คนตัวเล็กๆ ในวันนี้ กำลังสร้างปรากฏการณ์เชิงสร้างสรรค์ของการเขย่าโลกเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น ด้วย Crowdfunding การระดมทุนผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อช่วยเหลือคนที่มีความคิดดีๆ ได้ทำโครงการดีๆ ที่แก้ปัญหาสังคมได้

เดิมทีแนวคิดนี้เริ่มต้นขึ้นในต่างประเทศและประสบความสำเร็จด้วยดี สำหรับประเทศไทย  การระดมทุนแบบออนไลน์ได้ก่อตัวขึ้นประมาณปี 2555 ภายใต้ เว็บไซต์เทใจดอทคอม  (www.taejai.comซึ่งได้รับกระแสการตอบรับจากคนไทยไม่น้อย เพราะคนไทยมีพื้นฐานของการให้และชอบช่วยเหลือเป็นทุนเดิม ประกอบกับการร่วมบริจาคผ่านออนไลน์ก็แสนง่ายดายเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน

เทใจดอทคอม เริ่มต้นมาจากความเชื่อที่ว่า ไอเดียดีๆ ในการแก้ปัญหามีมากมาย แต่เงินทุนในการแปลงไอเดียให้เป็นจริงยังขาดแคลน หากมีการเชื่อม “คนมีไอเดีย” และ “คนที่ต้องการสนับสนุน” เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นได้จริง มูลนิธิเพื่อ “คนไทย” และ สถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงร่วมกันจัดทำชุมชนแห่งการให้บนโลกออนไลน์ผ่านเว็บไซต์เทใจดอทคอม เพื่อให้คนไทยเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนผ่านการบริจาคเงินให้แก่โครงการพัฒนาสังคมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศได้อย่างสะดวก

taejai-2คลิก… เพื่อเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น

“เราเปิดมาได้ปีครึ่ง ถ้าวัดเป็นตัวเลข เรามีโครงการที่ระดมเงินทุนสำเร็จแล้ว และทำโครงการเกือบ 60 โครงการ ระดมทุนได้ประมาณ 3 ล้าน 6 แสนบาท ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง” สิรินาถ ต่อวิริยะเลิศชัย ผู้จัดการโครงการเทใจดอทคอมเล่าถึงการดำเนินงานที่ผ่านมา

สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกโครงการมีอยู่เพียง 3 ข้อ คือ 1 เป็นโครงการที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ สร้างประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมในแง่มุมใหม่ มีความยั่งยืน และขยายผลได้ 2 เป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมได้ชัดเจน วัดผลได้จริง และมีประสิทธิภาพ 3 บุคคลากร กลุ่มคน หรือองค์กรที่ดำเนินโครงการสามารถในการจัดการโครงการได้จริง และรายงานผลความก้าวหน้าของโครงการได้อย่างต่อเนื่อง

เราอยากสนับสนุนคนที่มีแนวคิดอยากเป็นผู้ประกอบการทางสังคม หรือต่อยอดเป็นกิจการเพื่อสังคมได้ยิ่งดี ซึ่งจะตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน ในการรายงานผล เรามีระบบจัดเก็บอีเมล์ผู้บริจาค เพราะทุกครั้งที่มีความก้าวหน้าของโครงการ เราจะต้องส่งตรงถึงผู้บริจาคทันทีว่าโครงการนี้ทำอะไร ถึงไหนบ้างแล้ว”

สำหรับข้อมูลผู้บริจาคกับเว็บเทใจดอตเคอม พบว่า สัดส่วนระหว่างผู้บริจาคหน้าเก่าและหน้าใหม่คิดเป็นสัดส่วน 30/70 เฉลี่ยการบริจาค 3-5 เดือนต่อครั้ง มีความหลากลายวัย ทั้งเด็ก วัยรุ่น ไปจนถึงผู้สูงอายุ

โครงการที่เทใจดอทคอมเป็นสื่อกลางระดมทุนให้ มีความหลากหลาย ตั้งแต่โครงการเกี่ยวกับเด็ก คนชรา ผู้พิการ สิ่งแวดล้อม สัตว์ รวมถึงหนังสารคดี ซึ่ง สิรินาถ เล่าว่า โครงการที่มียอดบริจาคครบเร็ว ส่วนใหญ่มีปัจจัยโดดเด่นด้านนวัตกรรม และมีความยั่งยืน เช่น โครงการ “เล่นเส้น” ชุดวาดเขียนสำหรับน้องผู้พิการทางสายตาที่ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากชาวเทใจในปีที่ผ่านมา จากเดิมที่ตั้งเป้าระดมทุนเกือบ 40,000 บาท ภายใน 1 เดือน ก็สามารถระดมทุนได้ครบในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ รวมถึงโครงการระดมทุนให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนทุนของมูลนิธิยุวพัฒน์ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริจาค

การขยายโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนที่ขาดโอกาส โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ ที่คัดเลือกนักเรียนที่เหมาะสมจากทั่วประเทศเพื่อให้ทุนการศึกษาแบบต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนต่อจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้งนี้นักเรียนที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับทุนการศึกษา ปีละ 7,000 บาท โดย 6 ปีใช้งบประมาณทั้งหมด 42,000 บาท ตลอดระยะเวลาของการเป็นนักเรียนทุน เยาวชนเหล่านี้จะได้รับการดูแลด้วยความเอาใจใส่ และปลูกฝังคุณธรรมจากมูลนิธิฯ ผ่านการเขียนจดหมายโต้ตอบ พูดคุยโทรศัพท์ เยี่ยมเยียนนักเรียนทุน และยุวพัฒน์สาส์น – วารสารราย 3 เดือนที่เปี่ยมด้วยเนื้อหาและคุณค่าสำหรับการพัฒนาตนเองให้เป็นคนดีมีความรู้รอบตัวและมีความรับผิดชอบต่อสังคม

“โครงการนี้ ทางเทใจใช้เวลาเพียง 2 เดือน ระดมทุนการศึกษามาได้ 2 แสนบาท เรื่องการศึกษาสำหรับคนหนึ่งคนสามารถเปลี่ยนชีวิตเขาได้ ถ้าเราให้ทุนเขา 6 ปี แล้วเขามีอาชีพ แสดงว่าเขาสามารถสร้างความเข้มแข็งได้ด้วยตัวเองอีก 40-50 ปี ก็ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมากจากผู้บริจาค ด้วยว่าเป็นโครงการที่แก้ไขปัญหาระยะยาว และทางเทใจยังเป็นสื่อกลางของการสนับสนุนโครงการนี้ต่อไป”

แม้เว็บไซต์เทใจดอทคอมได้รับการต้อนรับที่ดีจากผู้บริจาคในระดับหนึ่ง หากสิรินาถยังมองว่า ต้องพัฒนาในอีกหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านการตลาดของเว็บไซต์ รวมถึงการหาเครือข่ายพันธมิตรร่วม และบุคคลสาธารณะผู้มีชื่อเสียง มาร่วมเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์โครงการดีๆ ให้กับเทใจ

 

จากเว็บไซต์สู่งานคนไทยขอมือหน่อย ปี 2

ไลฟ์สไตล์ที่ใครๆ ก็ร่วมเป็นผู้ให้กับเทใจได้

เมื่อเร็วๆ นี้ “เทใจดอทคอม” ได้เข้าร่วมกิจกรรมในงาน “คนไทยขอมือหน่อยปี 2” ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงงานที่ระดมทุนเท่านั้น หากยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการยกระดับงานพัฒนาสังคมของประเทศ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อประชาชนทั่วไปให้ตระหนักถึงสิทธิและการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อคนไทย และองค์กรภาคธุรกิจและองค์กรภาคสังคมกว่า 140 สถาบันร่วมกันจัดขึ้น ที่บริเวณชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

taejai-11taejai-7taejai-6taejai-5

เทใจดอทคอมมาพร้อมกับสีสันของกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเทใจให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาล กิจกรรมศิลปินอาสาวาดภาพ รวมถึงคอนเสิร์ตเปิดหมวก ทั้งคอนเสิร์ตเทใจให้ป่าที่ระดมทุนเข้า กองทุนผู้พิทักษ์ป่า (มูลนิธิสืบนาคะเสถียร) เพื่อคนข้างหลัง มินิคอนเสิร์ตจากศิลปิน AF 11 พร้อมประมูลภาพวาดศิลปินเพื่อเข้ากองทุนเพื่อสังคมต่างๆ ทั้งหมดนี้ต่างสะท้อนภาพให้เห็นชัดว่า แต่ละคนล้วนเป็นผู้ให้แก่สังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นการลงแรง ลงขัน หรือลงสมอง ก็ตาม

เช่น กิจกรรมเทใจให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดย ดร. เมธี ธรรมวัฒนา เป็นกิจกรรมที่เหล่าอาสาสมัครหลากหลายวัยมาร่วมกันร้อยหนังยาง ซึ่งเป็นวัสดุราคาถูก หาซื้อง่าย แล้วนำมาร้อยเป็นยางยืดบริหารร่างกาย เพื่อนำไปมอบให้แก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ยางยืดนี้สามารถนำมาบริหารได้ทั้งข้อมือ กล้ามเนื้อแขน หน้าอก ไหล่ และหลัง รวมถึงบริหารต้นขา และข้อเข่า อุปกรณ์ที่ใช้ก็มีเพียงหนังยาง การถักยางอาจใช้นิ้วเท้า ปากกา ตะปูตอกกับไม้ และท่อพีวีซี

ดร. เมธี ธรรมวัฒนา ภาควิชาการอาชีวะศึกษาและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยบูรพา ผู้คิดค้นประดิษฐ์ “ยางยืดเปลี่ยนชีวิต” ถือเป็นตัวอย่างของผู้ที่ทั้งลงแรง ลงขัน และลงสมอง เล่าว่า

“ผมเริ่มจากการทำให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้านใช้ เขาว่าดี ก็เลยทำไปแจกเรื่อยๆ ทุกวันนี้ทำไปแล้ว 1,900 ชิ้น ด้วยเงินทุนผมเอง และพัฒนารูปแบบของการถักไปถึง 23 แบบ สำหรับผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้ที่มีปัญหาหลอดเลือดสมอง ไหล่ติด ผมสามารถปรับยางยืดไปตามความพิการ หรือความบกพร่องของร่างกายได้ โดยเมื่อทำเสร็จแล้ว มีการวัดแรงต้านด้วย ต่อการยืด 1 เมตร หรือ 1 เมตร 50 เซ็นติเมตร ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีรูปแบบเฉพาะ สั้น ง่าย และทำได้เร็ว ผมขอขอบคุณองค์กรอย่างเทใจ ที่เล็งเห็นคุณค่าของสิ่งนี้ และเปลี่ยนโลกของการเป็นผู้รับ มาเป็นโลกของการเป็นผู้ให้บ้าง”

สำหรับอาสาสมัครเข้าร่วมกิจกรรม มีหลากหลายวัย ตั้งแต่ นักเรียน นักศึกษา คนทำงาน และผู้สูงวัย สิริเพ็ญ จิรโสภณ อายุ 58 ปี ได้มาร่วมถักหนังยาง บอกว่า “เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์มาก โดยที่เราไม่ต้องลงทุน ลงแรงอะไรมากมาย วันนี้รู้สึกมีความสุขที่ได้ทำอะไรอย่างนี้ วิธีการที่มีประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องหรูหรา อลังการ แต่สร้างจากงานง่ายๆ จากใจ”

ทวีวรรณ นนทลี อายุ 21 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า “เห็นกิจกรรมนี้ในเว็บไซต์ เลยชวนเพื่อนมากันสองคน หนูกับเพื่อนจะชวนกันไปทำงานอาสาอยู่บ่อยๆ อยากให้เด็กสมัยนี้ ทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง เราอยากให้ทำให้ผู้อื่นมีความสุข และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์”

กนกวรรณ สังกะเพศ หรือน้องปูเป้ วัย 16 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กล่าวว่า “เป็นกิจกรรมที่ดีค่ะ ได้มีจิตอาสาช่วยเหลือผู้ป่วย ขณะที่หนูทำก็ได้ฝึกสมาธิด้วย เพราะหนูเป็นคนไม่ชอบทำอะไรนานๆ…พอทำสำเร็จ หนูรู้สึกภูมิใจมาก”

 

ศิลปินเทใจ อาสาวาดภาพ

taejai-9สำหรับกิจกรรมศิลปินอาสาวาดภาพ มีศิลปินกว่า 16 ชีวิตมาร่วมกันวาดภาพ เพื่อขอรับบริจาคหาเงินเข้าโครงการต่างๆ ในเทใจ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สกล สุวรรณาพิสิทธิ์ ครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ ของเทใจดอทคอม ได้รวบรวมศิลปินซึ่งมีสไตล์แตกต่างกัน ตั้งแต่แนววาดคลาสิกด้วยดินสอเข้มๆ จนถึงระดับที่ใช้สมาร์ทโฟนวาด โดยผู้อุดหนุน มีตั้งแต่ชาวต่างชาติ วัยรุ่น จนถึงผู้ใหญ่

“โดยส่วนตัวผมจบศิลปะเลยอยากชวนคนในเครือข่ายเฟซบุ๊ค เลยโพสต์ไปว่า ศิลปินจิตอาสาคนไหน อยากจะมาวาดรูปเพื่อหาเงินเข้าการกุศลบ้าง ก็รวมรวมมาได้ 16 คน ตอนแรกไม่แน่ใจว่ามีการตอบรับเท่าไหร่ เพราะไม่เคยจัด แต่พอจัดจริง ได้รับความสนใจเยอะ ศิลปินก็วาดไม่ขาดมือ มีคนเข้ามาอุดหนุนตลอดเวลา”

พิศาล ชูสุทธิสกุล ศิลปินวาดภาพเหมือนด้วยดินสอ เล่าว่า “เพื่อนๆ ที่รู้จักกันชวนมา สำหรับผม มีมากก็ให้มาก มีน้อยก็ให้น้อย ผมรู้สึกอิ่มใจที่มาร่วมให้ในวันนี้…รู้สึกดีที่มีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดบวกและให้จริงๆ และรู้สึกดีกับเทใจที่ทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม”

สำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม อรณิชชา เพ็ญวรรณ นักจิตวิทยาเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว, นักร้อง, นักแสดง วัย 25 ปี บอกว่า “พอมาเดินในงานนี้รู้สึกว่าเราต้องร่วมบริจาคหรือมีส่วนร่วมทำอะไรบางอย่าง เมื่อมาเห็นกิจกรรมภาพวาดแล้วให้ร่วมบริจาค ก็รู้สึกสนใจ ทำให้รู้สึกว่า สามารถเข้าร่วมและเป็นส่วนหนึ่งได้ง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องร่ำรวย หรือเข้าร่วมโครงการอย่างจริงจัง เป็นกิจกรรมดีๆ ที่เราเข้าร่วมได้ง่ายแถมยังได้ภาพวาดกลับบ้านเป็นที่ระลึกด้วย ดีใจที่ได้มาเดินในงาน ได้เห็นโครงการดีๆ ทุกโครงการมีเป้าหมายเดียวกันคือช่วยพัฒนาสังคมไทย และที่สำคัญคือเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งนั้น”

ด้าน วิกัญญา เจนสุริยะกุล เภสัชกรวัย 36 ปี ซึ่งเป็นผู้ร่วมบริจาคเล่าว่า “เดินผ่านแล้วรู้สึกว่าภาพสวยดีเลยอยากได้ และอยากร่วมบริจาคด้วย ก่อนจะหยอดเงินลงในกระปุกต้องดูว่ากระปุกนี้เข้าโครงการไหน เป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้รู้จักโครงการอื่นๆ นอกเหนือจากที่รู้จักอยู่แล้ว ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนที่ทำงานโดยตรง ทำให้รู้สึกอยากร่วมมือและช่วยสนับสนุน อย่างกิจกรรมวาดภาพก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เราสามารถเข้าร่วมได้ง่าย เรียกได้ว่าเราไม่เสียอะไรเลยและยังได้รูปสวยๆ กลับบ้าน”

 

คอนเสิร์ตเปิดหมวกโดยศิลปิน AF11

taejai-11อีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมได้อย่างคึกคัก คือ คอนเสิร์ตเปิดหมวกจากศิลปิน AF11 ที่มีแฟนคลับมาร่วมให้กำลังใจมากมาย เริ่มจากการแสดงมินิคอนเสิร์ตจาก 3 ศิลปิน ประกอบด้วย เอม-สาธิดา ปิ่นสินชัย, พูม– ภูมิสิทธิ์ วงศ์สมบูรณ์ และน้ำ-กัญญ์กุลณัช ปัญญากิตตินันท์ จากนั้นได้เปิดให้แฟนคลับประมูลภาพวาดของทั้งสาม เพื่อร่วมบริจาคสมทบทุนให้กับโครงการต่างๆ

บรรยากาศของการประมูลเป็นไปอย่างสนุกสนานจากบรรดาแฟนคลับ เริ่มต้นที่หลักสิบ จนค่อยๆ ไต่ระดับไปถึงหลักหมื่น  โดยรูปของ “เอม” ได้รับการประมูลสิ้นสุดที่ 10,000 บาท ซึ่ง “เอม” เลือกบริจาคให้กับ ”กองทุน The voice เสียงจากเราเพื่อสัตว์ยากไร้ พร้อมทั้งยังเชิญชวนคนไทยช่วยค่ารักษาหมา-แมวและสัตว์ที่ถูกทำร้าย ฉีดวัคซีนและทำหมันให้สัตว์จร พร้อมสร้างสถานดูแลสัตว์จร “พวกเขาพูดไม่ได้ แต่พวกเขาก็มีหัวใจ เอมอยากให้พวกเราช่วยกันคนละไม้ละมือ มาร่วมช่วยกันสร้างสังคมของเราให้น่าอยู่ โดยการแบ่งปันให้กับพวกเขาบ้าง”

ส่วนรูปของ “น้ำ” ได้รับการประมูลไปในราคา 17,000 บาท โดย “น้ำ” เลือกบริจาคให้กับโครงการ “ระดมทุนช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้” ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักใน 4 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี สงขลา และพัทลุง “น้ำ” บอกว่าที่เลือกบริจาคให้กับโครงการนี้ ด้วยเข้าใจหัวอกคนที่ประสบภัยน้ำท่วมเป็นอย่างดี เพราะที่บ้านเคยถูกน้ำท่วมมาก่อน แม้ไม่สูงมากนัก แต่ก็ยังได้รับความเสียหายและเดือดร้อนมาก แต่ที่ภาคใต้ประสบมากกว่า คงได้รับความเดือดร้อนมากกว่าเป็นหลายเท่า

ปิดท้ายที่รูปของ ”พูม” ซึ่งแฟนคลับประมูลไปในราคา 15,000 บาท โดย “พูม” มอบให้กับ ”โครงการพัฒนาชุมชนคลองเตยด้วยบริการท่องเที่ยวยั่งยืน” ซึ่งเป็นโครงการที่ โลเคิล อไลค์  (Local Alike) กิจการเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนร่วมกับ มูลนิธิดวงประทีป อาสาพาทุกคนเข้าไปดูและสัมผัสหัวใจของคนคลองเตย พร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตของกันและกัน

สิรินาถ ผู้จัดการโครงการเทใจดอทคอม กล่าวถึงความสำเร็จของการมาร่วมจัดกิจกรรมในงานคนไทยขอมือหน่อยว่า สามารถระดมอาสาสมัครมาร่วมลงแรงในกิจกรรมต่างๆ ได้ถึงประมาณ 200 คน มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้เดิมที่ประมาณ 100 คน รวมถึงสามารถระดมทุนเข้าโครงการต่างๆ ได้รวม 120,000 บาท ภายในเวลาเพียง 2 วัน

“เราต้องขอบคุณอาสาที่มาร่วมงานครั้งนี้ เช่น ศิลปิน AF 11 ที่ไม่คิดค่ใช้จ่ายเลย รวมถึงเหล่าอาสาที่มาร่วมถักยางยืด ซึ่งมีจำนวนมากถึงขนาดต้องยกเก้าอี้ออกทั้งหมดและต้องนั่งพื้นแทน ผลตอบรับจากอาสาครั้งนี้ ทำให้เราคิดที่จะจัดกิจกรรมต่อเนื่องอีกในอนาคต เพราะมีหลายคนอยากมาร่วมลงแรงเป็นอาสาสมัครทำกิจกรรมต่างๆ กับเราอีก”

ความร่วมมือที่มีพลังเปลี่ยนสังคมได้ ร่วมสนับสนุนโครงการดีๆ รวมถึงติดตามความคืบหน้าโครงการต่างๆ ได้ที่ www.taejai.com แล้วจะรู้ว่าคุณเองมีส่วนร่วมเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นได้