ไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนคณะอะไร อยากเป็นอะไร ทำไงดี ? หากนี่คือประโยคคำถามของเด็กส่วนใหญ่ที่ต้องเลือกสายการเรียนหรือคณะในมหาวิทยาลัย เชื่อได้เลยว่ามันเป็นสถานการณ์ที่สุดจะอึดอัดในชีวิต
สอดรับกับผลวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์ 2557:เสียงเยาวชน” พบว่าเยาวชนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 67 มีเป้าหมายในชีวิตเป็นเรื่องการเรียน ในขณะที่เป้าหมายรองลงมาร้อยละ 44 คือเรื่องการงาน แต่มีเยาวชนเพียงร้อยละ 23 ที่ตั้งเป้าหมายการประกอบอาชีพตามที่ตนเองฝันไว้
จากช่องว่างของปัญหา “a-chieve” ธุรกิจเพื่อสังคม จึงมุ่งเน้นสร้างสรรค์เครื่องมือช่วยให้เด็กมัธยมศึกษาทั่วประเทศ สามารถเลือกเส้นทางการเรียนและอาชีพที่ตนเองรักได้อย่างมั่นใจและตรงกับความชอบ ความถนัดและคุณค่าในชีวิต
ถ้าเลือกผิดคือผิดทั้งชีวิต
“เพราะระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดให้เด็กไทยเลือกสายการเรียนซึ่งมีผลต่อการเลือกคณะในมหาวิทยาลัยและอาชีพ แต่เด็กไทยส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง ขาดข้อมูลอาชีพเพื่อใช้ในการตัดสินใจ และขาดการสนับสนุนด้านการแนะแนวอาชีพ”
“วิน – นรินทร์ จิตต์ปราณีชัย” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง a-chieve สะท้อนสาเหตุที่เด็กมัธยมศึกษาของประเทศไทยขาดโอกาสและประสบการณ์ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว ซึ่งเป็นส่วนช่วยให้ค้นพบความสนใจ ความฝัน และศักยภาพ ประกอบกับความรู้เกี่ยวกับอาชีพและโลกของการทำงาน
สถานการณ์ของปัญหายังมีสาเหตุมาจากความเข้าใจเกี่ยวกับการแนะแนวที่มุ่งให้ข้อมูลเพียงแค่การศึกษาต่อโดยละเลยการแนะแนวอาชีพ
“ผมมองว่าประเทศไทยยังไม่ค่อยให้คุณค่ากับวิชาแนะแนว หรือถ้ามีครูสอนวิชาแนะแนวก็ไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน การแนะแนวอาชีพไม่ใช่แค่การให้เด็กบอกว่าอยากเป็นอะไร แต่ต้องเข้าไปคุยเพื่อเปิดมุมมองให้เด็ก”
สร้างกระบวนการเรียนรู้…แนะแนวอาชีพ
“วิน – นรินทร์”ได้เล่าถึงผลิตภัณฑ์ของ a-chieve ที่เป็นเครื่องมือช่วยให้เด็กมีเป้าหมาย ทั้งหมด 4 เครื่องมือ
a-chieve shadow : โตแล้วไปไหน? เป็นกระบวนการเรียนรู้อาชีพจากประสบการณ์ตรง โดยให้เด็กมัธยมศึกษาได้เข้าไปติดตามการทำงานของอาชีพที่ตนเองสนใจเป็นเวลา 2 สัปดาห์และมีเวิร์คชอปกระบวนการรู้จักตนเองและเตรียมความพร้อม เป็นเวลา 3 วัน
a-chieve openworld งานสัมนาเปิดโลกอาชีพใน 1 วัน เพื่อบอกเล่าความจริงของอาชีพและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสายงานผ่านประสบการณ์ของ “พี่ต้นแบบอาชีพ”
ฟักฝันเฟส มหกรรมแนะนำเส้นทางอาชีพสำหรับเด็กมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยจะจัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง
Talk ชิด! กิจกรรมที่จะนำคนทำงานมาคุยกับน้องๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อทำความรู้จักและสร้างความเข้าใจในอาชีพต่างๆ โดยการพูดคุยให้ความรู้ แชร์ประสบการณ์ และถาม-ตอบในสิ่งที่พวกเขาสงสัยอยากรู้
กิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ในช่วงสั้น ๆ และกิจกรรมที่โดดเด่นเป็นที่สนใจจากเด็กมัธยมศึกษาก็คือ a-chieve shadow โตแล้วไปไหน? ซึ่งหลายคนคงทราบแล้วว่าโครงการโตแล้วไปไหน? ครั้งที่ 13 และ 14 ของ a-chieve กำลังจะมีขึ้นอีกครั้ง เด็ก ม.1-ม.6 จะได้ลองฝึกอาชีพที่ตนเองใฝ่ฝันในอนาคต ด้วยการเข้าไปเรียนรู้อาชีพในโลกการทำงานจริง ช่วงปิดเทอมเดือนตุลาคมนี้ เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม-วันที่ 25 กันยายน 2560 ระยะเวลากิจกรรม เริ่มวันที่ 6 ตุลาคม-22 ตุลาคม 2560 หากน้องๆคนไหนสนใจสามารถอ่านรายละเอียดทาง www.a-chieve.org/experience/shadow โดยจะมีกระบวนการที่หลากหลาย เช่น
Workshop กระบวนการค้นหาตัวเองและวิเคราะห์อาชีพ เพื่อช่วยให้เด็กๆมีวิธีคิด ตัดสินใจและวางแผนไปสู่เป้าหมายในอนาคต
Job Shadow การเข้าไปเรียนรู้อาชีพในสถานที่และสภาพแวดล้อมการทำงานจริงโดยมีเหล่าพี่ๆ ต้นแบบอาชีพจะคอยให้คำแนะนำและมอบหมายงาน
Exit Workshop ทบทวน แลกเปลี่ยน สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้และวางแผนเพื่อไปสู่เป้าหมายอาชีพที่ใช่ ชีวิตที่ชอบ
“จิ – ธนวัฒน์ อินทรหะ” ผู้ผ่านประสบการณ์กับ a-chieve ซึ่งเรียกว่า a-chiever บอกว่า หลังจากที่เข้าร่วมกระบวนการ Job Shadow สามารถนำมาต่อยอดความคิดและการตัดสินใจได้เป็นอย่างมาก
“ในตอนที่เราสมัครเข้า Job Shadow ตอนนั้นถือเป็นกิจกรรมแรกๆที่เราพยายามเอาตัวเองออกมาหาคำตอบที่เราอยากรู้ ซึ่งมันคือการเปิดโลกจริงๆเพราะปกติเราจะเรียนรู้จากการเรียนทั้งในโรงเรียนและอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว มันไม่เหมือนกับที่เราอ่านเลย การสัมผัสจริงเป็นอะไรที่สร้างประสบการณ์ให้เราแน่นอน หลังจากนั้นเราก็เข้าร่วมกิจกรรมเยอะแยะมากมาย ไม่เกี่ยงกิจกรรมเลย ขอบคุณวันนั้นที่กล้าจนวันนี้กรอบความคิดเรากว้างขึ้นเยอะเลย” จิ – ธนวัฒน์ กล่าว
ลองมาฟังเสียงจากอีกหนึ่ง a-chiever รุ่นที่ 4 น้องป๊อบ – รัตนากร ฉอสุวรรณชาติ ที่บอกเล่าความคิดที่เปลี่ยนไปและสิ่งที่ได้รับจากการไปติดตามอาชีพในสถานที่ทำงานจริง เป็นเวลา 2 สัปดาห์กับโครงการ a-chieve shadow : โตแล้วไปไหน? www.youtube.com/watch?v=00pi8r-jyOM
ส่วนผสมของความสำเร็จ
ปฎิเสธไม่ได้ว่า ยิ่งเด็กมีประสบการณ์ที่หลากหลายจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการค้นพบตัวเองได้เร็วขึ้น เด็กมัธยมศึกษาที่เคยเข้าร่วมโครงการของ a-chieve กว่า 7,000 คน มีการเปลี่ยนแปลง รู้จักทบทวนตัวเองและมีความตั้งใจที่จะค้นหาตนเองมากขึ้น
“เรามีการติดตามน้องๆอย่างใกล้ชิด อย่างน้องรุ่นที่ 2 เข้าไปฝึกงานกับกองบรรณาธิการนิตยสารคลีโอ ได้สะท้อนความคิดจากกระบวนการถอดบทเรียนสรุปว่า ทำให้เขาชัดเจนกับตัวเองมากขึ้น จนตอนนี้เขาได้ทำงานในอาชีพที่ตัวเองชอบและอยากทำจริงๆ”
นอกจากการติดตามผลของเด็ก a-chieve ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่าย “พี่ต้นแบบ” ที่เข้าร่วมกิจกรรมแนะแนวอาชีพมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากถึงกว่า 200 คน และองค์กรต้นแบบอาชีพ กว่า 100องค์กร ที่เห็นเป้าหมายเดียวกันว่าจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ ได้ค้นหาตัวเองได้เร็วขึ้นและเลือกการเรียนต่อที่เหมาะกับใจตนเอง
ไม่เพียงเท่านี้ a-chieve อยู่ระหว่างการพัฒนาฐานข้อมูลอาชีพออนไลน์ เพื่อให้เด็กมัธยมศึกษาทั่วประเทศสามารถเข้ามาเรียนรู้ข้อมูลอาชีพที่สนใจด้วยตนเองได้ ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลอาชีพจากสาขาอาชีพต่างๆ ไว้กว่า 100 อาชีพ คาดว่าจะเปิดตัว ภายในเดือนธันวาคม 2560
7ปีแห่งการเรียนรู้…กับอาชีพที่ใช่
จากจุดเริ่มต้นของ a-chieve ที่ขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างเพื่อนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สนใจปัญหาคนรุ่นใหม่ด้วยกัน ลองผิดลองถูกจนมาเจอปัญหาของน้องชายเพื่อนที่กำลังขึ้น ม.4 แต่ตัดสินใจไม่ได้ว่าเลือกสายการเรียนไหน จนกลายมาเป็นอาชีพที่ใช่ของชาว a-chieve ในวันนี้ ที่ผ่านมา a-chieve ต้องเจออุปสรรคทั้ง ครอบครัว แหล่งทุน และปัญหาของธุรกิจเพื่อสังคมที่ต้องมุ่งแก้ปัญหาสังคมและต้องทำให้ธุรกิจอยู่รอดไปด้วย
“ตอนเริ่มทำโครงการครอบครัวจะไม่ค่อยเข้าใจว่าเราทำเพื่อสังคมแบบนี้แล้วได้อะไร เพราะช่วงแรกที่มาทำโครงการเราไม่มีเงินเดือนเลย แต่ก็ได้มูลนิธิอโชก้าผู้ริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อสังคม (ประเทศไทย) เป็นองค์กรพี่เลี้ยง ที่คอยแนะนำและเสนองานภาคสังคมเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงองค์กรในระยะตั้งต้น อีกอย่างคือเราไม่ได้มาจากสายธุรกิจ แต่เราโชคดีที่มีพี่ๆคอยแนะนำ”
จากวันนั้นถึงวันนี้ถ้าจะพูดว่า กลยุทธ์ของ a-chieve เปรียบเสมือนนักรบที่ต้องลับดาบให้คมเสมอ เพราะไม่รู้ว่าข้าศึกจะมาเมื่อไหร่” ก็คงไม่ผิด เพราะ a-chieve พัฒนาตัวเองและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ
“เราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ทีมผมมีเป้าหมายชัดเจนว่าทำเพื่อสังคม พอชัดเจน ระหว่างทางถ้าเราเจออุปสรรค เช่น ไม่รู้เรื่องธุรกิจก็ต้องไปศึกษา หรือ แม้แต่การทำเว็บไซต์ที่ไม่เคยทำก็ต้องหาความรู้ เราต้องเรียนรู้เองหมดและหยุดเรียนรู้ไม่ได้เลยจริงๆ”
ก้าวต่อไปของ a-chieve
ตลอดระยะเวลา 7 ปี อาจเรียกว่า เป็นก้าวที่แข็งแกร่งของ a-chieve ที่มีส่วนช่วยสร้างผลลัพธ์ทางสังคม ทำให้เด็กจำนวน 7,000 คน มีความเข้าใจที่จะค้นหาเส้นทางชีวิตของตนเอง วิน –นรินทร์ ยังคงตระหนักเสมอว่ายังมีข้อจำกัดในการขยายผลเพื่อให้สามารถเข้าถึงเด็กจำนวนหลายล้านคนที่ต้องเจอปัญหาคอขวดในเรื่องนี้ จึงพยายามที่จะสร้างเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อขยายผลในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ด้วยการริเริ่มหลักสูตรแนะแนวที่เป็นดิจิทัลคอนเทนต์ ร่วมกับมูลนิธิยุวพัฒน์ ทดลองนำหลักสูตรแนะแนวอาชีพที่ a-chieve ใช้ในโครงการต่างๆ มาปรับให้เหมาะสมกับเงื่อนไขการเรียนการสอนในโรงเรียนเพื่อนำเข้าสู่ห้องแนะแนวของโรงเรียนต่างๆ โดยนำร่องที่โรงเรียนบ้านเกาะรัง จังหวัดลพบุรี
“พวกเราอยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับมูลนิธิยุวพัฒน์ โดยจะลงพื้นที่ทั้งหมด 10 ครั้ง ทดลองโค้ชเด็ก คลาสละเกือบ 2 ชั่วโมง และจะมี 1 วันที่จัดเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับอาชีพต่างๆ พร้อมคู่มือการเรียนรู้ตามหลักสูตรแบบจัดเต็ม มีการออกแบบกิจกรรมให้เด็กๆ กล้าพูด ทำให้เด็กมีวิธีคิด และกล้าค้นหาตัวเอง”
ความท้าทายและเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่
ผลงานที่มีคุณค่าไม่ได้จบลงแค่การจดจำ แต่สิ่งที่ “a-chieve” อยากเห็น ก็คือวัฒนธรรมการค้นหาตัวเอง (Self-Discovery)ให้กับเด็กไทย
“ผมคิดว่ามันต้องไปถึงจุดที่เด็กๆจะออกไปหาประสบการณ์ ออกไปทำงาน ออกไปค้นหาตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่แรงงานที่ดีของประเทศที่มีประสิทธิภาพ และเครือข่ายพี่ต้นแบบที่จะสามารถเปิดให้เด็กเข้าไปฝึกงานได้เอง รวมทั้งการให้ความสำคัญกับเรื่องครูแนะแนวในโรงเรียนต่างๆ”
จากความสำเร็จในฐานะองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมสามารถตั้งไข่ธุรกิจได้แต่เหนือสิ่งอื่นใดพวกเขามีความฝันและความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนช่วยให้เด็กมัธยมศึกษาของไทย ก้าวไปสู่ทิศทางที่พวกเขาคิดได้เองเพื่อให้เติบโตและก้าวไปข้างหน้าอย่างที่พวกเขาควรจะเป็นและท้ายที่สุดเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยรักษาเด็กให้อยู่ในระบบการศึกษาด้วยเหตุผลที่พวกเขามี “เป้าหมายในชีวิต”