“สสส.-องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน-มูลนิธิเพื่อคนไทย” จับมือ “เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป” และเพื่อนภาคีกว่า 10 องค์กรร่วมจัดงาน “ต่างใจไทยเดียว” เปิดพื้นที่สื่อสารสร้างการอยู่ร่วม 4 วัน 4 ประเด็น “Active Citizenship-Togetherness-Youth-Anti-corruption” ตั้งแต่ 14-17 ก.ค.นี้ ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ระดมความร่วมมือทุกภาคส่วน ต่อยอดสู่การสร้างกลไกปฏิรูปอย่างมีส่วนร่วม ภาคประชาชน เดินหน้าปฏิรูปทันทีด้วยการลงมือปฏิบัติจริง นำไปสู่การสร้างความปรองดองที่ยั่งยืน”
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ลานชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ภาคประชาสังคม ประกอบด้วย “สสส.-องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน-มูลนิธิเพื่อคนไทย” และภาคีเครือข่ายกว่า 10 องค์กร ได้แก่ เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป (RNN) มูลนิธิหัวใจอาสา ธนาคารจิตอาสา เครือข่ายจิตอาสา เครือข่ายพุทธิกา มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศ มูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) กลุ่มอาสาสมัคร Happy Dolls กลุ่ม Gen A มูลนิธิธรรมดี ,ทีเค พาร์ค และ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ร่วมกันจัดงาน “ต่างใจไทยเดียว” ซึ่งมีคำขวัญ “มองทะลุความต่าง ให้เห็นทางอยู่ร่วมกัน” สะท้อนถึงเป้าหมายของงานที่เน้นสร้างการมีส่วนร่วม ก้าวข้ามความขัดแย้ง เพื่อนำพาประเทศไทยเดินหน้า
ทั้งนี้ ในเวทีแถลงข่าวเปิดงานหัวข้อ “ต่างใจไทยเดียว : พื้นที่สื่อสารงานปฏิรูปและปรองดอง”นั้น นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ นับจากนี้จะทำงานเชิงรุกมากขึ้น เน้นสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การกำหนดข้อเสนอร่วมในระดับประเทศ หรือ National Consensus เกี่ยวกับมาตรการปฏิรูปการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชัน
“ที่ผ่านมาความคิดหรือข้อเสนอของคนที่สนใจเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชันมีจำนวนมากแต่กระจัดกระจาย และเป็นข้อเสนอที่เป็นปรากฏการณ์ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หรือแก้อย่างเป็นระบบ ข้อเสนอที่ไม่มียุทธศาสตร์แบบนี้จะทำให้ประเด็นแตกและทำงานยาก”
นายประมนต์กล่าวอีกว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เตรียมจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการกับภาคีภาคส่วนต่างๆ ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ หรือเครือข่ายที่ทำงานด้านปฏิรูป รวมทั้งเครือข่ายภาคพลเมืองอื่นๆ โดยองค์กรฯจะวางตัวเป็นแกนกลาง สร้างการมีส่วนร่วม เปิดเวทีให้ผู้นำแต่ละเครือข่ายมาพูดคุย เพื่อให้คนเหล่านี้เป็นเจ้าของประเด็น จะได้ขับเคลื่อนแก้ปัญหาในประเด็นเหล่านั้นด้วยตัวเอง
ด้านนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สมาชิกเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปกล่าวว่า จุดยืนของเครือข่ายฯในกระบวนการปฏิรูปเป็นองค์กรคู่ขนานของสภาปฏิรูป ดังนั้น กลไกการสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ล่าสุดได้จัดเวทีร่วมกับภาคีข้ามเครือข่ายเพื่อประมวลโจทย์และแนวทางปฏิรูปฉบับประชาชนขึ้นมาเป็นแผนที่ขับเคลื่อนงานปฏิรูปที่ลงมือทำได้ทันทีและนำเสนอต่อสภาปฏิรูปไปพร้อมกัน ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับอย่างดียิ่ง แต่ละภาคีตื่นตัวอาสาเป็นเจ้าภาพในหัวข้อปฏิรูปประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นปฏิรูปการต่อต้านคอร์รัปชัน โดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ,ปฏิรูปการเมือง,ปฏิรูปเศรษฐกิจ โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ปฏิรูปการศึกษา โดย สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาและทีดีอาร์ไอ, ปฏิรูปฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม,ปฏิรูประบบยุติธรรม โดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย,ปฏิรูปการเกษตร โดยมูลนิธินโยบายสุขภาวะและคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น
“กลไกการสร้างการมีส่วนร่วมแบบนี้จะนำมาสู่การสร้างความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น ลดความระแวงข้อสงสัยและนำสู่การสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมทางตรงได้อย่างกว้างขวางในระยะยาว ความพยายามในการปฏิรูปที่กำลังเกิดขึ้นแบบนี้จะนำไปสู่การสร้างความปรองดองในสังคม ผมเชื่อว่าความปรองดองไม่สามารถเกิดขึ้นได้บนความหวาดกลัว ที่สำคัญ กระบวนการมีส่วนร่วมแบบนี้ ยังถือได้ว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่คนซึ่งมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายแต่มีเป้าหมายเดียวกันสามารถทำงานร่วมกันได้”
นายวิเชียร พงศธร ประธานมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวว่า ภารกิจการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ การปฏิรูป ตลอดจนการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นภารกิจขนาดใหญ่ของประเทศไทย ทุกเรื่องมีผลกระทบต่อประชาชนทุกคน การแก้ไขปัญหาจึงไม่ใช่งานของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือคนไทยทุกฝ่าย สอดรับกับภารกิจของมูลนิธิเพื่อคนไทยที่มุ่งเน้นสร้างพื้นที่ สร้างเวทีและกลไกให้เกิดการมีส่วนร่วม ทั้งระหว่างเครือข่ายด้วยกันเอง และระหว่างเครือข่ายไปยังประชาชน ดังการเกิดขึ้นของงานต่างใจไทยเดียว รวมทั้งอีกหลายโครงการในอนาคต
“ผมคิดว่างานนี้จะเป็นโครงการนำร่องที่ภาคีเครือข่ายต่างๆ สามารถอัพเดทข้อเท็จจริงเรื่องงานปฏิรูป ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ จากการพบปะ ไปออกแบบกลไกขับเคลื่อนงานปฏิรูปของตัวเองทั้งในเชิงพื้นที่และในเชิงประเด็น พร้อมลงมือปฏิบัติจริง เมื่อได้ทดลองทำร่วมกัน แก้ปัญหาร่วมกัน กระบวนการเหล่านี้ย่อมนำไปสู่การปรองดองโดยปริยาย ในต่างประเทศมีเครื่องมือที่เรียกว่า กระบวนการ Social Lab สามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยระหว่างคนที่มีความเห็นแตกต่างและนำไปสู่การทำงานร่วมกันได้ และยังเกิดเครือข่ายพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม หรือ Active Citizenship ขยายผลสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน”