ที่มา : https://thestandard.co/act-report-corruption-cases/
วันนี้ (17 เมษายน) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ Anti-Corruption Organization of Thailand (ACT) ได้เผยแพร่รายงาน 10 ปีคดีโกงของนักการเมืองไทยผ่านเว็บไซต์และเฟซบุ๊กองค์กร ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการนำเสนอข่าวโดยสื่อมวลชนเฉพาะคดีที่มีการชี้มูลความผิดโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) การตัดสินคดีโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ระหว่างปี 2555 ถึงปัจจุบัน พบว่ามี 61 คดี และมีนักการเมืองกระทำผิด 68 คน
มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงจำนวน 61 คดีว่าสามารถจำแนกตามลักษณะความผิด ดังนี้
1. โกงเลือกตั้ง 25 คดี
2. ยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ 9 คดี
3. โกงจัดซื้อจัดจ้างและฮั้วประมูล 8 คดี
4. เอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง 8 คดี
5. ประพฤติมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 3 คดี
6. แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ 2 คดี
7. ร่ำรวยผิดปกติ 2 คดี
8. บุกรุกที่ดินหลวง 2 คดี
9. เรียกรับสินบน 1 คดี
10. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ 1 คดี
และสำหรับนักการเมือง 68 คนในที่นี้หมายถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.), สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.), สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), รัฐมนตรี ทั้งจากพรรคเล็ก พรรคใหญ่ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
“ข้อมูลนี้คือบทเรียนความเสียหายของแผ่นดินที่เกิดจากคอร์รัปชันโดยนักการเมือง องค์กรฯ จัดทำขึ้นด้วยเจตนาสุจริต ไม่ได้ต้องการจงใจใส่ร้ายผู้ใด แต่ต้องการให้ประชาชนตระหนักว่า อย่าลืมความเสียหาย อย่ายอมรับความหายนะอีกต่อไป การโกงซับ โกงซ้อน โกงซ่อนเงื่อน การพลิกแพลงกฎหมายและใช้โวหารจอมปลอมของนักการเมือง ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับประชาชนที่จะรู้เท่าทัน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องต้องเรียนรู้ร่วมกันเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ” มานะกล่าว
มานะกล่าวต่อไปว่า โดยทั่วไปคดีคอร์รัปชันโครงการขนาดใหญ่มักมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง ทำกันเป็นเครือข่ายและมีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม กลับพบว่าส่วนใหญ่มีแต่ข้าราชการที่ถูกดำเนินคดี เช่น คดีถุงมือยาง ความเสียหาย 2,000 ล้านบาท, คดีสร้างโรงพัก มูลค่า 5,848 ล้านบาท และแฟลตตำรวจทั่วประเทศ มูลค่า 3,700 ล้านบาท เว้นแต่คดีนั้นมีหลักฐานแน่นหนาว่าโดยนักการเมือง เช่น คดีสนามฟุตซอล มูลค่า 4,450 ล้านบาท และคดีรุกป่า
ทั้งนี้ คดีที่ระบุได้ว่าสร้างความเสียหายให้ประเทศมูลค่าสูงสุดในรอบ 10 ปี ได้แก่ คดีโครงการจำนำข้าว มูลค่า 130,000 ล้านบาท ตามด้วยคดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มูลค่า 24,900 ล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้น เฉพาะ 8 คดีที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและฮั้วประมูลมีมูลค่าความเสียหายรวมกันราว 52,000 ล้านบาท
“ในแต่ละปีเกิดเรื่องอื้อฉาวและเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. และยื่นฟ้องต่อศาลจำนวนมาก แต่มีเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้นที่ถูกชี้มูลและศาลตัดสินว่าผิดจริง คดีอื้อฉาวจำนวนมากใช้เวลาดำเนินคดีมากกว่า 10-30 ปีก็มี บางคดีผ่านไป 20 ปีเพิ่งแจ้งข้อกล่าวหา บางคดีเอาผิดใครไม่ได้เพราะหมดอายุความ และความผิดมีโอกาสเกิดขึ้นในทุกกระทรวงและหน่วยงานรัฐพอๆ กัน โดยไม่จำกัดว่าคนผิดต้องเป็นรัฐมนตรีที่มีอำนาจบริหารเท่านั้น แต่ ส.ส. กรรมาธิการ และเครือข่าย ก็สามารถเชื่อมโยงกันทำร้ายบ้านเมืองได้ และนักการเมืองทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งก็มีโอกาสคอร์รัปชันได้พอกัน” มานะกล่าว
มานะกล่าวด้วยว่า รายงานนี้ยังระบุข้อมูลที่น่าสนใจด้วยว่า ในปี 2564 ไม่ปรากฏว่ามีคดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนักการเมืองเลย และในการเลือกตั้งปี 2566 มีนักการเมืองหลายคนที่ถูกดำเนินคดีคอร์รัปชันกลับลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งที่รู้กันดีว่าผู้ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในคดีคอร์รัปชันจะหมดสิทธิการเป็น ส.ส. แล้วเลือกตั้งใหม่ทันที
นอกจากนั้นยังมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการดำเนินคดีนักการเมืองข้อหาร่ำรวยผิดปกติน้อยมาก ทั้งที่พบว่านักการเมืองแจ้งบัญชีทรัพย์สินให้ร่ำรวยมากขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปกติจำนวนมาก ขณะเดียวกันพฤติกรรมประหลาดของนักการเมืองเมื่อเกิดคดีความ หรือส่อว่าจะมีคดี เช่น จดทะเบียนหย่าจากคู่สมรส, เปลี่ยนชื่อ-นามสกุล เป็นต้น และมีคดีของอดีตนายกรัฐมนตรี แม้เสียชีวิตไปแล้ว ทายาทยังต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐ
สำหรับการประเมินมูลค่าความเสียหายจากคอร์รัปชันนั้น มานะกล่าวว่า ยากที่จะประเมิน เพราะไม่สามารถคำนวณความเสียหายต่อเนื่องที่ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานและประชาชนได้ ทั้งปัญหาคุณภาพชีวิตและปัญหาปากท้อง ชัดเจนอย่างที่สุดว่าคอร์รัปชันเป็นตัวการตอกย้ำซ้ำเติมให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น การที่รัฐซื้อของแพง ได้ของไม่ดี หรือล่าช้า ย่อมส่งผลให้เกิดอุปสรรคหรือด้อยคุณภาพในการให้บริการประชาชนด้วยเช่นกัน รวมถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจ เกิดความไม่เป็นธรรมทางการค้า หรือความขัดแย้งในสังคมตามมา
“จากรายงานนี้ยิ่งเห็นชัดว่าหากเราเลือกนักการเมืองโกงเข้ามา ประเทศอาจล่มจมได้ และนี่คือบทเรียน” มานะกล่าวในที่สุด