นิยาม

กลไกระดมทรัพยากรทางการเงินผ่านตลาดทุนในรูปแบบ “กองทุนรวม” เพื่อสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน “เงินบริจาค” ของนักลงทุนในการต่อชีวิต สร้างอนาคตแก่ผู้มีความต้องการ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด สถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิยุวพัฒน์

วิสัยทัศน์

"การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนทั้งทางการเงินและทางสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชัน"

พันธกิจ

  • ส่งเสริมการลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชัน (ESGC) ที่ดี เพื่อให้ได้ผลตอบแทนทั้งการลงทุนและทางสังคม สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชัน
  • สนับสนุนการบริจาคเงินจากผู้ลงทุนเพื่อต่อชีวิตและสร้างอนาคตแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุน ในประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคมธรรมาภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชัน

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ผู้ลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบัน

ผู้ลงทุน ทั้งรายย่อยและสถาบัน ในฐานะผู้สนับสนุนบริษัทที่มี ESGC และสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมผ่านกลไกค่าบริหารจัดการกองทุนฯ

บลจ. บัวหลวง

ในฐานะผู้บริหารกองทุนฯ ที่เชื่อมโยงเงินและความมีส่วนร่วมของผู้ลงทุนเข้ากับโครงการเพื่อสังคม

องค์กรตัวกลางด้านสังคม

ในฐานะผู้สรรหา คัดเลือก พัฒนา ติดตามความก้าวหน้าและผลลัพธ์ของโครงการเพื่อสังคมที่รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ

โครงการและองค์กรที่ทำงานส่งเสริมธรรมาภิบาล ต่อต้านคอร์รัปชันในสังคมไทย

ในฐานะผู้รับการสนับสนุนเงินบริจาคจากกองทุนฯ เพื่อดำเนินการการต่อชีวิต และสร้างอนาคตแก่กลุ่มเป้าหมาย

ประชาชนผู้รับประโยชน์ปลายทาง

ผลผลิต-ผลลัพธ์ กองทุนรวมคนไทยใจดี ปี 2565

โครงการความร่วมมือ

3 โครงการ

ภาคี

3 องค์กร

ประชาชนผู้รับประโยชน์ปลายทาง

5,796 คน

ยอดบริจาค

3.3 ล้านบาท

ปี 2565 มี 3 โครงการเพื่อสังคมที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ มูลค่ารวม 3.35 ล้านบาท โดยมียอดสะสมจำนวนโครงการเพื่อสังคมที่ได้รับทุนสนับสนุนนับตั้งแต่ปี 2558 – 2565 จำนวน 58 โครงการเพื่อสังคม มูลค่ารวม 44.1 ล้านบาท ในประเด็นต่างๆประกอบด้วย

สิ่งแวดล้อม

การส่งเสริมเขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลโดยชุมชนประมงพื้นบ้าน
งบประมาณสนับสนุน 1,932,000 บาท

เยาวชนและผู้สูงอายุ

การพัฒนาอาชีพเยาวชนด้อยโอกาสเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ
งบประมาณสนับสนุน 880,000 บาท

เด็กและสุขภาพ

FOOD FOR GOOD
งบประมาณสนับสนุน 536,000 บาท

รวม 3 โครงการ

3,348,000 บาท

ที่มา: สถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน มกราคม 2566

ทั้งนี้ 3 โครงการดังกล่าวครอบคลุมประเด็นสิ่งแวดล้อม เยาวชน ผู้สูงอายุและสุขภาพ ที่เข้าถึงผู้รับประโยชน์5,796 คน ประกอบด้วย ชาวประมง 277 คน เยาวชน 30 คน ผู้สูงอายุ 150 คน และกลุ่มครู 124 คน นักเรียน 5,215 คน จากโรงเรียน 31 แห่ง โดยมีรายละเอียดและการสร้างผลกระทบทางสังคม ดังนี้

รายละเอียดและความก้าวหน้าของโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนรวมคนไทยใจดี ประจำปี 2565 ดังนี้

การส่งเสริมเขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลโดยชุมชนประมงพื้นบ้าน โดย สมาคมรักษ์ทะเลไทย

ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและการประมงยั่งยืนผ่าน 4 พื้นที่ตัวอย่าง และทำข้อมูลติดตามความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของทะเลและรายได้ของชาวประมง

(ระยะเวลาดำเนินการ : เมษายน 2565 – มีนาคม 2566) 

ความก้าวหน้าที่น่าสนใจ

  • ประชุมร่วมกับสมาชิกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านเพื่อออกแบบการจัดการทรัพยากรทางทะเลร่วมกัน และสนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลใน 4 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดสงขลา, สตูล, นครศรีธรรมราช และ จันทบุรี
  • ประเมินผลการเปลี่ยนแปลงของการจัดทำเขตอนุรักษ์ เช่น จำนวนสัตว์น้ำเศรษฐกิจ รายได้ชาวประมง เป็นต้น 

ผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น (ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน)

  • ชาวประมง 277 คน มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และมีรายได้เพิ่มขึ้น 20% จากการจัดการผลผลิตในรูปแบบเศรษฐกิจชุมชน
  • มีทรัพยากรทางทะเลเพิ่มขึ้น เช่น มีการวางประการังเทียมบ้านปลาอย่างน้อย 200 ต้น, มีธนาคารปูที่ผลิตปูเพื่อเศรษฐกิจชุมชน 3-5 แสนล้านตัว มูลค่าไม่ต่ำว่า 30 ล้านบาท

การพัฒนาอาชีพเยาวชนด้อยโอกาสเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ โดย โรงเรียนอนันตรักษ์การบริบาล

โครงการพัฒนาอาชีพเยาวชนด้อยโอกาส 30 คนเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ โดยการอบรมหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้เรียนและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี

(ระยะเวลาดำเนินการ : มิถุนายน 2565 – เมษายน 2566)

ความก้าวหน้าที่น่าสนใจ

  • เยาวชน 15 สำเร็จการศึกษาหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ และได้เริ่มทำงานดูแลผู้สูงอายุรวม 75 คน (อัตราส่วน ผู้ดูแล 1 คน: ผู้สูงอายุ 5 คน)
  • อยู่ระหว่างการคัดเลือกเยาวชนอีก 15 คนเพื่ออบรมหลักสูตรฯ

ผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น (ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน)

  • เยาวชน 15 คนสามารถประกอบอาชีพสุจริต มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ประมาณ 10,000 – 20,000 บาทต่อเดือน
  • ผู้สูงอายุจำนวน 75 คนที่อาศัยอยู่ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือโรงพยาบาลได้รับการดูแลที่มีประสิทธิภาพทั้งด้านสุขภาพกายและใจ

FOOD FOR GOOD โดย มูลนิธิยุวพัฒน์

ส่งเสริมให้เด็กไทยได้รับความสมดุลทางโภชนาการ และสนับสนุนให้เกิดกลไกการดูแลโภชนาการเด็กในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยเสริมความรู้ด้านโภชนาการให้กับครูใน 31 โรงเรียน และติดตามภาวะโภชนาการของเด็กอย่างใกล้ชิด

(ระยะเวลาดำเนินการ : พฤษภาคม 2565 – มีนาคม 2566)

ความก้าวหน้าที่น่าสนใจหลังปิดโครงการ

  • ส่งเสริมความรู้ให้กับครูใน 31 โรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลโภชนาการเด็กนักเรียน เพื่อนำความรู้ไปปรับใช้ในการจัดอาหารและดูแลโภชนาการเด็กได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
  • หลังจากการอบรม ครูได้นำความรู้ส่งต่อให้กับบุคลากรในโรงเรียน ทำให้เกิดการจัดอาหารให้กับนักเรียนตามมาตรฐานอาหารกลางวันที่ได้วางแผนร่วมกับนักโภชนาการ
  • โรงเรียนมีการประเมินโภชนาการเด็กรายบุคคล และมีวิธีการดูแลที่เหมาะสม ทั้งเด็กที่มีภาวะโภชนาการขาดและเกิน

ผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น (ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน)

  • ครูจำนวน 124 คนได้รับการพัฒนาศักยภาพในการดูแลโภชนาการเด็กนักเรียน
  • เด็กนักเรียนจำนวน 5,215 คนได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ถูกหลักโภชนาการ