การเสริมสร้าง “พลังคนรุ่นใหม่” ให้เป็นกระบอกเสียงร่วมส่งเสริมการลงมือแก้ปัญหาสังคมเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ดังเจตนารมณ์ของการเกิด “G-Youth by Tellscore” ที่มุ่งเน้นสร้างกลุ่ม “นักสื่อสารรุ่นใหม่” หัวใจ Active Citizen หรือ พลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม ที่จะมาเป็นนักสื่อสารที่มีคุณภาพในอนาคต หรือ “G-Youth : Good Power : Empowering Thailand’s Future นั่นเอง
ในปีนี้ G-Youth by Tellscore ยังคงเดินหน้าต่อไปเช่นเดียวกับอีกหลายโครงการพัฒนาสังคมที่พยายามขับเคลื่อนงานในรูปแบบใหม่ๆ โดยเมื่อเร็วๆ ได้พัฒนากลยุทธ์แพลตฟอร์ม G-Youth ให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งได้ริเริ่มสร้างสรรค์เน้น “Knowledge & Experience” ให้เยาวชนได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ใหม่ๆ กระตุกต่อมคิด กระตุ้นต่อมลงมือทำ ให้น้องๆ นักศึกษาเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ผ่านบุคคลต้นแบบผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารที่มีประสบการณ์และเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ พร้อมสร้างประสบการณ์ร่วมด้วยการทดลองทำโจทย์โครงการเพื่อสังคมที่ได้รับจากพี่ๆ เทลสกอร์เพื่อให้น้องๆ ได้ลงมือทำจริงและเชื่อมโยงเข้ากับความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา
“G-Youth by Tellscore เป็นโครงการที่ต้องการส่งเสริมให้น้องๆ นักศึกษาเป็นกระบอกเสียงที่ดีของสังคมในอนาคตต่อไป” “คุณนก- อภัศรา ซิการี่ โกศัลวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทลสกอร์ จำกัด กล่าว
เริ่มกิจกรรมแรกกับฟอรั่มขนาดอบอุ่นหัวข้อ “ทางรอดของนักสื่อสารในยุค Digital Transformation” ได้รับความร่วมมือจาก “พี่สิงห์-วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” อินฟลูเอ็นเซอร์และผู้ผลิตสารคดีรายการ เถื่อน Travel “พี่อู๋-ธวัชชัย แสงธรรมชัย” ผู้ก่อตั้งบริษัท วาย น็อต โซเชี่ยล เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ซึ่งเป็นโซเชียลครีเอทีฟเอเจนซี และ “พี่นัท- ปณชัย อารีเพิ่มพร” คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ จาก The Standard มาร่วมพูดคุยกับน้องๆ นักศึกษาจาก “สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์” เเละ “มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา” จำนวน 40 คน
บรรยากาศในวันนั้นเต็มไปด้วยความสนุกสนานพร้อมได้ความรู้มากมายจากเวทีเสวนา เริ่มด้วยการที่วิทยากรทั้ง 3 ท่านได้เล่าประสบการณ์ในการผลิตงานสื่อสารจากมุมมองและในวงการที่แต่ละคนยืนอยู่
“ดิจิทัล” มาพร้อมกับโอกาสที่ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับงานที่ทำ “คุณสิงห์-วรรณสิงห์” เชื่อแบบนี้ เขาเล่าให้น้องๆ ว่า ชีวิตการทำงานจำเป็นต้องตัดสินใจให้ได้ว่าจะเป็น The Best- The Pioneer-The Difference เดาได้มั้ยว่า คุณวรรณสิงห์เลือกทิศทางไหน
“ผมเลือกที่จะเป็นเดอะดิฟเฟอเรนซ์” ซึ่งไปตรงกับคอนเซปต์รายการ “เถื่อน Travel” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและแตกต่างจากรายการท่องเที่ยวในปัจจุบัน นั่นจึงทำให้มีผู้ติดตามในช่องทางเฟซบุ๊คจำนวนกว่า 247,273 คน มีผู้ติดตามช่องยูทูบจำนวนกว่า 260,000 คน ซึ่งมีเอนเกจเมนต์ที่สูงมาก แต่กว่าจะมาถึงวันที่เขาค้นพบตัวตนและความชอบ วรรณสิงห์ก็ได้ผ่านลองผิดลองถูกมามากมายจนพบว่าการทำสิ่งที่รักต้องมาพร้อมกับการสร้างประโยชน์ให้กับสังคม
“ผมผ่านการลองทำอะไรหลายอย่างแต่ก็ไม่ใช่ตัวตน เคยทำงานในองค์กรเพื่อสังคมก็แล้ว เป็นพิธีกรก็เคยมาแล้ว แต่ก็ได้ประสบการณ์ในมุมหนึ่ง ท้ายที่สุดก็สรุปได้ว่า ขอทำงานที่มีความหมายต่อตัวเองและให้คุณค่ากับสังคม เลยออกมาทำรายการทางช่องยูทูบเล่าเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เราอยากรู้เรื่องอะไร เราก็จะทำสิ่งนั้น พร้อมจะลงทุนให้เวลาในสิ่งที่ตัวเองอยากรู้ แต่จะต้องมีคุณค่าต่อสังคมด้วยนะครับ” คุณวรรณสิงห์กล่าว
“ดิจิทัลคือเครื่องมือสารเป็นเพียงทางผ่าน แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ เราในฐานะนักสื่อสารจะต้องรู้ว่าผู้รับสารหรือคนต้องการฟังอะไร” “คุณอู๋-ธวัชชัย” ผู้ก่อตั้งโซเชียลครีเอทีฟค่าย “วายน็อต” เชื่ออย่างนั้น ดังกรณีที่เขาและเพื่อนๆ ร่วมกันสร้างสรรค์ คลิปวิดีโออินโฟกราฟิค “รู้ สู้ Flood” เมื่อช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2553 เพื่อตอบโจทย์ความอยากรู้ของคนในสังคมว่า มวลน้ำขนาดใหญ่นั้นเป็นอย่างไร หน้าตาประมาณไหน เลยเป็นที่มาของ “มาสคอตปลาวาฬ” ที่ทำหน้าที่เป็นตัวเดินเรื่องให้ข้อมูลเชิงตัวเลขจนกลายเป็นที่พูดถึงทั่วประเทศ กระทั่งในยุคที่ฝุ่น PM 2.5 ครองเมือง การเดินทางของคลิปวิดีโออินโฟกราฟิคปลาวาฬก็มีต่อเนื่องในชื่อ “รู้สู้ฝุ่น”
เขาเปรียบตัวเองซึ่งเป็นคนทำงาน “เอเยนซี” ว่า เหมือนพ่อครัวร้านอาหารตามสั่ง ปรุงเมนูต่างๆ ตามใจลูกค้า ขณะที่วรรณสิงห์ เปรียบเหมือน “เชฟ” จะทำเมนูอะไรก็ได้ที่เป็นของตัวเอง
“การสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญของมนุษย์ แม้ดิจิทัลจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง ผมยังเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่คนผลิตงานสื่อสารจำเป็นต้องรู้ก็คือคนในสังคมต้องการรู้อะไรและมีประโยชน์กับตัวเขาอย่างไร” คุณอู๋กล่าว
สอดคล้องกับ “คุณนัท-ปณชัย” ที่มองว่า ดิจิทัล คือ เครื่องมือเช่นกัน แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การเผยแพร่ข่าวสารให้เข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้รวดเร็ว เขาบอกว่า ระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมาแวดวงสื่อมวลชนเปลี่ยนไปมาก ข้อดีคือทำให้เห็นภาพของตัวเองชัดขึ้นในที่นี้คือ The Standard ที่ต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง มองประเด็นข่าวที่เป็นที่สนใจของผู้คน นำมาสร้างสรรค์บวกกับรูปเเบบคอนเทนต์ที่หลากหลาย เพื่อส่งถึงคนอ่านทุกไลฟ์สไตล์ ที่สำคัญคือทุกชิ้นงานที่นำเสนอต้องสร้างผลเชิงบวกให้สังคมเสมอ
“เราต้องเตรียมตัวเมื่อดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างในปัจจุบันโดยเฉพาะงานสื่อสารมวลชน เราต้องพร้อมรับไม่ใช่เหมือนแก้วที่ไม่เต็มน้ำ แต่เป็นแก้วที่วางเปล่าอยู่เสมอ” คุณนัทกล่าว
นี่คือส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่น่าสนใจบนเวทีเสวนา ทำให้เกิดคำถามจากน้องๆ หลายคน ไม่ว่าจะเป็นทำอย่างไรให้คอนเทนต์ปัง ทำเงิน และมีชื่อเสียง ? พี่ๆ วิทยากรทั้งสามคนตอบคำถามไปในแนวทางเดียวกันว่า เงินอาจไม่ใช่สิ่งแรกที่สำคัญเสมอไป แต่การรู้จักตัวเอง รู้ว่าชอบอะไร และไม่ต้องหาแรงบันดาลใจอีกต่อไป แต่ให้เร่งลงมือทำ สร้างสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ เรียนรู้และอยู่กับมัน ก็จะสามารถสร้างงานที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ และจะค่อยๆ กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้
นอกจากนี้ ยังมีคำถามทำนองว่า ในโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วมีทั้งข้อมูลที่เชื่อได้และไม่ได้ ผู้บริโภคจะต้องทำอย่างไร วิทยากรบอกว่าผู้บริโภคต้องรับสารอย่างรอบด้าน เช็คก่อนแชร์ และให้พื้นที่แก่ผู้ที่ถูกพูดถึง ในกรณีที่มีการกล่าวพาดพิงให้อีกฝ่ายเกิดความเสียหาย ซึ่งก็คือจะต้องนำเสนอ หรือฟังความอย่างรอบด้านนั่นเอง
และที่สำคัญมากๆ คือ จะต้องไม่แสดงความคิดเห็น หรือคอมเมนต์แบบใช้อารมณ์ กล่าวเสียดสีให้ผู้อื่นเสียหายเพียงแค่ต้องการความสะใจ เพราะสิ่งนี้จะกลายเป็น “Digital Foootprint” จะวกกลับมาสร้างปัญหาให้เราในไม่ช้าก็เร็ว
งานนี้นอกจากจะได้รับความรู้จากพี่ๆ วิทยากรแบบเต็มอิ่มแล้ว น้องๆ ยังได้ทำเวิร์คชอปจำลองการทำแคมเปญจัดการปัญหาขยะเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคม โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อระดมสมอง แลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกันในกลุ่มของตนเอง จนตกผลึกเป็นไอเดียที่น่าสนใจ สิ่งที่มีความเชื่อมโยงระหว่างน้องๆ ทั้ง 3 กลุ่มนี้ คือไอเดียแปลกใหม่ตามแบบฉบับคนรุ่นใหม่ที่กล้าคิด แต่พี่ๆ วิทยากรพบว่ายังไม่ได้บอกถึงการลงมือทำ หรือ Action เท่านั้น จึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
“น้องโอห์ม-ชัยศักดิ์ มากสุนันท์” ตัวแทนนักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ บอกว่า เขาได้รู้ว่าการจะลงมือทำอะไรซักอย่างจำเป็นต้องค้นหาตัวตนและความชอบให้เจอและใช้สิ่งนี้ต่อยอดพัฒนาและสร้างสรรค์เนื้อหาเพื่อยกระดับการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น
“กิจกรรมนี้ดีมากเลยครับ พี่ๆ วิทยากรเป็นเหมือนครูที่เปิดทางและมอบความรู้ เมื่อผมได้ฟังผมรู้สึกว่าอย่ากลัวการสู้กับตัวเอง สู้ในที่นี้คือสู้กับเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลง ต้องไม่หยุดพัฒนาตนเอง เรียนรู้ให้มากแล้วนำมาปรับปรุงเนื้อหาที่มีคุณภาพให้กับผู้ชม” น้องโอห์มกล่าว
“อาจารย์ธนิต พฤกธรา” หรืออาจารย์ตั้ม แห่งคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันนทา บอกว่า G-youth เป็นโครงการณ์ที่ดีที่นำนักศึกษามาร่วมกิจกรรมเหมือนการติดอาวุธให้นักศึกษาได้มีความในด้านการสื่อสารที่มีผลดีต่อสังคม
“กิจกรรมเป็นกันเองนักศึกษาได้พบปะเพื่อนๆ ต่างมหาวิทยาลัย ได้เริ่มต้นฝึกทำกิจกรรมทำให้นักศึกษาได้คิด ได้ลงมือทำ ได้นำเสนอความคิดของตนเอง” อาจารย์ตั้มกล่าว
เช่นเดียวกันกับ “อาจารย์กันยิกา ชอว์” หรืออาจารย์จ๋า แห่งคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า G-youth ช่วยเสริมสร้างให้นักศึกษามีองค์ความรู้ด้านการสื่อสารที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น ทั้งยังเป็นโครงการที่บ่มเพาะเรื่องการมีจิตสาธารณะให้กับนักศึกษาด้วย
“โครงการ G – Youth ช่วยให้นักศึกษามีความรู้เพิ่มมากขึ้น นักศึกษาของเราหลายคนต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องการสร้างผลงานสื่อสารที่พัฒนาสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” อาจารย์จ๋า กล่าว
“คุณปู – สุวิตา จรัญวงศ์” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทลสกอร์ จำกัด กล่าวว่า ต้องการให้น้องๆ นักศึกษาดึงพลังในตัวเองออกมา กล้าที่จะมีตัวตนในผลงาน เพราะสิ่งนั้นจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสังคมให้ดีที่สุด พร้อมเก็บเกี่ยวความรู้สึกและบรรยากาศการทำงานจริง จากพี่ๆ ตัวจริง เสียงจริง แบบนี้ไว้ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการทำงานที่สร้างสรรค์ในอนาคต
แม้ G – Youth by Tellscore นับเป็นอีกหนึ่งแพล็ตฟอร์มที่กำลังเริ่มขึ้นเพื่อพัฒนานักสื่อสารรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ และด้วยพลังความตั้งใจดีนี้ยังจำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งองค์ความรู้ และประสบการณ์ต่างๆ จากผู้รู้ด้านการสื่อสารที่จะเสริมสร้างพวกเขาเหล่านี้ให้เป็นนักสื่อสารที่มีคุณภาพในอนาคต
ร่วมติดตามชมผลงานและกิจกรรมดีๆในรูปแบบของฟอรั่มต่อเนื่องนับจากนี้ ของ G-Youth by Tellscore ที่ Facebook: G – Youth Good Power