“Good Society Expo” เทศกาลทำดีหวังผล คือ พื้นที่กลางความร่วมมือของภาคประชาชน ทั้งองค์กรภาคสังคมและองค์กรธุรกิจ ร่วมกันจัดงานนี้เพื่อเชิญชวนผู้คนมาทำดีกับองค์กรเพื่อสังคมตัวจริงในประเด็นต่างๆ เป้าหมายเพื่อให้ช่องทางการลงมือทำแก่ผู้คนในสังคม ได้สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมมากขึ้น กำหนดจัดวันที่ 9-11 มิถุนายน ศกนี้ ที่เซ็นทรัลเวิลดิ์และย่านราชประสงค์
ประเด็น “สิ่งแวดล้อม” นำเสนอสารสำคัญ “คุณเท่านั้นที่เปลี่ยนโลกได้” โดย มูลนิธิเอ็นไลฟ มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ร่วมกันแสดงพลังอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อ “ดิน น้ำ ป่า เมือง” ร่วมน้อมนำศาสตร์พระราชา มาเป็นแนวทางขับเคลื่อนมุ่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
“ตัวเลขพื้นที่ป่าประเทศไทยโดยเฉลี่ยหายไปปีละ 1 ล้านไร่ เราจะนำเสนอวิธีการดูแลสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า เมืองที่คนเมืองมีส่วนร่วมได้” นายสุรเดช บุณยวัฒน รองประธานกรรมการ มูลนิธิเอ็นไลฟ กล่าว
จากการประชุมภาคีร่วมจัดงาน เป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นคือ การเกิด Active Citizen ดังนั้นการจะได้ผลลัพธ์หรือการสร้าง Impact จะต้องทำให้คนจับต้องได้ เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่จะต้องเข้าใจ ไม่ใช่ดูแล้วเพียงแค่จดจำได้เท่านั้น แต่ต้องการให้ทุกคนได้รับรู้ว่าผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเข้ามาทุกที จึงอยากให้ทุกคนได้เริ่มลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มต้นจากตัวเองก่อน เพราะฉะนั้นในปีนี้เพื่อสร้างให้คนมีส่วนร่วมตรงนี้ พื้นที่การจัดงานจะจัดให้มีเวทีเสวนามากขึ้น นำบุคคลที่เป็นที่ดึงดูด มาเป็นผู้นำเสนอบอกเล่าประสบการณ์ และเชิญชวนกันออกไปทำกิจกรรมร่วมกันหลังจบงาน
“ผมคิดว่าสิ่งนี้ก็เป็นนวัตกรรมสำหรับการจัดงานรูปแบบใหม่ เพราะการจัดงานส่วนใหญ่มักเป็นการนำเสนอผ่านภาพให้ผู้ร่วมงานชมและคาดหวังว่าเขาจะเกิดความเข้าใจด้วยตนเอง แต่เราจะไม่ทำแบบนั้น จะปรับวิธีการนำเสนอโดยนำคนเข้ามาในพื้นที่สิ่งแวดล้อมให้เกิดความรู้สึกดี มีการตกแต่งด้วยต้นไม้ที่เขียวชอุ่ม เย็น ร่มรื่น มีน้ำ มีชีวิต และชักชวนให้นั่งฟังคนที่รู้จริง คนที่เคยปฎิบัติจริง มาพูดให้ฟังว่าสิ่งที่เขาได้ลงมือทำนั้นส่งผลดีอย่างไรและช่วยป้องกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร” นายสุรเดชกล่าว
ยกตัวอย่างเช่น โครงการป่าครอบครัว ของ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ที่จะมานำเสนอหลักการการปลูกพืชในพื้นที่ของครอบครัวที่ตนเองมีอยู่ เพื่อการใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่ และช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และโครงการที่น้อมนำศาสตร์พระราชา เพื่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสร้างระบบนิเวศที่สมดุลอย่างยั่งยืน ของมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ เป้าหมายที่ต้องการให้เกิดการต่อยอดขยายผลจากภายในงาน คือให้คนที่เข้าชมงานได้มีโอกาสลงพื้นที่จริง เกิดการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง โดยความร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์จัดกิจกรรมลงพื้นที่ทำกิจกรรมปลูกป่า และร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งผมคิดว่าจะการนำเสนอแบบนี้จะครบวงจร ทั้งการมีนวัตกรรม มีประสิทธิผล และสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้เข้าชมงาน ที่ได้เห็นการลงมือทำจริง เกิดความรู้และทำเป็น และอยากให้คนทำสิ่งที่ใกล้ตัวก่อน
ภายในพาวิลเลี่ยนสิ่งแวดล้อม จะโฟกัสภาพใหญ่ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) ป่า ขุนเขา ที่ต้องสร้างให้สมควรและเป็นธรรมชาติ สามารถปฎิบัติและยั่งยืนได้จริงจากคนในท้องถิ่น 2) ด้านกสิกรรม เกษตรกรรมที่ต้องทำให้ถูกวิธี 3) ด้านวิถีคนเมือง ต้องพยายามลดสิ่งที่ได้สร้างขึ้นมาแล้วส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การลดขยะ การลดสิ่งที่เป็นน้ำเสียก่อนที่จะลงไปสู่ทะเล ส่วนสุดท้ายคือ 4) ทะเลที่เป็นแหล่งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวและทิ้งของเสียลงสู่ทะเล ไปทำลายสภาพแวดล้อมที่สวยงาม รวมถึงการทานอาหารที่เกินเหตุเกินความพอดี ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิเอ็นไลฟมีการรณรงค์สร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน ชาวประมง และนักท่องเที่ยว เรื่องการรับประทานหอยชักตีน ซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดกระบี่ ว่าควรจะต้องปล่อยให้เกิดการเติบโตและรักษาระบบนิเวศของท้องทะเล ไม่จับมาขายจนกว่าจะมีขนาด 6 เซ็นติเมตรขึ้นไป รวมถึงการช่วยเหลือเพาะพันธุ์ทางวิทยาศาสตร์ร่วมด้วย
นอกจากนี้ทั้ง 4 มูลนิธิยังได้น้อมนำศาสตร์ของพระราชาในการต่อยอดสู่การปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาพื้นที่ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 3 หลักคิด คือ 1 ต้องมีความรู้จริงในสิ่งที่จะลงมือทำ 2 ต้องมีความพอเพียง เพราะหากไม่พอเพียงและไปลงทุนทำมากมายแต่ไม่มีความคุ้มค่า ก็จะไม่เกิดผลสำเร็จ 3. ต้องเริ่มมาจากข้างใน หมายความว่าการพัฒนานั้น คนในพื้นที่ต้องเป็นเจ้าของ ต้องลงมือทำ การพัฒนาจึงจะยั่งยืน
“สิ่งที่มุ่งหวังจากงานนี้คือเราได้เพื่อนมากขึ้น การที่เขาได้มาร่วมคิดร่วมทำกับเรา ได้ทำกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่องจากความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เมื่อความรู้ของแต่ละหน่วยงานนั้นนำมาผสมผสานกันก็จะได้ความรู้ที่ถ่องแท้และทำได้ถูกต้อง และน่าจะเป็นประโยชน์เมื่อผู้ที่รักสิ่งแวดล้อมมาอยู่ด้วยกัน มาช่วยกัน ก็น่าจะส่งผลดี และหากทำได้น่าจะกระจายไปได้ทั่วทั้งประเทศ ในอนาคตอันใกล้คาดหวังว่าหากได้ “แชมเปี้ยน” กลุ่มคนที่รู้จริงเรื่องสิ่งแวดล้อมและคนเหล่านี้สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดและเกิดกลุ่มใหม่เรื่อยๆ ผมว่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด” นายสุรเดช กล่าวสรุป
Good Society Expo เกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 50 องค์กร เบื้องต้น ประกอบด้วย มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มูลนิธิยุวพัฒน์ มูลนิธิเอ็นไลฟ เครือข่ายจิตอาสา โครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ มูลนิธิเพื่อคนไทย ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจย่านราชประสงค์ ฯลฯ นับเป็นงานรวมพลังอาสาสมัครที่ใหญ่ที่สุดระดับประเทศ