พลังของเราทุกคนเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เพียงแค่คนไทยลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง “ลงมือทำทันที” เพื่อมีส่วนร่วม สร้างสังคมส่วนรวม เป็น Active Citizenship นำพาสังคมไทยเดินหน้า ในงานต่างใจไทยเดียว ที่มีนักคิด นักวิชาการ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการทำหน้าที่พลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม ได้อย่างน่าสนใจ
“ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์” ผู้ก่อตั้งแกะดำทำธุรกิจ เป็นหนึ่งในคนไทยที่เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงไทยได้จะต้องเริ่มต้นที่การลงมือเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน ด้วยการสร้างพฤติกรรมใหม่ 7 อย่าง นั่นคือ

(1) ต้องพึ่งพาตัวเอง เลิกพึ่งระบบและผู้นำ

(2) ใช้ชีวิตที่ควบคุมได้ คนไทยต้องลงมือทำมากกว่าพูด

(3) ปรับทัศนคติ “ทุกอย่างในโลกนี้เป็นไปได้ทั้งนั้น” คิดแล้วทำเลย จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง

(4) ใช้ชีวิตเหมือนเวลาขับรถ เมื่อขึ้นรถต้องมองกระจกหน้ามากกว่ากระจกหลัง เพราะการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพต้องอยู่กับปัจจุบัน อย่าเสียเวลามองอดีตหรือกระจกหลัง

(5) คิดถึงตัวเองให้น้อยลง การที่สังคมไทยไม่น่าอยู่ เพราะคนเห็นแก่ตัว คิดถึงแต่ตัวเองเพื่อให้ได้อยู่อย่างสบาย

(6) หน้าที่ของมนุษย์ตามหลักพุทธศาสนา คือ เป็นคนดี เกิดมาเพื่อทำความดี

(7) เขามีความเชื่อว่า ชาติ คือ ความยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใด คนเกิดในแผ่นดินไทยจึงต้องดูแลและรักษาแผ่นดินตามหน้าที่ 2 อย่าง คือ ประกอบวิชาชีพด้วยความรู้สึกถูก ผิด ชั่ว ดี และทำหน้าที่พลเมืองที่ดี

“ผมเห็นไทยติดหล่มมาหลายปี ไม่มีใครทำให้หลุดออกจากหล่มได้นอกจากทุกคนต้องร่วมมือกันทำ เหมือนกับมดที่ตกน้ำ แต่พวกมันได้ร่วมมือและช่วยเหลือจนพากันขึ้นจากน้ำได้ในที่สุด ผมอยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนวิธีคิด แล้วประเทศนี้จะเปลี่ยนไป” ผู้ก่อตั้งแกะดำทำธุรกิจ กล่าว
การสร้างสังคมเพื่อส่วนรวม อยู่ร่วมกันได้ถึงต่างใจในเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง ในมุมมองของ “ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เห็นว่า “สังคมไทยเกิดปัญหาร้าวลึกและเกิดการเผชิญหน้ากัน เพราะปัญหาความเสื่อมของระบบประชาธิปไตยที่มีมายาวนาน และผลจากรัฐบาลใช้เสียงข้างมากกำหนดนโยบายเพื่ออำนาจของตัวเอง ประชาชนจึงคับข้องใจ”

ดร.สมเกียรติ เสนอทางเลือก ทางรอดของไทยมี 4 อย่างคือ

(1) ต้องปฏิรูปให้ไทยมีประชาธิปไตยมากขึ้น โดยวางกติกาตรวจสอบเสียงข้างมากผ่านกลไกรัฐสภาและท้องถิ่น

(2) ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

(3) สังคมไทยต้องเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยการกระจายอำนาจไปสู่รัฐบาลท้องถิ่น

(4)ปรับบทบาทสื่อไปสู่อิสระอย่างแท้จริง

“ ถึงเวลาทบทวนและหลอมรวม เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง เพราะถึงจะต่างใจ แต่ไทยเดียวกัน” – ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ด้าน “ดนัย จันทร์เจ้าฉาย” โครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย มองว่า “ถ้าคนไทยยังเป็น Gen Me สังคมไทยจะไปต่อไม่ได้ เราจำเป็นต้องก้าวและเปลี่ยนเป็น Gen We หรือลุกขึ้นมาเป็นจิตอาสา ร่วมกันดูแลสังคม ด้วยการเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน (Individual Social Responsibility-ISR) จากนั้นจึงต่อไปยังกลุ่มเยาวชน องค์กร ชุมชนและมีเป้าหมายไปสู่ระดับประเทศ เป็นพลเมืองอาสา (Country Social Responsibility-CSR) ….ปัจจุบันโครงการทูตความดีฯ กำลังพัฒนาเยาวชนเข้าสู่ Gen A (Generation Active) “พลังจิตอาสาเปลี่ยนประเทศ” เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชนเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรม ตั้งมั่นในการทำความดี เป็นพลเมืองที่มีจิตสาธารณะ (Active Citizen)”

“การเป็นพลเมืองจิตอาสา คือการมองอะไรที่กว้าง เริ่มจากสิ่งรอบตัว และถามตัวเองว่า เราทำอะไรได้บ้าง อย่ารอเปลี่ยนแปลงผู้อื่น แต่ให้เปลี่ยนแปลงตัวเองหรือระเบิดจากข้างในเราก่อน” ดนัย บอก
นอกจากในฐานะนักกวี นักเขียน.. “จิระนันท์ พิตรปรีชา” ยังมีบทบาทเป็นประธานที่ปรึกษากลุ่มสห+ภาพ เพราะเห็นว่าคนไทยไม่ควรเสียเวลาพูด แต่ควรลงมือทำเลย กลุ่มสห+ภาพจึงใช้ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ ร่วมกันทำกิจกรรมอาสาสมัครและเป็นเครือข่ายที่ลงไปช่วยพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ได้เริ่มจัดนิทรรศการภาพถ่ายครั้งแรกชื่อ “ตลาดไม่วาย” ในตลาดสามชุก ซึ่งเป็นช่วงที่ร้านสะดวกซื้อเปิดกันมาก ร้านโชห่วยจึงอยากเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ซึ่งการแสดงงานได้รับผลตอบรับที่ดีจากชุมชน จึงได้ทำไปต่อที่ตลาดโพธาราม โดยได้ภาพถ่ายของดีในเมืองโพธาราม แล้วนำไปติดในมุมต่างๆของเมือง พัฒนาให้ตลาดกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม จากนั้นกลุ่มสห+ภาพ ได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายมากมาย เช่น “ภาพถ่ายประชาชนเข้าเฝ้าในหลวง” “รักสร้างสรรค์สยาม” “ชายแดนใต้หัวใจเดียวกัน”รวมถึงการจัดนิทรรศการมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 นิทรรศการภูเขาถล่มภาคใต้

“เราเริ่มจากกลุ่มช่างภาพเล็กๆ จนตอนนี้เป็นเครือข่ายที่ขยายขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้เห็นว่า อนุภาพของภาพถ่ายทำอะไรได้มากมาย เราไม่ควรเสียเวลาพูด แต่ควรลงมือทำเลย” จิระนันท์ กล่าว
ด้าน “ธีระพล เต็มอุดม” และ “ดร. สรยุทธ รัตนพจนารถ” ผู้คิดค้นธนาคารจิตอาสาขึ้นมา ถือเป็นการเปิดประเด็นใหม่ให้กับสังคมไทยหันมามองเรื่องภายในจิตใจและรู้จักงานอาสาสมัครมากขึ้นในช่วงที่เกิดสึนามิเมื่อ10ปีก่อน ธนาคารจิตอาสา เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เข้ามาใช้ เพื่อประกาศความตั้งใจที่จะแบ่งปันเวลาให้กับสังคม โดยธนาคารจิตอาสาจะแนะนำกิจกรรมจิตอาสาเหมาะกับความสนใจ ความสามารถ และแบบแผนการใช้ชีวิต/เวลาว่าง อีกทั้งมีบริการเสริมความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ เตรียมความพร้อม ให้กับทั้งอาสาและองค์กร รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สะท้อนแบ่งปันประสบการณ์หลังกิจกรรม

“ปัจจุบันธนาคารจิตอาสามีสมาชิกกว่า 1.5 หมื่นคน ทำงานมาแล้วกว่า 2 แสนชั่วโมง ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีการหางานแบบเดิมๆ เพราะเมื่อคนทำงานจิตอาสามีทักษะ ก็ทำให้องค์กรหาคนที่ตรงกับงานได้ดีขึ้น ที่สำคัญทำให้คนใช้เวลาอย่างคุ้มค่ามากขึ้น เมื่อเราเปลี่ยนแปลงจากข้างในก่อนแล้ว ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนตามมา”
อีกเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมในสังคมยุคดิจิตอล ก็คือ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาสังคม จุดเริ่มต้นของ “ปรเมศวร์ มินศิริ” ผู้ดูแลเวบไซต์กระปุกดอทคอม ที่ก่อตั้งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เดี๋ยวนี้เป็นเวบไซต์ที่เติบโต มีคนดูกว่า 10 ล้านคน พร้อมกับมีกิจกรรมต่างๆช่วยเหลือสังคมด้วย ที่รู้จักกันดีก็คือ ศูนย์ข้อมูลน้ำท่วม หรือ thaifood ในช่วงน้ำท่วมปี 2553 ร่วมกับภาครัฐ จนได้รับรางวัลเจ้าฟ้าไอทีในปี 2554 และล่าสุดทำศูนย์ข้อมูลแผ่นดินไหวภาคเหนือ หรือ “thaiquake” ปรเมศวร์ บอกว่า การเป็น Active Citizen ขั้นแรกต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน โดยใช้คาถา “ทำ ทัน ที” หรือถ้ายังทำไม่ได้ให้จดใส่ปฏิทินไว้ว่าจะทำได้เมื่อไร เช่น อีก 3 เดือน และจัดทำแผนงาน หรือถ้าทำไม่ไหว ต้องหาเพื่อน หรือ ทีมงาน เข้ามาช่วย

“ถ้าทุกคนในสังคมทำได้ทันที ก็จะได้มากกว่าได้” ปรเมศวร์ บอก
“ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา” ผู้ก่อตั้งเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ แม่บ้านธรรมดาๆคนหนึ่งที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกชายที่พิการตลอด 23 ปีที่ผ่านมา เหตุเพราะความผิดพลาดทางการแพทย์ ในปี 2545 เธอได้รวมกลุ่มคนไข้ 4 ประเภทคือ บัตรทอง, ประกันสังคม, สวัสดิการข้าราชการ และจ่ายเงินเองที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล เป็น “เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์” เพื่อผลักดันระบบ และช่วยพัฒนาและป้องกันความเสียหาย พร้อมผลักดันพระราชบัญญัติผู้เสียหายทางการแพทย์เพื่อสร้างมาตรฐานและสิทธิของคนไข้ให้ได้รับความยุติธรรม
“การเป็นพลเมืองที่ดีมีส่วนร่วม จำเป็นที่สังคมต้องช่วยกันปลูกฝังค่านิยม “การเรียนรู้” ให้เกิดขึ้นใน “ครอบครัว” แล้วจึงเชื่อมต่อไปยังเมืองใหญ่” ด้วยความเชื่อนี้ “ดร. เดชรัต สุขกำเนิด” คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้รวมเครือข่ายครอบครัวเพื่อนของลูกเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นทั้งการท่องเที่ยวเชิงนโยบาย และสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรม การจัดการกับระบบนิเวศน์ของชุมชนที่หลากหลาย ล่าสุดกำลังจะทำเรื่องการบุกรุกของพื้นที่สีเขียวคุ้มบางกระเจ้า

“การเรียนรู้ของครอบครัวเป็นสะพานเชื่อมระหว่างความสนุกกับความรู้ และความคิด ระหว่างผู้คนที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างหลากหลายในสังคม การเรียนรู้มิได้ช่วยให้เรารู้เท่านั้น ยังช่วยให้เรารับรู้ และรู้สึกกับสิ่งนั้นอย่างจริงจัง จนพร้อมจะทลายกำแพงที่เป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหานั้นได้ในที่สุด” ดร.เดชรัต กล่าว
แม้จะเป็นผู้พิการระดับรุนแรง เนื่องจากประสบอุบัติเหตุเมื่อ 12 ปีที่แล้ว แต่ “ปรีดา ลิ้มนนทกุล” กลับใช้ความสามารถที่มีอยู่หลากหลายทำประโยชน์เพื่อสังคม โดยเป็นคนที่สร้างอาชีพให้คนพิการ การเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม รวมทั้งทำงานเลี้ยงชีพด้วยการออกแบบซอฟแวร์และอีกหลายอย่างมากมายปัจจุบัน ปรีดา เป็นหนึ่งในทีมงานบริหารจัดการโครงการของ บริษัท พี ดับบลิว ดี เอาท์ซอส เมเนจเมนท์ ซึ่งก่อตั้งโดยผู้พิการเพื่อผู้พิการ เพื่อเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการต่างๆ ให้กับสถานประกอบการ ทั้งการนำเอาเครื่องมือต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับลักษณะของความพิการ รวมถึงการคัดกรองผู้พิการให้เหมาะกับลักษณะงานอย่างเป็นระบบและอย่างเข้าอกเข้าใจ ตลอดจนสร้างรายได้ให้แก่ผู้พิการ จนได้รับรางวัล “อโชก้าเฟลโลว์ ปี 2557” ( Ashoka Fellows 2014)

“ที่ผ่านมาได้พัฒนาให้คนพิการมีอาชีพและสร้างรายได้เพราะเชื่อว่า คนไม่สามารถทำอะไรคนเดียวได้ ต้องทำร่วมกับคนอื่นๆด้วยจึงได้ทำโครงการจัดฝึกอบรมคนพิการรูปแบบใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ ภายใต้โครงสร้างกฏหมายที่มีผู้ทำงานมากกว่า 100 คน ต้องจ้างคนพิการเฉลี่ย 1 คน” สิ่งที่ปรีดาทิ้งท้ายไว้ก็คือ การที่คิดจะทำอะไรใหม่ๆไม่ว่าอะไรก็ตามเพื่อสังคม มักจะมีแรงเสียดทานเสมอ โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นที่จะต้องออกแรงอย่างมาก แต่ถ้าผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้จะทำอะไรได้ง่ายขึ้น
เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการลงมือทำเพื่อส่วนรวม ซึ่งแต่ละคนมีแรงบันดาลใจที่แตกต่างกันบนเป้าหมายเดียวกันที่อยากเห็นสังคมไทยดีขึ้น… ทำอย่างไรสังคมไทยจะสามารถส่งผ่านและปลูกฝังค่านิยมการมีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวมให้เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีกับสภาพสังคมที่นับวันมีปัญหาและมีความซับซ้อนมากขึ้น