จริงหรือ คอร์รัปชันจะลดลงได้ใน สังคมเปิด

ลองมาเรียนรู้ไปด้วยกันไปกับพวกเรา “GSE”

กับกิจกรรมกระตุกต่อมคิดที่จะทำให้ “คอร์รัปชัน”

จากสิ่ง “มืดมน ลึกลับ ไกลตัว ”เป็นสิ่งที่ใกล้ตัว” และ กำจัดได้!

corruptionองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) เปิดเผยคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2560 ปรากฏว่าประเทศไทย ได้ 37 คะแนน อยู่ในอันดับ 96 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ร่วมกับ ประเทศบราซิล โคลัมเบีย อินโดนีเซีย ปานามา เปรู และแซมเบีย

ส่วนประเทศไทยนั้น คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)  ขยับขึ้นมาจากคะแนนปี 2559 ที่ได้ 35 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 101

ด้านดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (Corruption Situation Index : CSI)  สำรวจในเดือนมิถุนายน 2561 พบว่า สถานการณ์คอร์รัปชันไทยโดยรวมอยู่ที่ 55 ปรับดีขึ้นจากการสำรวจเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ 52 ทั้งนี้ ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 54 จากก่อนหน้าที่ 51 และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชันไทยอยู่ที่ 56 จากเดิม 53

การสำรวจยังพบอีกว่าทัศนคติและจิตสำนึกต่อการทุจริตคอร์รัปชันของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังทนไม่ได้เมื่อพบเห็นการโกงและไม่ยอมรับคอร์รัปชั่นโดยสิ้นเชิง ร้อยละ 99 เห็นว่าการคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องไกลตัวและไม่ยอมรับรัฐบาลที่ที่เก่งมีผลงานดีแต่ทุจริต

แม้ดัชนีโดยรวมจะปรับดีขึ้น หากพิจารณารายละเอียด ดัชนีปัญหาและความรุนแรงการคอร์รัปชันพบว่าอยู่ที่ 48 โดยดัชนียังต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนว่าประชาชนยังมีความกังวลเรื่องนี้

คำถามที่ตามมาคือ ทำอย่างไรจึงจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้  ?

“การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันต้องอาศัยจิตสำนึก การลงมือทำ ทุกคนในสังคมต้องมีส่วนร่วมแก้ปัญหา” ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าว

mana

ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นเรื่องที่แก้ยากและต้องใช้เวลา แต่ก็มีสัญญานที่ดีเพราะนับวันเรามักจะได้เห็นความสนใจและความต้องการแสดงออกของคนไทยเรื่องปัญหาคอร์รัปชัน คือ พร้อมที่จะแสดงตน ไม่เห็นด้วยกับการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น

ในงาน “Good Society Expo 2018 ทำดีหวังผล เริ่มต้นที่เรา” องค์ต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มาพร้อม ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด  ศูนย์ทดลองการออกแบบสถาปัตยกรรมและกลไกสร้างสำนึกต่อสังคม (SIAM LAB) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โครงการการสร้างแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (THAI CG Fund) โครงการปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) โครงการข้อตกลงคุณธรรม (IP)  โครงการโตไปไม่โกง เครือข่ายสุจริตไทย มูลนิธิครอบครัวพอเพียง เพจต้องแฉ และบริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

พาวิลเลียนนี้ นำเสนอสารสำคัญ คือ เรื่องทุจริตคอร์รัปชันที่ให้ความรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และสร้างประสบการณ์ที่กระตุ้นให้ประชาชนร่วมต่อต้านคอร์รัปชันได้ด้วยตนเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับมุมมองใหม่ต่อ “ปัญหาคอร์รัปชัน” จากสิ่ง “มืดมน ลึกลับ เข้าถึงยาก” ให้กลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่าย แค่เพียงสังเกตเรื่องใกล้ตัว โดยสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมยังจะได้รับรู้ทั้งข้อคิดและทราบวิธีการการแจ้งปมทุจริตได้ถูกช่องทาง เพื่อนำไปสู่การยุติปัญหาคอร์รัปชันในชีวิตจริง

“ในปีนี้มีองค์กรภาคีเข้าร่วมกว่า 14 องค์กร เพื่อนำเสนอให้สังคมได้เห็นว่ายังมีผู้ที่พยายามขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งคนที่เข้ามาชมงานจะได้เห็นวิธีการทำงาน ได้รับแรงบันดาลใจในการลงร่วมแก้ปัญหาดังกล่าว” ดร.มานะ กล่าว

กิจกรรมเด่นในพาวิลเลียนคอร์รัปชัน  ตั้งอยู่ที่โซนอีเดน 2  ประกอบด้วย

  • กิจกรรมที่ 1: แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม?” (Moral Dilemma Game) กิจกรรมกระตุกต่อมคิด ท้าทายการตัดสินใจ ในเหตุการณ์ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การโกงที่อาจจะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน คุณจะเลือกตอบข้อไหน? คนส่วนใหญ่เลือกตอบข้อไหน? หาคำตอบได้ที่กิจกรรม “แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม?”
  • กิจกรรมที่ 2: รู้ทันกันกลโกง” (Corrupt Interactions) ตีแผ่ปฏิสัมพันธ์การโกง ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ออกเป็นแผนภาพ แปะสติ๊กเกอร์ลงในการโกงที่คุณพบเจอด้วยตนเอง และสำรวจว่าในระหว่างนี้มีโครงการอะไรหรือหน่วยงานไหนที่กำลังแก้ปัญหาที่คุณประสบพบเจออยู่
  • กิจกรรมที่ 3: คุณเหมาะกับเครื่องมือต้านโกงอะไร?” ค้นหาเครื่องมือต้านโกงที่เหมาะกับตัวคุณผ่านการสแกน QR code เพื่อตอบคำถามที่ใช้เวลาทำและรู้ผลได้ทันที และสามารถแชร์ต่อไปที่ Facebook ของท่านเอง เป็นกิจกรรมที่จะทำให้ท่านรู้จักและมีส่วนร่วมในเครื่องมือเหล่านั้นเชื่อมั่นในผลที่ได้แล้วมาร่วมกันต่อต้านคอร์รัปชันกันเถอะ!!!
  • กิจกรรมที่ 4: ปราบ 6 ผีขี้โกง เชื่อมโยงยุติคอร์รัปชันในสังคมไทย?” รู้จัก 6 ผีขี้โกง จากพฤติกรรมโกงที่เราอาจไม่รู้ตัว ผ่านงานศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม โดยเป็นบอร์ดแสดง 6 ผีที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อจัดการกับความรู้สึกผิดก่อน-หลังโกง ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเขียนการโกงที่เราอาจจะเคยถูกผีหลอกให้ทำใส่ยันต์ แล้วแปะไปที่ผี เป็นสัญลักษณ์ในการปราบผีขี้โกงออกจากสังคม

“Good Society Expo 2018 ทำดีหวังผล เริ่มต้นที่ตัวเรา” คือ พื้นที่ความร่วมมือของภาคประชาชน ทั้งองค์กรภาคสังคม องค์กรธุรกิจ ภาครัฐ ร่วมกันจัดงานนี้เพื่อเชิญชวนผู้คนมาทำดีกับองค์กรเพื่อสังคมตัวจริงในประเด็นต่างๆ เป้าหมายเพื่อให้ช่องทางการลงมือทำแก่ผู้คนในสังคม ได้สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมมากขึ้น กำหนดจัดวันที่ 13-16 กันยายนนี้ ณ เซ็นทรัลเวิลด์

ติดตามรายละเอียดที่www.khonthaifoundation.org หรือ facebook.com/khonthaifoundation ลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ www.goodsocietyexpo.com