เมื่อเร็วๆ นี้ คณะผู้จัดงานประชุม AVPN Conference 2017 ภายใต้ธีม “Collaborating for Impact”  ได้นำเสนอรายงานสรุปผลตอบรับการจัดงานแก่ “มูลนิธิเพื่อคนไทย” ในฐานะผู้จัดร่วม  ด้วยคาดหวังว่า เครือข่ายเอวีพีเอ็นจะนำพา “ผู้ให้ที่เข้มแข็ง” หรือ “นักลงทุนทางสังคม” ที่เป็นสมาชิกมาร่วมเป็นผู้ลงทุนทางสังคมให้กับประเทศไทยในอนาคต

ผลปรากฏว่า งานครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงาน 727 คนจาก  32 ประเทศทั่วโลก  ในจำนวนนี้  มีกลุ่มผู้เข้าฟังคนไทยที่เป็นผู้บริหารจากภาคธุรกิจและภาคสังคมเข้าร่วมทั้งสิ้น 155 คน  ตลอด 3 วันงาน (7-9 มิ.ย.) มีการสัมมนาทั้งหมด 44 หัวข้อโดยวิทยากร 119 คน

1

35

นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมระดมทุนที่เรียกว่า  “ดีล แชร์” ที่มีองค์กรเข้าร่วม 30 องค์กร จาก 13 ภูมิภาค มีองค์กรเพื่อสังคมจากประเทศไทย  7 องค์กรร่วมนำเสนอโครงการ ประกอบด้วย โซเชียลกิฟเวอร์ โลเคิลอไลค์ เอเชียฟาวเดชั่น  มูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก โรงเรียนเยาววิทย์  ซึ่งล้วนสามารถดำเนินโครงการได้อย่างยั่งยืน ขยายผลทางโมเดลธุรกิจได้

สำหรับองค์กรที่ขับเคลื่อนงานด้านศึกษาและสร้างศักยภาพให้กับเยาวชน มีนักลงทุนทางสังคมและผู้ให้ทุนแสดงความสนใจที่จะร่วมสนับสนุน อาทิ มหาวิทยาลัยบอสตันThe Dairu Foundation และ Ycab Foundation สนใจร่วมสนับสนุนมูลนิธิเกื้อฝันเด็ก SIE Fund องค์การแคร์ประเทศฟิลิปปินส์ (CARE Philippines) และมูลนิธิอโชก้า ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อสังคม (ประเทศไทย) สนใจร่วมสนับสนุนมูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์  บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด และ มูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้รับการขยายผลจากสื่อต่างประเทศ นิเคอิ เอเซียน รีวิว สัมภาษณ์

ขณะที่ โซเชียล กีฟเวอร์ได้รับรางวัล 2017 Star deal  ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการคัดเลือกจาก 30 องค์กรที่นำเสนอในช่วงดีลแชร์ ว่ามีรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมที่น่าสนใจและสามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับองค์กรภาคธุรกิจได้หลากหลายประเภททั้งกลุ่มธุรกิจอาหาร โรงแรมและบริการต่างๆ

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมที่เข้มข้นสุด ก็คือ การเชี่อมต่อ (Networking) ระหว่างผู้เข้าร่วมที่ติดต่อพูดคุยกันเองในงานนี้มากกว่า 5,294 ครั้ง จนแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของงานเอวีพีเอ็นไปแล้วที่ผู้ร่วมงานซึ่งต่างล้วนเป็นผู้สร้างผลลัพธ์ทางสังคมจะกระตือรือล้นที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงกันเอง ก่อนนำไปสู่การสร้างความร่วมมือรูปแบบต่างๆ ในอนาคต

ไม่เพียงเท่านั้น ปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ผู้จัดได้นำเสนอผลวิจัย “ภูมิทัศน์การลงทุนทางสังคมในเอเชีย : ข้อมูลเชิงลึกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ Social Investment Landscape In ASIA : Insights From Southeast ASIA”  เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ https://avpn.asia/)และพิมพ์เป็นเอกสารจำนวนกว่า 500 เล่ม  อภินันทนาการผู้เข้าฟังในงานประชุมนี้

2

งานวิจัยดังกล่าว นำเสนอเกี่ยวกับแนวโน้ม ช่องว่าง และโอกาสสำหรับการลงทุนทางสังคมของ 14 ประเทศในเอเชีย โดยกลุ่มเป้าหมายในเบื้องต้นของงานวิจัยดังกล่าวจะเป็นนักลงทุนทางสังคมทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค  เหมาะสำหรับผู้สนับสนุนทุนหน้าใหม่ที่มองหาโอกาสเข้าสู่บริบทการลงทุนทางสังคมในภูมิภาคนี้ ซึ่งพันธกิจสำคัญหนึ่งของเอวีพีเอ็นคือการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายของทุนในความหมายที่กว้างกว่าเม็ดเงินแต่หมายถึงทุนมนุษย์ด้วย

วกกลับมาประเด็นเนื้อหางานสัมมนาบนเวที  มีข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมงานที่สะท้อนความต้องการให้มีการเพิ่มเนื้อหาการแลกเปลี่ยนในการจัดงานในปี 2561 ในหลากหลายประเด็น

อันดับ 1 เป็นเรื่อง “การลงทุนที่สร้างผลลัพธ์”  หรือ “Impact Investing”  วิธีการคัดเลือกโครงการ การวัดผลลัพธ์ทางสังคม พันธบัตรเพื่อสังคม  อันดับ 2 การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสำหรับคนพิการ สุขภาวะ การศึกษาหรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการลงทุน อันดับ3 เรื่องการเงิน โครงสร้างกองทุน นวัตกรรมการเงิน การระดมทุน

นอกจากนั้นยังให้ความสนใจในประเด็นสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ระบบนิเวศ  การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบบโลก (Earth System) และการบริหารธุรกิจ โมเดลการพัฒนาธุรกิจ การศึกษาความสำเร็จและความล้มเหลวของโมเดลพิระมิดฐานล่าง (BOP Model) การพัฒนาผู้ประกอบการ เป็นต้น

เอวีพีเอ็น (AVPN Asian Venture Philanthropy Network) เป็นองค์กรที่มุ่งเน้นเรื่องการบริจาคอย่างมีกลยุทธ์และเป็นระบบโดยการสร้างเครือข่ายการร่วมทุนในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค ก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2553 เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของทุนการเงิน ทุนทางปัญญาและทุนมนุษย์ให้แก่ภาคสังคม รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิผลของผลลัพธ์ทางสังคมทั่วทั้งภูมิภาค ส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศการให้ การร่วมทุนและการลงทุนทางสังคมในวงกว้าง ปัจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 328 องค์กร จาก 28 ประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายสมาชิกให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น จึงมุ่งเน้น 3 ด้านหลัก คือ ความรู้ ข้อมูลเชิงลึก ความร่วมมือ และเครือข่าย

การประชุมประจำปี AVPN Conference เป็นพื้นที่ของการขยายโอกาสความร่วมมือพร้อมกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์งานพัฒนาความยั่งยืนผ่านกรอบคิดการลงทุนทางสังคม  ซึ่งสำหรับประเทศไทยนับเป็นเรื่องใหม่มาก

อย่างไรก็ตาม ผู้มีประสบการณ์ตรงกับงานนี้คงเห็นด้วยว่า งานประชุมเอวีพีเอ็นครั้งล่าสุด ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่อย่างน้อยที่สุดได้กระตุ้นให้ “นักปฏิบัติ” หรือ “Practitioners”  คนไทยได้เห็นองค์ประกอบของระบอบนิเวศการพัฒนาสังคมที่สมบูรณ์และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ได้นั้น จะต้องประกอบด้วย “ทุน” ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทุนเงิน ทุนมนุษย์ ทุนความรู้ ซึ่งหมายถึงงานวิจัยงานวิชาการต่างๆ รวมทั้งทุน “เครือข่าย” ที่จะช่วยกันเชื่อมต่อจุดความสำเร็จ

องค์ประกอบเหล่านี้จะต้องมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง

ในประเทศไทย..เรายังหวังจะเห็นองค์ประกอบของระบบนิเวศแบบนี้เติบโตแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยพลังของ “นักสร้างการเปลี่ยนแปลง” ไม่ว่าจะเป็นระดับปัจเจกชน หรือระดับองค์กร

678910