ที่มา : https://www.isranews.org/article/isranews-news/116066-Isra.html

‘อิศรา’ จัดเสวนาสังคายนานโยบายปราบคอร์รัปชั่น นักวิชาการชี้ค่า CPI ต่ำทำให้การลงทุนในไทยลดลง ด้านตัวแทนหน่วยงานต้านโกงชี้สื่อทำข่าวสืบสวนน้อยลง ย้ำประชาชนต้องให้ความร่วมมือ

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2566 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดงาน 12 ปี สำนักข่าวอิศรา Investigative News of Thailand ภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ สังคายนานโยบายปราบคอร์รัปชั่น ข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ 

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ประเด็นการทุจริตที่ถูกเปรียบเทียบว่าเหมือไก่กับไข่ที่ถกเถียงกันว่าใครเกิดก่อน คิดว่า เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งคนให้ที่เป็นประชาชน คนรับที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ การจะแก้ปัญหานี้ต้องแก้ทั้งสองฝ่าย ประเด็นการปราบปรามการทุจริตต้องอาศัยความเข้มแข็งของประชาชนและสื่อมวลชน ในปัจจุบันมีสื่อที่นำเสนอข่าวสืบสวนน้อยลง ขอชื่นชมสำนักข่าวอิศราที่ยืนหยัดทำข่าวนี้ 

 ประเด็นการคอร์รัปชันที่มีความเกี่ยวพันกับภาคการเมือง รัฐบาลชุดใหม่ต้องเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น

“ต้องยอมรับว่าระบบการเมืองของไทยไปผูกกับระบบการขับเคลื่อนของภาครัฐ สังเกตจากเรื่องของอธิบดีกรมป่าไม้ หรือเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง เพราะดูจากงบประมาณของแต่ละกระทรวง ถึงมีข่าวอธิบดีรับเงินจากเจ้าหน้าที่ แล้วเจ้าหน้าที่เอาเงินมาจากไหน ก็เอามาจากเงินงบประมาณของกระทรวง” นายนิวัติชัยกล่าว

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กล่างถึงประเด็นเงินจากการทุจริตจากงบประมาณภาครัฐที่มีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท จากงบประมาณภาครัฐที่รวมจากทุกภาคส่วนที่มีมูลค่า 10 ล้านล้านบาท ประเด็นระบบอุปถัมภ์ในภาคการเมืองและเอกชนที่พึ่งพิงกัน ทำให้ทำลายยาก ประชาชนต้องร่วมมือกัน 

“ปฏิวัติไม่ปฏิวัติก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน เคยคิดว่าพอปฏิวัติจะมีความหวังในการแก้ไขเรื่องการทุจริต แต่ 8 ปีที่ผ่านมาก็ปฏิรูปอะไรก็ไม่สำเร็จ” นายประจักษ์ล่าว

นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวถึงประเด็นการไม่ทิ้งความหวังในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ประเด็นการให้รางวัล-ลงโทษที่คนที่ทุจจริต ที่ให้ใช้พลังของประชาชนในการลงโทษ เช่น ไม่สมัครงานกับเอกชนที่มีการทุจริต แม้กระทั่งผู้ที่ทุจริต พึงสงสารลูกหลานที่จะต้องเป็นผู้รับโทษจากสายตาของสังคมจากการกระทำของพ่อแม่ปูย่าตายาย

“ถ้าประชาชนทำแบบนี้กับภาคธุรกิจจะมีพลังมหาศาล จะเปลี่ยนพฤติกรรมของภาคธุรกิจได้ ถ้าไม่มีคนมาทำงานกับเขา ไม่ซื้อสินค้าของเขา นี่เป็นบทลงโทษที่ร้ายแรง เช่นเดียวกับพรรคการเมือง ต้องเลือกคนที่ต้านทุจริตจริง ถ้าเราเลือกเหมือนเดิม ก็ได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม ส่วนการลงโทษนักการเมืองประชาชนต้องมีส่วนร่วม ” นายวิเชียรกล่าว

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตร์ มหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็น ค่า CPI (Corruption Perceptions Index: CPI) ดัชนีการรับรู้การทุจริต ของประเทศไทยที่มีค่าไม่ต่างกันในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาแต่กลับมีอันดับที่ต่ำลงเรื่อย ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนของต่างชาติ ที่มาลงทุนน้อยลง รัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งแก้ปัญหาค่า CPI ตกต่ำ ประเด็นต้นทุนการต่อสู้กับคอร์รัปชันของไทยที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ประเด็น ‘ความเชื่อใจ’ ของคนในสังคมไทย ที่ปล่อยให้มีคนโกงได้เพราะความเชื่อใจ 

“การโกงสะท้อนความไว้วางใจ ยิ่งโกงมาก็ยิ่งสะท้อนว่าไว้ใจมาก ทางแก้ระบบคอร์รัปชันคือความโปร่งใสที่คนเห็นปลายทางได้ ต้องมีระบบที่คาดการณ์ได้ มีหน่วยงานที่คนคาดการณ์ได้” ผศ.ธานีกล่าว