ที่มา : https://www.one31.net/news/detail/63492

วันนี้ (8 มิ.ย.66) ที่อาคารศรีจุลทรัพย์ เขตปทุมวัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล พร้อมคณะทำงานต่อต้านคอร์รัปชั่นของพรรค ประกอบด้วย นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล นายรังสิมันต์ โรม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ นายวรภพ วิริยะโรจน์ และ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ เข้าพบปะพูดคุยหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ACT) เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นนำ โดย นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ

นายพิธา กล่าวว่า ที่ผ่านมาการตรวจสอบหรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคก้าวไกลได้ขอข้อมูลจาก ACT มาโดยตลอด เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  โครงการเสาไฟกินนรี  ซึ่งตลอดสี่ปีที่ผ่านมาในการทำหน้าที่ ส.ส.ได้เห็นการทุจริตคอร์รัปชั่นในรูปแบบที่แตกต่าง และวันนี้อยากมารับฟังข้อเสนอแนะ พร้อมกับนำเสนอนโยบายของพรรคก้าวไกลเพื่อนำไปสู่การต่อยอดแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

ทั้งนี้ จากการติดตามตัวชี้วัดต่างๆ รวมทั้ง Corruption Perception Index : CPI พบว่าหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้คะแนนและลำดับอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ในรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ดังนั้น เราจึงมีเป้าหมาย ต้องการเร่งแก้ปัญหาการทุจริตให้เห็นผล ทำให้ดัชนี CPI ของประเทศไทยมีคะแนนและลำดับดีขึ้นได้โดยเร็วที่สุด โดยหากผลักดันให้นโยบายการเปิดเผยข้อมูลรัฐ และการนำเทคโนโลยีมาช่วยจับโกง สำเร็จได้ภายใน 100 วันตามที่ตั้งไว้ เชื่อว่าต้นปีหน้า จะมีข่าวดีว่าคะแนนและลำดับของประเทศไทยใน CPI จะสูงขึ้นกว่าเดิมแน่นอน และประชาชนจะยิ่งเชื่อมั่นศรัทธาในระบบการเมืองการปกครองตามครรลองประชาธิปไตย

นอกจากนี้การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นต้องทำให้ระบบดีด้วย เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จึงมีหลักคิดสำคัญในการออกแบบระบบ คือจะต้องเป็นระบบที่ 1.ไม่มีใครอยากโกง 2.ไม่มีใครกล้าโกง 3.ไม่มีใครโกงได้ 4.ไม่มีใครโกงแล้วรอด โดยได้ออกแบบนโยบายที่ใช้หาเสียงเลือกตั้งและพร้อมนำไปปฏิบัติต่อไป เช่น การใช้ระบบ AI จับโกง ตรวจสอบแพทเทิร์นที่ส่อทุจริตในการบริหารจัดการภาครัฐ, การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ Open Government และ Open Parliament รวมทั้งนโยบาย ‘คนโกงวงแตก’ คือการออกกฎหมายคุ้มครองคนที่ออกมาแฉหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิดกันทุจริตก่อนให้รับการลดโทษหรือกันเป็นพยาน จะทำให้คนที่คิดจะร่วมกันโกงระแวงกันเองจนไม่มีใครกล้าร่วมกันโกง รวมทั้งหน่วยงานที่ตรวจสอบคอร์รัปชั่น เช่น ป.ป.ช. ต้องยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น จะได้มีความรับผิดรับชอบต่อประชาชน ทั้งนี้ จะมีการนำผลการหารือและข้อเสนอแนะไปสู่คณะทำงานต่อต้านคอร์รัปชั่นของพรรค และเดินสายพูดคุยหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้เร็ว

ส่วนคณะทำงานเปลี่ยนผ่านด้านการทุจริตคอรัปชั่น 8 พรรคนั้น นายพิธา กล่าวว่า ยังไม่เริ่มประชุมอย่างเป็นทางการ เนื่องจาก ผู้รับผิดชอบทั้งนายวิโรจน์  ลักขณาอดิศร และ นายรังสิมันต์  โรม  ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ยังติดภารกิจอื่น  ขณะเดียวกันก็เตรียมที่จะพูดคุยกับพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ เตมียเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยและทางพรรคเพื่อไทยด้วย  เพื่อกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น หลังการจัดตั้งรัฐบาล

นายพิธา ยืนยันว่า พรรคก้าวไกลจะประสานหารือกับ ACT อีกครั้ง โดยการหารือในครั้งหน้าจะนำคณะทำงานเปลี่ยนผ่านด้านทุจริตคอร์รัปชั่นมาร่วมหารือด้วย

ทางด้าน นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย (ACT) กล่าวว่า วันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันในภาพใหญ่ ไม่ได้ลงรายละเอียดมาก เนื่องจากเวลาจำกัด อีกทั้งมองว่ายังมีเวลาที่จะทำงานร่วมกันอีกเยอะ ส่วนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันที่จะต้องแก้ไขเร่งด่วน ทั้งเรื่องส่วย และการซื้อขายตำแหน่ง ยอมรับว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นเรื่องเร่งด่วนทั้งนั้น แต่กระบวนการจัดการแก้ไขต้องจัดการอย่างมีส่วนร่วม

พร้อมย้ำว่าไม่ควรจะยอมรับคนโกง ไม่ว่าจะอยู่ในระบบใดก็แล้วแต่ ไม่ควรให้คนเหล่านี้มีพื้นที่ เพราะเข้ามาบั่นทอน เพราะฉะนั้น หากภาคการเมืองจะประสบความสำเร็จได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องไม่ให้คนในภาคส่วนตนเองมาคอยบั่นทอนความน่าเชื่อถือ พร้อมยอมรับว่าสังคมคลางแคลงใจกับภาคการเมืองมาตลอด ซึ่งต้องปรับ และสร้างความมั่นใจกลับมาให้ได้

วันนี้ดีใจที่ พรรคก้าวไกลติดต่อเข้ามาพูดคุยหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เชื่อว่าพรรคมีความมุ่งมั่น จริงจังในประเด็นนี้ และภาคการเมืองมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้ประชาชนมีความหวังว่าภาคการเมืองแก้ไขปัญหาเรื่องวันนี้ดีใจที่ พรรคก้าวไกลติดต่อเข้ามาพูดคุยหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เชื่อว่าพรรคมีความมุ่งมั่น จริงจังในประเด็นนี้ และภาคการเมืองมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้ประชาชนมีความหวังว่าภาคการเมืองแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังและยั่งยืน ซึ่งได้แลกเปลี่ยนบางประเด็นที่เป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้ โดยเฉพาะการสร้างระบบนิเวศที่จะสามารถทำให้ทุกฝ่ายสามารถแก้ไขปัญหาร่วมกัน และมองเห็นโอกาสที่จะสามารถร่วมมือกันได้ต่อไปในอนาคต