งานสัมมนา “ขับเคลื่อนพลเมือง สร้างสังคมไทยเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (MIDL)” เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เชิญภาคีหลายภาคส่วน ได้แก่ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกันอภิปรายหัวข้อ “เข็มทิศเคลื่อนสังคมไทย ผ่าน MIDL สู่ความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยเพื่อบอกเล่าถึงทิศทางการทำงาน MIDL และแนวทางการทำงานร่วมกัน โดยมีดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการอภิปราย

img_3854เริ่มที่คุณประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ทุกวันนี้เห็นผลกระทบจากโลกดิจิทัลมีทุกรูปแบบ และเป็นปัญหาแก่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งกสทช. ไม่สามารถควบคุมเนื้อหาบนออนไลน์ได้ ถือเป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานต้องร่วมกันรับผิดชอบแม้จะยังไม่มีกฎหมายระบุว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด ในส่วนของกสทช. มีการสนับสนุนงบประมาณให้โครงการต่างๆ ผ่านทางกองทุน เช่น กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) แต่ยังไม่มีการมองเป็นระบบ อาจต้องประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันผลักดันการรู้เท่าทันอย่างจริงจัง หรือพัฒนาให้เป็นกลไกขึ้น

ด้าน รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล รองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ไทยพีบีเอสเป็นสื่อที่ต้องให้ความสำคัญกับการรู้เท่าทันตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงได้ส่งเสริมผ่านงาน 3 ส่วนคือ 1 งานผลิตทั้งข่าว รายการ และคอนเทนต์ต่างๆ 2 งานพัฒนาศักยภาพของคนให้ไปสู่ความเป็นพลเมือง เช่น การฝึกอบรม การรณรงค์วาระทางสังคม และ 3 ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อีกทั้งมีการจัดทำยุทธศาสตร์ใหม่จนถึงปี 2561 โดยตั้งเป้าที่จะเป็นสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการรู้เท่าทันเป็นหนึ่งในคุณค่าหลักด้วย จึงพร้อมสนับสนุนทั้งในด้านการสร้างการรับรู้ให้แก่สังคม การร่วมมือกับภาคีภาคสังคมดำเนินโครงการต่างๆ ที่วัดผลได้ และยังสนใจร่วมมือกับเครือข่ายนักวิชาการออกแบบเครื่องมือประเมินผลผู้ใช้สื่อว่าสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่อย่างไร

คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสสย. ซึ่งมุ่งเน้นสร้างการรู้เท่าทันในสังคมร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ มาร่วม 10 ปี ฉายภาพให้เห็นว่า มีบทเรียนต้นทุนอยู่มากแต่จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนและขยายสู่สังคมในเชิงโครงสร้างและนโยบายได้ นอกจากนี้ ยังมีองค์ความรู้ เช่น กรอบหลักสูตร โดยคาดหวังให้ครูนำไปขับเคลื่อนต่อ แต่ก็ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพให้ครูเป็นกลุ่มแรกๆ ด้วย และต้องมีเครื่องมือให้ครูนำความรู้ไปจัดการเรียนการสอนต่อ ซึ่งงานส่วนนี้ได้ร่วมกับสพฐ. แต่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น อยากให้สื่อที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมกันพัฒนาเครื่องมือเหล่านี้

สำหรับระดับนโยบายนั้น ตนเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการและส่วนงานต่างๆ ต้องเร่งให้มีการเรียนการสอนทุกระดับ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการสอนในวิชาสังคมหน้าที่พลเมือง แต่ยังอาจประยุกต์ในส่วนอื่นๆ ของหลักสูตรแกนกลางได้อีก นอกจากนี้ ยังมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการ นักวิจัย โดยการสนับสนุนจากสกว.สร้างตัวชี้วัดการรู้เท่าทันสื่อแต่ละช่วงวัย ซึ่งเป็นโครงการระยะเวลา 3 ปี คาดว่าจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่นำไปสู่การขับเคลื่อนงานระดับกลไกและนโยบายต่อไปได้

คุณวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า ภารกิจของกองทุนฯ คือการส่งเสริมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสนับสนุนให้เกิดสื่อเหล่านี้มากขึ้นรวมถึงการรู้เท่าทันสื่อ ขณะนี้กองทุนฯ ได้เสนอแผนแก่กสทช.เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาใช้บริหารจัดการ และสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้อง คาดว่าไตรมาสสุดท้ายจะเริ่มจัดสรรทุนได้โดยมีการตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้ 100 ล้านบาท แม้ขณะนี้แหล่งทุนหลักคือกสทช. แต่ก็เปิดรับเงินบริจาคด้วย ซึ่งหน่วยงานหรือประชาชนที่สนับสนุนสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ถือเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้กองทุนนี้เข้มแข็ง รวมไปถึงการได้รับความร่วมมือจากภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยกันพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์