“สมัชชาพลเมือง” แม้จะดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ด้วยปรากฏขึ้นครั้งแรกในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (วันที่ 17 เมษายน 2558) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนและพลเมือง แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีรูปแบบการมีส่วนร่วมและการรวมตัวของเครือข่ายความเข้มแข็งต่างๆทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เกิดขึ้นในพื้นที่หรือขับเคลื่อนประเด็นต่างๆมาเป็นเวลานาน
เวทีออกแบบ “สมัชชาพลเมือง (ก.ท.ม.)อย่างที่เราอยากให้เป็น” จัดขึ้นช่วงบ่ายของงานเปิดตัวพลเมืองเสวนา เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 จึงได้เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมในการแสดงออกทางความคิดในการออกแบบสมัชชาพลเมืองที่สะท้อนการทำหน้าที่ของความเป็นพลเมือง แนวทางการจัดทำสมัชชาพลเมือง จนท้ายที่สุดนำไปสู่การวางรากฐานสังคมให้เข้มแข็ง และ สร้างพลเมืองที่เป็นใหญ่ สมตามเจตนารมณ์ที่ได้วางไว้ในรัฐธรรมนูญต่อไป ผู้เข้าร่วมในเวทีประกอบด้วยตัวแทนจากเครือข่ายและชุมชนต่าง ๆ ได้แก่ เครือข่ายสลัม 4 ภาค, ชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนประชาคมบางลำพู ประชาคมฟื้นฟูวัฒนธรรมย่านบางลำพู, สภาองค์กรชุมชนมีนบุรี, กลุ่มเครือข่ายจักรยาน, เครือข่ายมักกะสัน และชุมชนวิถีไท
การพูดคุยในวันนั้นเป็นการเหลียวหลัง ย้อนดูประสบการณ์และถอดบทเรียนการรวมตัวของเครือข่ายและชุมชนต่างๆ จาก ผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่จนออกมาเคลื่อนไหว ตัวอย่างที่ชัดเจนจากกลุ่มสลัม 4 ภาค ที่เริ่มจากกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนต่างๆบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่เผชิญกับปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ไม่มีเลขที่บ้าน ส่งผลให้ไม่ได้รับบริการน้ำประปา ไฟฟ้า และไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการเข้ารับการศึกษาของลูกหลานของคนในพื้นที่ จนขยายเครือข่ายผู้ได้รับความเดือดร้อนไปสู่ 4 ภูมิภาคและการรวมกลุ่มกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move หรือกรณีกลุ่มป้อมมหากาฬ (ประกอบด้วย 22 ชุมชน) ซึ่งเป็นชุมชนประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของกรุงรัตนโกสินทร์ พบกับปัญหาการถูกไล่รื้อและจำกัดจำนวนประชากรในสำมะโนครัวไม่ให้เพิ่มขึ้น เพื่อปรับภูมิทัศน์ของถนนราชดำเนินให้เป็นย่านธุรกิจการค้าและความบันเทิงที่หรูหรา เหมือนถนนฌองเซลิเซ่ในฝรั่งเศส หรือแม้แต่ การรวมตัวของกลุ่มคนที่มีแนวคิดที่ต้องการแก้ไขปัญหาของสังคมร่วมกัน เช่น เครือข่ายจักรยานที่ต้องการให้พาหนะสองล้อเป็นกลไกในการเปลี่ยนเมืองหลวงรถติดเป็นเมืองหลวงจักรยาน ทั้งนี้ การรวมตัวสามารถเกิดได้ทั้งแบบทางการ เช่น ประชาคมบางลำพูที่จดทะเบียนโดยมีระเบียบ กทม.รองรับ และมีโครงสร้างและการกำหนดบทบาทคณะทำงานอย่างชัดเจน และไม่เป็นทางการ เช่น เครือข่ายมักกะสัน เครือข่ายจักรยาน

ความเห็นจากเวที นำไปสู่ข้อเสนอแนะต่อการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับภาครัฐ การแลไปข้างหน้าในหลายด้าน ได้แก่
1. รัฐควรเปลี่ยนเวทีปฏิรูปสู่ “สภาแห่งการรับฟังเสียงประชาชน” ทั้งในเชิงประเด็นและพื้นที่ ที่มีผลกระทบต่อสังคมด้วยความเท่าเทียมอย่างสม่ำเสมอ (เสมอหน้าเสวนา) ตั้งแต่ระดับบุคคลจนถึงระดับเครือข่าย เพราะความเป็นพลเมืองเป็นการเติบโตทางจิตวิญญาณของบุคคลที่จะมุ่งหวังจะทำเพื่อบ้านเมือง ดังนั้นแม้จะเป็นเพียงบุคคลหากมีการเรียกร้อง รัฐจึงควรจะรับฟังเพราะอาจเป็นจุดเล็กๆที่ทำให้พบกับการแก้ไขปัญหาที่ใหญ่ได้
2. ปฏิรูปการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก โดยเริ่มจากให้เครือข่ายต่าง ๆ ที่รวมตัวกันเรียกร้องการแก้ปัญหาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวข้องโดยตรง ก่อนนำไปสู่ประชาพิจารณ์
3. เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่อง “สมัชชาพลเมือง” เพื่อสร้างการรับรู้ ที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม
4. นำความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากแหล่งต่าง ๆ มาประมวลเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ ผ่านสื่อที่หลากหลายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึงมากกว่านี้
ผลจากเวทีเป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนถึงความจำเป็นของการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของพลเมืองเพื่อนำไปสู่การสร้างพื้นที่กลางเชื่อมร้อยเครือข่ายอย่างเป็นระบบในการเป็นกลไกสำคัญต่อการบริหารจัดการพื้นที่และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนร่วมกัน
สามารถสะท้อนความเห็นของท่านต่อการจัดทำสมัชชาพลเมืองและประเด็นการปฏิรูปได้ที่ www.citizenforum.in.th