เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อคนไทย องค์กรภาคธุรกิจและองค์กรภาคสังคมกว่า 140 สถาบันร่วมกันจัดงาน “คนไทยขอมือหน่อย ปี 2” ขึ้นที่เซ็นทรัลเวิลด์ กว่า 150 บูธภายในงานนี้ มีส่วนหนึ่งที่เป็นกลุ่มกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) กว่า 30 แห่ง นับเป็นการรวมตัวของกิจการเพื่อสังคมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของเมืองไทย และกลุ่มองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย
“เทียบกับปีแรก ผลตอบรับดีขึ้นมาก จากที่คนไม่ค่อยรู้ว่าเมืองไทยก็มีกิจการรูปแบบนี้ มาปีนี้คนรู้แล้วว่ากิจการเพื่อสังคมคืออะไร โดยเฉพาะภาคเอกชนให้ความสนใจอยากรู้ว่ากิจการฯ ทำอะไร แก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร ฯลฯ ที่น่าดีใจคือ มีบางคนที่เข้ามาทำกิจการเพื่อสังคมเพราะได้แรงบันดาลใจจากงานคนไทยฯ ปีแรก” อาจารย์เอด้า จิรไพศาลกุล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมสังคม วิทยาลัยโลกคดีศึกษา (GLab) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
สำหรับงานครั้งนี้ นับเป็นปีแรกที่มีการจัด “SE Tour” หรือ Social Enterprise Tour ขึ้นโดยจีแลบ เพื่อเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้มาทำความรู้จักกับกิจการเพื่อสังคม โดยเฉพาะกิจการที่เริ่มต้นได้ไม่นานและยังขาด “ทรัพยากร” ในการดำเนินกิจการ แต่มีศักยภาพในการเติบโตและขยายผลสู่การแก้ปัญหาสังคมในวงกว้าง โดยตลอด 2 วัน มีองค์กรชั้นนำหลายแห่งเข้าร่วม อาทิ ผู้บริหารจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (บลจ.บัวหลวง) และคณะนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.)

se-2“งานนี้จีแลบมาเป็นตัวกลางเชื่อมโยงกิจการเพื่อสังคมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อชี้ให้ทุกคนเห็นว่ากิจการเพื่อสังคมเป็น “ไฮบริด” ระหว่างภาคสังคมกับภาคธุรกิจ ซึ่งจะง่ายกว่าถ้าเอกชนจะมาคุยกับกิจการเหล่านี้ เพราะเขามีความเข้าใจเงื่อนไขธุรกิจมากกว่าคนที่มาจากภาคสังคมล้วนๆ” อาจารย์เอด้าเล่าถึงที่มาของการจัดเอสอีทัวร์

“จีแลบ” พี่เลี้ยงบ่มเพาะกิจการเพื่อสังคม
อาจารย์เอด้า กล่าวถึงศูนย์นวัตกรรมสังคมว่า เป็นหน่วยงานที่สังกัดอยู่ภายใต้ “วิทยาลัยโลกคดีศึกษา” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถือเป็นสถาบันด้านการบริหารจัดการธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการบูรณาการความรู้จากหลากหลายศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาสังคมในมิติต่างๆ อย่างยั่งยืน โดยใช้กลไกรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “กิจการเพื่อสังคม”
จีแลบถือเป็นห้องทดลองทางสังคมศาสตร์ เป้าหมายหลัก เพื่อผลิต “นักเปลี่ยนแปลงสังคม” ให้เป็นผู้นำในการยกระดับศักยภาพและขยายผลกิจการเพื่อสังคมไปในวงกว้าง ด้วยการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากิจการเพื่อสังคมให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง
อาจารย์เอด้าให้ข้อมูลว่า คำนิยามของกิจการเพื่อสังคมอย่างเป็นทางการในเมืองไทยระบุไว้เพียงกว้างๆ ว่า เป็นกิจการที่ตั้งขึ้นมาโดยมีเจตนารมณ์แรกเริ่มที่ต้องการจะแก้ปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อม โดยนำเครื่องมือทางธุรกิจมาใช้ “นอกจากเจตนารมณ์แรกเริ่ม อีกหัวใจสำคัญของการดูว่าเป็นกิจการเพื่อสังคมที่แท้จริงหรือไม่ คือความยั่งยืน หมายความว่า กิจการลักษณะนี้ต้องดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มาก จึงจะสามารถสร้างความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง” วิริยา วิจิตรวาทการ ผู้อำนวยการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม (Impact Director) ศูนย์นวัตกรรมสังคม วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริม
“กิจการเพื่อสังคมเป็นนวัตกรรมเชิงโครงสร้างที่มาปิด “จุดอ่อน” ที่หลายคนมองว่าการทำงานภาคสังคมจะจน ได้เงินน้อย และไม่ยั่งยืน เพราะต้องรอเงินบริจาค ทำให้มีคนกลับมาคิดว่าควรจะเอาเครื่องมือทางธุรกิจหรือการบริหารจัดการทางธุรกิจมาใช้ในการทำงานภาคสังคมเพื่อตอบโจทย์นี้”
อาจารย์เอด้าเล่าว่า เมื่อ 5 ปีก่อน ตอนไปช่วยงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมวางแนวทางจัดตั้งสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) แทบไม่มีใครรู้ว่ากิจการเพื่อสังคมคืออะไร แต่มาวันนี้ หลายคนเริ่มเข้าใจแล้วว่า กิจการเพื่อสังคมเป็นองค์กรรูปแบบใหม่ที่มีการเชื่อมโยงระหว่างการเอากลไกทางธุรกิจกับความต้องการแก้ปัญหาสังคมมารวมกัน
ปัจจัยหลักที่ส่งเสริมพัฒนาการกิจการเพื่อสังคมในไทย ได้แก่ เทคโนโลยีการสื่อสารที่ดีขึ้น ทำให้ผู้คนรับรู้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง และตระหนักว่าควรเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหาเหล่านั้น อีกทั้งกลไกที่สนับสนุนการเกิดกิจการเพื่อสังคมที่มากขึ้น ความเข้าใจและความต้องการมีส่วนรวมของส่วนต่างๆ ในสังคมมีมากขึ้น
วิริยาตั้งข้อสังเกตว่า คนรุ่นใหม่เริ่มสนใจและเข้ามาทำกิจการเพื่อสังคมมากขึ้น ดังจะเห็นได้ชัดจากงานคนไทยขอมือหน่อย ครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นอีกพัฒนาการของกิจการเพื่อสังคมในไทย โดยเธอให้เหตุผลว่า อาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่มองว่า เป้าหมายสูงสุดในชีวิตไม่ใช่เงินทองหรือความร่ำรวย แต่เป็นความท้าทายของงานและการค้นพบความหมายในชีวิต ซึ่งกิจการเพื่อสังคมคือคำตอบ
อย่างไรก็ดี อุปสรรคของกิจการเพื่อสังคมในไทย ส่วนใหญ่ก็คล้ายกับปัญหาของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ค่อนข้างยาก แม้ว่าปัจจุบัน ภาครัฐและเอกชนเริ่มให้ความสนใจเข้ามาสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมกันมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างกลไกในการลงทุนเพื่อสังคม อาทิ การให้ทุนหรือการร่วมลงทุนในกิจการที่มีศักยภาพในการเติบโต แต่อาจารย์เอด้ามองว่า ควรมีกลไกที่พร้อมจะให้เงินสนับสนุนกับกิจการเพื่อสังคมให้มากกว่านี้ และไม่ใช่แค่ธนาคาร แต่ยังมีอีกหลายองค์กรที่เข้ามาช่วยได้ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ, กลต., สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ฯลฯ ในการดึงภาคธุรกิจให้ร่วมกันสร้างกลไกในการลงทุนเพื่อสังคม
ขณะที่วิริยามองว่า ทรัพยากรมนุษย์ก็เป็นอีกข้อจำกัดสำคัญ เนื่องจากผู้ที่เริ่มต้นกิจการเพื่อสังคมส่วนใหญ่มักมาจากภาคสังคม จึงไม่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจนัก นี่เป็นจุดอ่อนที่ทำให้หลายกิจการต่อยอดไปได้ยาก นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องการขาดเครื่องมือวัดผลในเชิงสังคมที่เป็นรูปธรรม ซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่า กิจการเพื่อสังคมแห่งนั้นสามารถแก้ปัญหาสังคมได้มากน้อยแค่ไหน ส่งผลให้เอกชนหลายแห่งยังลังเลที่จะให้การสนับสนุนกิจการฯ เหล่านี้ สำหรับผู้ที่สนใจเริ่มต้นทำกิจการเพื่อสังคม อาจารย์เอด้าย้ำว่า นอกจากความหลงใหลในสิ่งที่ทำที่จะแก้ปัญหาสังคม สิ่งที่ต้องมีควบคู่กันคือ ความรู้และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในประเด็นปัญหาที่สนใจ และหาแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน รวมถึงต้องมีความมุ่งมั่นและความอดทนสูง
“สุดท้ายคงต้องกลับมาที่คนไทย ที่ต้องช่วยกันแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะซื้อสินค้าและบริการจากกิจการที่ไม่เอาเปรียบพนักงาน ไม่เอาเปรียบชุมชน ไม่เอาเปรียบโลก และ “เป็นธรรม” ต่อสังคม ดีต่อชุมชน ฯลฯ การผลักดันจากผู้บริโภคจะขับเคลื่อนให้กิจการเพื่อสังคมเกิดและเติบโตได้ ประเทศจะพัฒนาได้ ทั้งสังคมต้องขยับไปพร้อมกัน” อาจารย์เอด้าทิ้งท้าย
ด้านวิริยาฝากแง่คิดว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นสิ่งจับต้องและไปได้กับธุรกิจ ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากกิจการเพื่อสังคม เนื่องจากมีเป้าหมายเดียวกันคือ การทำให้กิจการมีกำไรในระดับที่อยู่ได้ โดยที่สังคมและสิ่งแวดล้อมต้อง “ได้กำไร” ไปด้วย จึงจะยั่งยืน ดังนั้น ความยั่งยืนจึงอยู่ที่การสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันเป็นหัวใจของกิจการเพื่อสังคม นั่นเอง!

เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น –แก้ปัญหาการศึกษาไทย

se-4
หนึ่งในกิจการเพื่อสังคมที่น่าสนใจ และได้มาร่วมออกบูธภายในงานคนไทยขอมือหน่อยปี 2 คือ เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น
“บ้านเรามีปัญหาเยอะ ทั้งปัญหาการเมือง ความยากจน อาชญากรรม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่พอมาวิเคราะห์กัน ส่วนใหญ่จะลงไปที่คำตอบเดียวกันคือ การศึกษาบ้านเรายังไม่ดีพอ และที่น่าเศร้าคือพอได้คำตอบกลับไม่มีใครลงมือทำอะไรให้มันดีขึ้น เราไม่อยากแค่บ่น อยากลงมือทำ ซึ่งตอนเด็กๆ ผมลำบากแต่มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี ทีมงานของผมส่วนใหญ่ก็มีชีวิตที่ดีขึ้นเพราะการศึกษา เราก็เลยมองว่า เราน่าจะส่งผ่านโอกาสทางการศึกษาเพื่อทำให้เด็กไทยมีการศึกษาที่ดีขึ้นได้” ธานินทร์ ทิมทอง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด บอกเล่าถึงเจตนารมณ์ของ เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น ซึ่งก่อตั้งขึ้นมากว่า 3 ปีแล้ว ด้วยวัยเพียง 34 ปีในขณะนั้นเขาเป็นวิศวกรในบริษัทต่างชาติ แต่หลังจากทำงานมากว่า 10 ปี เขาอยากมอบโอกาสให้กับคนอื่น โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา
เลิร์น เอ็ดดูเคชั่นเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่ได้นำระบบคอมพิวเตอร์มาเป็นเครื่องมือช่วยสอน โดยมีโปรแกรมที่เป็นระบบการเรียนทางไกล และมีเนื้อหารูปแบบดิจิตอลที่เน้นคุณภาพทั้งด้านวิชาการ คุณธรรม และการประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทย ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และแก้ปัญหาขาดแคลนครูในโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ปัจจุบัน มีโรงเรียนที่ใช้ระบบนี้ราว 20 แห่ง โดย 5 แห่งเป็นโรงเรียนขาดโอกาสที่บริษัทให้ความช่วยเหลือ
“ผลตอบรับจากงานคนไทยฯ ถือว่าดี มีคนเข้ามาสอบถามว่าเราทำอะไร แต่สิ่งที่รู้สึกว่าดีมากกว่านั้น คือมันมีสังคมที่ทำเพื่อคนอื่นอีกมาก ทำให้เห็นว่าเราไม่ได้ทำอยู่คนเดียว” ธานินทร์ทิ้งท้าย

มีวนา –กาแฟอินทรีย์รักษาป่า

se-5
อีกหนึ่งกิจการที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า กลับเกิดเป็นธุรกิจกาแฟที่ให้ผลผลิตชั้นเยี่ยม เพราะกาแฟที่ดีต้องปลูกในป่าที่มีร่มเงาสูง ทำให้ได้รสชาติดีโดยไม่ต้องใช้สารเคมี ทั้งยังช่วยลดปัญหาป่าต้นน้ำปนเปื้อนสารเคมี เมื่อได้กาแฟอินทรีย์คุณภาพดีก็ทำให้เมล็ดกาแฟมีราคาสูง ชาวบ้านจึงมีรายได้ดีขึ้น นี่คือวงจรที่ตอบว่าคนกับป่าจะอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนได้อย่างไร “ป่าไม้ถูกทำลายไปมาก ขณะที่ป่าต้นไม้ก็ถูกปนเปื้อนด้วยสารเคมีจากการเกษตร แนวคิดของเราคือจะทำยังไงให้คนเหล่านี้อยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน ซึ่งเราพบว่ากาแฟเป็นคำตอบ” ธีรสิทธิ์ อมรแสนสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนเนท เอสอี จำกัด ผู้ก่อตั้งกาแฟแบรนด์ “มีวนา” กล่าว
ธีรสิทธิ์เคยเป็นผู้บริหารบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งมีปรัชญาธุรกิจที่เน้นสร้างสิ่งที่ดีให้กับสังคม หลังจากเกษียณเขาจึงนำปรัชญานั้นมาใช้ก่อตั้งธุรกิจของตัวเอง โดยเริ่มต้นทำธุรกิจกาแฟเมื่อปี 2553 ทดลองหาแนวทางที่เป็นไปได้กระทั่งจัดตั้งเป็นกิจการเพื่อสังคมเมื่อเดือนตุลาคม 2556ปัจจุบัน บริษัทของเขาสามารถช่วยชาวบ้านได้กว่า 300 ครอบครัว รักษาป่าในเชียงรายได้กว่า 9,000 ไร่ และกาแฟมีวนาก็ได้รับรางวัล Best Quality Award จากงาน Thailand Coffee, Tea and Drink 2013
“การทำกาแฟมีวนาเพราะเราต้องการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า แต่คุณค่าเรื่องความสุข หรือความดีงามเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมอาจจะไม่เพียงพอ กิจการเพื่อสังคมยังต้องตอบโจทย์เรื่องรายได้ด้วย เพียงแต่ทุกอย่างต้องมีดุลยภาพซึ่งกันและกัน เพราะมีสิ่งใดมากเกินไปหรือขาดสิ่งใดไปก็จะไม่ยั่งยืน”
ทั้งนี้ ธีรสิทธิ์เล่าว่า ผลตอบรับจากงานคนไทยฯ ถือว่าดีมาก ส่วนหนึ่งดูได้จากรายได้การขายกาแฟในงาน อีกส่วนคือความสนใจจากสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงการที่มีเจ้าของเชนร้านกาแฟไทย 2-3 รายเข้ามาทำความรู้จัก และมีนักธุรกิจชาวต่างชาติอีเมล์เข้ามาสอบถาม แต่สิ่งที่เขาดีใจที่สุดคือ ทุกคนไม่เพียงชื่นชมในโมเดลการรักษาป่าของ “มีวนา” แต่ยังยกย่องว่ากาแฟไทยมีคุณภาพและรสชาติดีไม่แพ้กาแฟต่างประเทศ

โลเคิล อไลค์ – การท่องเที่ยวชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชน

se-6
“ผมชอบโมเดลการพัฒนาของ “สมเด็จย่า” ที่ท่านทรงให้ความสำคัญกับการช่วยคนอื่นเพื่อให้คนอื่นช่วยตัวเองได้ ก็เลยเอาโมเดลนี้มาทำโดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน” สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งโลเคิล อไลค์ วัย 31 ปี กล่าว – แรงบันดาลใจของสมศักดิ์ เกิดขึ้นสมัยที่ทำงานที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โดยได้รับมอบหมายดำเนินโครงการโฮมสเตย์กับชาวบ้าน ระหว่างนั้น เขาได้ก่อตั้งโลเคิล อไลค์ ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนรายได้ให้กับชาวบ้าน กระทั่งเริ่มเห็นแนวทางที่ชัดเจน บวกกับความคาดหวังจากชาวบ้านที่มีเพิ่มขึ้น เขาจึงออกมาทำกิจการเพื่อสังคมเต็มตัว โมเดลของเขาคือ ร่วมกับชาวบ้านในการหาจุดเด่นของชุมชนเพื่อดึงออกมาสร้างเป็นแพ็คเกจ แล้วพัฒนาชาวบ้านเพื่อให้สามารถจัดการการท่องเที่ยวชุมชนด้วยตัวเอง จนเมื่อได้มาตรฐานจึงนำชุมชนนั้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มการขายของบริษัท โดยชุมชนจะได้ส่วนแบ่ง 70% ขณะที่บริษัททัวร์ทั่วไปให้ไม่ถึง 15% นอกจากนี้ บริษัทและชุมชนจะแบ่งรายได้ 5% จากส่วนของตนมาสมทบในกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชนนั้นในด้านต่างๆ ปัจจุบันมีชุมชนที่เข้าร่วมทั้งหมด 15 ชุมชนจาก 7 จังหวัดทั่วประเทศ สำหรับผลตอบรับในงานคนไทยฯ สมศักดิ์เล่าว่า มีคนที่รู้จักโลเคิล อไลค์หลายคนเดินมาทักทายและให้กำลังใจ ซึ่งเป้าหมายบริษัทในวันนั้นคือ การระดมทุนเพื่อพัฒนาคลองเตยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นอีกก้าวของการพิสูจน์ว่าการท่องเที่ยวชุมชนที่แท้จริงสามารถพัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืน

‘ปันกัน’ อีกหนึ่งร้านที่โดดเด่นด้วยเป็นครั้งแรกที่เปิดตัว “ป๊อปอัพสโตร์” เพื่อเป็นกลไกให้ภาคสังคมและภาคเอกชนได้เห็นว่า ร้านปันกันไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบร้านถาวร สามารถเป็นร้านเฉพาะกิจเคลื่อนย้ายไปเปิดในพื้นที่ต่างๆ ได้ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างสูงจากประชาชนทั่วไป และได้ผลตอบรับที่ดีจากภาคเอกชน โดยเฉพาะคณะนักศึกษาจากสถาบันวิทยาการตลาด หรือ วตท. ที่มาชมงานคนไทยขอมือหน่อยด้วย

se-8se-7
“แนวคิดของเราคือ ระดมของที่คนไม่ใช้ประโยชน์แล้วเอามาขายที่ร้านปันกัน เพื่อนำเงินที่ได้ไปช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ แต่ไม่ใช่แหล่งหารายได้ ร้านปันกันยังช่วยสร้างนิสัยและจิตสำนึกให้กับคนไทยในเรื่องการแบ่งปัน ทำให้เขารู้สึกว่าการแบ่งปันทำได้ง่าย ทำได้บ่อย” สดุดี ชลิตเรืองกุล ผู้จัดการฝ่ายการสื่อสารและพัฒนาสัมพันธ์ ร้านปันกัน กล่าว
ร้านปันกันก่อตั้งเมื่อปี 2543 โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการหารายได้เพื่อนำไปใช้เป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กที่ขาดโอกาส หลังจากดำเนินไปได้สักระยะ จึงเห็นว่าโมเดลนี้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นกลไกที่ดีในการระดมทุนในการแก้ปัญหาสังคมด้านต่างๆ และสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย เพราะเป็นการลดขยะให้กับโลก และลดการทำลายทรัพยากรเพื่อผลิตสิ่งของชิ้นใหม่ และที่สำคัญยังเป็นการสร้าง “สังคมแห่งการแบ่งปัน” “ถ้าเกิดวงจรอย่างร้านปันกันในหลายๆ จุดของประเทศเรา ก็น่าจะดี ไม่ต้องห่วงเรื่องรายได้ ร้านปันกันเป็นข้อพิสูจน์ว่า กิจการเพื่อสังคมที่มีรูปแบบการบริหารจัดการแบบธุรกิจสามารถทำกำไรได้ อยากให้ทุกคนมั่นใจและมาช่วยกันขยายสังคมแห่งการแบ่งปัน ซึ่งเราพร้อมจะเป็นพี่เลี้ยงให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีเพียงเงื่อนไขเดียวคือ รายได้จากร้านต้องนำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์เท่านั้น” ปัจจุบัน ร้านปันกันมี 4 สาขา ที่พาราไดซ์พาร์ค ศรีนครินทร์, เดอะ ไนน์ พระราม 9, พาซิโอ ลาดกระบัง และเซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว ยังมีแฟรนไชส์อีก 2 สาขา ที่พัทยา ดำเนินงานโดยมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการ ซึ่งรายได้ถูกนำไปใช้พัฒนาคนพิการในด้านอาชีพและศักยภาพด้านต่างๆ และที่นครราชสีมา ดำเนินงานโดยมูลนิธิชุมชนโคราช ซึ่งรายได้จะถูกนำไปใช้พัฒนาชุมชนต่างๆ ในจังหวัด
นี่เป็นส่วนหนึ่งของกิจการเพื่อสังคม ที่คนไทยทุกคนก็สามารถร่วมส่งเสริมได้ทั้งจากการซื้อสินค้าและบริการ เพื่อทำให้กิจการเหล่านี้เติบโตและกลายเป็นกลไกหนึ่งที่เข้มแข็ง ช่วยแก้ปัญหาของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน