจให้รุนแรงมากกว่าเดิม บางคนมองว่าปัญหานี้เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่สำหรับอีกหลายๆ คนมองว่าเป็นภัยใกล้ตัวที่ต้องรีบแก้ไข
นั่นคือที่มาของกิจกรรมเวิร์คชอป “Cyber Bully หยุดฆ่ากันด้วยคำพูด” โดยบริษัท เทลสกอร์ จำกัด ผู้ขับเคลื่อนโครงการ “G-Youth by Tellscore” เพื่อบ่มเพาะน้องๆ นักสื่อสารเยาวชนระดับมหาวิทยาลัยได้ติดอาวุธทางปัญญา รู้จักวิธีการ เครื่องมือการช่วยลดและรู้เท่าทันการบูลลี่ ทั้งจาก มรภ.สวนสุนันทาและสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยได้รับความร่วมมือจากวิทยากรตัวจริง เสียงจริง ได้แก่ “คุณกิ๊ง-ธนิสรา เรืองเดช” CEO & Co-Founder จาก Punch Up https://punchup.world/project/ ผู้ผ่านประสบการณ์ทำสื่อหลายสำนักและเชื่อในการเปลี่ยนสังคมด้วย “Data” โดยการทำ Data Visualization ให้ภาพเล่าเรื่องมากกว่าเป็นภาพประกอบ และ “คุณต้น ศิริศักดิ์ ไชยเทศ” นักรณรงค์สิทธิมนุษยชนผู้ที่ได้รับรางวัลด้านส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศ
ทั้งคู่ไม่เพียงฉายภาพการบูลลี่ในโลกออนไลน์แบบไทยๆ แต่ยังเปิดให้เห็นรากของปัญหาที่แท้จริงที่ถูกซ่อนไว้ใต้ภูเขาน้ำแข็งอย่างยาวนาน ไล่เรียงตั้งแต่โครงสร้างและวัฒนธรรมของสังคมไทยที่สัมพันธ์กับการบูลลี่ การรังแกกันผ่านไซเบอร์ (Cyber Bullying) ไปจนถึงลักษณะเฉพาะของภาษาที่เข้ามามีบทบาทในการบูลลี่ รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาให้ยั่งยืน
“คุณกิ๊ง-ธนิสรา เรืองเดช” บอกว่า การเล่าเรื่องด้วยข้อมูลมีหลักการสำคัญคือ ที่มาของข้อมูล หากแหล่งข้อมูลนั้นมาจากแหล่งเดียวแต่ไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่าข้อมูลมีความสัมพันธ์อย่างไรกับกลุ่มเป้าหมาย เรื่องนั้นก็อาจจะไม่สามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย ดังตัวอย่างโปรเจ็ค “คนไทยเห็นบูลลี่แบบไหนในโซเชียล” https://www.thairath.co.th/spotlight/dtacstopcyberbullying/ ที่ได้ร่วมกับดีแทค มีการผสานแหล่งข้อมูลมาประกอบเป็นเรื่องราวทั้งจากข้อมูลการสำรวจและการกวาดข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย โดยได้รับความร่วมมือจาก Wisesight ทำให้การเล่าเรื่องบูลลี่มีมิติมากขึ้น
ความยากเป็นเรื่องการนิยามและจัดกลุ่มคำว่าบูลลี่หรือไม่ ซึ่งก็ได้ “อาจารย์ธานี ชัยวัฒน์” จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้วิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ปี 2562 ซึ่งถือเป็นความร่วมมือทางวิชาการ มุ่งแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกทางโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) อย่างยั่งยืน เข้ามาช่วยกำหนด Methodology เพื่อให้มีความถูกต้องในทางวิชาการมากขึ้น และสามารถอธิบายกระบวนการทางสังคมต่อไปได้
จากการเก็บข้อมูลย้อนหลังไป 1 ปี ตั้งแต่พฤศจิกายน 2561 – ตุลาคม 2562 สามารถกรองข้อมูลซึ่งเป็นต้นตอของข้อความบูลลี่ทั้งหมดกว่า 700,000 ข้อความ แต่ที่น่าตกใจมากกว่าก็คือมีการรีทวีต ไลค์ แชร์ ทำให้เกิดการขยายข้อความดังกล่าวกว่า 30 เท่า หรือเท่ากับ 21,000,000 ข้อความ นั่นหมายความว่าใน 1 วัน จะเห็นข้อความที่มีการบูลลี่ กว่า 50,000 ข้อความ ทุก 1 นาที มีโอกาสเห็นข้อความบูลลี่ 39 ข้อความ โดยลักษณะการบูลลี่ที่ปรากฎในโซเชียลมีเดียของไทยที่พบมากที่สุด ได้แก่ อันดับ 1 การบูลลี่ด้านรูปลักษณ์ 36.4% อันดับ 2 การบูลลี่ทางเพศ 31.8% อันดับ 3 การบูลลี่ทางความคิดและทัศนคติ 10.2%
นอกจากนี้ยังพบว่าการแกล้งกันทางออนไลน์นั้นส่วนมากพบในวงการ “การศึกษา” ซึ่งสามารถเกิดขึ้นตั้งแต่ ระดับ “อนุบาล” ไปจนถึงระดับมัธยม โดยมีเพื่อนเป็นคนที่ปรากฏในข้อความที่พูดถึงการบูลลี่มากที่สุด
การศึกษามีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลที่ตั้งค่าส่วนตัวของแพล็ตฟอร์ม ทำให้ข้อมูลที่รวบรวมอาจไม่ใช่ปริมาณข้อความที่เกี่ยวข้องกับการบูลลี่ทั้งหมดบนโซเชียลมีเดีย และด้วยข้อจำกัดทางด้านภาษาและเทคโนโลยี ข้อมูลนี้จึงอาจไม่ครอบคลุมข้อความที่ใช้คำประชดประชันหรือว่าร้ายในบริบทเฉพาะได้ และมีความเป็นไปได้ที่จะถูกตีความด้วยความหมายที่ต่างออกไป
คุณกิ๊งเล่าต่อว่าในหลายประเทศ เช่น กว่า 50 รัฐในสหรัฐอเมริกามีองค์กรที่เรียกว่า Bully Police เพื่อออกพระราชบัญญัติของรัฐนั้นๆ ในการกำหนดกติกาว่าอะไรคือการบูลลี่และอะไรคือสิ่งที่สามารถฟ้องร้องได้ ขณะที่ไต้หวันมีกฎกติกาในระดับโรงเรียนที่ต้องนำไปใช้ หรือแม้แต่หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการบูลลี่ที่ประเทศเบลเยมร่วมกับประเทศเยอรมันให้นำไปใช้กับโรงเรียนในเครือสหราชอาณาจักรเพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกัน แต่ในประเทศไทยมีเพียงกฎหมายที่ใกล้เคียงก็คือหมิ่นประมาทในประมวลกฎหมายอาญาที่หลายครั้งเมื่อเข้าสู่กระบวนการจะถูก “ปัดตก” เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่านั่นคือการบูลลี่หรือไม่
“ถ้าเรายอมรับว่าทุกคนแตกต่างได้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการลดการบูลลี่” คุณกิ๊งกล่าว
แม้จะวัดความถี่ของการบูลลี่ในโลกออนไลน์ได้ไม่ละเอียด แต่ที่แน่ๆ คือในทุกๆ นาที อาจมีใครบางคนต้องเจ็บปวดกับข้อความหรือรูปภาพที่ถูกส่งต่อเป็นทอดๆ และบางครั้งก็อาจต้องแลกมาด้วย “ชีวิต”
“คุณต้น ศิริศักดิ์ ไชยเทศ” นักกิจกรรมอิสระด้านสิทธิมนุษชนเพื่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและพนักงานบริการที่ไม่ยอมจำนนและปล่อยผ่านต่อการกลั่นแกล้งอันจะพัฒนาเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างกว่าเขาจะพบจุดเปลี่ยนจากที่เคยถูกรังแกด้วยคำพูดมาจนถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและสิ่งที่ได้รับรู้จากการฟังคุณต้นในครั้งนี้คือภายใต้ความเป็นคนตลกและเสียงหัวเราะที่ชวนให้คนอื่นต้องขำตาม คือเขาเคยคิดฆ่าตัวตาย
ย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน วัยเด็กของคุณต้นไม่เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ เขาถูกบูลลี่ทั้งเรื่อง เชื้อชาติ รูปลักษณ์ และเพศสภาพ ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงเรื่อยมา จนสภาพจิตใจย่ำแย่ และนั่นก็เป็นเหมือนระเบิดเวลา ความรู้สึกถาโถมหนักขึ้นจนรับไม่ไหว เขาแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการไม่ไปโรงเรียนจนกระทบกับผลการเรียน และต้องกลับไปสู่สภาพเดิม สุดท้ายเมื่อความเศร้าสิงหัวใจจนคิดฆ่าตัวตายพร้อมกับเขียนจดหมายบรรยายความรู้สึกเพื่อหวังว่าทุกคนที่อยู่ข้างหลังจะได้รับรู้ความทุกข์ของเขา แต่โชคดีที่รอดชีวิตมาได้ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังความเป็นความตาย คือคนรอบข้างหยุดบูลลี่และยอมรับในตัวตน
เหมือนได้ชีวิตใหม่ !!! นับแต่นั้นมาเขาไม่เคยคิดฆ่าตัวตายอีกเลยเพราะหากต้องตายจริงๆ คนที่รักเขาคงต้องทรมานจิตใจไม่แพ้กัน พร้อมกับตั้งมั่นว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม
นี่คือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้ปัจจุบันจะยังคงถูกบูลลี่บนโลกออนไลน์ด้วยถ้อยคำรุนแรง แต่ก็ยังคงเดินหน้าสร้างสังคมให้เกิดความเท่าเทียมกัน
คุณต้นแนะนำวิธีป้องกันการบูลลี่ก็คือ (1) หลีกเหลี่ยง (2) ไม่ตอบโต้ (3) ไม่ใช้ความรุนแรง เพราะการ “บูลลี่กลับ” เพื่อโต้ตอบนั้นจะกลายเป็นการ “ผลิตซ้ำ” วัฒนธรรรมการบูลลี่ไปเรื่อยๆ
“ต้องยอมรับในความแตกต่าง เราทุกคนเกิดมามีสิทธิ ศักดิ์ศรี เท่าเทียมกัน มีอิสระและเสมอภาค ปัญหาการบูลลี่จะลดลงได้ถ้าทุกคนในสังคมช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ผู้ปกครอง โรงเรียน สื่อมวลชน โดยเฉพาะเยาวชนซึ่งเป็นพลังสำคัญ” คุณต้นกล่าว
นอกจากความรู้มากมายที่ได้รับบจากวิทยากร น้องๆ นักศึกษายังได้ทำเวิร์คช้อปโดยพี่ๆ จากเทลสกอร์ได้ให้น้องๆ ยกตัวอย่างคำที่เรียกว่าบูลลี่ในความเข้าใจของตนเอง ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน พร้อมกันนี้เทลสกอร์ยังได้มอบประกาศนียบัตรให้กับน้องๆ ที่มาร่วมงาน G – Youth ในปีนี้ครบ 3 ครั้ง และไม่เพียงได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ยังมีภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วม โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และบริษัท ทรู ดิจิทัล พาร์ค จำกัด
“คุณปู–สุวิตา จรัญวงศ์” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทลสกอร์ จำกัด กล่าวว่า เทลสกอร์ได้ดำเนินกิจกรรมติดอาวุธให้กับน้องๆ นักสื่อสารในอนาคต ด้วยความตั้งใจที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมตามพันธกิจ Media for Change โดยยืนยันว่ากิจกรรมในปี 2021 จะเข้มข้นมากกว่าเดิมพร้อมเติมความรู้ให้กับน้องๆ อย่างแน่นอน
การลดความเสี่ยงจาก Cyber Bullying ให้น้อยที่สุด ที่น่าจะทำได้ในตอนนี้ก็คือ การสร้างความตระหนักและการยอมรับถึงคุณค่าในความแตกต่างของสังคม ก่อนที่ 1 ใน 21,000,000 ข้อความที่เกี่ยวข้องกับการบูลลี่จะเป็นต้นเหตุของความเจ็บปวดและสูญเสียกับคนใกล้ตัว
สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารโครงการได้ที่เพจ G-Youth Good Power