ทำอย่างไร โตไปไม่โกงกฎ กติกา ค่านิยม ตัวช่วยแบบไหนที่ใช่?

ประเทศไทยเสียหายอย่างหนักจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เพียง 10 คดีที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ ได้สะท้อนให้เห็นมูลค่าความเสียหายกว่า 6.3 แสนล้านบาท นับเป็นการสูญเสียโอกาสมหาศาลที่ประเทศจะได้นำงบประมาณเหล่านี้ไปพัฒนาในด้านต่างๆ
ขณะที่หลายภาคส่วนพยายามแก้ไขปัญหา โดยมีมาตรการป้องกัน ตรวจสอบ และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ แนวทางที่มีความสำคัญเช่นกัน คือ การปลูกฝังค่านิยมการมีคุณธรรม จริยธรรม และการไม่ยอมรับการโกงให้แก่เยาวชน เพื่อป้องกันปัญหาที่รากเหง้า ไม่ให้เกิดพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชันในระยะยาว
เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับ มูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และมูลนิธิเพื่อคนไทย จัดกิจกรรมเวิร์คชอปภาคเยาวชนขึ้น หัวข้อ “การสร้างค่านิยมเพื่อให้เยาวชนเป็นคนไทยไม่โกง” วิทยากรกระบวนการโดย ดร.กนกกาญจน์ อนุแก่นทราย ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ร่วมพัฒนาหลักสูตร “โตไปไม่โกง”

หลักสูตรนี้อบรมครูให้สามารถปลูกฝังค่านิยมความดี 5 ประการ ได้แก่ 1.ความซื่อสัตย์สุจริต 2.การมีจิตสาธารณะ 3.ความเป็นธรรมทางสังคม 4.กระทำอย่างรับผิดชอบ 5.เป็นอยู่อย่างพอเพียง เพื่อนำไปสอนเด็กในโรงเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีผู้สนใจที่เป็นเยาวชน ทั้งนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ ผู้ปกครอง ตลอดจนตัวแทนภาคสังคมที่ทำงานปลูกฝังค่านิยมด้านคุณธรรม อาทิ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), หอการค้าไทย, หอการค้าไทย-จีน, มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด, เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม, สถาบันอาศรมศิลป์, มูลนิธิยุวพัฒน์, ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์, วิน ดิจิตอลเอเจนซี่, เลิร์นเอ็ดดูเคชั่น เป็นต้น รวมกว่า70 คน เข้าร่วมกิจกรรม

ดร.กนกกาญจน์ เริ่มต้นกิจกรรมด้วยการชวนคิด ให้ทุกคนร่วมนิยามและให้ความหมายของ คำว่า “โกง” ซึ่งผู้เข้าร่วมช่วยกันยกตัวอย่าง เช่น โกงเลือกตั้ง เลี่ยงภาษี โกงเงิน โกงสอบ โกงคะแนน โกงบริษัท โกงเวลาราชการ โกงการแข่งขันกีฬา โกงงบประมาณ โกงที่ดิน โกงทรัพย์สินราชการ การให้และรับสินบน การส่งส่วย การรีดไถ การแซงคิว ลอกการบ้าน ลอกผลงานผู้อื่น โกงลูกค้า ไม่ซื่อสัตย์ เอาเปรียบ เห็นแก่ตัว ไร้ศีลธรรม อยุติธรรม ใช้อำนาจในทางมิชอบ เลือกปฏิบัติ ฯลฯ

ดร.กนกกาญจน์ อนุแก่นทราย ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย วิทยากรกระบวนการ
หลังจากชวนคิดแล้ว ดร. กนกกาญจน์ ได้ชี้ให้ผู้เข้าเวิร์คชอปหันกลับมามองทัศนคติของเยาวชนต่อพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการทุจริต ในช่วง 1-2 ปีนี้ จาก “ผลวิจัยคนไทยมอนิเตอร์ 2557 เสียงเยาวชนไทย (Youth Today)” ซึ่งสำรวจเยาวชนจำนวน 4,000 คนที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 24 ปีทั่วประเทศ กลับพบว่า
– ร้อยละ 81 เคยลอกข้อสอบ/ให้เพื่อนลอกข้อสอบ และส่วนใหญ่เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิดมาก
– ร้อยละ 63 เคยเซ็นชื่อเข้าเรียนแทน/ให้เพื่อนเซ็นชื่อให้ และส่วนใหญ่เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิดมาก
– ร้อยละ 38 เคยซื้อหรือใช้ของละเมิดลิขสิทธิ์ และร้อยละ 18 เคยให้เงินตำรวจเพื่อหลีกเลี่ยงใบสั่งงานวิจัยยังสำรวจอีกว่า กรณีสอบใบขับขี่ไม่ผ่าน เยาวชนยินดีจะจ่ายสินบนให้เจ้าพนักงานจำนวน 500 บาทหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 25 ยินดีจ่าย โดยส่วนมากให้เหตุผลเพื่อความสะดวก ไม่เสียเวลา
ดร.กนกกาญจน์ ตั้งคำถามต่อไปว่า ทำไมเยาวชนบางส่วนจึงยอมรับการ “โกง” หรือนิ่งเฉยกับการ “โกง”
“เยาวชน” ในห้องได้ช่วยกันสะท้อนความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า
“เพราะระบบการศึกษาไทยวัดความสามารถหรือศักยภาพของเด็กที่คะแนนสอบและการแข่งขัน ทำให้เด็กๆ ได้รับการปลูกฝังและความคาดหวังจากพ่อแม่ว่าต้องสอบได้คะแนนดี พอทำข้อสอบไม่ได้ เด็กๆ จึงเลือกที่จะลอกข้อสอบเพื่อเอาตัวรอด ไม่ให้โดนลงโทษ และเพื่อทำให้พ่อแม่ภูมิใจ”
“ค่านิยมในสังคมที่เน้นการใช้อำนาจ พ่อแม่ออกคำสั่งกับเด็กๆ ทำให้เด็กกลัว ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น”
“การลอกข้อสอบเป็นพฤติกรรมปกติที่ใครๆ ก็ทำ ไม่มีใครถูกตำหนิหรือถูกลงโทษ”
“เด็กๆ เห็นโอกาสหรือช่องทางที่จะโกงได้ง่าย”
“ถ้าไม่ทำตามสังคม ไม่ให้เพื่อนลอกก็กลัวเพื่อนเกลียด กลัวสังคมไม่ยอมรับ”
“ถ้าบอกครูว่าเพื่อนลอกกันก็ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน”
“ที่นิ่งเฉยเพราะเห็นว่าเป็นปัญหาไกลตัว”
ขณะที่ “ผู้ปกครองและครู” ได้ร่วมสะท้อนความเห็นว่า
“สังคมไทยขาดแบบอย่างที่ดีและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เห็นการทุจริตเป็นเรื่องปกติ ซึ่งแต่ละคนล้วนมีพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีในตัวเอง เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ให้ผลประโยชน์กับตัวเองหรือคนที่เรารัก ถ้าจิตใจไม่เข้มแข็งพอ ก็สามารถทำผิดได้ จึงจำเป็นต้องปลูกฝังเยาวชน และต้องคำนึงด้วยว่าเยาวชนวันนี้คือผู้นำรุ่นต่อไปในอนาคต”
“ต้องเริ่มจากครอบครัว พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะเด็กมักจะซึมซับพฤติกรรมต่างๆ ได้ง่าย เช่น ถ้าพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ทำผิดกฎจราจรเป็นเรื่องปกติ เด็กก็จะเห็นเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำ”
“ครูอาจจะไม่ได้เอาใจใส่เด็กเหมือนการศึกษาในอดีค ที่ครูมักปลูกฝังหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมให้เด็กด้วย”
“สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวไม่มีคุณภาพ เช่น ระบบศาสนา ข้าราชการ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคสื่อมวลชน ทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนทำให้เยาวชนยอมรับหรือนิ่งเฉยกับการโกง”
ดร.กนกาญจน์ ให้ข้อสรุปว่า สิ่งที่ทุกคนเห็นร่วมกันคือ การสร้างคนไทยไม่โกง ต้องสร้างพลังพลเมืองให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ด้วยความหวังที่จะเห็นผู้นำรุ่นใหม่ในอนาคตมีความสุจริตโปร่งใส
แล้ว แนวทางสร้างค่านิยมและกิจกรรมในกลุ่มเยาวชนเพื่อไปสู่เป้าหมายการสร้างสังคมไทยไม่โกง ต้องทำอย่างไรบ้าง?
“พวกผมต้องการแบบอย่างที่ดีจากผู้ใหญ่ทุกคน ทั้งพ่อแม่ คุณครู นักการเมือง ทุกคนเลยครับ” นักเรียนชายระดับประถมศึกษาคนหนึ่งแสดงความเห็น
เยาวชน กลุ่มผู้ปกครอง และครูท่านอื่น ระบุเสริมว่า
“พ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกด้วยความรัก สอนให้เป็นคนดี รับฟังความคิดเห็นและคอยให้คำแนะนำ สอนให้ยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน รู้จักรักผู้อื่น ไม่เอาเปรียบผู้อื่น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และควรเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อหล่อหลอมพฤติกรรมที่ดีให้แก่เด็ก”
“เมื่อพื้นฐานครอบครัวที่ดี ก็ต้องมีระบบการศึกษา ที่ครูร่วมปลูกฝังหน้าที่พลเมือง ศีลธรรมให้เยาวชน”
“ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ศาสนา ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคสื่อมวลชน ต้องมีส่วนร่วมด้วย เพราะทุกส่วนล้วนเป็นสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก”
“ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น ทุกคนควรตระหนักถึงความสำคัญของการปลูกฝังค่านิยมที่ดี เพราะต่างต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สามารถเป็นแบบอย่างให้กันและกันได้”
อย่างไรก็ตาม คุณครูรุ่นใหม่ท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า ค่านิยมช่วยแก้ปัญหาไม่ให้เด็กโกงได้จริงหรือ เมื่อเทียบกับการสร้างกฎกติกา ที่ผ่านมาเมื่อพบเด็กโกงข้อสอบ เธอฉีกกระดาษคำตอบ พอจัดสอบครั้งต่อไป เด็กๆ ก็ไม่กล้าที่จะโกงเพราะกลัวสอบตก
ขณะที่คุณครูอีกท่านแสดงความเห็นต่างออกไปว่า มนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาได้ เพราะมีสิ่งที่ทำให้เหมือนหรือแตกต่างกันอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ถ้าเราสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้เด็กมีค่านิยมโตไปไม่โกงในวันนี้ เชื่อว่า สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในอนาคตได้ การปลูกฝังค่านิยมจึงเป็นเรื่องสำคัญ
จากคำถามข้างต้น ดร.กนกกาญจน์ ได้นำเสนอ “ผลการทดลองขนมมาร์ชเมลโล่” ที่ให้เด็กระดับอนุบาล นั่งที่โต๊ะอาหาร โดยมีขนมมาร์ชเมลโล่ของโปรดของเด็กๆ วางอยู่ 1 ชิ้น และบอกเด็กๆ ว่าถ้าสามารถรอจนถึงเวลาที่กำหนดได้ เด็กๆ จะได้เพิ่มเป็น 2 ชิ้น
ผลการศึกษาด้านพฤติกรรมศาสตร์ชิ้นนั้นพบว่า มนุษย์มีความสามารถในการยับยั้งชั่งใจพฤติกรรมตนเองได้ ด้วยสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างมาตรฐาน การปลูกฝังค่านิยมหรือจิตสำนึก การมีกฎเกณฑ์บังคับ การสร้างแรงจูงใจด้านบวก
ผู้เข้าร่วมภายในห้องได้เสริมเพิ่มเติมว่า ควรต้องพัฒนาเด็กตามระดับการศึกษา เช่น
“เด็กเล็ก” ให้เน้นการปลูกฝังจิตสำนึกให้มีวินัยในตนเอง และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่น
“ระดับประถม” ปลูกฝังถึงความเข้าใจในสิทธิหน้าที่ และการเคารพสิทธิผู้อื่น
เมื่อเติบโตสู่ “ระดับมัธยม” มีกิจกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อสังคม ได้สัมผัสปัญหาต่างๆ ที่ฝึกคิด วิเคราะห์จากสถานการณ์จริง
รวมไปถึงต้องสร้างให้เด็กรู้จักตัวตน เคารพตัวตน และเป็นแบบอย่างให้กับตัวเองได้ มีกระบวนการคิดที่ถูกต้อง

บรรยากาศกิจกรรมเวิร์คชอป “การสร้างค่านิยมเพื่อให้เยาวชนเป็นคนไทยไม่โกง” มีเยาวชนและผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเเละแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
อย่างไรก็ตาม การให้ผู้ใหญ่ปลูกฝังค่านิยมที่ดีแก่เยาวชน ก็จำเป็นต้องมีเครื่องมือให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับรูปแบบการทุจริตต่างๆ รวมถึงเรื่องของ คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และการต่อต้านคอร์รัปชัน เครื่องมือที่ได้มีการหยิบยกมาเล่าในครั้งนี้ด้วย คือ “หลักสูตรสุจริตไทย” ที่พัฒนาขึ้นโดย บริษัท ไอ เอดดูเคชัน โซน จำกัด ผู้พัฒนาเวบไซต์ eduzones.com

ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ เอดดูเคชัน โซน จำกัด เล่าถึงหลักสูตรสุจริตไทย เครื่องมือให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับรูปแบบการทุจริตต่างๆ
ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ เอดดูเคชัน โซน จำกัด เล่าสิ่งที่ค้นพบจากหลักสูตรนี้ว่า มนุษย์ทุกคนโกง และไม่มีใครยอมรับว่าโกง ขณะเดียวกันก็รังเกียจการโกง
ส่วนคนที่โกงก็มีเหตุผลที่จะทุจริตเสมอ ยิ่งเป็นการโกงเพื่อผู้อื่นยิ่งทำให้โกงได้มากขึ้น แต่ถ้าได้เรียนรู้ว่าพฤติกรรมนั้นเป็นการทุจริต แยกแยะได้ว่าสิ่งนี้คือการช่วยเหลือ การมีน้ำใจ นี่คือสินบน เขาจะรู้ได้เองว่าต้องเลิกพฤติกรรมใด
“การโกงเหมือนเชื้อโรค คนที่เลิกโกงได้ไม่ได้ช่วยใคร แต่ช่วยตัวเองไม่ให้ทำลายศีลธรรมหรือศักดิ์ศรีในตัวเอง”
ดร.กนกกาญจน์ กล่าวสรุปในช่วงท้ายของงานนี้ว่า หลายคนในที่นี้จะเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม เป็นผู้นำรุ่นใหม่ในอนาคต โจทย์ที่ได้รับมาในวันนี้ จะนำไปขับเคลื่อนงานปลูกฝังคุณธรรม เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันต่อไป
ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่ขับเคลื่อนกับครอบครัว การศึกษา ซึ่งจะไม่ได้มอบเป็นภาระครูเท่านั้น การสอนที่ได้ผล ไม่ได้มุ่งเน้นที่การแข่งขัน การกำหนดกฎกติกา การสร้างแบบอย่างที่ดี การให้รางวัลหรือการดึงดูดใจ การร่วมสร้างบรรทัดฐานสังคมให้รังเกียจคนโกง สร้างสังคมที่โปร่งใส สุจริต การใช้ชีวิตด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกับทิ้งท้ายด้วยว่า
“ไม่มียุคไหนที่ให้ความสำคัญกับการโกงเท่ายุคนี้แล้ว แสดงให้เห็นว่าคนไทยพร้อมแล้วที่จะมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น”