เกี่ยวกับโครงการ
กลไกรับฟังเสียงคนไทยอย่างเป็นระบบ 100,000 คน ทั่วประเทศ ให้ผู้มีเกี่ยวข้องสำคัญ (Stakeholders) ได้เข้าใจถึง “ความต้องการ” ที่แท้จริงของประชาชนเพื่อชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญหาสำคัญที่ควรร่วมกันพัฒนาแก้ไข โดยความร่วมมือของบริษัทวิจัยการตลาดชั้นนำซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย ได้แก่ บริษัท จีเอฟเค มาร์เก็ตไว้ส์ จำกัด บริษัท ซี. เอส. เอ็น แอนด์ แอสโซซิเอท จำกัด บริษัท เซ็นซอรี่ รีเสิร์ช กรุ๊ป จำกัด บริษัทฟอร์ไซส์ รีเสิร์ช จำกัด บริษัทอินไซด์ เอเชีย มาร์เก็ต รีเสิร์ท จำกัด บริษัท อินเทจ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อินโฟเสิร์ส จำกัด
การศึกษาวิจัยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการคือ
- เพื่อนำเสนอตัวชี้วัดในด้านคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของคนไทย เพื่อสะท้อนถึงภาพรวมของการพัฒนาเเละขับเคลื่อนประเทศในระยะยาว
- เพื่อวัดระดับเเละติดตามความเปลี่ยนแปลงของคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ตลอดจนการพัฒนาของประเทศไทยโดยใช้ตัวชี้วัดที่ชัดเจน
- เพื่อสะท้อนเสียงที่แท้จริงและโปร่งใสของประชาชน
รายงานผลสำรวจ"คนไทย" มอนิเตอร์ เสียงนี้มีพลัง ประจำปี 2554
บทสรุปประเด็นสำคัญจากรายงานผลสำรวจคนไทยมอนิเตอร์ เสียงนี้มีพลัง ปี 2554
รายงานฉบับนี้เป็นการนำเสนอการ “ฟัง” เสียง “พูด” ของประชาชนคนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง 100,000 คนว่า “คิด” กับสภาพของเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี การเมือง เเละความเป็นไปของประเทศชาติอย่างไร เพื่อนำไปสู่การ “ทำ” ให้ประเทศไทยของคนไทยทุกคน เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ด้วยการมีส่วนร่วมของคนไทยทุกคน
ผลการวิจัยที่ต้องการมุ่งให้เกิดการขยายผล จาก 10 หัวข้อเสียงสะท้อนจากการวิจัย คือ
1. ปัญหาที่คนไทยประสบมากที่สุดในปัจจุบันคือปัญหาเกี่ยวกับ เศรษฐกิจ ความเครียด ยาเสพติด อบายมุข ภัยธรรมชาติ และความไม่สามัคคี ในขณะที่ปัญหาที่คนไทยได้รับผลกระทบรุนเเรงสูงสุดคือ ปัญหาด้านค่าครองชีพ ราคาพืชผลเกษตรเเละการทุจริตคอร์รัปชันของข้าราชการเเละนักการเมือง
2. ความรุนเเรงของปัญหา ในเเต่ละพื้นที่ คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคตะวันตกเเละกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองหลวงมีความแตกต่างกัน ดังนั้นการวางแผนเพื่อจัดการกับปัญหาเฉพาะพื้นที่ จำเป็นต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เช่น ภาคเหนือเเละภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ เเละภาคตะวันออก ปัญหาค่าครองชีพเเละราคาสินค้าสูงขึ้นมีความรุนเเรงมากที่สุด ในขณะที่ภาคตะวันตก ปัญหาการขาดเเคลนที่ดินทำกิน เเละกรุงเทพฯ ปัญหาความแตกแยก / ไม่สามัคคีของคนในสังคม เป็นปัญหาที่มีผลกระทบรุนเเรงที่สุด เป็นต้น
3. การพัฒนาในพื้นที่ พื้นที่กรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือบางส่วน เป็นพื้นที่ที่ประชาชนต้องการการพัฒนาที่มีผลอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากประชาชนยังรู้สึกว่าชุมชน / จังหวัดของตนยังไม่มีการพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสมเท่าที่ควร ในขณะที่ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่ามีการพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสม หากเเต่ต้องการเห็นการพัฒนาด้านสาธารณูปโภค/สิ่งอำนวยความสะดวก
4.การพัฒนาโดยรวมของประเทศ คนไทยเห็ฯภาพการพัฒนาในระดับพื้นที่ชัดเจนกว่าการพัฒนาในระดับประเทศ โดยร้อยละ 68 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือมองว่าชุมชนเเละจังหวัดของตนมีการพัฒนา ในขณะที่คนไทยร้อยละ 55 เห็นว่าประเทศไทยโดยรวมมีการพัฒนา ความแตกต่างกันนี้อาจเกิดจากการรับรู้หรือการเห็นความสำคัญของการพัฒนาในระดับต่างกัน ทั้งนี้ร้อยละ 15 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ เห็นว่า การพัฒนาโดยรวมของประเทศยังมีทิศทางไม่เหมาะสม
5. คนไทยส่วนใหญ่พร้อมเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทย โดยร้อยละ 33 จะเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คนไทยร้อยละ 68 คาดหวังให้เศรษฐกิจดีขึ้น / ประชาชนมีรายได้มากขึ้นเเละร้อยละ 35 คาดหวังให้คนไทยมีความสามัคคีกันไม่แบ่งพรรคเเบ่งพวก
6. คนไทยยังมองชาติบ้านเมืองในเเง่ดี คนไทยร้อยละ 64 มีความหวังว่าชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองจะดีขึ้น เเม้จะมั่นใจในเศรษฐกิจของประเทศเพียงร้อยละ 34 เเละมั่นใจในความมั่นคงทางการเมืองเพียงร้อยละ 23 ก็ตาม
7. คนไทยมีความภาคภูมิใจในชาติเเละคุณค่าของความเป็นไทย มีความภาคภูมิที่เกิดมาเป็นประชาชนคนไทย เเละมีความเชื่อในสิ่งดีงาม
8. คนไทยมองคนไทยด้วยกันเองว่าเป็นคน “ชอบมีหน้ามีตา” เเละ “ชอบพึ่งพาโชคชะตา” แต่ในทางบวกก็มองว่าคนไทย “รักความสนุกสนาน” “มีน้ำใจและจิตใจให้บริการ” “อบอุ่น /เป็นมิตร” เเละ “ริเริ่มสร้างสรรค์”
9.คนไทยส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 87 ยังมีความสุขกับชีวิตความเป็นอยู่ ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ คนรายได้น้อย คนว่างงาน ผู้มีอาชีพรับจ้างเเละคนกรุงเทพฯ เป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญเพราะมีความสุขโดยรวมกับคุณภาพชีวิตเเละความเป็นอยู่น้อยกว่ากลุ่มอื่น
10. คนไทยมีความสุขกับชีวิตความเป็นอยู่ในระดับครอบครัวสูงสุด ในขณะเดียวกันการพัฒนาในระดับบุคคล ชุมชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับประเทศ ควรได้รับการปรับปรุงหรือยกระดับ
ดาวโหลดรายงานผลสำรวจ”คนไทย” มอนิเตอร์ เสียงนี้มีพลัง ประจำปี 2554 ฉบับเต็มได้ที่นี่
รายงานผลสำรวจ"คนไทย" มอนิเตอร์ เสียงนี้มีพลัง ประจำปี 2555
บทสรุปประเด็นสำคัญจากรายงานผลสำรวจคนไทยมอนิเตอร์ เสียงนี้มีพลัง ปี 2555
ความเป็นอยู่ของคนไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัย ตามสภาพเเวดล้อมเเละกาลเวลา ทั้งนี้คุณภาพชีวิตเป็นตัวเเปรสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจเเละสังคมของประเทศ โครงการ คนไทยมอนิเตอร์ เสียงนี้มีพลัง มุ่งหวังจะสะท้อนความเป็นจริงของคนไทยในประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
สำหรับผลการวิจัยในปี 2555 นั้น ค้นพบ 10 เสียงสะท้อนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตเเละความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน คือ
- แม้ว่าคนไทยจะมึความพึงพอใจเพิ่มขึ้นต่อการทำงานของรัฐบาลเเละการปกครอง เเต่ทว่าปัญหาคอร์รัปชัน ยังคงเป็นปัญหาที่มีความรุนเเรง เเละส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งระดับความรุนเเรงได้เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ทั้งในส่วนของการทุจริต คอร์รัปชันของข้าราชการ เเละนักการเมือง การถูกเลือกปฎิบัติเเละการได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงการจำเป็นต้องติดสินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐ
- คนไทยส่วนใหญ่สูงถึงร้อยละ 71 มีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคมเเละประเทศ โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สามารถพัฒนาได้ด้วยตนเอง อาทิ การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่สร้างปัญหาแก่สังคม เเละประพฤติตนให้ถูกต้องเหมาะสม เเละยึดถือในศีลธรรม จริยธรรม และคุณงามความดี เป็นต้น เเสดงให้เห็นว่าคนไทยเริ่มเป็นพลเมืองที่ตื่นตัวเเละมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมเเละประเทศมากยิ่งขึ้น
- ถึงเเม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อชีวิตความเป็นอยู่ในระดับครอบครัวมากที่สุด เเต่ระดับความพึงพอใจต่อครอบครัวนั้นลดลงในปี 2555 โดยเฉพาะกับสมาชิกในครอบครัว เนื่องจากคนไทยอยู่ในระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมสมัยใหม่ รายได้ยังไม่เพียงพอกับรายจ่าย หนี้สินพอกพูน ภาระรับผิดชอบเหล่านี้ทำให้มีเวลาได้อยู่กับคนในครอบครัว ความสัมพันธ์กับบุพการี คู่ครองเเละบุตรหลานลดน้อยลง
- เทคโนโลยีเริ่มมีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสังคมออนไลน์ที่เข้าถึงกลุ่มเยาวชนอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดปัญหาในระดับครอบครัวที่ลูกหลานติดเกมส์ เเละสังคมออนไลน์ ในทางกลับกันกลุ่มผู้สูงอายุยังขาดทักษะในการใช้เทคโนโลยี รวมทั้งโอกาสในการเรียนรู้เพือพัฒนาตนเอง
- คุณลักษณะที่โดดเด่นเเละคงความเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย คือ คนไทยมีน้ำใจ ใจกว้าง เเละชอบช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวเป็นคุณลักษณะที่คนไทยเห็นว่าควรที่จะส่งเสริมให้กับเยาวชนรุ่นหลัง เเต่ทว่าความขัดเเย้งในบุคลิกภาพเกิดขึ้น เนื่องจากคุณลักษณะด้านลบของคนไทยถูกมองว่า เป็นคนเห็นเเก่ประโยชน์ส่วนตน เเละพวกพ้อง ขาดความสามัคคี ไม่ซื่อตรง เเละมีนิสัยเอาตัวรอด ความขัดเเย้งในบุคลิกภาพดังกล่าวก่อให้เกิดความเครียดเเละปัญหาสุขภาพจิต
- ค่านิยมที่ควรปลูกฝังให้เด็กเเละเยาวชนไทยที่แท้จริงคือ การศึกษา ครอบคลุมถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับการดำรงชีวิต การรู้จักค่าของเงิน การประหยัด อดออม รวมทั้งพุทธิศึกษาที่มุ่งเน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับศีลธรรม จริยธรรมเเละความซื่อสัตย์สุจริต
- คนไทยส่วนใหญ่ยังมองว่าปัญหายาเสพติด ปัญหาการตกอยู่ในอำนาจของกลุ่มอิทธิพลในชุมชน เเละปัญหาอาชญากรรมเป็นปัญหาระดับชุมชน 3 อันดับเเรก ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย โดยในปี 2555 ระดับความรุ่นเเรงของปัญหาก็ได้เพิ่มมากขึ้น
- การพัฒนาในระดับพื้นที่ คนไทยเห็นว่าการพัฒนาเป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างเหมาะสม โดยเฉพาะคนไทยที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจัยเชิงบวกที่เป็นปัจจัยผลักดันที่สำคัญในการพัฒนาระดับพื้นที่ที่คนไทยสามารถมองเห็นได้เด่นชัด คือ ชุมชน จังหวัด ได้รับการพัฒนาด้านสาธารณณูปโภค เเละสิ่งอำนวยความสะดวก
- คนไทยสูงถึงร้อยละ 65 มีความคิดเห็นต่อชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคต 1 ปีข้างหน้า ว่า ชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างจะดีขึ้นเเต่ทว่าคนไทยที่มีรายได้ในระดับ D เเละ E อีกร้อยละ40 มีความคิดเห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองจะดีขึ้นหรือแย่ลง
- ความขัดเเย้งทางการเมืองของคนในชาติ ทำให้คนไทยร้อยละ 12 รู้สึกเบื่อเเละไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง นอกจากนี้คนไทยยังรู้สึกว่าความขัดเเย้งทางการเมืองทำให้ประเทศหยุดการพัฒนา หรือพัฒนาช้ากว่าที่ควรจะเป็น เเละทำให้ไม่สามารถพูดคุย หรือเเลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ได้อย่างอิสระ
ดาวน์โหลดรายงานผลสำรวจ”คนไทย” มอนิเตอร์ เสียงนี้มีพลัง ประจำปี 2555 ฉบับเต็มได้ที่นี่
รายงานผลสำรวจคนไทยมอนิเตอร์ 2557 : เสียงเยาวชนไทย "เยาวชนที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม"
บทสรุปสำคัญจากผลวิจัยคนไทยมอนิเตอร์ 2557 : เสียงเยาวชนไทย
จากการรับฟังเสียงของเยาวชนจำนวน 4,000 คน สามารถสรุปประเด็นหลักเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต ทัศนคติ พฤติกรรม ตลอดจนความต้องการต่างๆ ของเยาวชน ดังนี้
- ครอบครัวมีอิทธิพลสูงสุดด้านความคิด โดยมีส่วนสำคัญต่อการปลูกฝังค่านิยม เเละคุณค่าเเก่เยาวชน เยาวชนส่วนมากเห็นว่าคุณค่าที่เกี่ยวกับครอบครัว เช่น ความกตัญญู เเละความกลมเกลียวในครอบครัว มีความสำคัญสูงสุดในการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตามครอบครัวมักเน้นปลูกฝังด้านการเรียนเเละการพัฒนาตนเองมากกว่าความรับผิดชอบต่อสังคมเเละความรักต่อประเทศชาติ ดังนั้นเยาวชนกว่า 90% ต้องประสบกับความเครียด โดย 78% ของเยาวชนทั้งหมดนั้นเครียดกับเรื่องของการเรียน ในขณะที่ 33% มีความหดหู่ ซึมเศร้าเเละหมดหวังในชีวิต เเละ 99% ของเยาวชนให้นิยามกับความสำเร็จว่าการได้ผลการเรียน หน้าที่การงานเเละเงินเดือนที่ดี ทั้งนี้เยาวชนส่วนมากยึดคนใกล้ตัว เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง เเละครู อาจารย์เป็นเเบบอย่าง โดยนอกเหนือจากคนใกล้ตัว ศิลปิน ดารา ถือเป็นเเบบอย่างสำคัญ เพราะมีเยาวชนจำนวน 25% ยึดถือศิลปิน ดาราเป็นเเบบอย่าง
- การทุจริตคอร์รัปชันเริ่มตั้งเเต่วัยเยาว์ ผลวิจัยพบว่า 81% เคยลอกข้อสอบเเละเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิดมากหรือไม่ผิดเลย 68% คยเซ็นต์ชื่อเพื่อเข้าเรียนเเทนเเละให้เพื่อนเซ็นต์ชื่อให้ เเละส่วนใหญ่เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิดมากหรือไม่ผิดเลย เเละ 25% จ่ายสินบนเพื่อให้สอบใบขับขี่ผ่าน
- ชีวิตออนไลน์กลายเป็นสังคมของเยาวชน สื่อออนไลน์มีบทบาทและอิทธิพลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของเยาวชนเหนือสื่อรูปแบบเดิม ทั้งนี้เยาวชนใช้เวลาเฉลี่ยอย่างน้อย 4 ชั่วโมงต่อวันกับสื่อดิจิตอลกับสื่อออนไลน์ เช่นการพูดคุย / อ่านข่าวสารผ่านแอพพลิเคชั่นสังคมออนไลน์ การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ / เกมออนไลน์/ เกมในโทรศัพท์มือถือ / อ่านข้อมูลข่าวสารผ่านเวบไซต์ ทำให้การปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวลดลง
- ความเข้าใจต่อการมีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวมค่อนข้างจำกัด เยาวชนมีความเข้าใจในหน้าที่ของพลเมืองดีไม่มากนัก และในกว่า90% ของเยาวชนนั้นความหมายของ “ความดี” จำกัดอยู่กับเรื่องของ “น้ำใจ” ดังนั้นความหมายของพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม ยังจำกัดอยู่ในเรื่องใกล้ตัว มากกว่าบทบาทด้านกิจกรรมเพื่อสังคม ชุมชนเเละประเทศชาติ
- พร้อมลงมือทำเเต่ยังไม่เเน่ใจว่าสามารถทำได้ เยาวชนเเสดงออกถึงความพร้อมเเละความต้องการที่จะช่วยเปลี่ยนเเปลงและพัฒนาประเทศ ด้วยความหวังที่จะเห็นประเทศไทยเปลี่ยนเเปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต เเต่เชื่อว่าตนเองยังเด็กเกินไปที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เเละยังไม่ทราบว่าตนเองจะสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างไรบ้าง โดยเยาวชนจำนวนกว่า 97% กล่าวว่าตนเองยังไม่ได้ทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศไทย
ดาวน์โหลดรายงานสรุปผลวิจัยคนไทยมอนิเตอร์ 2557 : เสียงเยาวชนไทย “เยาวชนที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม” ฉบับเต็มได้ที่นี่