นิยาม

กลไกระดมทรัพยากรทางการเงินผ่านตลาดทุนในรูปแบบ “กองทุนรวม” เพื่อสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน “เงินบริจาค” ของนักลงทุนในการต่อชีวิต สร้างอนาคตแก่ผู้มีความต้องการ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด สถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิเพื่อ"คนไทย" และมูลนิธิยุวพัฒน์

วิสัยทัศน์

"การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนทั้งทางการเงินและทางสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชัน"

พันธกิจ

  • ส่งเสริมการลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชัน (ESGC) ที่ดี เพื่อให้ได้ผลตอบแทนทั้งการลงทุนและทางสังคม สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชัน
  • สนับสนุนการบริจาคเงินจากผู้ลงทุนเพื่อต่อชีวิตและสร้างอนาคตแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุน ในประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคมธรรมาภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชัน

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ผู้ลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบัน

ผู้ลงทุน ทั้งรายย่อยและสถาบัน ในฐานะผู้สนับสนุนบริษัทที่มี ESGC และสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมผ่านกลไกค่าบริหารจัดการกองทุนฯ

บลจ. บัวหลวง

ในฐานะผู้บริหารกองทุนฯ ที่เชื่อมโยงเงินและความมีส่วนร่วมของผู้ลงทุนเข้ากับโครงการเพื่อสังคม

องค์กรตัวกลางด้านสังคม

ในฐานะผู้สรรหา คัดเลือก พัฒนา ติดตามความก้าวหน้าและผลลัพธ์ของโครงการเพื่อสังคมที่รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ

โครงการและองค์กรที่ทำงานส่งเสริมธรรมาภิบาล ต่อต้านคอร์รัปชันในสังคมไทย

ในฐานะผู้รับการสนับสนุนเงินบริจาคจากกองทุนฯ เพื่อดำเนินการการต่อชีวิต และสร้างอนาคตแก่กลุ่มเป้าหมาย

ประชาชนผู้รับประโยชน์ปลายทาง

ผลผลิต-ผลลัพธ์ กองทุนรวมคนไทยใจดี ปี 2567

ผลผลิต

6 โครงการ / 6 องค์กร

ผู้รับประโยชน์

4,287 คน / 1 องค์กร

พลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม

7 องค์กร

ผู้บริจาค

1 องค์กร

ปี 2567 มี 6 โครงการเพื่อสังคมที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ มูลค่ารวม 3.47 ล้านบาท โดยมียอดสะสมจำนวนโครงการเพื่อสังคมที่ได้รับทุนสนับสนุนนับตั้งแต่ปี 2558 – 2567 จำนวน 68 โครงการเพื่อสังคม มูลค่ารวม 52.6 ล้านบาท

สิ่งแวดล้อม

PES จัดการไฟป่าในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และน่าน

งบประมาณสนับสนุน
1,500,000 บาท

Mini Nature Park สวนป่าจิ๋วในเมือง

งบประมาณสนับสนุน
600,000 บาท

ต้นไม้ของเรา (ขยายผล)

งบประมาณสนับสนุน
300,000 บาท

อาชีพ

โรงเรียนตั้งต้นดี

งบประมาณสนับสนุน
300,000 บาท

เสริมศักยภาพคนธรรมดี เปิดพื้นที่ประตูสังคม

งบประมาณสนับสนุน
390,000 บาท

ท่องเที่ยวยั่งยืน

Small World

งบประมาณสนับสนุน
380,000 บาท

รวม 6 โครงการ

3,470,000 บาท

ที่มา: สถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน มกราคม 2568

ทั้งนี้ 6 โครงการดังกล่าว ครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม อาชีพ และการท่องเที่ยวยั่งยืน ที่เข้าถึงผู้รับประโยชน์ 4,287 คน ประกอบด้วย ประชาชนทั่วไป 4,181 คน ผู้พ้นโทษ 31 คน เกษตรกร 20 คนและผู้ต้องขังและเยาวชนในสถานพินิจ 55 คน โดยมีรายละเอียดและการสร้างผลกระทบทางสังคม ดังนี้

รายละเอียดและความก้าวหน้าของโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนรวมคนไทยใจดี ประจำปี 2567

PES จัดการไฟป่าในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และน่าน โดย บริษัท เดอะ เน็กซ์ ฟอเร็ซ จำกัด

ส่งเสริมพื้นที่ชุมชนในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยและแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในพื้นที่ป่า การทำแผนจัดการร่วมบนภูมินิเวศที่ตอบโจทย์เรื่องการทำกินและการอนุรักษ์ รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรคืนผืนป่า ผ่านการส่งเสริมการปลูกข้าว การทำเกษตรประณีต และสร้างอาชีพทางเลือก ในจังหวัดน่าน โดยแบ่งการทำงาน  3 ส่วนหลัก ได้แก่
1) รักษาพื้นที่ป่า
2) ส่งเสริมภูมินิเวศและสิทธิ
3) พัฒนาเศรษฐกิจในป่า

ความก้าวหน้าที่น่าสนใจ

  • จัดตั้งทีมทำงานและหารือแนวทาง การสร้างกองทุนจัดการไฟป่าผ่าน การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน
  • สำรวจและจัดทำข้อมูล เส้นทางเดินป่า รวมทั้งกิจกรรมที่จะได้เรียนรู้
  • ประชุมวางแผนการป้องกันไฟป่าปี 2568
  • จัดเวทีทำแผนบริหารจัดการป่า ชุมชน และขึ้นทะเบียนป่าชุมชน
  • สนับสนุนการดูแลรักษาป่า

ผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น (ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน)

  • คนในชุมชนประมาณ 600 คนสามารถดูแลรักษาพื้นที่ป่าชุมชนให้รอดพ้นจากไฟในช่วงฤดูแล้งได้ปีต่อปีและได้รับประโยชน์จากฝุ่น PM2.5 ที่ลดลง

โรงเรียนตั้งต้นดี โดย บริษัท ตั้งต้นดี เพื่อสังคม จำกัด

โรงเรียนตั้งต้นดีเปิดสอนหลักสูตรผู้ประกอบการด้านอาหารให้กับผู้พ้นโทษในชื่อ “ครัวตั้งต้นดี” ที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งหลังจากผู้พ้นโทษได้อบรมทักษะด้านอาหารและจิตใจแล้ว ผู้พ้นโทษจะได้ใช้พื้นที่ที่โรงอาหารสถาบันฯในการเปิดร้านขายอาหาร

ในระยะนี้ โครงการมีแผนในการส่งเสริมให้ผู้พ้นโทษได้มีรถเข็นขายอาหารเพื่อให้สามารถออกไปสร้างรายได้นอกสถานที่ โดยจะสนับสนุนรถเข็นจำนวน 6 คัน

ความก้าวหน้าที่น่าสนใจ

  • จัดตั้งสาขายานลูก สาขาที่ 1 ร้านอาหารสวัสดิการสำหรับพนักงาน ณ แมคโคร สาขาสาทร และใช้โมเดลแบ่งปันผลประโยชน์จากผลกำไร ปัจจุบันมียอดขายต่อเดือนเฉลี่ย 500,000 บาท
  • จัดตั้งสาขายานลูก สาขาที่ 2 ร้านอาหารสับโปะ ณ ศูนย์อาหาร อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯปัจจุบันมียอดขายต่อเดือนเฉลี่ย 80,000 บาท
  • ได้รับการสนับสนุนจากเครือ CJ ร่วมกับ PTT OR สนับสนุนกิจการยานลูกแบรนด์ Moo & More และ ลูกชิ้นปลาระเบิดไจแอนท์ โดยได้รับการสนับสนุนแบรนด์ สินค้า พื้นที่ และอุปกรณ์ในการจัดจำหน่าย

ผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น (ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน)

  • ปัจจุบันรับสมาชิกเพิ่มในโครงการ 7 ราย รวมเป็น 31 ราย โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 15,000 บาท และคาดว่าจะรับสมาชิกเพิ่มเติมได้ถึง 30 รายในระยะเวลาโครงการ ทำให้มีสมาชิกในโครงการรวม 61 ราย
  • อัตราการกระทำผิดซ้ำของสมาชิกเป็น 0 เทียบกับสถิติอัตราปัจจุบันของผู้ก้าวพลาดในปีแรก คือ ร้อยละ 15 และ ร้อยละ 25 ในปีที่สอง

Mini Nature Park สวนป่าจิ๋วในเมือง โดยบริษัท รีฟีลด์ แล็บ จำกัด โดยความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร

พัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวในเมือง โดยอาศัยองค์ความรู้ด้านการออกแบบและวางผังร่วมกับความรู้ด้านการฟื้นฟูป่าไม้บริเวณพื้นที่ว่างใต้ทางด่วน เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ขนาดประมาณ 6 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบ และถอดบทเรียนจากการดำเนินโครงการ และใช้พื้นที่รูปธรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่สวนป่าจิ๋วในเมืองให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อย่างน้อยปีละ 2 พื้นที่

ความก้าวหน้าที่น่าสนใจหลังปิดโครงการ

  • ลงสำรวจพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตห้วยขวาง
  • ออกแบบพื้นที่ให้สอดคล้องกับแนวคิดการจัดการน้ำและการพัฒนาพื้นที่ป่าจิ๋วในเมือง ออกแบบพื้นที่ใช้สอยและพื้นที่กิจกรรมเพิ่มเติม
  • คัดเลือกพันธุ์พืช โดยเน้นชนิดพันธุ์ที่สามารถเจริญเติบโตได้ในที่ร่มประมาณ 20 ชนิด

ผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น (ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน)

  • ในขั้นตอนการเตรียมงานและการออกแบบ ได้เกิดการนำเอาวัสดุเหลือใช้ของเขตมาปรับใช้ในงานออกแบบ เพื่อลดงบประมาณในการก่อสร้างและสร้างคุณค่าให้แก่พื้นที่สวน ช่วยในการเผยแพร่แนวความคิดการพัฒนาพื้นที่โดยใช้งบประมาณและการดูแลที่น้อยลง และเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่ของเขตสามารถนำไปปรับใช้ได้
  • มีประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณโดยรอบรวม 3,581 คน

ต้นไม้ของเรา (ขยายผล) โดย Recoftc

ส่งเสริมให้เกษตรกรในจ.น่านลดการปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว เปลี่ยนมาปลูกต้นไม้ที่มีความหลากหลาย และสร้างรายได้ด้วยวิธีการที่ยั่งยืนกว่า โดยค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการปลูกต้นไม้ 1 ต้นเท่ากับ 100 บาท โดยเกษตรกรจะปลูกและดูแลต้นไม้อย่างน้อย 100 ต้นต่อไร่ ในระยะเวลา 3 ปี และมีการดูแลรักษาและจัดทำข้อมูลรายงานผลการเติบโต เพื่อการติดตามการรอดตาย และสามารถตรวจสอบข้อมูลได้

ในระยะนี้ โครงการต้องการสนับสนุนการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นจำนวน 2,000 ต้น

ความก้าวหน้าที่น่าสนใจหลังปิดโครงการ

  • ฝึกอบรมการออกแบบแปลง ก่อนเริ่มปลูกต้นไม้
  • ทำการแจกกล้าไม้จากเรือนเพาะชำชุมชน  ตามความต้องการของเกษตรกร รายละ 120 ต้น
  • เตรียมปลูกต้นไม้ และ วางแผนการอบรมการเก็บข้อมูลต้นไม้ เพื่อรายงานผลผ่านทาง Trees4All – เว็บติดตามต้นไม้ของเรา RECOFTC

ผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น (ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน)

  • สร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรจำนวน 20 คน โดยการให้แนวคิดปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ที่ดิน ให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งชนิดพืช ไม้ยืนต้น และปศุสัตว์
  • คนปลายน้ำสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ผ่านการสนับสนุน การปลูกต้นต้นไม้ ของโครงการ และเหมาะสมกับช่วงวัย

เสริมศักยภาพคนธรรมดี เปิดพื้นที่ประตูสังคม โดย บริษัท อัตลักษณ์ จำกัด

บริษัท อัตลักษณ์ จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ร่วมกับเรือนจำกลางอุดรธานี สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาชนจ.อุดรฯ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในการจัดทำโครงการพัฒนาทักษะอาชีพและการประกอบการสำหรับผู้ต้องขังและเยาวชนผู้กระทำความผิด โดยเชื่อมโยงเครือข่ายอุตสาหกรรม-สถานประกอบการ ให้แก่ผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษในเรือนจำกลางอุดรธานี และเยาวชนในสถานพินิจฯ จ.อุดรธานี รวมจำนวน 55 ราย (ซึ่งใกล้พ้นโทษและยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ครอบครัว/สังคมได้) โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มอาชีพ ได้แก่ 1)  กลุ่มอาหาร/ขนม 2)  กลุ่มนวดเพื่อสุขภาพ 3)  กลุ่มตัดเย็บผลิตภัณฑ์จากผ้า 4)  กลุ่มงานเกษตรกรรม

ความก้าวหน้าที่น่าสนใจ

  • เนื่องจากโครงการได้รับการอนุมัติในปลายปี 2567 จึงอยู่ในช่วงเริ่มต้นโครงการ

Small World โดย บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด

Small World มีเป้าหมายในการสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างนักท่องเที่ยวและชุมชนแหล่งท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น โดยบริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด และ มูลนิธิ AirAsia ได้ร่วมกันทดลองพัฒนาแอปพลิเคชัน Small World ซึ่งได้มีการแนะนำธุรกิจและสถานที่ท่องเที่ยวและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2563 ผ่านการนำเสนอเนื้อหาดิจิทัลและกลไกเกม (Gamification) เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างนักท่องเที่ยวและพื้นที่

ความก้าวหน้าที่น่าสนใจ

  • เนื่องจากโครงการได้รับการอนุมัติในปลายปี 2567 จึงอยู่ในช่วงเริ่มต้นโครงการ